วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เด็กหอ: บทเรียนชีวิตจากมิตรภาพ


การแสดงความคิดในเชิงวิจารณ์เกิดขึ้นได้เมื่อเรารวมกลุ่มกันสนทนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การพูดคุยโต้ตอบน่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการฝึกให้คิดและแลกเปลี่ยน น่าจะจริงดังที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการที่เราพูดบ่อยๆ ทำให้สมองได้ใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา แต่บางคนก็อาจเป็นในทางตรงข้าม คือคิดแต่ไม่พูด หากไม่ได้พูดก็ควรจะเขียน แม้จะเป็นการสื่อสารทางเดียว ก็ยังดีกว่าจะไม่ได้ทำอะไรเลย

จากการฝึกคิดและเขียนมาในระดับหนึ่งแล้ว อรวันดา ทับทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ก็ได้แสดงความสามารถในการวิจารณ์ภาพยนตร์ "เด็กหอ" เป็นเพียงแบบฝึกหัดหนึ่งที่เป็นการเพิ่มและสั่งสมประสบการณ์การวิจารณ์และรอวันที่จะแตกดอกออกผลต่อไป...


“เด็กหอ” เป็นภาพยนตร์ของ ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังภาพยนตร์ฟาทจ์ที่ประเทศอิหร่าน “เด็กหอ” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาภาพยนตร์สำหรับเด็กจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง(ชาตรีหรือต้น) ที่ถูกพ่อห้ามไม่ให้ดูโทรทัศน์ ต้นจึงต้องแอบดูเวลาที่พ่อไม่อยู่บ้าน เป็นเหตุให้ต้นรู้ว่าพ่อแอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เมื่อเปิดภาคเรียนที่สองต้นถูกพ่อจับย้ายโรงเรียนอย่างกะทันหัน เขาโกรธพ่อเป็นอย่างมากเพราะคิดว่าตนแอบไปรู้ความลับของพ่อจึงถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ เมื่อต้นมาอยู่โรงเรียนใหม่ เขาก็ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและไม่สามารถเข้ากับเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียนได้ ยกเว้นแต่วิเชียรเท่านั้นที่พูดคุยดีๆ กับเขา ต้นไม่รู้มาก่อนเลยว่าวิเชียรไม่ใช่คนกระทั่งวันที่โรงเรียนมีฉายหนังกลางแปลง ทั้งตัวเขาและวิเชียรต่างก็ไม่มีเพื่อน พวกเขาจึงได้เป็นเพื่อนกัน เมื่อต้นได้รู้ว่าวิเชียรตายเพราะอุบัติเหตุจมน้ำ และเวลาหกโมงเย็นวิเชียรก็จะต้องกลับมาจมน้ำ ณ สระว่ายน้ำอันเป็นที่เกิดเหตุวนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกวัน ต้นสงสารที่เห็นเพื่อนต้องทนทุกข์ทรมานจึงหาทางช่วยเหลือโดยการยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเพื่อน และมิตรภาพการเสียสละอันยิ่งใหญ่ในวันนั้นก็ทำให้ต้นได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น

ภาพยนตร์เปิดฉากที่ต้น(ตัวละครเอก) โดยมีเสียงของตัวละครเอกแทรกเข้ามาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเองรวมทั้งผลที่เขาต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ จากนั้นเรื่องได้ดำเนินไปโดยค่อยๆ แสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่ตัวละครเอกถูกย้ายโรงเรียนผ่านมุมมองของตัวละครเอกเอง ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์คือต้นกับพ่อจึงเริ่มขึ้น ต้นคิดว่าพ่อส่งตนไปอยู่โรงเรียนประจำเพราะรู้ความลับของพ่อ ทั้งที่แท้จริงแล้วพ่อต้องการให้ต้นเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยและตั้งใจเรียนมากขึ้น
เมื่อต้นมาอยู่ในที่ต่างถิ่น เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและคนรอบข้าง แต่ในระยะแรกที่เขามาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ เขาไม่สามารถเข้ากับใครได้ อีกทั้งยังถูกเด็กคนอื่นกลั่นแกล้ง ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครจึงเกิดขึ้น ต้นคิดว่าไม่มีผู้ใดสนใจและเข้าใจเขา ทั้งเพื่อนหรือแม้แต่พ่อของเขาเอง

ต้นเป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของเด็กไม่รู้จักโต มีทิฐิ เอาแต่ใจ อยากรู้ อยากเห็น อยากลองและค่อนข้างเห็นแก่ตัว จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับวิเชียร วิเชียรเป็นวิญญาณเด็กที่มีปมอยู่ในจิตใจคล้ายกับต้น เป็นเสมือนเงาสะท้อนด้านอุปนิสัยที่ยังเป็นเด็กของตัวละครเอก อีกทั้งยังเป็นผู้ใหญ่ที่คอยเตือนสติและแนะนำสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรปฏิบัติให้กับตัวละครเอกด้วย โดยเฉพาะคำพูดของวิเชียรในตอนหนึ่งกล่าวถึงที่ต้นบอกว่าไม่มีใครเห็นเขาอยู่ในสายตา วิเชียรได้ย้อนถามต้นกลับว่า แล้วตัวเขาเองล่ะเคยเห็นคนอื่นอยู่ในสายตาบ้างหรือไม่ คำกล่าวนี้ของวิเชียรได้สะกิดใจต้นทำให้ต้นเริ่มหันมามองและใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น

จุดวิกฤตเริ่มต้นเมื่อตัวละครเอกได้รู้ว่า “เพื่อนรัก” ของตนต้องทนทุกข์ทรมานเวียนวนอยู่กับสาเหตุของการตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวละครเอกจึงคิดหาวิธีที่จะช่วยเพื่อนของเขา โดยเริ่มเข้าไปพูดคุยกับเด็กคนอื่นและได้ปรึกษาปัญหาดังกล่าว กระทั่งคิดลองใช้วิธีที่เสี่ยงต่อชีวิตด้วยการดมยาสลบที่มีฤทธิ์รุนแรง

การกลับมาจมน้ำตายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของวิเชียร เปรียบเสมือนสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของเขา ก่อนที่วิเชียรจะตายนั้นตัวเขาเองก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับต้น คือ ไม่มีใครสนใจที่จะช่วยเขาเลย วิเชียรกล่าวว่าตอนที่จมอยู่ในสระเขารู้สึกหนาวมาก ความเย็นยะเยือกใต้ท้องน้ำที่วิเชียรรู้สึกนี้ก็เปรียบเสมือนความเหน็บหนาวภายในจิตใจ เขาเองก็รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับต้น สิ่งนี้เองที่อาจทำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ต้นเป็น ต้นและวิเชียรจึงกลายเป็น “เพื่อนรัก..เพื่อนตาย” กัน กอปรกับสาเหตุการตายของวิเชียรเกิดจากความคึกคะนองและประมาทเลินเล่อ อยากเรียกร้องความสนใจของเพื่อนจึงแกล้งจมน้ำ แต่โชคร้ายที่ขาของเขาเป็นตะคริว เหตุการณ์อันน่าสลดในจึงได้เกิดขึ้น เมื่อต้นมาช่วยเขาสิ่งที่ค้างคาอยู่ภายในใจก็เหมือนได้คลี่คลายลง วิเชียรไม่ต้องกลับมาจมน้ำที่สระร้างอีกต่อไป

ความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเอกได้คลี่คลายลง ต้นได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมจากวิเชียร เขาได้เติบโตขึ้น เข้าใจและใส่ใจคนอื่นมากขึ้น “...เพิ่งรู้ว่าโรงเรียนเราก็ใหญ่เหมือนกัน” ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของต้น ณ สภาพแวดล้อมเดิม แต่มองเห็นในมุมมองใหม่ที่เปิดใจยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อถึงวันที่ต้นจะได้กลับบ้าน ความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อกับลูกก็สิ้นสุดลง ขณะที่รถเคลื่อนออกจากโรงเรียน เสียงของตัวละครเอกก็กลับมาเล่าเรื่องอีกครั้ง “มีหลายอย่างคล้ายจะยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นคือตัวผม” ท้ายที่สุดต้นกลายเป็นคนมีน้ำใจ มีระเบียบวินัย และมีเพื่อน

ครูปราณีก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีปมความขัดแย้งภายในจิตใจ ครูปราณีคิดว่าวิเชียรกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย และเธอก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น แผ่นเสียงเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจของครูปราณี ซึ่งวิเชียรคือผู้ที่ทำให้แผ่นเสียงของครูปราณีเสีย ขณะที่ต้นมาเล่าความจริงถึงสาเหตุการตายของวิเชียร แผ่นเสียงที่กำลังเล่นอยู่นั้นก็สะดุดอีก กระทั่งต้นเล่าเรื่องทั้งหมดจนจบแผ่นเสียงก็เล่นต่อตามปกติอีกครั้ง ความขัดแย้งและความไม่สบายใจทั้งหมดของครูปราณีก็มลายหายไปพร้อมกับเสียงเพลงที่บรรเลงขึ้น

โครงเรื่องเป็นแนวเน้นฉากและบรรยากาศ ฉากในภาพยนตร์ในช่วงต้นส่วนใหญ่จะเป็นตอนกลางคืน เน้นโทนแสงและสีที่มืดทึม ตัวอย่างเช่นสีเทา สีดำ ทำให้บรรยากาศในเรื่องดูลึกลับ น่าสะพรึงกลัว มีการกระชากอารมณ์ของผู้ชมด้วยฉากที่สร้างความตกใจ กระตุ้นให้ผู้ชมอยากติดตามเรื่องอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเสียงดนตรีที่เสริมให้เรื่องตื่นเต้นและน่ากลัวยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเร้าอารมณ์ของผู้ชมได้มาก นอกจากจะเน้นฉากและบรรยากาศแล้ว โครงเรื่องของ “เด็กหอ” ยังเป็นแนวเน้นแก่นเรื่องอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตในสังคม
สารที่ผู้ชมได้รับจากเรื่องคือมิตรภาพระหว่าง “คน” กับ “ผี” ทำให้เข้าใจคำว่า “เพื่อนตาย” ที่แม้จะไม่มีสิ่งใดเหมือนกัน แต่หากมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คอยช่วยเหลือกัน และที่สำคัญ..เข้าใจ ปลอบใจ คอยเตือนสติ รวมทั้งพร้อมที่จะให้อภัยเมื่ออีกฝ่ายทำผิด

ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็น “ผี” หากเราทุกคนเข้าใจตนเองและพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น เราก็จะรู้ว่า “เพื่อนตาย หาไม่ยาก..อย่างที่คิด”


3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นการวิจารณ์วรรณกรรมมากกว่าที่จะเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์ (ในความคิดของหนูนะคะ)

แต่หนูชอบที่คุณสายฝนฯ สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสองตัวได้อย่างลึกซึ้ง ดีค่ะ ดีมากๆ เลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Gostei muito desse post e seu blog é muito interessante, vou passar por aqui sempre =) Depois dá uma passada lá no meu site, que é sobre o CresceNet, espero que goste. O endereço dele é http://www.provedorcrescenet.com . Um abraço.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Nice fill someone in on and this mail helped me alot in my college assignement. Say thank you you for your information.