วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เด็กหอ: บทเรียนชีวิตจากมิตรภาพ


การแสดงความคิดในเชิงวิจารณ์เกิดขึ้นได้เมื่อเรารวมกลุ่มกันสนทนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การพูดคุยโต้ตอบน่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการฝึกให้คิดและแลกเปลี่ยน น่าจะจริงดังที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการที่เราพูดบ่อยๆ ทำให้สมองได้ใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา แต่บางคนก็อาจเป็นในทางตรงข้าม คือคิดแต่ไม่พูด หากไม่ได้พูดก็ควรจะเขียน แม้จะเป็นการสื่อสารทางเดียว ก็ยังดีกว่าจะไม่ได้ทำอะไรเลย

จากการฝึกคิดและเขียนมาในระดับหนึ่งแล้ว อรวันดา ทับทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ก็ได้แสดงความสามารถในการวิจารณ์ภาพยนตร์ "เด็กหอ" เป็นเพียงแบบฝึกหัดหนึ่งที่เป็นการเพิ่มและสั่งสมประสบการณ์การวิจารณ์และรอวันที่จะแตกดอกออกผลต่อไป...


“เด็กหอ” เป็นภาพยนตร์ของ ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังภาพยนตร์ฟาทจ์ที่ประเทศอิหร่าน “เด็กหอ” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาภาพยนตร์สำหรับเด็กจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง(ชาตรีหรือต้น) ที่ถูกพ่อห้ามไม่ให้ดูโทรทัศน์ ต้นจึงต้องแอบดูเวลาที่พ่อไม่อยู่บ้าน เป็นเหตุให้ต้นรู้ว่าพ่อแอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น เมื่อเปิดภาคเรียนที่สองต้นถูกพ่อจับย้ายโรงเรียนอย่างกะทันหัน เขาโกรธพ่อเป็นอย่างมากเพราะคิดว่าตนแอบไปรู้ความลับของพ่อจึงถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ เมื่อต้นมาอยู่โรงเรียนใหม่ เขาก็ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและไม่สามารถเข้ากับเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียนได้ ยกเว้นแต่วิเชียรเท่านั้นที่พูดคุยดีๆ กับเขา ต้นไม่รู้มาก่อนเลยว่าวิเชียรไม่ใช่คนกระทั่งวันที่โรงเรียนมีฉายหนังกลางแปลง ทั้งตัวเขาและวิเชียรต่างก็ไม่มีเพื่อน พวกเขาจึงได้เป็นเพื่อนกัน เมื่อต้นได้รู้ว่าวิเชียรตายเพราะอุบัติเหตุจมน้ำ และเวลาหกโมงเย็นวิเชียรก็จะต้องกลับมาจมน้ำ ณ สระว่ายน้ำอันเป็นที่เกิดเหตุวนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกวัน ต้นสงสารที่เห็นเพื่อนต้องทนทุกข์ทรมานจึงหาทางช่วยเหลือโดยการยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเพื่อน และมิตรภาพการเสียสละอันยิ่งใหญ่ในวันนั้นก็ทำให้ต้นได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น

ภาพยนตร์เปิดฉากที่ต้น(ตัวละครเอก) โดยมีเสียงของตัวละครเอกแทรกเข้ามาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเองรวมทั้งผลที่เขาต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ จากนั้นเรื่องได้ดำเนินไปโดยค่อยๆ แสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่ตัวละครเอกถูกย้ายโรงเรียนผ่านมุมมองของตัวละครเอกเอง ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์คือต้นกับพ่อจึงเริ่มขึ้น ต้นคิดว่าพ่อส่งตนไปอยู่โรงเรียนประจำเพราะรู้ความลับของพ่อ ทั้งที่แท้จริงแล้วพ่อต้องการให้ต้นเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยและตั้งใจเรียนมากขึ้น
เมื่อต้นมาอยู่ในที่ต่างถิ่น เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและคนรอบข้าง แต่ในระยะแรกที่เขามาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ เขาไม่สามารถเข้ากับใครได้ อีกทั้งยังถูกเด็กคนอื่นกลั่นแกล้ง ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครจึงเกิดขึ้น ต้นคิดว่าไม่มีผู้ใดสนใจและเข้าใจเขา ทั้งเพื่อนหรือแม้แต่พ่อของเขาเอง

ต้นเป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของเด็กไม่รู้จักโต มีทิฐิ เอาแต่ใจ อยากรู้ อยากเห็น อยากลองและค่อนข้างเห็นแก่ตัว จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับวิเชียร วิเชียรเป็นวิญญาณเด็กที่มีปมอยู่ในจิตใจคล้ายกับต้น เป็นเสมือนเงาสะท้อนด้านอุปนิสัยที่ยังเป็นเด็กของตัวละครเอก อีกทั้งยังเป็นผู้ใหญ่ที่คอยเตือนสติและแนะนำสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรปฏิบัติให้กับตัวละครเอกด้วย โดยเฉพาะคำพูดของวิเชียรในตอนหนึ่งกล่าวถึงที่ต้นบอกว่าไม่มีใครเห็นเขาอยู่ในสายตา วิเชียรได้ย้อนถามต้นกลับว่า แล้วตัวเขาเองล่ะเคยเห็นคนอื่นอยู่ในสายตาบ้างหรือไม่ คำกล่าวนี้ของวิเชียรได้สะกิดใจต้นทำให้ต้นเริ่มหันมามองและใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น

จุดวิกฤตเริ่มต้นเมื่อตัวละครเอกได้รู้ว่า “เพื่อนรัก” ของตนต้องทนทุกข์ทรมานเวียนวนอยู่กับสาเหตุของการตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวละครเอกจึงคิดหาวิธีที่จะช่วยเพื่อนของเขา โดยเริ่มเข้าไปพูดคุยกับเด็กคนอื่นและได้ปรึกษาปัญหาดังกล่าว กระทั่งคิดลองใช้วิธีที่เสี่ยงต่อชีวิตด้วยการดมยาสลบที่มีฤทธิ์รุนแรง

การกลับมาจมน้ำตายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของวิเชียร เปรียบเสมือนสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของเขา ก่อนที่วิเชียรจะตายนั้นตัวเขาเองก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับต้น คือ ไม่มีใครสนใจที่จะช่วยเขาเลย วิเชียรกล่าวว่าตอนที่จมอยู่ในสระเขารู้สึกหนาวมาก ความเย็นยะเยือกใต้ท้องน้ำที่วิเชียรรู้สึกนี้ก็เปรียบเสมือนความเหน็บหนาวภายในจิตใจ เขาเองก็รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับต้น สิ่งนี้เองที่อาจทำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ต้นเป็น ต้นและวิเชียรจึงกลายเป็น “เพื่อนรัก..เพื่อนตาย” กัน กอปรกับสาเหตุการตายของวิเชียรเกิดจากความคึกคะนองและประมาทเลินเล่อ อยากเรียกร้องความสนใจของเพื่อนจึงแกล้งจมน้ำ แต่โชคร้ายที่ขาของเขาเป็นตะคริว เหตุการณ์อันน่าสลดในจึงได้เกิดขึ้น เมื่อต้นมาช่วยเขาสิ่งที่ค้างคาอยู่ภายในใจก็เหมือนได้คลี่คลายลง วิเชียรไม่ต้องกลับมาจมน้ำที่สระร้างอีกต่อไป

ความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเอกได้คลี่คลายลง ต้นได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมจากวิเชียร เขาได้เติบโตขึ้น เข้าใจและใส่ใจคนอื่นมากขึ้น “...เพิ่งรู้ว่าโรงเรียนเราก็ใหญ่เหมือนกัน” ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของต้น ณ สภาพแวดล้อมเดิม แต่มองเห็นในมุมมองใหม่ที่เปิดใจยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อถึงวันที่ต้นจะได้กลับบ้าน ความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อกับลูกก็สิ้นสุดลง ขณะที่รถเคลื่อนออกจากโรงเรียน เสียงของตัวละครเอกก็กลับมาเล่าเรื่องอีกครั้ง “มีหลายอย่างคล้ายจะยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นคือตัวผม” ท้ายที่สุดต้นกลายเป็นคนมีน้ำใจ มีระเบียบวินัย และมีเพื่อน

ครูปราณีก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีปมความขัดแย้งภายในจิตใจ ครูปราณีคิดว่าวิเชียรกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย และเธอก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น แผ่นเสียงเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจของครูปราณี ซึ่งวิเชียรคือผู้ที่ทำให้แผ่นเสียงของครูปราณีเสีย ขณะที่ต้นมาเล่าความจริงถึงสาเหตุการตายของวิเชียร แผ่นเสียงที่กำลังเล่นอยู่นั้นก็สะดุดอีก กระทั่งต้นเล่าเรื่องทั้งหมดจนจบแผ่นเสียงก็เล่นต่อตามปกติอีกครั้ง ความขัดแย้งและความไม่สบายใจทั้งหมดของครูปราณีก็มลายหายไปพร้อมกับเสียงเพลงที่บรรเลงขึ้น

โครงเรื่องเป็นแนวเน้นฉากและบรรยากาศ ฉากในภาพยนตร์ในช่วงต้นส่วนใหญ่จะเป็นตอนกลางคืน เน้นโทนแสงและสีที่มืดทึม ตัวอย่างเช่นสีเทา สีดำ ทำให้บรรยากาศในเรื่องดูลึกลับ น่าสะพรึงกลัว มีการกระชากอารมณ์ของผู้ชมด้วยฉากที่สร้างความตกใจ กระตุ้นให้ผู้ชมอยากติดตามเรื่องอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเสียงดนตรีที่เสริมให้เรื่องตื่นเต้นและน่ากลัวยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเร้าอารมณ์ของผู้ชมได้มาก นอกจากจะเน้นฉากและบรรยากาศแล้ว โครงเรื่องของ “เด็กหอ” ยังเป็นแนวเน้นแก่นเรื่องอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตในสังคม
สารที่ผู้ชมได้รับจากเรื่องคือมิตรภาพระหว่าง “คน” กับ “ผี” ทำให้เข้าใจคำว่า “เพื่อนตาย” ที่แม้จะไม่มีสิ่งใดเหมือนกัน แต่หากมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คอยช่วยเหลือกัน และที่สำคัญ..เข้าใจ ปลอบใจ คอยเตือนสติ รวมทั้งพร้อมที่จะให้อภัยเมื่ออีกฝ่ายทำผิด

ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็น “ผี” หากเราทุกคนเข้าใจตนเองและพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น เราก็จะรู้ว่า “เพื่อนตาย หาไม่ยาก..อย่างที่คิด”


วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

หนังสือแสดงกิจจานุกิจ : ต้นเค้าของสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน


Sadaengkijjanukit Book : The Origin of Thai Youth Encyclopedia

บทคัดย่อ
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) นิพนธ์หนังสือแสดงกิจจานุกิจขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ หนังสือเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่เยาวชนทั่วไป ในเวลานั้นผู้นิพนธ์เห็นว่าเด็กไทยได้แต่อ่านเขียนหัดท่องจำตามคำคล้องจองเท่านั้น มิได้ฝึกให้รู้จักการคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล จึงได้นำความรู้และวิธีการอธิบายด้วยเหตุผลแบบตะวันตกมาอธิบายความรู้เรื่องใกล้ตัวที่เด็กควรรู้ ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาแบบใหม่ ที่สำคัญหนังสือเรื่องนี้ยังอธิบายหลักพระพุทธศาสนาในลักษณะของ ศาสนาเปรียบเทียบไว้ด้วย สำหรับกลวิธีการเขียนนั้นมีลักษณะปุจฉาวิสัชนา พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบเป็นเรื่องๆ โดยละเอียด ส่วนเนื้อหามีทั้งด้านภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และศาสนา เห็นได้ชัดว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจมุ่งให้ความรู้ที่หลากหลาย แต่ยังไม่มีการจัดลำดับคำและตั้งเป็นคำศัพท์เพื่อให้สะดวกต่อการค้นเรื่อง อย่างไรก็ดี ลักษณะการรวบรวมความรู้สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฏในเรื่องซึ่งก็เป็นความรู้ที่ทันสมัยสมควรแก่เด็กไทยจะเรียนรู้ในช่วงเวลานั้น จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเรื่องนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน

abstract

Choapraya Thiphakornwong (Kham Boonnak) wrote the Sadaengkijjanukit book in the reign of King Rama IV, a period of time that Thai society gave much attention to the nation’s education. The book is written with an aim to educate Thai youth. In the author’s opinion, the textbooks in this era only taught our youth to read and write by rhymes instead of allowing them to practice thinking critically. This book could therefore help explain general knowledge around them, natural phenomena, and modern cosmology with the scientific approach of the West which spread in the country during that time. Significantly, it also explicated Buddhist Principles with a comparison to other religions. The rational question-answer method and variety of examples are two writing techniques the author employed for explanation. When scrutinizing the book categorization at the present, we discover that the Sadaengkijjanukit book is mainly characterized by its collection of update contemporary information. This book is thus regarded as the origin of Thaiyouth encyclopedia.

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีการปฏิรูปบ้านเมืองสร้างความเป็นอารยะและพัฒนาประเทศทั้งด้านวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำ ที่มุ่งให้ความรู้แก่สามัญชนและมุ่งกระจายความรู้ไปสู่สาธารณชนมากขึ้น ความคิดนี้มีมาตั้งแต่ในรัชกาลก่อนแล้ว ดังที่มีจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อันเป็นแหล่งความรู้แห่งแรกที่เผยแพร่สู่ประประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชสมัยนี้เองที่หมอสอนศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ทางตะวันตกให้แก่ชนชั้นสูงของไทย ดังที่กาญจนาคพันธุ์เล่าไว้ว่า หมอบรัดเลเป็นที่รู้จักดีของคนไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงมาจนเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมด และชอบพอสนิทสนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าฟ้า ใหญ่ (พระจอมเกล้า), เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า), กรมหมื่นวงษาสนิท (ต้นสกุลสนิทวงศ์), หลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์), นายโหมด อมาตยกุล. หมอบรัดเล ได้เป็นครูสอนแนะนำวิชาความรู้ต่างๆ หลายอย่าง เช่น สอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าฟ้าทั้งสอง พระองค์, สอนวิชาแพทย์แก่กรมหมื่นวงษาฯ ทรงเรียนวิชาแพทย์ฝรั่งจนมีความรู้ได้ ประกาศนียบัตรจาก New York Academy of Medicine แห่งอเมริกา, แนะนำการต่อเรือ กำปั่นแบบฝรั่งแก่หลวงนายสิทธิ์, สอนวิชาแยกธาตุแก่นายโหมด อมาตยกุล. นอกจากนี้ หมอบรัดเลยังช่วยตรวจแปลหนังสือราชการที่สำคัญหลายครั้ง [๑]


การตื่นตัวที่จะเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ จากชาวต่างชาติปรากฏชัดเจนในหมู่ชนชั้นสูง ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้ศึกษาเล่าเรียนจินดามณี ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้มีฉบับของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาอ่านง่ายกว่าจินดามณีฉบับก่อนๆ ส่วนกุลบุตรทั่วไปก็มีแบบเรียนใหม่ที่แต่งขึ้นสำหรับสามัญชน คือประถม ก กา และปฐมมาลา

สำหรับวรรณคดีที่แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มักกล่าวถึงการแสวงหาความรู้และการศึกษาเล่าเรียนของตัวละครขั้นเปตอนมากกว่าจะกล่าวถึงบุญญาภินิหาริย์ ตัวละครเช่น พลายแก้ว พลายงาม ในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ดี พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ในเรื่องพระอภัยมณีก็ดี ล้วนแต่ได้รับการศึกษาขั้นสูงและจะเห็นได้ว่าแม้แต่ตัวละครหญิงในวรรณคดีที่แต่งขึ้นในช่วงเวลานี้ก็มีความสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดีหรือบางตัวอาจมีความรู้ความสามารถมากกว่าชายด้วยซ้ำไป เช่น นางละเวงวัณฬาและนางวาลี ทั้งนี้ ตัวละครหญิงดังกล่าวอาจเป็นตัวละครหญิงในอุดมคติของยุคสมัย ซึ่งผู้ประพันธ์อาจมุ่งกระตุ้นให้กุลธิดาในเวลานั้นให้ความสนใจและตระหนักถึงบทบาทของการศึกษาหาความรู้ก็เป็นได้

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ยังมีวรรณคดีเรื่องนางนพมาศอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงการศึกษาหาความรู้ของตัวละครหญิง ซึ่งเป็นธิดาพราหมณ์ นางนพมาศเป็นผู้มีความมานะพยายามที่จะแสดงความรู้ความ สามารถของตนจนได้เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า นางได้เสนอความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาด้วยโลกทัศน์ใหม่[๒] ที่ค้านกับหนังสือไตรภูมิกถา แต่หนังสือเรื่องนี้ไม่ปรากฏนามของผู้แต่งและยุคสมัยที่แต่งอย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจกันว่าเป็นตำราพิธีที่มีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย [๓] หนังสือเรื่องนางนพมาศจึงไม่ได้รับการต่อต้านเมื่อกล่าวถึงโลกและประเทศอื่นๆ ในชมพูทวีป ซึ่งแตกต่างกับการอธิบายเรื่องทวีปในไตรภูมิกถาอย่างสิ้นเชิง


วรรณคดีข้างต้นนับว่าเป็นบันทึกทางสังคมที่ทำให้เราเห็นร่องรอยของความคิดของคนในเวลานั้นที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและให้ความสนใจกับความเจริญก้าวหน้าของชาวตะวันตก เจตนา นาควัชระ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับสังคมไว้ว่า “ถ้าเราไม่รู้จักวรรณคดีดีแล้ว เราก็ไม่อาจจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสังคมได้ ทั้งนี้ก็เพราะวรรณคดีชี้ให้เห็นถึงชีวิตในมุมต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะสกัดเอาแก่นแท้ของสังคมนั้นออกมาให้เห็นได้”[๔]


หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นความคิดของชนชั้นผู้นำในสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ เขียนขึ้นเพื่อมุ่งให้ความรู้แก่เด็ก ดังที่ผู้นิพนธ์กล่าวว่า “ผู้แต่งหนังสือนี้ มีความกรุณาต่อเด็กๆ ทั้งหลาย ที่จะสืบต่อไปภายน่า “ ซึ่งเป็นการตอบสนองแนวคิดของชนชั้นนำไทยในช่วงเวลานั้น แต่ด้วยหนังสือเรื่องนี้มีวิธีการเขียนแตกต่างกับหนังสือประเภทอื่น โดยเฉพาะหนังสือที่ให้เด็กไทยอ่าน ดังนั้น เมื่อผู้นิพนธ์ประสงค์จะพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเรื่องนี้จึงได้รับการปฏิเสธและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นของชาว ต่างชาติไม่ยอมจัดพิมพ์ให้ เพราะเห็นว่าแนวคิดของหนังสือเรื่องนี้ขัดแย้งกับการสอนศาสนาอื่นอย่างรุนแรง[๕] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ผู้นิพนธ์จึงดำเนินการจัดพิมพ์เองโดยใช้แบบพิมพ์หินคือ เขียนตัวอักษรแบบอาลักษณ์แล้วนำแผ่นหินอ่อนมาทำเป็นแม่พิมพ์ มีทั้งหมด ๓๙๐ หน้า พิมพ์เสร็จเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ จำนวน ๒๐๐ เล่ม[๖]

เมื่อพิจารณาการนำเสนอเนื้อหาและกลวิธีการเขียนหนังสือเรื่องนี้ในเบื้องต้น จะเห็นว่าต่างกับวรรณคดีเรื่องอื่นในสมัยเดียวกัน โดยเฉพาะลักษณะที่เป็นหนังสือรวบรวมความรู้ในเรื่องต่างๆ เนื้อหาช่วงต้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ โดยอธิบายเป็นเรื่องๆ เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง ถึงความเป็นไปได้และความเป็นเหตุเป็นผลของคำอธิบาย ทั้งในตำราของไทยที่เคยมีมาและที่ได้จากตะวันตกซึ่งนับว่าทันสมัยในยุคนั้น จากวิธีคิด วิธีอธิบายและเนื้อหาที่เป็นเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นี้เอง จึงมีผู้จัดให้หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นหนังสือดีด้านวิทยาศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน[๗] และด้วยเนื้อหาช่วงหลังของหนังสือกล่าวถึงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งต่างกับแนวคิดที่ปรากฏในไตรภูมิกถา จึงมีผู้จัดหนังสือเรื่องนี้ว่าเป็นวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่[๘]

สำหรับกลวิธีการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจจะเห็นว่า มีลักษณะเป็นการรวบรวมความรู้ที่หลากหลาย และจากข้อความที่ว่า “ ข้าพเจ้าจึ่งคิดเรื่องราวกล่าวเหตุผลต่างๆ แก้ในทางโลกย์บ้าง ทางสาศนาบ้าง ที่มีพยานก็ชักมากล่าวไว้ ที่ไม่มีพยานเปนของที่ไม่เหนจริงก็คัดค้านเสียบ้าง ว่าไว้แต่ภอปัญญาเด็กรู้”[๙] (๒) ทำให้เห็นจุดประสงค์ของการเขียนได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งให้ความรู้ประดับสติปัญญาเด็ก และเพื่อว่าเด็ก “จะได้อ่านหนังสือนี้แทนหนังสือสวดแลหนังสือเรื่องลคร เหนจะเปนประโยชนรู้การเล็กๆน้อยๆบ้าง” หนังสือเรื่องนี้จึงน่าจะ็ดูมีลักษณะคล้ายกับหนังสือประเภทสารานุกรมสำหรับเยาวชน ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจน่าจะมีเค้าความคิดของการจัดทำเป็นสารานุกรม[๑๐] จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้าถึงลักษณะการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจ และอาจศึกษาไปถึงบริบททางสังคมในเวลานั้นโดยเฉพาะที่มีความคิดเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันกับที่ปรากฏในหนังสือเรื่องนี้

บทความนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาและกลวิธีการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจ ซึ่งอาจทำให้เห็นว่าผู้นิพนธ์น่าจะมีความคิดในการจัดทำหนังสือเรื่องนี้ให้เป็นเช่นเดียวกับหนังสือประเภทสารานุกรมสำหรับเยาวชนดังในปัจจุบัน ซึ่งมุ่งให้ความรู้และมุ่งฝึกให้เด็กไทยใช้ความคิดพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาแล้ว
สารานุกรม : คำจำกัดความ

สารานุกรม คือหนังสืออ้างอิงหรือหนังสืออุเทศประเภทหนึ่ง ที่รวบรวมความรู้อันเป็นพื้นฐานในทุกสาขาวิชาหรือรวบรวมความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะแล้วนำมาเรียบเรียงไว้ตามลำดับอักษร เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้จากหนังสือสารานุกรมนิยมใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือได้ สารานุกรมจึงเป็นคลังทรัพย์สินทางปัญญาที่บริบูรณ์ในตัวเอง เปรียบเหมือนห้องสมุดขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ตามผู้ที่เป็นเจ้าของ ความรู้ในหนังสือสารานุกรมที่เขียนขึ้น ในแต่ละยุคจะทันสมัยที่สุดสำหรับช่วงเวลานั้นๆ [๑๑]

สารานุกรม ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ สารและอนุกรม คำว่าสาร มีความหมายว่า แก่นเนื้อแท้ ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ[๑๒] ส่วนคำว่า อนุกรมหมายถึง ลำดับ ระเบียบ ชั้น รวมความแล้ว “สารานุกรม” มีความหมายว่า คือเรื่องราวที่เป็นเนื้อแท้แก่นสารนำมาเรียบเรียง โดยใช้ถ้อยคำที่มีการจัดระเบียบแต่ละเรื่องตามลำดับให้อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือหลายเล่ม แต่เป็นชุดเดียวกัน[๑๓] หากพิจารณาเนื้อหาในเล่มอาจจำแนกสารานุกรมออกได้เป็น ๒ ประเภท คือสารานุกรมทั่วไปและสารานุกรมเฉพาะวิชา แต่ทั้งสองประเภทก็มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความรู้ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับลึกซึ้งเป็นประการสำคัญ หนังสือแสดงกิจจานุกิจ : คำอธิบายสิ่งละอันพันละน้อย

หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่แสดงวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยใช้การปุจฉาวิสัชนาและการอธิบายด้วยเหตุผล เอนก นาวิกมูลกล่าวไว้ว่าหนังสือเรื่องนี้เดิมใช้ชื่อว่าโกศลกิจจานุกิตย์[๑๔] ซึ่งรับกับข้อความในตอนท้ายเรื่องที่ว่า “จบเรื่องโกสลกิจจานุกิตย์”[๑๕] แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อตั้งแต่เมื่อใด แต่ฉบับที่ใช้อ้างอิงนี้กล่าวอย่างชัดเจนในเนื้อหาตอนต้นว่า “ให้ชื่อว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์” [๑๖] แต่มาเปลี่ยนตัวอักษรในการพิมพ์เป็น “แสดงกิจจานุกิจ” ตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐาน
แสดงกิจจานุกิจประกอบด้วยคำว่า แสดง หมายถึง ชี้แจง,อธิบายให้ปรากฏชัดเจน และคำว่า กิจจานุกิจ ซึ่งหมายถึงการงานน้อยใหญ่หรือเรื่องราวทั่วไป เมื่อรวมความจากชื่อเรื่องแล้ว เห็นได้ว่าผู้นิพนธ์มีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้เรื่องราวสิ่งละอันพันละน้อยที่เคยมีผู้อธิบายไว้แต่ก่อนแล้ว และเมื่อมีผู้ให้คำอธิบายใหม่ที่ทันสมัยก็นำมากล่าวแก้ เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล มิใช่เชื่อกันไปตามเรื่องราวที่เคยมีมาแต่ก่อน เนื้อหาที่ปรากฏนั้นมักเป็นความรู้ในเรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องของวัน เวลา ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความรู้เกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาต่างๆโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา

ผู้นิพนธ์หนังสือแสดงกิจจานุกิจคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี(ขำ บุนนาค) ท่านผู้นี้เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๕ เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และหม่อมรอด ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นนายพันมหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาเป็นจมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจ ท่านมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ผู้ช่วยราชการในกรมท่า (กระทรวงต่างประเทศ) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ.๒๓๙๙ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนนามจาก“รวิวงศ์”เป็น“ทิพากรวงศ์”[๑๗]สำหรับผลงานของท่านที่สำคัญคือการเป็นแม่กองบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ เป็นแม่กองขุดคลองมหาสวัสดิ์ และสร้างศาลาริมคลอง รวมทั้งติดกระดาษตำรายาไว้ ซึ่งเป็นที่มาของตำบลศาลายา[๑๘] ส่วนทางด้านวรรณกรรมที่นับว่าเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ คือการเรียบเรียงหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[๑๙]

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีจากทั้งครูคนไทยและชาวต่างชาติ จากการได้ติดต่อทั้งในหน้าที่การงานและการหมั่นศึกษาหาความรู้เป็นนิจ หนังสือเรื่องนี้เกิดขึ้นก็เพราะความตั้งใจที่จะให้ความรู้ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นที่ทราบทั่วกันเผยแพร่ไปในหมู่เด็กไทย ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการ ศึกษาของเด็กไทยในเวลานั้นน่าจะได้รับการส่งเสริมให้เกิดการคิดใคร่ครวญไตร่ตรองมากกว่าจะเป็นการเรียนที่เอาแต่ท่องจำข้อความสัมผัสเท่านั้น ดังที่ท่านได้วิจารณ์แบบเรียนในเวลานั้นว่า

ข้าพเจ้า เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี... ผู้แต่งหนังสือนี้ มีความกรุณาต่อเด็กๆ ทั้งหลาย ที่จะสืบต่อไปภายน่า จะได้ยินได้ฟังการต่างๆ หนาหูเข้า จะชักเอาปัญญาแลใจ แปรปรวน ไปด้วยความไม่รู้อะไรถึงจะไปเล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้าง ที่บ้านบ้าง อาจาริย์สั่งสอนให้เล่าเรียน หนังสือพอรู้อ่านก็ให้อ่านหนังสือปถม ก กา แล้วก็ให้อ่านหนังสือสวดต่างๆ แล้วก็ให้อ่านเรื่องต่างๆ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูหนังสือที่เด็กอ่าน ก็ไม่เปนประโยชน์แก่เด็กเลย แต่หนังสือปถม ก กา เปนที่ฬ่อให้ เด็กอ่านง่ายก็ดีอยู่ ถ้าเปนหนังสือไทยๆ ที่เด็กอ่าน ก็มีแต่หนังสือการประเล้าประโลมโดยมากกว่า หนังสือสุภาสิต เด็กนั้นไม่ใคร่จะได้ปัญญาสิ่งใด ผู้ใหญ่จะสั่งสอนเด็กก็มีแต่คำที่ไม่เปนประโยชน เปนต้นว่า “จันทร์เจ้าเอ๋ย ขอเข้าขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า” มีแต่ถ้อยคำสั่งสอนกันดังนี้ มีหลายอย่าง ยกขึ้นว่าภอเปนสังเขป เพราะฉะนั้นจึ่งไม่ได้ความฉลาดมาแต่เล็ก (๒)
ด้วยเหตุที่เกรงว่าเด็กจะไม่ได้รับการฝึกคิดให้เกิดปัญญา ผู้นิพนธ์จึงได้นำเสนอเนื้อหาความรู้ที่หลากหลายสาขาโดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ประดับสติปัญญาของเด็ก ซึ่งถ้าเด็กคนใดอ่านหนังสือเรื่องนี้แล้ว ประสงค์จะค้นคว้าเพิ่มเติมให้มีความรู้มากขึ้นอีก หนังสือแสดงกิจจานุกิจได้แนะแนวทางไว้ว่า “ ถ้าเด็กผู้ใดอ่านหนังสือนี้แล้ว อยากจะรู้ความให้วิเสศโดยพิสดาร ก็ให้หาครูเรียนโหราสารทธรรมสารทต่างๆ ก็จะรู้ได้โดยเลอียด”(๒)
ข้อความนี้ ชวนให้คิดว่าผู้ประพันธ์หวังว่าเมื่อเด็กอ่านหนังสือเรื่องนี้แล้ว ก็อยากจะติดตามหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นก็คงต้องปรึกษาขอความรู้จากครูผู้สอนต่อไป
ตำราวิทยาศาสตร์หรือศาสนาเปรียบเทียบ

หากพิจารณาเนื้อหาของหนังสือแสดงกิจจานุกิจ พบว่าส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องหลากหลายที่อยู่ใกล้ตัว ได้แก่การนับโมงยาม จำนวนนับของเวลา การเกิดฤดูต่างๆ การกำหนดเดือนและปี เหตุที่อากาศร้อนและหนาว โลกกลมหรือแบน เหตุใดน้ำทะเลจึงเค็ม การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นการให้คำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยกเรื่องราวตำนานที่เคยรับรู้มาก่อนขึ้นต้น จากนั้นถึงจะขยายความด้วยการให้ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่นคำถามที่ว่า “แผ่นดินไหวด้วยเหตุอันใด นานๆ จึ่งไหวคราวหนึ่ง” ท่านตอบว่า

ขอแก้ตามลัทธิคำโปราณาจาริย์แก้ไว้ว่า แผ่นดินไหวด้วยเหตุแปดประการ คือผู้มีบุญหกประการไหวด้วยปลาใหญ่ที่รองแผ่นดินพลิกตัวไหวบ้าง ไหวด้วยน้ำ ด้วยลมรองแผ่นดินก็มีบ้าง ข้างจีนว่าอึ่งอ่างที่หนุนแผ่นดินอยู่ไหวตัวบ้าง คำที่ว่า แผ่นดินไหวเพราะผู้มีบุญนั้นยกไว้ก่อน ด้วยเปนความอัศจรรย์ของผู้มีบุญคัดค้านไม่ได้ ของเปนเพราะท่านผู้มีวาศนา แต่คำที่ว่าปลาอานนท์ที่รองแผ่นดินแลอึ่งอ่าง ที่หนุนแผ่นดินจะต้องคัดค้านเสีย เปนเช่นนั้น แผ่นดินก็จะไหวทั่วกันทั้งพิภพพร้อมกัน ... แลนักปราชเขาได้สืบดูรู้ว่าเหนจะเปนของที่เปนอยู่ในใต้ดิน จะเปนน้ำหรือจะเปนลม เปนไฟเปนฤทธิ์แร่ต่างๆ อย่างไรอย่างหนึ่ง...การก็เหนปรากฏเปนพยานอยู่ดังนี้ นักปราชชาวยุโรปเขาคิดเหนว่าธาตุในแผ่นดินกำเริบขึ้น (๕๘)
คำอธิบายเรื่องแผ่นดินไหวข้างต้น ทำให้เห็นว่าผู้นิพนธ์มีความตั้งใจจะให้เด็กรู้จักคิดว่าการที่แผ่นดินไหวนั้นควรจะเกิดจากการเคลื่อนตัวของธาตุที่อยู่ใต้พื้นพิภพ ซึ่งแต่เดิมนั้น มี “โปราณาจาริย์” ให้คำอธิบายไว้แล้ว ต่อมาก็มี “นักปราชญ์” อธิบายด้วยการให้โลกทัศน์ใหม่ เด็กจึงต้องคิดพิจารณาว่าจากคำกล่าวทั้งสองแหล่งนี้ คำอธิบายใดที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้ หรือคำถามเกี่ยวกับสุริยคาธจันทรคาธ ที่มีการตีเกราะเคาะไม้ ถามว่าจะไม่เป็นการช่วยพระอาทิตย์พระจันทร์หรือ คำตอบก็อธิบายว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อ มีเรื่องราวมากมายจากแหล่งต่างๆ ผู้นิพนธ์ไม่มีข้อสรุปชัดเจนเพียงประการเดียว แต่จะให้เด็กไตร่ตรองและพิจารณาความรู้ที่ได้ยินได้ฟังจากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง ตอนท้ายของคำตอบจึงมักมีข้อความว่า “ขอท่านผู้มีสะติปัญญาตริตรองดูเถิด” (๗๙)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและเป็นเรื่องควรรู้ใกล้ตัวแล้ว เมื่ออภิปรายถึงโลกกลมหรือแบน ท่านผู้นิพนธ์ก็อธิบายเรื่องจักรวาลวิทยา ในเวลานั้นทราบกันทั่วไปตามคัมภีร์ไตรภูมิกถาว่าโลกมีแกนกลางอยู่ที่เขาพระสุเมรุ ดังที่มีคำถามว่า “ซึ่งว่าลูกพิภพกลมลอยหมุนเวียนไป จะมิผิดกับในหนังสือไตรยภูมโลกย์สัณฐาน โลกย์ทิปกแลคัมภีร์อื่นๆ มีอีกหลายแห่ง ที่ว่าโลกย์แผ่นดินพิภพเปนเหมือนใบบัว ตั้งอยู่บนหลังน้ำ ก็มีปลาอานนท์หนุนแผ่นดิน...” ท่านกล่าวแก้ว่า “ความเรื่องนี้ขอยกไว้ทีหนึ่ง ข้าพเจ้าได้สืบสวนตริตรองนักแล้ว พอจะได้ความจริงอยู่บ้างเดิมทีแต่ก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่บังเกิด ก็มีแต่ละคนถือสาศนา...” จากนั้นก็โยงไปถึงพระพุทธศาสนาและรายละเอียดในศาสนาอื่นๆ เนื้อหาของหนังสือในช่วงหลังจึงมีลักษณะเป็นศาสนาเปรียบเทียบ

เนื้อหาการให้ความคิดเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในหนังสือแสดงกิจจานุกิจนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการปฏิเสธแนวความคิดในเรื่องไตรภูมิกถา ดังในตอนอธิบายเรื่องสัณฐานของโลกว่า “การทุกวันนี้ นักปราชเปนอันมาก เขาก็ได้เที่ยวทั่วพิภพตรวจตราชันสูตร ตามความคิดปัญญาของเขาหาพยานได้ ก็รู้ว่าพิภพกลมหมุนแลลอยอยู่ในอากาศเปนแน่ ผิดกับคำไตรภูมโลกย์สัณฐาน ที่เขาถือมาแต่โบราณ” (๙๘) อธิบายว่าที่เป็นดังนี้เนื่องจากไตรภูมิมิใช่พระพุทธวจนะ แต่เป็นคำบาลีที่พระสงฆ์รุ่นหลังอธิบายเพิ่มเติมขึ้น ดังที่ว่า “พระสงฆ์ทั้งปวง...จึ่งเก็บเอาตามคัมภีร์ไตรยเพทต่างๆ บ้าง แลในบาฬีที่พระพุทธเจ้าเทศนาเปนคำเปรียบบ้าง เปนคำอนุโลมตามเหตุบ้างคำอุประมาบ้าง มาร้อยกรองเปนคัมภีร์ไตรยภูมโลกย์สัณฐานขึ้นอ้างว่าเปนพุทธฎีกาเทศนา”

การกล่าวปฏิเสธหรือโต้แย้งความคิดที่ปรากฏในคัมภีร์ไตรภูมินับเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยว่าเรื่องไตรภูมิเป็นความคิดที่หยั่งรากลึกในดินแดนสุวรรณภูมิมาช้านาน หากไม่มีผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้คิดค้านก็ย่อมทำได้ยาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ชาวต่างชาติได้บันทึกไว้เกี่ยวกับการโต้แย้งทางความคิดกับคัมภีร์ไตรภูมิ พบว่า พระสงฆ์จากสำนักของเจ้าฟ้ามงกุฎได้อธิบายให้มิชชันนารีฟังว่า หนังสือไตรภูมิกถานี้ ไม่ใช่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และใครที่คิดว่าไตรภูมิเอาความคิดมาจากพระไตรปิฎกเป็นผู้เข้าใจผิด เพราะความจริงแล้วนักปราชญ์ผู้เขียนอาจสอดแทรกความคิดของตนเองลงไปได้[๒๐]
จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับข้อความในหนังสือแสดงกิจจานุกิจอย่างยิ่ง จึงอาจสรุปความคิดเรื่องคำอธิบายที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในหนังสือแสดงกิจจานุกิจได้ว่าน่าจะเป็นการสนับสนุนความคิดที่จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาของเจ้าฟ้ามงกุฎหรืออีกนัยหนึ่งคือ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)เขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจขึ้นเพื่ออธิบายความคิดปฏิรูปพระพุทธศาสนาของพระองค์ก็เป็นได้ ไม่ว่าจะจัดหนังสือเรื่องนี้เป็นตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย หรือเป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาได้อย่างเข้าใจชัดเจนก็ตาม แต่หนังสือเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เผยแพร่ในสังคมเวลานั้น อีกทั้งยังไม่ให้เด็กใช้เป็นหนังสืออ่านตามที่ได้ตั้งจุดประสงค์ไว้อีกด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหนังสือเรื่องนี้ค้านแนวคิดสำคัญในคัมภีร์ไตรภูมิ หรืออาจเป็นเพราะทำให้มิชชันนารีผิดหวังว่า หากคนไทยปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับจักรวาลในไตรภูมิกถาแล้ว ความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็จะสั่นคลอนไปด้วย[๒๑] แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อชนชั้นผู้นำแยกไตรภูมิออกจากพระพุทธศาสนา และสนับสนุนว่าความคิดหลายเรื่องของพระพุทธเจ้าสอดรับกันดีกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย พระพุทธศาสนาจึงกลับเข้มแข็งขึ้นกว่าก่อน[๒๒]

มิชชันนารีต่างโจมตีพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาล้าหลัง เหมาะสำหรับชนชาติที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น[๒๓] ผู้นิพนธ์จึงได้รวบรวมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา นำเสนอในแนวโต้แย้งหักล้างกับคำสอนของหมอสอนศาสนา ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นจำนนต่อคำโต้แย้งและไม่อาจชี้แจงได้ หนังสือเรื่องนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่หมอสอนศาสนาหลายคนในเวลานั้น

เมื่อผู้นิพนธ์พิมพ์เผยแพร่หนังสือเรื่องนี้เอง ชาวต่างชาติบางคนนำข้อความบางตอนไปแปลลงในหนังสือเรื่อง The Wheel of the Law ของนายเฮนรี่ อัลบาสเตอร์(Henry Alabaster) ต่อมาผู้นี้ได้นำเนื้อหาบางตอนในหนังสือแสดงกิจจานุกิจมาพิมพ์ ใช้ชื่อว่า The Modern Buddhist แล้วอธิบายว่า ”เขียนจากทัศนะของเสนาบดีไทยท่านหนึ่งซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับศาสนาของท่านเองและศาสนาของผู้อื่น” หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่บริษัท Trubner & Co. ในกรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ.๒๔๑๓[๒๔] จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในสังคมไทย อีกทั้งยังมีการแปลและพิมพ์เผยแพร่ในสังคมต่างประเทศ ทำให้ชาวยุโรปทราบถึงทัศนะของคนที่มีการศึกษาดีในประเทศตะวันออกคนหนึ่ง
กลวิธีการเขียน : การลำดับความคิด รวบรวมและอ้างอิง

หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่มีวิธีเขียนที่น่าสนใจ แม้จะใช้การถาม – ตอบเพื่อนำไปสู่การอธิบายอย่างละเอียดคล้ายกับวรรณกรรมพระพุทธศาสนา แต่ก็มิได้มีลักษณะเป็นการปุจฉาวิสัชนาข้อหลักธรรมดังที่ปรากฏในวรรณคดีพระพุทธศาสนาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่เป็นการอธิบายถึงแหล่งความรู้อย่างหลากหลายรอบด้าน โดยยกความรู้ที่ได้จาก “โบราณาจาริย์” ว่าไว้และบอกเล่าสืบต่อกันมาอธิบายเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงอธิบายด้วยความรู้สมัยใหม่ที่ได้จากนักปราชญ์ตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือมีการอธิบายพร้อมทั้งให้เหตุผล เป็นขั้นตอนมีรายละเอียดประกอบ และให้คำศัพท์ภาษาต่างประเทศกำกับไว้ด้วย เช่น คำถามที่ว่าวันมีกี่วัน ท่านอธิบายว่า

แก้ว่ามีเจ็ดวัน วันหนึ่งกี่โมง แก้ว่ากลางวัน ๑๒ โมง กลางคืนนับ ๑๒ ทุ่ม โมงหนึ่ง ๑๐ บาด ว่าอีกอย่างหนึ่ง วันกับคืนหนึ่งเปน ๖๐ นาที นาทีหนึ่งเปน ๔ บาด บาดหนึ่ง ๑๕ เพ็ชนาที เพ็ชนาทีหนึ่ง ๖ ปราณ ปราณหนึ่ง ๑๐ อักษร อย่างนี้มาตราไทย ถ้าจะว่าตามพวกที่เขาใช้นาฬิกาพก เขาคิดเอาเทพจรผู้ชาย ที่อายุตั้งอยู่ในมัชฌิมไวย เทพจรนั้นเดินเสมอทีหนึ่งเขาเอามาตั้งเรียกว่าสกัน ๖๐ สกันเป็นมินิตย์ ๖๐มินิตย์เปน โมงหนึ่ง เขาคิดตั้งแต่ล่วงเที่ยงคืนไปจนเปนวันน่าจนถึงเที่ยงวัน เรียกว่าเวลาเช้า บ่ายโมง หนึ่งไปจนสองยาม เรียกว่าเวลาค่ำ ก็เปน ๒๔ โมงเหมือนกัน ถ้าจะเรียกตามไทย สกันหนึ่ง ก็เรียกว่าวินาที ๖๐ วินาทีเปนมหานาที ๖๐ มหานาทีเปนโมงหนึ่ง (๓) หากศึกษาวิธีการเขียนหนังสือเรื่องนี้โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า มีการเลือกสรรข้อมูลความรู้ที่เป็นเรื่องรอบๆ ตัว มาตั้งเป็นคำถาม บางเรื่องเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้ว แต่ต้องการนำมาอธิบายด้วยโลกทัศน์ใหม่ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใกล้ตัวจนไม่มีผู้ใดสนใจใคร่รู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น คำถามเรื่องหน้าร้อน หน้าหนาว

เมื่อพิจารณาการตั้งคำถาม พบว่าน่าจะมิได้มีการจัดลำดับเรื่อง หรือตั้งเป็นคำศัพท์เรียงตามตัวอักษรตามลักษณะเด่นของหนังสือสารานุกรมดังในปัจจุบัน ผู้นิพนธ์น่าจะเขียนขึ้นเมื่อนึกเรื่องราวใดที่คิดว่าเด็กควรรู้และควรเข้าใจให้ถ่องแท้ก็นำมาอธิบายขยายความ จากเรื่องใกล้ตัวแล้วเล่าไกลตัวออกไป การรวบรวมก็จัดเป็นเรื่องๆ ของแต่ละคำถาม มิได้มีการจัดหมวดหมู่ เช่นเริ่มจากคำถามเรื่องการนับพุทธศักราช มหาศักราชและจุลศักราช เมื่อขยายความแล้ว ถามต่อเรื่องสงกรานต์ และขยายความด้วยพิธีต่างๆ ในแต่ละเดือน จากนั้นถามเรื่องที่มาของพิธีต่างๆ สิบสองเดือน แล้วโยงไปสู่การเล่นเบี้ยในงานตรุษสงกรานต์ จากนั้นขยายคำถามไปเรื่องการเล่นเบี้ยว่ามีบาปหรือไม่ ก็อธิบายเรื่องบาปตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าไม่มีการจัดหมวดหมู่ของความรู้เป็นหมวดๆ แต่มีการร้อยเรียงต่อเนื่องกันไปเป็นเรื่องๆ เท่านั้น[๒๕] นอกจากการเขียนอธิบายตามข้างต้นนี้แล้ว จะเห็นกลวิธีที่เด่นอีกประการหนึ่งคือ การอ้างอิงคำตอบส่วนใหญ่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของเรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นภูมิรู้ของผู้นิพนธ์ เช่น การอ้างถึงความในหนังสือเล่มหนึ่งที่บาทหลวงเขียนไว้ชื่อ “มหากังวล” หรืออ้างถึง “หมอยอนอเมริกันทำหนังสือตราชูทองชั่งสาศนาพระพุทธเจ้าแลพระเยซูคฤศเจ้า” เป็นต้น การอ้างอิงนี้ผู้นิพนธ์มักยกแหล่งข้อมูลมากล่าวด้วยทุกครั้ง เช่นว่า “อ้างว่าคัมภีร์ของเก่านักปราชเขาเขียนไว้”(๑๔๘) “อ้างว่าสมณะผู้เปนครูเปนอาจาริย์ของเรา ท่านว่าอย่างนี้ ท่านถืออย่างนี้”(๑๕๐) เป็นต้น

การอ้างอิงนับเป็นการให้ความสำคัญของแหล่งที่มาของข้อมูลและเป็นการสอนให้เด็กรู้จักพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่อ้างด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีการสอนให้คิดพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งทำให้ผู้อ่านไม่ยึดติดว่าโบราณาจารย์แต่ก่อนอธิบายไว้อย่างไรก็ต้องเชื่อตามนั้น เพราะถ้าคำของนักปราชญ์ชาวยุโรปดูจะมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่าก็น่าจะใช้ปัญญาไตร่ตรองดู
กล่าวได้ว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจมีความคิดที่จะรวบรวมเรื่องราวที่เป็นประโยชน์มาให้เด็กได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักการไตร่ตรองเหตุผลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ผู้นิพนธ์ได้นำมารวบรวมไว้ นำเสนอในรูปของปุจฉาวิสัชนา ซึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดการพิจารณาติดตามเป็นเรื่องๆ ไป ผู้นิพนธ์จึงได้ร้อยเรียงเรื่องราวให้อ่านต่อเนื่องกันไปได้อย่างเพลิดเพลิน การตั้งเป็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอธิบายตอบ น่าจะก่อให้เกิดนิสัยของการช่างสงสัยใคร่รู้และมิให้เชื่อตามๆ กันไปดังแต่ก่อน นับว่าเป็นหนังสือที่เกิดจากความคิดที่ลึกซึ้งของชนชั้นผู้นำคนหนึ่งของไทยในสมัยที่มีการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติอย่างแน่นแฟ้นกว่าสมัยก่อนๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ตอนท้ายเรื่องว่า
อนึ่งเหนว่าในประเทศสยามนี้ มีหนังสือสำรับที่จะอ่านนั้นน้อยนัก แล้วหนังสือที่จะอ่าน นั้นเล่า ก็เปนแต่เรื่องประโลมโลกย์ยักษ์ลักนาง...ถ้าจะเปนเรื่องรวมตำราบ้าง ก็เปนตำรา กาหลงนั้นมีมาก ตำรากาให้ฉลาดนั้นมีน้อย เรื่องราวนั้นอ่านยังค่ำ ไม่เปนคุณไม่เปน ประโยชน์อันใดนัก กลับชักให้หลงไปเสียอีก มาเหนว่าคนบางจำพวกในประเทศนี้ จืดจาง ต่อสาศนา ไม่ใคร่จะแสวงหาความจริง คนต่างประเทศเขามีความอุส่าห์สั่งสอนกัน ก็ชาว สยามนี้ขี้เกียจสั่งสอนกัน ดูเปนน่าอดสูแก่คนเหล่านั้น ข้าพเจ้ามีความปราฐนาจะให้คนที่ ไม่รู้ในทางสาศนานั้นรู้ขึ้น จะไม่ต้องอดสูแก่ผู้ที่เขารู้นั้น (๒๔๕-๒๔๖)
เป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือเรื่องนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนให้คนไทยอ่านกันอย่างแพร่หลาย และเรื่องนี้น่าจะไม่มีโอกาสนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ผู้นิพนธ์ตั้งไว้ เด็กไทยในยุคสมัยนั้นที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้คงมีไม่มากนัก หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ตาม

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นหนังสือที่ล้ำสมัยเรื่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะได้พิมพ์เผยแพร่ในสังคมต่างประเทศแล้ว ยังเป็นหนังสือที่ช่วยให้ชาวต่างชาติเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังสะท้อนให้ชาวต่างชาติได้เห็นทัศนะของเสนาบดีคนหนึ่งในประเทศตะวันออก ซึ่งมีความรู้ต่างๆ และมีความเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี หนังสือแสดงกิจจานุกิจนี้ยังเป็นผลงานที่เกิดจากความคิดก้าวหน้าทั้งในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้และในด้านการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเด็กไทยให้มีหนังสือที่สามารถนำไปศึกษาเองได้ ขณะเดียวกันก็สอนให้เด็กรู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองถึงแหล่งที่มาของความรู้ที่มีอยู่ในสังคมเวลานั้น หนังสือแสดงกิจจานุกิจจึงนับเป็นต้นเค้าสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนที่เขียนขึ้นโดยคนไทย และตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่หวังจะให้เด็กไทยมีความรู้ และรู้จักคิดพิจารณาทัดเทียมกับเด็กๆ ในอารยะประเทศของยุคสมัยนั้นด้วยเช่นกัน
------------------------------------------
[๑] กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. (พระนคร : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๓), ๓๗๙.
[๒] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ “โลกของนางนพมาศ” ใน ปากไก่และใบเรือ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ – วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร : แพรวสำนักพิมพ์,๒๕๓๘) : ๔๐๗-๔๔๙.
[๓] สายวรุณ น้อยนิมิตร.”นางนพมาศ : นางเอกที่ถูกมองข้าม”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๐ (มิถุนายน ๒๕๔๐ - พฤษภาคม ๒๕๔๑).
[๔] เจตนา นาควัชระ. “วรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษา” วรรณคดี กรุงเทพมหานคร ; ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๐.
[๕] เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๘ (๒๕๒๙) : ๘๓-๙๔.
[๖] เรื่องเดียวกัน, ๘๕.
[๗] โครงการคัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน
[๘] พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร ,”วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่" วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
[๙] สะกดตามต้นฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ,หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๑๖.
[๑๐] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK12/chapter2/t12-2-l4.html
[๑๑] เรื่องเดียวกัน.
[๑๒] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒,(กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น, ๒๕๔๖) : ๑๑๘๒.
[๑๔] เอนก นาวิกมูล, ภาพเก่าเล่าตำนาน, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๐),๔๙.
[๑๕] เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ,หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว,๒๔๙.
[๑๖] ฉบับที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายศุข นาคสุวรรณ ๔ เม.ย.๒๕๐๘ (พระนคร : โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์,๒๕๐๘) ใช้ชื่อว่า “กิจจานุกิตย์” อ้างถึงใน เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” , อ้างแล้ว, ๘๕.
[๑๗] เรื่องเดียวกัน,๘๔.
[๑๘] เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่าเล่าตำนาน.อ้างแล้ว,๕๐.
[๑๙] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑,(กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕) .
[๒๐] Terviel,B.J. Mu’ang Thai and the World : Changing Perspectives during the Third Reign. เอกสารการอภิปราย ณ ห้องประชุมชั้น ๗ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ ,๒๕. อ้างถึงใน วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. (กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ , ๒๕๔๕) ,๕๖.
[๒๑] Bradley Dan Beach, M.D. Rev. Abstract of the Rev. Dan Beach Bradley, M.D.Medical Missionary in Siam 1835 – 1873. อ้างถึงใน วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อ้างแล้ว.,๕๖.
[๒๒] วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อ้างแล้ว.,๕๖
[๒๓] สุกิจ นิมมานเหมินท์ “คำนำ” หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว.
[๒๔] สุกิจ นิมมานเหมินท์ “คำนำ” หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว.
[๒๕] หากพิจารณาวิธีการเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ จะเห็นว่ามีลีลาการเขียนที่คล้ายกับหนังสือแสดงกิจจานุกิจ กล่าวคืออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด เป็นลำดับ แต่ไม่ได้แบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจน ดังที่หลวงวิจิตรวาทการวิจารณ์ไว้ว่า “ นึกจะแซกเรื่องอะไรลงไปตรงไหนก็แซกลงไปไม่ติดต่อกัน ... การเรียบเรียงพงศาวดารย่อมจดลงไปตามลำดับเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดได้ละเอียดดี” หลวงวิจิตรวาทการ ,“คำนำ(ในการพิมพ์ครั้งแรก)” พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๘),(๓).

บรรณานุกรม
กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. พระนคร : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๓.
เจตนา นาควัชระ.“วรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษา” วรรณคดี กรุงเทพมหานคร:ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๐.
เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๘ (๒๕๒๙) : ๘๓-๙๔.
ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค),เจ้าพระยา.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓.กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด,๒๕๓๘.
ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค),เจ้าพระยา.หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๑๖.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ “โลกของนางนพมาศ” ใน ปากไก่และใบเรือ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ – วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์.กรุงเทพมหานคร : แพรวสำนักพิมพ์,๒๕๓๘: ๔๐๗-๔๔๙.
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร.”วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่" วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊ค พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖.
วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ , ๒๕๔๕.
สายวรุณ น้อยนิมิตร.”นางนพมาศ : นางเอกที่ถูกมองข้าม”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๐ (มิถุนายน ๒๕๔๐ - พฤษภาคม ๒๕๔๑).
เอนก นาวิกมูล . ภาพเก่าเล่าตำนาน . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๐. http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK12/chapter2/t12-2-l4.html

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2550

แรมนราฯ "โลกในดวงตาข้าพเจ้า"


ได้รับข่าวร้ายของชายแดนภาคใต้มาตลอด ได้แต่เศร้าสลดใจกับบรรยากาศที่โหดร้ายและหดหู่ ทว่าก็ยังรู้สึกว่าห่างไกลกับความเป็นอยู่ของเรา แต่พอได้อ่านกวีนิพนธ์บทชื่อ แรมนราฯ กลับทำให้รับรู้สึกว่าเรื่องราวอันน่ากลัวไม่ได้ห่าวจากเราเลย สายตาของกวีพาเราเข้าไปใกล้เหตุการณ์นั้น และเกิดความหวาดกลัวเสมือนว่าเราเองก็ไม่ต่างกับคนในพื้นที่ หรือว่าเหตุการณ์ภาคใต้จะไม่ได้ไกลอย่างที่เคยคิด


กวีนิพนธ์บทนี้ รวมอยู่ในเล่ม "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ของมนตรี ศรียงค์ บทกวีกล่าวถึงสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความน่าประหวั่นพรั่นพรึง ไม่รู้ว่าวันใดระเบิดจะพาความตายมาเยี่ยมเยือน เป็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่หวาดระแวงและหม่นเศร้า กวีแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ท่อน เริ่มต้นจากการพรรณนาบรรยากาศโดยรวมว่า

1

ฟ้าดำด้วยดึกอันลึกลับ

มืดจับแผ่นฟ้าแล้วทาทั่ว

โลกตกอยู่ในความเงียบอันน่ากลัว

หมองหมองมัวมัวอยู่ทึมทึม

เหมือนเธอตื่นในวันคืนฝันร้าย

ที่ความตายยิ้มเยียบอยู่เงียบขรึม

เหมือนเธอหลับในคืนวันขื่นซึม

กับเสียงบึ้มตูมตามประจำวัน

นาตาชา

คืนแรมนราฯ ช่างน่าพรั่น

ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์

และที่นานกว่านั้นคือฝันดี...

2

จู่จู่นกก็เป็นกระดาษพับ

โปรยปรายแล้วหายวับบินลับหนี

คลื่นความร้อนควั่นลำกระหน่ำตี

อ้าวอบทบทวีนับปีมา

เกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินนี้?

หัวเราะอยู่ดีดีก็ถูกฆ่า

ไม่รู้ใครเป็นใครแล้วนราฯ

หวาดกลัวกันเกินกว่าจะวางใจ

เราไกลกันจึงเหมือนยิ่งไกลกัน

หลับก็ต้องตื่นร้องไห้

กับคนตายรายเรี่ย-ฉันเสียใจ

ที่ฉันช่วยอะไรไม่ได้เลย

นาตาชา

เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?

หากแรมปีแรมเดืแนยังเหมือนเคย

จะเฉยเมยต่อกันได้อย่างไร?

เช่นนั้นไม่ได้หรอก-นาตาชา

ต่อคลื่นร้อนเชี่ยวกล้ามาแค่ไหน

หากหมดสิ้นปัญญาพึ่งพาใคร

จะกอดเธอร้องไห้ไปด้วยกัน

3

นาตาชา

คืนแรมนราฯ ช่างน่าหวั่น

ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์

และยิ่งนานกว่านั้นคือฝันร้าย!


กวีนิพนธ์บทนี้อาจไม่ต่างกับอีกหลายบทที่กล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงภาคใต้ ทว่าบทนี้กวีได้จัดวางจังหวะไว้อย่างค่อนข้างลงตัว คือเปิดบทด้วยการให้บรรยากาศโดยรวมที่น่ากลัวและลึกลับที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่รู้ว่าสถานการณ์นั้นไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตเราเลย ต่อจากนั้นมีตัวละคร "นาตาชา" ปรากฏเป็นภาพหญิงสาวที่เป็นภาพแทนชาวต่างชาติซึ่งก็ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวไม่แพ้กัน ท่อน 2 ชวนเรากลับไปหาบรรยากาศของการพับนกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่ง ในท่อนที่ 3 มนตรี ศรียงค์ได้กลับมาย้ำท่อน 1 โดยเล่นคำให้ต่างไป ทว่าให้ความหมายเดิม ที่ว่า "ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์ และยิ่งนานกว่านั้นคือฝันร้าย" ทำให้กวีนิพนธ์บทนี้ เป็นเสมือนท่อนฮุก(hook) ของบทเพลง ที่ยังดังก้องซ้ำแล้วซ้ำอีกในท่วงทำนองที่เศร้าสร้อย


กวีใช้ภาพพจน์ปฏิปุจฉาด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า "เกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินนี้?" และถามต่อไปว่า "เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?" การใช้สรรพนามว่า "เรา" น่าสนใจยิ่ง เป็นการสร้างความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าไทยหรือเทศ กวีจึงสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นได้ ส่วน "คนอื่น" ไม่ปรากฏเป็นคำสรรพนาม แต่เป็น "ใครๆ " ที่ไม่ใช่ "พวกมัน"


ถ้อยคำที่กวีนำมาจัดวางไว้นั้น เล่นสลับเสียงได้อย่างไพเราะพร้อมกับสร้างจินตภาพให้เห็นชัดที่ว่า "คลื่นความร้อนควั่นลำกระหน่ำตี อ้าวอบทบทวีนับปีมา" คลื่นความร้อนไม่ได้หมายถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวเท่านั้น แต่เป็นบรรยากาศทางการเมือง บรรยากาศของความน่าหวาดหวั่นแต่ไม่ใช่ความเย็นยะเยือก กลับเป็นร้อนระอุมากกว่า นับว่าสายตาของกวีได้นำเราเข้าไปรับรู้สภาพที่น่าประหวั่น แม้ไม่ถึงมิคสัญญี แต่ก็เกือบจะไม่ต่าง


วรรคที่ให้ความสะเทือนใจคือ "หัวเราะอยู่ดีดีก็ถูกฆ่า ไม่รู้ใครเป็นใครแล้วนรา หวาดกลัวกันเกินกว่าจะวางใจ" กวีให้ภาพของความหวาดระแวงซึ่งกันและกันของคนในชุมชนเดียวกัน และในแผ่นดินเดียวกัน ยิ่งกว่าคำที่ว่า "รู้หน้าไม่รู้ใจ" เสียอีก เพราะข้อสรุปของความรู้สึกคือ "เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?" เป็นคำถามที่กวีฝากให้ผู้อ่านกลับไปขบคิดถึงสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในบ้านของเรา


กวีนิพนธ์บทนี้ชวนให้รู้สึกคล้อยตามกวีได้ไม่ยาก เมื่อมองโลกผ่านสายตาของกวีแล้ว ก็เห็นความอ่อนไหวในดวงตาคู่นี้ เป็นแววตาของผู้มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ และอีกหลายบทในเล่มก็เชิญชวนให้มองดูผู้คนที่อยู่บนถนนละม้ายสงเคราะห์ มองไปรอบๆ ถึงสภาพสังคมที่โลดแล่นตามวัตถุและค่านิยมตะวันตก อิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและเลยไปถึงมหันตภัยทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน


วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2550

กรรมกับการลงทัณฑ์ใน "โลสก(สะกะ) ชาดก"


ความเชื่อเรื่องกรรมฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านานแล้ว ความเข้าใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไป กรรมหมายถึงการได้รับผลตอบแทนการกระทำทั้งการทำดีและทำชั่ว หากไม่อาจอธิบายถึงเหตุที่เกิดจากการรับผลตอบแทนนั้นได้ ก็จะโยงไปถึงเรื่องกรรมเก่าในชาติปางก่อน หรือเป็นผลจากการกระทำของพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งมีคำสอนสืบมาว่า "มนุษย์มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์" ดังเรื่องน่าเศร้าของทารกน้อยที่พลัดหลุดเข้าไปในซี่ล้อรถมอเตอร์ไชด์พร้อมกับผ้าขนหนูที่ห่อหุ้มขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ จนเด็กน้อยเสียขาไปข้างหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการอธิบายในมุมของความเชื่อว่าเป็นเพราะกรรมที่พ่อของเขามีอาชีพฆ่าสุกร ลูกจึงต้องชดใช้เวรกรรมนั้น


น่าคิดว่าอะไรเป็นที่มาของความคิดความเชื่อเรื่องกรรมเก่าในอดีตชาติ เมื่อพิจารณาแล้วคงเห็นพ้องกันว่าเรื่องเล่าในชาดกนั้นเองที่หล่อหลอมความเชื่อนี้ในสังคมไทย ดังเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่งต้องอดอาหารมานานนับหลายร้อยชาติ เพียงแค่ความโลภที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น


เรื่องนี้เล่าถึงวิบากกรรมของพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลชื่อ พระโลสกะ พระรูปนี้เป็นผู้ไม่มีลาภ(ได้รับภัตตาหารไม่เพียงพอ) ตั้งแต่แรกปฏิสนธิจนกระทั่งก่อนหน้าปรินิพพาน ความไม่มีลาภดังกล่าวมีเหตุจากบุรพกรรมดังนี้


ในอดีตชาติอันไกลโพ้น พระโลสกะเคยบวชเป็นภิกษุรักษาศีล บำเพ็ญวิปัสสนาในบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง วันหนึ่งมีพระอรหันต์จากป่าหิมพานต์มาพำนักและรับภัตตาหารในเขตบ้านดังกล่าว ภิกษุโลสกะในอดีตเกิดความริษยาพระผู้มาใหม่ จึงกลั่นแกล้งโดยนำอาหารที่เศรษฐีฝากไปถวายพระอรหันต์ไปทำลายทิ้งเสีย ภิกษุโลสกะจึงกลายเป็นมนุษย์เปรต หลังจากใช้กรรมอยู่ในนรกเป็นเวลานานและไปเกิดในสภาวะต่ำทรามอนาถาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงได้กลับมาเกิดเป็นคนอีกครั้ง แต่ก็เป็นคนเข็ญใจอดอยาก แม้จะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์(อดีตชาติหนึ่งของพระพุทธองค์) แต่ก็ทำตนเป็นศิษย์ที่ดื้อรั้น ทำให้ต้องผจญวิบากกรรมนานัปการ



เมื่อท่านมาเกิดอีกครั้งในสมัยพุทธกาลอันเป็นชาติสุดท้าย พระโลสกะเกิดในครอบครัวชาวประมง เมื่อแรกปฏิสนธิก็ทำให้ครอบครัวและหมู่ญาติพากันอดอยาก จนกระทั่งคลอดและเติบโต ท่านก็ได้กินอาหารไม่เต็มท้องสักมื้อ ต่อมาได้พบพระอัครสาวก ท่านจึงอุปสมบทเป็นภิกษุมีสมญานามว่า โลสกติสสเถระ และได้บำเพ็ญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นพระอรหันต์ผู้มีลาภน้อยอยู่นั่นเอง(เพราะผู้ตักบาตรจะเกิดภาพลวงตาว่าบาตรของท่านเต็ม ทั้งๆ ที่มีอาหารอยู่เพียงเล็กน้อย) ต่อมาพระอัครสาวกรู้ว่า ถึงเวลาที่พระโลสกะจะปรินิพพานแล้ว จึงได้หาภัตตาหารให้ฉัน ท่านได้ฉันขนม ๔ อย่างจนอิ่มหนำก่อนจะปรินิพพานในที่สุด
เมื่อได้พิจารณาเนื้อความของชาดกเรื่องนี้แล้ว เราอาจสรุปเป็นเค้าโครงของเนื้อเรื่อง ตามลำดับได้ดังนี้


สภาวะเดิม :
โลสกะบำเพ็ญวิปัสสนา

เหตุเปลี่ยนสภาวะเดิม :
การปรากฏของอรหันต์

ทำลายสภาวะเดิม :
โลสกะเบียดเบียนลาภของอรหันต์

สภาวะใหม่ :
ชดใช้ความผิด
ฐานะถดถอย
(เป็นเปรต ยักษ์ สุนัข คนเข็ญใจ)
รับทุกข์ทรมาน(ไม่มีกิน)

กลับสู่สภาวะเดิม :
ได้กลับมาบวชเรียน
(พร้อมกับยังรับโทษต่อไป)

สภาวะสูงกว่าเดิม :
บรรลุอรหันต์
และหลุดพ้นจากวัฏฏสังสาร



จะเห็นได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นการเลื่อนสภาวะขึ้นลงของพระโลสกะ จากที่ได้บำเพ็ญวิปัสสนามาแล้วในชาติก่อน แต่เมื่อทำบาปด้วยการเบียดบังลาภของพระอรหันต์ ท่านจึงต้องได้รับวิบากกรรมจากการกระทำนั้นต่อมาอีกหลายต่อหลายชาติ สภาพการณ์แต่ละชาติต่างก็มีกระบวนการพัฒนาไปตาม“บุญ”และ”บาป”ที่ตนเองกระทำจนกระทั่งถึงชาติสุดท้ายจึงได้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา


จากเนื้อเรื่อง “โลสกชาดก” จะเห็นได้ว่าส่วนที่ว่าด้วยกิเลสและการรับโทษ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรื่อง ส่วนนี้กินเนื้อความและมีรายละเอียดมากมายหลายประเด็น แต่ละประเด็นมักมีข้อความซ้ำๆ กัน เริ่มจากการกล่าวถึงเหตุของเรื่อง คือการหวงกิน ภิกษุโลสกะในอดีตชาติเองก็รู้ตระหนักถึงจุดนี้ ท่านถึงกับกล่าวว่า “โอ เพราะท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมไม่สมควรเลย" เมื่อพิจารณาคำกล่าวของพระโลสกะให้ดีจะเห็นว่า อาหารการกิน นับเป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่สำคัญมากจนกระทั่งอาจก่อให้เกิดเหตุร้ายได้เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดในการดำรงชีวิต เรื่องเกี่ยวกับอาหารและการกินเป็นประเด็นใหญ่ (theme)ในชาดกนี้ และแตกออกเป็นอนุภาค(motif) ที่พบประปรายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง(การต้องเลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ด, การได้รับของขบเคี้ยว,การหายไปของข้าวยาคูในบาตร,การได้รับอาหารเพียงเพื่อสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น,การทำลายข้าวปายาส,การกินรกคน,การกินอาเจียน, การได้รับน้ำและปลายข้าวไม่ถึงครึ่งท้อง ฯลฯ)


ส่วนโทษที่พระโลสกะได้รับนั้น นับว่ามีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับความผิดที่กระทำ (เบียดเบียนอาหารของผู้อื่นหนึ่งครั้ง) แม้จะพิจารณาว่าเป็นความผิดที่กระทำต่อพระอรหันต์ก็ตามที ดังข้อความที่กล่าวถึงโทษของพระโลสกะไว้ว่า “ ภิกษุนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี เศษของผลกรรมยังนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว. (จนถึงวันจะตายจึ่งได้กินอิ่ม) คือได้กินรกคนเต็มท้องอยู่วันหนึ่ง (ถัดจากเกิดเป็นยักษ์) ก็ไปเกิดเป็นหมา ๕๐๐ ชาติ แม้ในกาลที่เกิดเป็นหมานั้น ก็ได้กินรากเต็มท้องวันเดียวเท่านั้น. ส่วนในกาลที่เหลือไม่เคยได้กินเต็มท้องเลยตลอดเวลาที่เป็นหมา ๕๐๐ ชาติ”



ที่สำคัญที่สุดพระโลสกะต้องรับโทษด้วยการถูกถ่วงเวลาของการเป็นพระอรหันต์ให้ช้าลงหลายโกฏิแสนปี ไม่เพียงแต่จะได้รับโทษด้วยตนเองเท่านั้น พระโลสกะยังนำความฉิบหายมาสู่ญาติพี่น้องและชาวบ้านใกล้เคียง ในชาติสุดท้ายที่มาเกิดเป็นพระโลสกะ ชาวบ้านเหล่านี้ต้องพบเหตุด้วยการถูกไฟไหม้ ๗ ครั้ง ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง ในชาติที่เกิดเป็นคนเข็ญใจก็เช่นกัน ชาวบ้านก็ต้องถูกราชทัณฑ์ ๗ ครั้ง ไฟไหม้บ้าน ๗ ครั้ง และบ่อน้ำพัง ๗ ครั้ง ด้วยความเป็นกาลกิณีของพระโลสกะนั่นเอง โทษที่พระโลสกะได้รับนั้น อาจมองได้ว่าเป็นการลงโทษที่เกินกว่าที่สมควรจะได้รับเพียงเพราะเหตุว่ากระทำผิดต่อ “ผู้ที่มีฐานะสูงกว่า” เท่านั้น ชาดกเรื่องนี้จึงเป็นการเน้นที่ปริมาณของการรับโทษจากบาปที่ก่อขึ้นเพียงครั้งเดียว

ในส่วนที่กล่าวถึงการบำเพ็ญวิปัสสนาและการรักษาศีล กลับกินเนื้อความน้อยมาก แม้แต่ในชาติปัจจุบันซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระโลสกะซึ่งจะบรรลุอรหันต์ ก็กล่าวถึงความเป็นผู้มีบุญไว้เพียงว่า “ธรรมดา ท่านผู้เป็นสัตว์เกิดมาในภพสุดท้าย ใครไม่อาจทำลายได้ เพราะมีอุปนิสัยแห่งอรหัตผลรุ่งเรืองอยู่ในหทัยของท่าน เหมือนดวงประทีปภายในหม้อฉะนั้น” และ “โดยสมัยต่อมา ท่านเจริญวิปัสสนา แม้จะดำรงในพระอรหัตต์อันเป็นผลชั้นยอด ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านร่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ ก็ถึงวันที่ปรินิพพาน”

การกล่าวถึงการทำความดี หรือการเป็นผู้มีบุญแต่เพียงน้อยนิดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าจะแสดงถึงภาวะของผู้ที่ถึงพร้อมด้วยการสั่งสมบารมีในแต่ละชาติ ซึ่งคราวนี้จะเน้นที่เรื่องของคุณภาพ ดังที่พระโลสกะได้กระทำการรักษาศีล และหมั่นบำเพ็ญวิปัสสนาในชาติแรกเริ่มก่อนหน้าที่จะทำบาป เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งในชาติที่เป็นคนเข็ญใจ แม้ว่าจะไม่มีปัญญาศึกษาหาความสว่างให้แก่ชีวิต แต่ก็ได้รับใช้อาจารย์ทิศาปาโมกข์จวบจนสิ้นอายุขัย ผลบุญนี้ได้ส่งผลในชาติที่เกิดเป็นพระโลสกะให้ท่านได้มาเกิดในสมัยพุทธกาล ได้พบกับพระอัครสาวกในเวลาที่อดอยากเต็มที่ และได้มีโอกาสอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา จนกระทั่งหลุดพ้นจากวัฏฏสังสารในที่สุด



เป็นที่น่าสังเกตว่า โทษที่ได้รับนั้นเป็นสัดส่วนที่ขยายผลจากเหตุออกไปเป็นร้อยเท่าพันทวี เหมือนไม่รู้จักจบสิ้น สอดคล้องกับการลงโทษผู้กระทำผิดใน
ทางโลกโดยเฉพาะเมื่อกระทำต่อผู้มีฐานะสูงกว่า เช่น การไม่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต้องรับโทษประหารเจ็ดชั่วโคตร หรือการกระทำความผิดหน้า
พระที่นั่ง แม้ว่าจะไม่มีเจตนา แต่ก็ต้องโทษถึงประหารชีวิต ดังชะตากรรมของขุนไกรในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ส่วนภรรยาและลูก รวมทั้งทรัพย์สมบัติก็ต้องถูก
ริบเป็นของหลวง หรือตัวอย่างจาก กฏมนเทียรบาล มีข้อกำหนดถึงโทษของผู้กระทำความผิดเล็กน้อยแต่ต้องต้องรับการลงทัณฑ์อย่างหนัก เช่น “ผู้ใดซัดไม้ค้อนก้อนดินอิดผาข้ามพระราชวังโทษตัดมือ คว่างพระธินั่งโทษถึงตาย…ถ้าถีบประตูวังให้ตัดตีนเสีย”
จะเห็นว่าการทำผิดในทางโลก จะต้องได้รับโทษสูงที่เกินกว่าการกระทำผิดหลายต่อหลายเท่านักโดยที่คุณงามความดีอาจจะช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่ในทางธรรมนั้นภาวะการณ์อาจจะต่างกัน นั่นคือเมื่อผู้กระทำผิดได้รับโทษอันเกินกว่าเหตุไปจนหมดสิ้นแล้ว ก็จะได้รับรางวัลตอบแทนในภายหลัง ที่น่าสงสัยต่อไปก็คือว่าแล้วคนที่ทำความผิดมหันต์แต่ยังไม่ได้รับโทษทางโลก เขาเหล่านั้นจะได้รับโทษทางธรรมหรือเปล่า ความคิดเรื่องกรรมจะยังคงใช้ได้หรือไม่ หรือแท้จริงกรรมก็ทำหน้าที่ติดตามไป แค่ยังไม่ถึงจังหวะและเวลาของการลงทัณฑ์เท่านั้นเอง

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ฟอกไม่ขาว : เรื่องสอนใจชายด้วยความตายของหญิง



ฟอกไม่ขาว เป็นบทละครพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกิดจากจินตนาการของพระองค์เอง มีผู้วิจารณ์ว่าบทละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของการสร้างโครงเรื่องที่น่าสนใจ ดังที่มีผู้ศึกษาลักษณะโครงเรื่องของบทละครพูดเฉพาะเรื่องที่พระองค์ทรงจินตนาการขึ้นใหม่ โดยนำทฤษฎีโครงเรื่องในบทละครตะวันตกมาวิเคราะห์ จากการ ศึกษาพบว่าบทละครพูดพระราชนิพนธ์ได้เสนอแนวคิดของเรื่องอย่างเด่นชัด มีเหตุผล สมจริง และยังทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเรื่องได้ง่ายอีกด้วย


บทละครเรื่องนี้กล่าวถึง “จำรัส” หญิงม่ายคนหนึ่งเคยอยู่กินกับนายบุญส่งมาก่อน ต่อมาได้เลิกกันไปเพราะนายบุญส่งทิ้งนางให้อยู่อย่างอดๆอยากๆ ครั้นจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ตามเดิม ก็กลับไม่ได้ เพราะครอบครัวไม่อาจตอบสนองความเป็นอยู่ที่สุขสบายให้แก่นางได้ และนางเองก็ทำผิดไว้มาก เพราะแต่ก่อน นางหนีตามนายบุญส่งมา เมื่อพ่อแม่มาตามให้กลับนางก็ไม่ยอมกลับ และนายบุญส่งก็รับปากกับพ่อและแม่ว่าจะดูแลเป็นอย่างดี เมื่อมาทิ้งขว้างไปนางจึงต้องหาชายคนใหม่เลี้ยงดู แต่ก็ไม่มีใครเลี้ยงดูได้นาน นางอยู่กินกับชายคนแล้วคนเล่า มีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากมาย จนกระทั่งได้มาพบกับหลวงพร ผู้ซึ่งคิดจะเลี้ยงดูนางอย่างจริงจัง และนางก็ปวารณาไว้แล้วว่าจะขออยู่กับหลวงพรไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ บังเอิญว่าวันหนึ่งนายบุญส่งมาพบกับนางที่บ้านของหลวงพร ด้วยความสำนึกผิดว่าที่แล้วมาทำไม่ดีไว้มาก จึงอยากจะช่วยปลดหนี้สินให้ แต่จำรัสก็ไม่ยอม จะทยอยใช้หนี้เองจนหมด โดยไม่ขอความช่วยเหลือใดๆ ทั้งจากนายบุญส่งและหลวงพร แต่จะขอให้นายบุญส่งนำเงินไปให้เจ้าหนี้ทั้งหลายแทนนาง หนี้สินต่างๆ จึงเป็นความลับระหว่างจำรัสกับนายบุญส่งเท่านั้น

เรื่องราวเกิดขึ้นในวันที่นายบุญส่งมาคุยกับจำรัสแล้วกำลังจะลากลับ ก่อนจากบุญส่งก็เอื้อมมือไปลูบมือจำรัสเป็นการแสดงความสงสารและเห็นใจนาง หลวงพรมาเห็นเข้าพอดี ก็เข้าใจว่านางหลอกลวง และอยากจะกลับไปมีความสัมพันธ์กับนายบุญส่งอีก จึงบอกกับนายบุญส่งว่าให้ไปรอพบที่ห้องรับแขก จากนั้นหลวงพรก็หันมาด่าว่าจำรัสด้วยความโกรธ หลวงพรประณามว่านางเหมือนกับผ้าที่ฟอกเท่าไรก็ไม่ขาว ทำได้แต่เพียงฉีกทิ้งเท่านั้น แม้ว่าจำรัสจะอ้อนวอนให้ฟังนางอธิบายบ้าง แต่หลวงพรก็ไม่ยอมฟัง ในที่สุดก็ตัดสินใจไล่นางออกจากบ้านไปกับนายบุญส่ง จำรัสเสียใจมาก ได้แต่ร้องไห้วิ่งออกไป นายบุญส่งเดินมาพบพอดี เมื่อทราบเรื่องแล้วได้บอกกับหลวงพรถึงความตั้งใจจริงของจำรัส เมื่อหลวงพรได้ทราบดังนั้น ก็เข้าไปตามจำรัส พบว่านางดื่มยาพิษตายเสียแล้ว


เป็นที่น่าคิดว่าเหตุใดจำรัสเลือกความตายเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดีของนางที่มีต่อหลวงพร และเหตุใดหลวงพรจึงไม่ยอมเชื่อ อีกทั้งยังไม่ให้โอกาสนางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ จนกระทั่งมาพบในตอนท้ายว่านางได้เลือกความตายเป็นหนทางพิสูจน์ บทละครเรื่องนี้จบลงด้วยฉากที่แสดงถึงการตกใจของชายสองคน รวมทั้งผู้ชมด้วย ความงงงันในตอนจบน่าจะแฝงจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ในลักษณะของการตักเตือนอย่างรุนแรงหรือไม่ คำถามเหล่านี้อาจนำไปคิดและหาคำอธิบายความเป็นเหตุเป็นผลในบทละครเรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ชวนให้น่าศึกษาในประเด็นของความเป็นบทละครโศกนาฏกรรม

แต่ถ้าจะกล่าวว่า “ฟอกไม่ขาว” เป็นบทละครโศกนาฏกรรมเพราะจบลงด้วยความหายนะของตัวละครเอกแล้ว ก็อาจจะต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “จำรัส” มิได้เป็นตัวละครผู้สูงศักดิ์และมิได้มีข้อบกพร่องในด้านบุคลิกลักษณะนิสัยจนนำไปสู่ความหายนะในตอนจบของเรื่อง ดังนี้แล้วจะจัดว่าเป็นบทละครโศกนาฏกรรมได้หรือไม่ และที่สำคัญบทละครเรื่องนี้แฝงแง่คิดตักเตือนใคร และจะเป็นบทละครโศกนาฏกรรมสอนชายหรือหญิงกันแน่

ตัวละครเอกตาย : ลักษณะเด่นของบทละครโศกนาฏกรรม


บทละครโศกนาฏกรรม (tragedy) มีกำเนิดจาก การร้องเพลงสวดบูชาเทพเจ้า เป็นการร้องสด ต่อมาดัดแปลงเป็นบทโต้ตอบกับกลุ่มคอรัส และพัฒนาเป็นบทสนทนา จนกระทั่งมีการเขียนเป็นบทละคร คือมีลักษณะเป็นละครร้อง ประกอบด้วยเพลงร้อง โดยกลุ่มคอรัส และมีบทสนทนาโต้ตอบของตัวละคร
ละครโศกนาฏกรรมมีลักษณะเด่นอยู่ที่การแสดง(dramatic) ซึ่งเป็นการแสดงของตัวละครที่มีศักดิ์สูงส่ง ส่วนมากเป็นกษัตริย์หรือชนชั้นสูง แต่มีจุดอ่อนหรือมีความผิดพลาดบางอย่างซึ่งสามารถนำไปสู่ความหายนะในตอนท้ายเรื่อง ความผิดพลาดนี้มิใช่เกิดจากการทำผิดศีลธรรมอย่างใด แต่เกิดจากข้อเสียที่เป็นลักษณะนิสัยเช่น ความหยิ่ง หลงตน และนำไปสู่ความตกต่ำของชีวิต การตกต่ำของตัวละคร(tragic flaw) ในตอนจบนี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการชำระอารมณ์ (catharsis) จากการปลุกเร้าความสงสารและความกลัว(pity & fear) จากการเห็นความหายนะของตัวละครเอก ผู้ชมจะเกิดความกลัวว่าเคราะห์กรรมนั้นจะเกิดขึ้นกับตนเองบ้าง ความกลัวที่เกิดขึ้นบางครั้งทำให้เกิดพุทธิปัญญาขึ้น บทละครโศกนาฏกรรมจึงมีบทบาทในการสั่งสอน เพราะชะตากรรมที่ตัวละครได้รับนั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโชคชะตาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือไม่น่าคนที่ทำความดี หรือมีชาติกำเนิดที่สูงส่งจะสมควรได้รับความหายนะเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องของชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว อย่างไม่อาจฝืนหรือเปลี่ยนแปลงได้


ในสมัยกรีกนั้น มีขนบนิยมของการแสดงละครโศกนาฏกรรมอยู่ว่า มักจะไม่ให้มีฉากที่แสดงความรุนแรงบนเวที มีตัวละครปรากฏตัวในหนึ่งฉากมีไม่เกินสามตัว และมีกลุ่มคอรัสทำหน้าที่โต้ตอบกับตัวละคร กลุ่มคอรัสนี้ มีบทบาทสำคัญในละครโศกนาฏกรรมสมัยกรีก เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ให้ภูมิหลังของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ยังมีบทบาทในการวิเคราะห์เรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย บางครั้งคอรัสอาจเป็นตัวละครที่มาสนับสนุนหรือขัดแย้งกับความคิดของตัวละคร หรืออาจจะช่วยเน้นอารมณ์และความคิดที่ผู้ประพันธ์ต้องการให้เกิดกับผู้ชมด้วยเช่นกัน


หากนำขนบนิยมของบทละครโศกนาฏกรรมในสมัยกรีกมาพิจารณาบทละครเรื่องฟอกไม่ขาว จะเห็นว่าเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่แสดงความเป็นบทละครโศกนาฏกรรม กล่าวคือ โครงเรื่องนั้น นอกจากจะมีความสั้น กระชับใช้เวลาในการแสดงไม่มากแล้ว ยังมีเหตุการณ์สำคัญซึ่งเป็นจุดวิกฤตแค่เหตุการณ์เดียว และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นจุดสุดยอด(climax )ของเรื่องในตอนจบเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นอีกด้วย เมื่อเขียนเป็นแผนภูมิ จะได้โครงสร้างตามพีระมิดของไฟรทาก (Freytag’s pyramid) ดังนี้

*จุดสุดยอด - จำรัสกินยาตาย
*เหตุการณ์วิกฤต - จำรัสหนีเข้าห้อง-หลวงพรทราบความจริง
*ปัญหาเริ่มขยาย - หลวงพรไล่จำรัสออกจากบ้าน
*การผูกปม – หลวงพรเห็นและเกิดความระแวงจำรัส
*การเปิดเรื่อง - จำรัสสนทนากับบุญส่งถึงหนี้เก่า

จากแผนภูมิ จะเห็นได้ว่าบทละครเรื่องนี้ มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นการขมวดปมเพียง ๔ เหตุการณ์ ได้แก่ ๑. บุญส่งสนทนากับจำรัสเรื่องหนี้เก่า ๒. บุญส่งแสดงการปลอบใจจำรัสหลวงพรมาเห็นและเข้าใจผิด ๓. หลวงพรโกรธและขับไล่จำรัสออกจากบ้าน ๔. จำรัสเสียใจหนีเข้าห้อง และมีเหตุการณ์คลี่คลายปมเพียงเหตุการณ์เดียวในตอนสุดท้าย นั่นคือจำรัสกินยาตาย ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องเช่นกัน นับว่าเป็นโครงเรื่องที่สั้นและกระชับมาก มีเหตุการณ์เล่าเรื่องต่อเนื่องกันไปเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

หากพิจารณาเรื่องสามเอกภาพ (three unities) อันเป็นสัญนิยมที่มีลักษณะเฉพาะ ๓ ประการของบทละครสมัยคลาสสิกใหม่ ได้แก่เอกภาพแห่งเวลา เอกภาพแห่งสถานที่ และเอกภาพแห่งการดำเนินเรื่องแล้ว จะพบว่าบทละครเรื่องนี้ มีเอกภาพทั้งสามครบถ้วน กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวันเดียว เกิดในสถานที่แห่งเดียว และเป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องเดียว ซึ่งก็คือมีความขัดแย้งเพียงปมเดียวเท่านั้น การที่บทละครเรื่องนี้เคารพกฎสามเอกภาพอย่างเคร่งครัด ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องมีความกระชับ สมจริง น่าเชื่อถือว่าเป็นไปได้ และมีความสะเทือนอารมณ์สูง บทละครเรื่องนี้ จึงนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง

จำรัส : ตัวละครสามัญที่เคยผิดพลาดในชีวิต

ตัวละครในบทละครโศกนาฏกรรมของอริสโตเติลนั้น มีคุณสมบัติเป็นผู้มีนิสัยดีงาม ไม่ประพฤติผิดศีลธรรม มีลักษณะนิสัยที่เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละคร ละครโศกนาฏกรรมนั้นเป็นการเลียนแบบตัวละครที่ดีเกินจริง ส่วนใหญ่เป็นตัวละครสูงศักดิ์ แม้จะมีลักษณะนิสัยที่บกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคนดี และไม่สมควรที่จะประสบกับชะตากรรมในตอนจบ การที่ละครโศกนาฏกรรมมีตัวละครสูงศักดิ์เช่นนี้ จึงทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า tragic flaw คือมีชะตากรรมที่ตกต่ำลง อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับตัวละครผู้สูงศักดิ์ในลักษณะนี้ แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่กำหนดชีวิตไว้แล้วได้

แต่จำรัสไม่ใช่ตัวละครผู้สูงศักดิ์ และนางก็ไม่ใช่แบบอย่างของผู้หญิงที่ดีด้วย นางเป็นเพียงตัวละครที่เกิดความสำนึกถึงความผิดพลาดหลายครั้งของตนในอดีต และได้ถือเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องเตือนใจว่าจะไม่ทำผิดพลาดดังแต่ก่อนอีก แต่แล้วดูเหมือนว่าชายที่นางทุ่มเทให้ทั้งชีวิตและจิตใจ ยึดมั่นว่าจะเป็นคนรักคนสุดท้ายกลับไม่เปิดโอกาสให้นางได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจและความตั้งใจจริงครั้งนี้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่านางจะไม่ยอมทำผิดใดๆ อีก นางจึงขอยืนยันความจริงใจทั้งหมดที่มีด้วยการฆ่าตัวตาย

ความยิ่งใหญ่ของตัวละครสามัญเช่นจำรัสจึงน่าจะอยู่ที่มีความกล้าหาญที่จะประกาศถึงความบริสุทธิ์ใจที่มีต่อชายคนปัจจุบัน ซึ่งนางปักใจแน่วแน่ว่าจะซื่อสัตย์กับเขาไปตลอดชีวิต จำรัสจึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตของตนเป็นเดิมพัน แสดงให้เขาเห็นว่าสิ่งที่นางได้กล่าวกับเขานั้น เป็นความจริงทุกคำพูด แต่จำรัสคงเกิดความอับอายและไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว เมื่อชายที่นางยกย่องและยอมรับเป็นสามีดุด่าว่ากล่าวนางอย่างรุนแรง โดยไม่ยอมฟังความใดๆ และเลยไปจนถึงรังเกียจว่านางเป็น “ผ้าสกปรกที่ฟอกไม่ขาว” จำรัสจึงได้ตัดสินใจล้างความอับอายนั้นด้วยความตาย

ตัวละครสามัญผู้เคยทำความผิดเช่นจำรัส อาจจะมีส่วนทำให้ความเป็นโศกนาฏกรรมในบทละครเรื่องนี้ลดความยิ่งใหญ่ลงไปบ้าง ที่ตัวละครไม่ได้เป็นผู้มีเกียรติสูงส่ง และไม่ได้เป็นคนมีความประพฤติดีประพฤติชอบ แต่เป็นตัวละครที่เคยทำผิดพลาดมาก่อนซึ่งก็น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างตัวละครกับผู้ชมทั่วไป เกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจตัวละครจำรัส ซึ่งไม่สมควรจะต้องตาย ขณะเดียวกันก็เห็นใจตัวละครชายทั้งสอง ผู้ซึ่งไม่ปรารถนาจะให้เกิดเรื่องร้ายถึงแก่ชีวิตกับหญิงที่ตนเคยรัก

เพราะเหตุว่าผู้ชมละครส่วนใหญ่เป็นคนสามัญทั่วไป ย่อมมีความผิดพลาดมาก่อนในชีวิต โอกาสที่จะเกิดเรื่องราวอันน่าอัปยศดังในละครเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อผู้ชมละครแล้วเกิดความสะเทือนใจ ก็จะได้รับการชำระอารมณ์ในทันทีทันใด หากแต่การชมละครในสังคมไทยนั้นยังคงผูกติดอยู่กับค่านิยมของความรื่นเริงบันเทิงใจมากกว่าจะนำมาสู่การฉุกคิดให้เกิดพุทธิปัญญา เมื่อละครเรื่องนี้ มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องความมัวหมองของหญิงและ จบลงท้ายด้วยความตาย จำรัสจึงเป็นตัวละครที่สังคมไทยในเวลานั้นน่าจะไม่ยอมรับว่าเป็นหญิงที่มีความดี แม้ว่าจะมีความตั้งใจจริงว่าจะซื่อสัตย์กับชายคนสุดท้ายในชีวิตก็ตาม และอีกประการหนึ่งจำรัสนับว่าเป็นตัวละครที่อ่อนแอเกินไป หุนหันพลันแล่น ตัดสินใจด้วยอารมณ์เสียใจพียงชั่ววูบ ความตายของจำรัสไม่มีค่าเพียงพอกับเหตุที่เกิดขึ้น วิธีการหาทางออกของจำรัสจึงไม่ได้ทำให้นางได้รับการยกย่องหรือยอมรับว่าตัดสินใจถูกถ้วนแล้วจึงทำ อาจเป็นด้วยเหตุนี้ด้วยกระมังที่ทำให้บทละครเรื่องนี้ ไม่ใคร่จะนิยมนำไปแสดงในโอกาสต่างๆ จำรัสจึงเป็นตัวละครเอกหญิงที่มีผู้รู้จักไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวละครเอกหญิงในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ

ฟอกไม่ขาว : เรื่องสอนใจชายหรือหญิง

อริสโตเติลกล่าวไว้ใน The Poetics ว่า ละครโศกนาฏกรรมต้องแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโชคชะตาจากเรื่องดีไปสู่เรื่องร้ายของตัวละครที่ดูเพียบพร้อม แต่ทว่ามีจุดอ่อนบางประการที่ทำให้ตัวละครต้องพบความหายนะ บทละครโศกนาฏกรรมจึงทำหน้าที่สั่งสอนและเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้ชมฉุกคิดถึงคนดีมีศีลธรรมแต่ได้รับชะตากรรมที่ผกผันอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ตามจุดมุ่งหมายของละครโศกนาฏกรรมที่มุ่งให้ผู้ชมเกิดความสงสารและความกลัวเพื่อให้เกิดการชำระอารมณ์ในตอนท้าย

ฟอกไม่ขาว ก็ทำหน้าที่เสมือนบทเรียนทางศีลธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของจำรัสผู้เลือกความตายเป็นสรณะ จำรัสมาด่วนตายไปเสียก่อน ที่หลวงพรจะได้ทราบความจริงจากนายบุญส่ง เหตุการณ์ที่ผกผันนี้น่าจะเป็นการสอนที่แฝงน้ำเสียงประชดทั้งผู้ชายที่ด่วนสรุปและผู้หญิงที่ด่วนคิดสั้น จึงทำให้เกิดความหายนะอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เมื่อหลวงพรทราบว่าจำรัสได้ดื่มยาพิษตาย เพราะเสียใจที่ถูกสามีด่าทออย่างรุนแรงจนจำรัสไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นั้น หลวงพรก็ได้รับบทเรียนด้วยความสะเทือนใจอย่างสูงสุดติดตัวไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับชายผู้ประสงค์ดีและคิดที่จะทำความดีล้างความผิดในอดีตอย่างบุญส่ง ก็คงอดคิดไม่ได้ว่าด้วยความปรารถนาดีอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและด้วยมุมมองเพียงด้านเดียวของตน จึงไม่ทันได้นึกถึงจิตใจของชายอีกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองจำรัสอย่างชอบธรรม ผลก็คือทำให้เกิดโศก นาฏกรรมอย่างที่ตนก็ไม่อาจคาดคิดเช่นกัน นับว่าชายทั้งสองคนได้รับบทเรียนสอนใจด้วยความตายของหญิงที่ตนรัก ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากความหุนหันพลันแล่นและด่วนสรุป จนทำให้เกิดการสูญเสียอย่างไม่มีวันที่จะได้คืนกลับมา

ในส่วนของจำรัสนั้น ดูเหมือนว่าผู้ทรงพระราชนิพนธ์จะแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของหญิงที่ถูกกำหนดในกรอบความคิดของชาย โดยการนำเรื่องราวในอดีตมาตัดสินการกระทำในปัจจุบัน แต่หญิงผู้นี้ก็ควรได้รับการตำหนิเช่นเดียวกับตัวละครชายในเรื่อง กล่าวคือจากความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในอดีตนั้นเองได้เป็นเครื่องกำหนดชะตากรรมปัจจุบัน ตัวละครจำรัสจึงแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของหญิงที่ไม่พึงเป็นแบบอย่าง อีกประการหนึ่ง จำรัสอ่อนแอเกินไปที่คิดสั้น เลือกที่ตายทันทีที่ถูกประณาม หากจำรัสมีความเข้มแข็งและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความสุขุมเยือกเย็นกว่านี้ เรื่องราวแห่งความหายนะคงจะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่ บทละครเรื่องนี้ จึงมุ่งสอนใจชาย ที่ไม่พึงนำเรื่องราวในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็สอนหญิงให้ลดทิฐิ ให้มีความเข้มแข็งอดทนและแก้ปัญหาด้วยความสงบเยือกเย็น ลักษณะดังกล่าวนี้นับว่าเป็นข้อบกพร่องของทั้งชายและหญิงโดยทั่วไป บทละครเรื่องนี้จึงนำเสนอสารที่เป็นเครื่องเตือนใจชายและหญิงด้วยเหตุการณ์ที่รุนแรง และชวนให้สะดุดกับเหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่องได้เป็นอย่างดี

ฟอกไม่ขาว เป็นละครโศกนาฏกรรมที่มีผู้กล่าวถึงไม่มากนัก อาจเป็นเพราะรสนิยมของการชมละครในสังคมไทยยังคงยึดติดอยู่กับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรื่องที่จบลงด้วยความเศร้าและความรุนแรงเช่นนี้ จึงไม่ใคร่เป็นที่นิยมนำมาแสดงในงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม บทละครขนาดสั้นเรื่องนี้ นับว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะวรรณศิลป์อยู่อย่างครบถ้วน ทั้งบทสนทนาที่คมคาย เฉือดเฉือน ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ หรือการซ่อนความรุนแรงไว้หลังเวที และการจบเรื่องทันทีที่พบว่าตัวละครดื่มยาพิษตายก็นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้เกิดความสงสารและกลัวอย่างฉับพลันขึ้นได้ ลักษณะวรรณศิลป์ทางการแสดงตามสัญนิยมของละครโศกนาฏกรรมเหล่านี้ ล้วนฉายชัดถึงพระอัจฉริยลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทางด้านการละคร

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2550

“ถ้าคุณพลอยยังอยู่ ” : ความยอกย้อนของมโนทัศน์สัมพันธบท



“ถ้าคุณพลอยยังอยู่” เป็นบทละครขนาดสั้นของจักรกฤษณ์ ดวงพัตรา กล่าวถึง ‘คุณพลอย’ หรือ ‘ แม่พลอย’ ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินว่า หากเธอยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งเธอและแม่ช้อยก็คงสมัครเป็นลูกเสือชาวบ้าน และแม้ว่าจะมีอาการหลงลืมเลอะเลือนตามประสาวัยชราไปบ้าง แต่ก็ยังจดจำเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวดังที่เคยปรากฏในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินมาแล้วเป็นอย่างดี



ผู้ประพันธ์บทละครเรื่องนี้มิได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินโดยตรง แต่ได้โครงเรื่องจากข้อเขียนในคอลัมน์อายุมงคล-คุย ของม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุลเรื่อง“ถ้าแม่พลอยยังอยู่” ซึ่งพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2524 เรื่องนี้มีลักษณะเป็นบทล้อ กล่าวคือมุ่งล้อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแม่พลอย ตัวละครเอกในนวนิยายที่มีผู้รู้จักอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็ล้อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งมีชื่อพ้องกับ “คุณเปรม” สามีของแม่พลอยและได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในช่วงเวลาที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยน้ำเสียงที่แฝงอารมณ์ขันไว้อีกด้วย

แม้ว่าบทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” จะดำเนินเรื่องตามบทล้อข้างต้น แต่ในบทละครก็มีข้อความที่โยงกลับไปหานวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินอยู่หลายตอน ซึ่งผู้ประพันธ์ได้เปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่และนำมาจัดวางในบริบทใหม่ ซึ่งหากนำมาพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นความน่า สนใจในฐานะของงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอำนาจของจินตนาการโดยแท้ ดังที่ตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “เนเวอร์แลนด์ แดนรักมหัศจรรย์” (Findind Neverland) กล่าวว่า “ ถ้าเรามีจินตนาการแม้เพียงน้อยนิด เราจะสามารถหันมาแล้วเห็น”[1] และด้วยมุมมองของคนทำละคร ซึ่งเป็นการยืนยันถึงสถานะของผู้ประพันธ์แล้ว ทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า หากนำมโนทัศน์เรื่องสัมพันธบท (intertextuality) ซึ่งเป็นแนวการวิจารณ์หลังศตวรรษที่20 และได้รับความนิยมหลังจากที่ทฤษฎีเรื่อง “มรณกรรมของผู้แต่ง” (“the Death of the Author)ได้รับความนิยมอย่างมากมาศึกษาบทละครเรื่องนี้แล้ว บทบาทในฐานะของผู้ประพันธ์จะยังคงมีความสำคัญหรือไม่ หรือจะมุ่งพิจารณาเฉพาะความหมายในตัวบทและปฏิกิริยาของผู้รับเพียงเท่านั้น


สัมพันธบท (intertextuality) : สถานะของตัวบท

สัมพันธบทเป็นมโนทัศน์ที่นักคิดแนวหลังสมัยใหม่( postmodern) นำมาใช้อธิบายเรื่องตัวบทวรรณกรรม หลังจากที่มีการขานรับทฤษฎีการวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงของโรล็องด์ บาร์ตส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขียนบทความเรื่อง “The Death of the Author” เมื่อค.ศ.1968 บทความนี้จุดประกายความคิดที่ว่านักประพันธ์มิได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอีกต่อไป และตัวบทมิได้เป็นผลผลิตของอัจฉริยภาพของผู้แต่ง แต่เป็นพื้นที่หลากหลายมิติที่เปิดให้ข้อเขียนจากแหล่งต่างๆได้มาปะทะสังสรรค์กัน ทั้งนี้ ไม่มีข้อเขียนใดที่เป็นของแท้ดั้งเดิมแม้สักชิ้นเดียว ตัวบทคือผ้าถักทอด้วยสารพัดข้อความซึ่งมาจากแหล่งข้อมูลวัฒนธรรมอันหลากหลาย [2] คำอธิบายนี้ ทำให้เห็นว่า“ตัวบท” (text) มีความหมายกว้างมาก แต่นพพร ประชากุล[3] ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทในลักษณะของสัมพันธบทไว้อย่างชัดเจนว่า “ตัวบทหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตัวบทอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในยุคสมัยเดียวกันหรือในยุคสมัยก่อนหน้าไม่มากก็น้อย โดยที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงดังกล่าวมีหลักฐานยืนยันได้ในตัวบทชิ้นที่พิจารณาเป็นหลักอยู่”

จากคำอธิบายข้างต้น บทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” จึงเป็นพื้นที่หลากหลายมิติหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตัวบทหลัก หรือตัวบทปลายทางที่ได้นำตัวบทอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งรวมทั้งวาทกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวบทต้นทางมาแปรรูปและกลายกลืนให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของตัวบทหลัก โดยมีตัวบทหลักทำหน้าที่ควบคุมความหมายทั้งหมดไว้ การแปรรูปและกลายกลืนจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้อ่านเห็นร่องรอยของการถักทอ ซึ่งสามารถสืบสาวไปถึงตัวบทต้นทางได้ ตัวบทวรรณกรรมจึงมีความหมายว่าแต่ละตัวบทไม่ได้เป็นอิสระจากกัน แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ซึ่งอาจเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องบางตอนในบทละคร ดังนี้

คุณช้อย : “เรื่องปฏิวัตินี่น่ะอย่าตกใจไปนักเลยแม่พลอย ข่าวเค้าว่า
คุณเปรมแกหนีไปรวมพลที่เมืองโคราช แล้วก็กำลังจะกลับมา
ยึดกรุงเทพฯ ไม่ช้านี้ล่ะ”
คุณพลอย : “ไม่จริง! ไม่จริง! ไม่จริง!… ไม่น่าเลย… คุณเปรม… ฉัน
ไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง ถ้าคุณเปรมยังอยู่ ฉันก็คงจะถามได้
แต่ก็ช่างเถิดไม่เป็นไร …ว่าที่จริงฉันก็เริ่มจะเข้าใจอะไรได้บ้าง
แล้ว… แต่คุณเปรมนะคุณเปรมจะหนีไปหัวเมืองก็ไม่บอกให้
ฉันรู้ก่อน ฉันจะได้อบแพรเพลาะให้เอาไปห่ม...”
คุณช้อย / คุณอั้น : “คนละเปรม”


ตัวบทหลักตอนนี้ ได้นำตัวบทต้นทางจาก 3 แหล่งมาผสานเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือเริ่มจากเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองคือเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลบหนีไปรวมพลที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นได้ยกกองกำลังเข้ามาตรึงในกรุงเทพมหานคร และสามารถยึดอำนาจกลับคืนมาได้ ข้อความต่อมากล่าวว่า “ไม่จริง! ไม่จริง! ไม่จริง!… ไม่น่าเลย… คุณเปรม… ฉันไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง ถ้าคุณเปรมยังอยู่ ฉันก็คงจะถามได้” เป็นข้อความที่อยู่ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินตอนท้ายเรื่อง เมื่อแม่พลอยทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต แม่พลอยก็ไม่อาจยอมรับความจริงได้ในตอนแรก และข้อความสุดท้ายกล่าวถึงความทรงจำของแม่พลอยที่มีต่อคุณเปรมผู้เป็นสามี ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันล้อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ไปพร้อมกันด้วย ข้อความนี้ปรากฏในบทล้อเรื่อง “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” จะเห็นว่าตัวบทหลักคือบทละครเรื่องนี้ทำให้สืบสาวขึ้นไปถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยไปถึงตัวบทต้นทางอย่างมีหลักฐานชัดเจน และนำมาจัดวางในบริบทที่แสดงให้เห็นตัวตนของแม่พลอยในวัยชรา สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายเพื่อล้อแม่พลอยในตัวบทต้นทางได้อย่างลงตัว


“ถ้าแม่พลอยยังอยู่" : บทบาทของผู้รับ

ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ท่านคุ้นเคยกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้เขียนประวัติและผลงานทางวรรณคดีของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพิมพ์ลงใน Encyclopedia of World Literature ไว้ด้วย บทล้อที่แฝงด้วยอารมณ์ขันเรื่อง “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” จึงเป็นเสมือนการสนทนาเพื่อล้อเลียนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและสร้างจินตนาการผสานกับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้นได้อย่างคมคาย ดังที่ขึ้นต้นว่า

“ถ้าแม่พลอยยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้...แกก็เป็น
ลูกเสือชาวบ้าน...นั่นละ...แม่พลอยละ”- - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

วันนั้น ช้อยลงจากรถแท็กซี่แล้วถือไม้เท้ากระย่องกระแย่ง
แต่ยังกระฉับกระเฉงถึงหน้ากระไดเรือน แม่พลอยก็ลงนั่งแล้วถัดขึ้น
กระไดอย่างคล่องแคล่ว
“พลอย” ช้อยเรียกเมื่อมองเห็นพลอยนั่งตะบันน้ำกินอยู่ในห้อง
“เขาปฏิวัติกันอีกแล้วละ รู้ไหม”[4]

ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นบทบาทของผู้รับในลักษณะที่มุ่งล้อตัวบทต้นทาง ซึ่งก็คือถ้อยคำสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อมาก็เชื่อมโยงเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดรัฐประหารขึ้น เพื่อนำไปสู่การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของแม่พลอย แม้ว่าแม่พลอยจะล่วงเข้าสู่วัยชราถึงขั้นตะบันน้ำกินก็ตาม

หากนำความคิดที่ว่าวรรณกรรมเมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ย่อมตกเป็นเอกสิทธิของสาธารณชนที่จะตีความและประเมินค่ามาพิจารณาแล้ว ย่อมจะเห็นถึงบทบาทของผู้รับที่สามารถจะตีความและเข้าถึงตัวบทได้ในลักษณะต่างๆ บทล้อของม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุลทำให้เราเห็นถึงบทบาทของผู้รับที่จินตนาการต่อจากตัวบทต้นทาง และนำมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ได้อย่างคมคายน่าสนใจและชวนให้ขบขันบรรลุตามความมุ่งหมายของการประพันธ์


“ถ้าคุณพลอยยังอยู่” : บทบาทของผู้ประพันธ์

จักรกฤษณ์ ดวงพัตราเคยเขียนบทละครจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินมาก่อนหน้านี้แล้ว คือเมื่อพ.ศ.2537 ซึ่งได้กล่าวถึงแผ่นดินที่ห้าไว้ด้วย ซึ่งเป็นการจินตนาการต่อจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน แต่ในบทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” นี้ ผู้ประพันธ์น่าจะมุ่งสนทนากับบทล้อของม.ร.ว.อายุมงคลมากกว่าตัวบทนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ประเด็นที่สนทนาก็คือการย้ำให้เห็นอำนาจของงานศิลปะว่าอยู่เหนือกาลเวลา ดังที่ Edith Hamilton กล่าวไว้ใน Methology Timeless Tales of Gods and Heroes ว่า “ในที่สุดแล้ว เมื่อใครสักคนหยิบหนังสืออย่างนี้ขึ้นมา เขาก็จะไม่ถามว่าผู้เขียนได้เล่าเรื่องเสียใหม่อย่างสนุกสนานเพียงใด แต่จะถามว่า เขาได้นำผู้อ่านเข้าไปใกล้กับเรื่องดั้งเดิมเพียงไร ”[5] นั่นย่อมหมายถึงว่า ผู้ประพันธ์บทละครเรื่องนี้ นอกจากจะให้ผู้รับพิจารณาตัวบทกลางคือ “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” แล้ว ยังมุ่งให้ผู้รับหวนกลับไปถึงตัวบทต้นทางคือ นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินอีกด้วย จะเห็นว่าผู้ประพันธ์พยายามจะรักษาภาพลักษณ์ของคุณพลอยไม่ต่างกับสตรีที่ได้รับการอบรมมาดีพร้อมให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ดุจเดียวกับในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ดังตอนหนึ่งที่ว่า

คุณพลอย : “แม่ต้องรีบไปลูก แม่เป็นลูกเสือชาวบ้าน บ้านเมืองเป็นจลาจล
อย่างนี้ แม่อยู่เฉยไม่ได้หรอก อั้นช่วยพยุงแม่ไปเร็วๆ เถอะลูก”
คุณอั้น :“คุณแม่ไปช่วยเค้าไม่ได้หรอกครับ แล้ววันนี้เราก็ต้องไปเยี่ยม
พี่อ้นด้วย”
คุณพลอย : “โธ่ อ้น ลูกแม่… เพิ่งจะปฏิวัติกันยังไม่ทันไรเลย โดนจับอีกแล้ว…
คราวนี้โทษคงไม่ถึงประหารชีวิตเหมือนครั้งก่อนใช่มั้ยอั้น”
คุณอั้น :“เปล่าครับ คุณแม่ นั่นมันเรื่องเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่นี่ พ.ศ.๒๕๒๔
แล้วครับ พี่อ้นไม่ได้โดนจับไปขังที่บางเขน เค้าไปนอนที่โรงพยาบาล
รามาฯ ให้หมอแผนกอายุรเวชเขาตรวจโรคชราไงครับ แล้วฟัน
ปลอมนี่น่ะ ก็ของพี่อ้นเค้า ผมหยิบมาวางเตรียมไว้ว่าจะเอา
ไปด้วย เพราะว่าตอนที่พี่อ้นเข้าโรงพยาบาล พี่เค้าหยิบผิดอัน
เอาฟันปลอมของยายประไพใส่ไปน่ะครับ”
คุณพลอย : “อนิจจํ ทุกขํ”

จากบทสนทนานี้ เราจะเห็นภาพผู้หญิงชราคนหนึ่งที่แม้ร่างกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ความทรงจำยังคงแจ่มชัด แม้ว่าเธอจะเอาเรื่องราวในอดีตมาประสมประสานกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเป็นแม่พลอยจากเรื่องสี่แผ่นดิน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “อนิจจํ ทุกขํ” ที่ล้อความเป็นแม่พลอยได้อย่างแนบเนียน คือแสดงถึงความมีใจมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งในเรื่องสี่แผ่นดิน ก็แสดงให้เห็นชัดว่า เมื่อเธอประสบเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต พระพุทธศาสนาได้ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจให้เธอตระหนักในความจริงและยอมรับโดยดุษณีตลอดมา

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ การที่ผู้ประพันธ์เรียกแม่พลอยว่า ‘คุณ’ ทำให้เกิดระยะห่างทั้งด้านฐานะทางสังคมและกาลเวลาที่ผ่านไประหว่างตัวละครกับผู้ประพันธ์ ซึ่งก็เป็นผู้รับในขณะ เดียวกันด้วย นับว่าเป็นกลวิธีหนึ่งของบทละครสมัยใหม่ ที่มีจุดประสงค์จะให้ผู้ชมละครเกิดการฉุกคิดมากกว่าจะมุ่งให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับตัวละคร และเป็นการย้ำเตือนสถานะความเป็นบทละครที่เกิดจากจินตนาการได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะละครที่มีลักษณะล้อเลียนตัวบทต่างๆ ดังในเรื่องนี้ ซึ่งอาจมองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ขันที่พยายามจะจินตนาการถึงหญิงชราวัยกว่าร้อย แต่มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด และมีความพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศชาติบ้านเมืองดุจเดียวกับประชาชนอื่นๆ
อาจจะเห็นว่าบทสนทนาของตัวละครในเรื่องมักจะพูดซ้ำๆ อยู่ไม่กี่ประโยค ซึ่งอาจทำให้เห็นความจงใจที่จะย้ำถึงภาพของตัวละครแต่ละตัวที่ต่างก็ชราภาพไปตามๆ กัน หรืออาจให้เกิดความขบขันจากอากัปกิริยาของตัวละคร เช่นที่ว่า

พลอยวางสากที่กำลังใช้ตะบันน้ำโดยเร็ว รีบคว้าสิ่งที่วางอยู่บนโต๊ะข้างๆ พยายามพันรอบคอ
“ฉันต้องไปทำหน้าที่ลูกเสือชาวบ้านแล้วละช้อย อ้น อั้น ประไพ เขาปฏิวัติ
กันอีกแล้ว ช่วยหามแม่ไปช่วยเขาซิ เอ..นี่แม่กินข้าวแล้วหรือยังนะ”
“นั่นไม่ใช่ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านของคุณแม่นะครับ” ตาอั้นโผล่เข้ามาท้วง
พอดี ”นั่นฟันปลอมของพี่อ้น ใช้พันคอไม่ได้หรอกครับ”

จากบทสนทนานี้ เราจะเห็นภาพหญิงชราคนหนึ่งที่แม้ร่างกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เนื้อแท้แล้ว ยังคงมีใจที่มุ่งมั่นจะช่วยชาติอย่างแท้จริง

สัมพันธบท : ความยอกย้อนของมโนทัศน์

หากพิจารณาที่มาของมโนทัศน์เรื่องสัมพันธบทแล้ว จะพบว่าสืบเนื่องมาจากทฤษฎีการวิจารณ์ของโรล็องด์ บาร์ตส์ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อตัวบทและผู้รับมากกว่าจะยกย่องผู้ประพันธ์ในทำนองเทพปกรณัม และมุ่งเน้นการอ่านละเอียด(closed reading) เพื่อค้นหาความหมายตาม สัญญะที่ปรากฏในตัวบท แต่ในเวลาเดียวกันบาร์ตส์เองก็ชี้ว่าการวิจารณ์ตัวบทนั้นก็ไม่อาจละทิ้งบริบททางสังคมไปได้ ที่สำคัญหากตัวบทนั้นจัดเป็นงานศิลปะ บทบาทของผู้ประพันธ์ย่อมโดดเด่นทั้งในฐานะของผู้รับและผู้สร้าง
หากการวิจารณ์ในศตวรรษใหม่จะปฏิเสธบทบาทของผู้ประพันธ์ และให้ความสำคัญเฉพาะการค้นหาความหมายในตัวบทและปฏิกิริยาของผู้รับเท่านั้นแล้ว คงกล่าวได้ว่าการวิจารณ์นั้นไม่อาจจะสมบูรณ์ไปได้ ถ้าละเลยกระบวนการสร้างสรรค์ตัวบท บทบาทของผู้ประพันธ์ควรจะมีความสำคัญต่อการสร้างผลงานด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากยึดถือการวิจารณ์สมัยใหม่อย่างสุดโต่งภายใต้กรอบความคิดที่ว่าผู้แต่งไม่มีตัวตนแล้ว เราจะประเมินค่างานนั้นได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ คงต้องกลับไปทบทวนถึงการนำมโนทัศน์นี้มาวิจารณ์ผลงานศิลปะอีกครั้งหนึ่งแล้วกระมัง

[1] เมื่อจักรกฤษณ์ ดวงพัตรานำบทละครเรื่องนี้ มาสอนในชั้นเรียนระดับปริญญามหาบัณฑิตที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยกข้อความนี้มาเป็นวิธีวิทยา (methodology)ที่จะเข้าถึงบทละครเรื่องนี้ว่า “...with just a wee bit of imagination, I can ture around right now and see…”
[2] อ้างถึงในชูศักดิ์ ภุทรกุลวณิช.”ชะตากรรมของหนังสือในสหัสวรรษใหม่” อ่านไม่เอาเรื่อง. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คบไฟ,2545.),14.
[3] นพพร ประชากุล “สัมพันธบท” , สารคดี ป.16 ฉ 182 (เมษายน) ,2543 : 175-177.
[4] ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (10 พฤษภาคม 2524)
[5] ...After all, when one takes up a book like this one does not ask how entertainingly the author has retold the stories, but how close he brought the reader to the original.

บรรณานุกรม

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. สี่แผ่นดิน,พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สยามรัฐ,2531.
จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา. ถ้าคุณพลอยยังอยู่ เอกสารประกอบการสอนรายวิชาวรรณคดีกับศิลปะ
แขนงอื่น คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,2548.
ชูศักดิ์ ภุทรกุลวณิช.”ชะตากรรมของหนังสือในสหัสวรรษใหม่” อ่านไม่เอาเรื่อง.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คบไฟ,2545.
นพพร ประชากุล “สัมพันธบท” , สารคดี ป.16 ฉ 182 (เมษายน) ,2543 : 175-177.
อายุมงคล โสณกุล,ม.ร.ว. ถ้าแม่พลอยยังอยู่” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (10 พฤษภาคม 2524.



-------------------------------------

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2550

โอ...อัมพวา : หนังสือภาพแนวอนุรักษ์ภูมิทัศน์





ขณะที่เดินดูสินค้าที่วางขายเรียงรายเลียบคลองอัมพวาอยู่นั้น พลันสายตาก็ไปเห็นหนังสือเล่มนี้วางอยู่หน้าร้านแห่งหนึ่ง โอ...อัมพวา หนังสือภาพสามภาษา มีไทย อังกฤษและญี่ปุ่น ภาษาไทยเขียนโดยพี่โกะ ชุมพล อักพันธานนท์ ราคา ๑๔๐ บาท ไม่แพงเกินไปสำหรับหนังสือภาพ ใช้สีซีเปียเพิ่มความรู้สึกโบราณนานช้า และชวนให้รำลึกถึงความหลัง ...และได้ยินเพลงสาวอัมพวาของครูเอื้อ สุนทรสนานลอยมาตามลม "โอ อัมพวา นี่หนางามจริง ทุกสิ่งเป็นขวัญตา โอ้ว่าผู้หญิงยิ่งงามโสภา ดั่งนางฟ้าชาวไทย ..."


บ่ายวันอาทิตย์ เพื่อนชวนไปเที่ยวตลาดร้อยปี นึกว่าจะไปสามชุก แต่กลับเป็นตลาดร้อยปีที่อัมพวา ห่างจากกรุงเทพฯไปทางถนนพระราม ๒ ไปชั่วโมงกว่า ก็ถึงเมืองสมุทรหรือจังหวัดสมุทรสงคราม บ่ายวันนั้นไม่มีแดด ทำท่าเหมือนฝนจะตกด้วยซ้ำ หลังจากไปตั้งต้นไหว้พระประจำเมืองที่วัดเพชรสมุทรฯแล้ว ก็ออกเดินทางไปอำเภออัมพวา ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖-๗ ก.ม.ที่ตลาดมีคนพาลูกจูงหลานมาเดินเที่ยวมากมาย อาจเป็นเพราะวันหยุดสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอม มีของขายตลอดทางเดินเลียบแม่น้ำ หน้าตาคล้ายๆ ตลาดวัดดอนหวาย แต่คลาสสิคกว่าตรงที่ร้านค้านั้นบางร้านเก่า บางร้านตกแต่งใหม่ ทันสมัยเฉียบต้อนรับแขกท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามร้านมีของขายทั้งเป็นสินค้าท้องถิ่นและแปลกถิ่น เช่นเสื้อผ้า ตลาดร้อยปีจะขายตั้งแต่กลางวันถึงสามทุ่ม ก็คงขายจนกว่านักท่องเที่ยวจะกลับกันหมด รอบค่ำเขาว่าคนยิ่งแน่น เพราะไปลงเรือดูหิ่งห้อยกัน


บ่ายวันที่ฟ้าครึ้มฝน ร้านที่ขายดีสุดๆ เห็นจะเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ ๑๐ บาท ขายดีถึงขนาดเส้นก๋วยเตี๋ยวลวกยังไม่ทันนิ่มดีก็ยกออกมาแล้วพร้อมกับเศษหมูลอยหน้านิดหน่อย และคนสั่งต้องบริการเสิร์ฟเอาเอง ชิมแล้วอืม..อร่อย ทั้งๆที่ไม่หิวหรอก มันคงเป็นเพราะบรรยากาศพาไปแน่เลย อีกร้านหนึ่งที่ทำกำไรไม่รู้เรื่องคือ เรือขายกุ้งย่าง ปลาหมึกย่าง ราคาไม่ต้องพูดถึง แพงกระฉูด แต่ก็มีคนสั่งรับประทานเพราะกลิ่นที่หอมหวนยวนจมูก บอกแล้วว่าบรรยากาศเป็นใจเอามากๆ พอเดินไปจนสุดทางเลียบคลอง ก็จะมีบริการล่องเรือชมหิ่งห้อย คนละ ๕๐ บาท เสียดายวันนั้นฝนตกปรอยๆ เรากลัวหิ่งห้อยจะไม่มาให้เห็น ก็เลยกลับกันเสียก่อน ตั้งใจว่าวันหลังอากาศดีฟ้าโปร่งจะไปเที่ยวอีก และจะอยู่ดูหิ่งห้อยกลางคืนให้ได้เลย

โอ...อัมพวา เป็นหนังสือภาพที่บันทึกเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของชาวอัมพวาที่ดำเนินมากว่าร้อยปี ภาพเก่าๆ ล้วนมีเสน่ห์ ก่อให้เกิดความหวงแหนและการอนุรักษ์ไว้ ถ้อยคำประกอบภาพก็แสดงวาทะคมคาย ดังภาพนี้บรรยายว่า "บ้านมีชีวิต เพราะคนใช้ชีวิต"

หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือนำเที่ยวที่ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวในทางกายภาพ แต่ให้อารมณ์ความรู้สึกของการย้อนอดีต และเรื่องราวยาวนานของภูมิทัศน์แห่งนี้ โอ...อัมพวา

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2550

กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์กับเซอเรียลิสม์








อังคาร กัลยาณพงศ์ จิตรกรกวี ผู้มีผลงานด้านกวีนิพนธ์เป็นที่รู้จักกันดี เช่น กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์, ลำนำภูกระดึง, บางกอกแก้วกำศรวล และ ปณิธานกวี เป็นต้น กวีนิพนธ์ของเขาได้รับยกย่องว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์ อังคารเป็นกวีคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๒


เรื่อง อังคาร กับ เซอเรียลิสม์ นั้น ได้มีผู้ศึกษาไว้เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนแล้ว คือ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ชลธิราได้เสนอบทความเรื่อง “อังคาร กัลยาณพงศ์ : เซอเรียลิสม์”[1] บทความขนาดสั้นนี้ มีลักษณะเป็นการนำเสนอความคิด เพื่อก่อให้เกิดการตื่นตัวในวงวรรณกรรมมากกว่าจะเป็นงานค้นคว้าอย่างจริงจัง ต่อมาเห็นว่า ความคิดนี้น่าสนใจ จึงได้นำมาศึกษาในแนววรรณคดีเปรียบเทียบ


เมื่อได้ศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์และกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์แล้ว พบว่า กวีนิพนธ์ของอังคารมีลักษณะเด่นที่คล้ายคลึงและแตกต่างจากกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ดังต่อไปนี้

ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

๑. มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับการขบถ


ลักษณะ “ขบถ” คือ การแสดงความคิดปฏิเสธสังคม ไม่ยอมรับสภาพความเป็นไปของสังคม ก่อให้เกิดความคิดและแนวทางในการปฏิบัติต่างออกไปจากที่เป็นอยู่แต่เดิม ดังที่กวีเซอเรียลิสม์ไม่ยอมรับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี การเมือง ประวัติศาสตร์ และศาสนา พวกเขาหันไปแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้เป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งความเป็นจริงที่เลวร้ายในชีวิตประจำวัน วิธีการที่แสดงออกถึงลักษณะขบถอย่างชัดแจ้งของกวีเซอเรียลิสม์ คือ การเขียนเรื่องราวอย่างไม่ตั้งใจ มีลักษณะการพรั่งพรูออกมาจากจิตใต้สำนึก เกิดเป็นกวีนิพนธ์ในรูปแบบใหม่อันปฏิเสธขนบนิยม รวมทั้งมีเนื้อหาใหม่ ที่มีแก่นเรื่องจากการขบถแฝงอยู่ แต่สำหรับอังคาร ได้เลือกวิธีการลักษณะขบถด้วยการบริภาษ กวีนิพนธ์ของเขาบางบท เต็มไปด้วยน้ำเสียงประชดประชันเยาะเย้ยถากถางไปจนถึงบริภาษอย่างรุนแรง การขบถนี้ได้แสดงให้เห็นถึงโลกแห่งอุดมคติของกวี ด้วยการสะท้อนภาพน่าเกลียดน่ากลัว และสิ่งเลวร้ายต่างๆ ในสังคมออกมา ทั้งนี้ อาจจะให้ผู้อ่านเกิดสำนึกขึ้นแล้วช่วยกันป้องกันและหาทางแก้ไขก็เป็นได้


อังคารเขียนกวีนิพนธ์บริภาษมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่มากด้วยกิเลส การบริภาษนี้ดูเหมือนจะหวังผลให้มนุษย์ลดกิเลสและอัตตาลง พร้อมทั้งชี้แนวทางที่จะให้มนุษย์อยู่รวมกันในสังคมอย่างสันติสุข อังคารได้บริภาษพระสงฆ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พระสงฆ์บางรูปแสดงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา อังคารจึงนำภาพพฤติกรรมดังกล่าวมาแสดงไว้ เพื่อให้พระสงฆ์บางรูปเกิดสำนึกในหน้าที่และความถูกต้องที่ผู้ประพฤติธรรมพึงปฏิบัติ อังคารจึงได้บริภาษเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ แต่มนุษย์นำมาใช้อย่างไม่คำนึงถึงความพอเหมาะพอดี เทคโนโลยีกลับทำลายระบบนิเวศวิทยา เป็นการทำลายสภาพธรรมชาติซึ่งอังคารเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข


ทั้งอังคารและกวีเซอเรียลิสม์ต่างก็มีความหวังว่า การขบถของพวกเขา จะเป็นหนทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ตนปรารถนา

๒. มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับกวีนิพนธ์


ทั้งอังคารและกวีเซอเรียลิสม์ต่างให้ความสำคัญกับ “กวีนิพนธ์” อย่างมาก โดยเฉพาะอังคารได้ตั้งปณิธานที่จะยกระดับคุณค่าของกวีนิพนธ์ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ประหนึ่งศาสนา และมุ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกวีนิพนธ์กับธรรมชาติ อีกทั้งอังคารได้นำสุนทรีย์จากธรรมชาติ มาเป็นหนทางนำไปสู่สัจธรรมตามปรัชญาพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในกวีนิพนธ์หลายๆ บท เช่น

ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงสุด
ขลังดังบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอม
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๓๓)

หรือใน “ปณิธานกวี” อังคารได้ขอเป็นผู้เสียสละอย่างที่สุด ด้วยการยอมทุกข์ทรมานเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นกวี

ถึงใครเหาะเหินวิมุตติสุดฝั่งฟ้า เดือนดาริกาเป็นมรรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวีวาย
จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน จะวนว่ายวัฏฏสงสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาล
เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์ ที่สุดสู่ยุคเกษมศานต์
วารนั้นฉันจะป่นปนดินดาน เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง
(ปณิธานกวี ๒๕๒๙ : ๒๓)


จากบทกวีจะเห็นได้ว่าอังคารมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่จะไปสู่ภาวะ “หลุดพ้น” โดยแสดงเจตจำนงนี้ผ่านทาง “กวีนิพนธ์” อาจกล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์ของเขาเป็นหนทางนำไปสู่ “นิพพาน” ในความหมายของเขา และคิดอย่างมีความหวังว่าเขาจะไปสู่จุดหมายปลายทางได้ตราบที่เขายังมีชีวิตอยู่
อองเดร เบรอตง หนึ่งในผู้นำกลุ่มเซอเรียลิสม์ ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ไว้ว่า กวีนิพนธ์สามารถสื่อให้เห็นสัจธรรมในจิตใจมนุษย์ได้มากที่สุด เพราะความคิดของเซอเรียลิสม์ จะไม่นิยมบรรยายความจริงตามธรรมดาสามัญ แต่ต้องปล่อยให้จิตใต้สำนึกบรรยายคำพูดออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ สื่อความนึกคิดจากจิตโดยตรงมาเป็นกวีนิพนธ์จึงทำให้เกิดกวีนิพนธ์ในรูปแบบแปลกใหม่ขึ้นมา และแก่นเรื่องเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ก็กลายเป็นแก่นเรื่องสำคัญของทั้งอังคารและกวีเซอเรียลิสม์

๓. มีแก่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรรมกับกวีนิพนธ์


ในกวีนิพนธ์ของอังคารนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกผูกพันที่อังคารมีต่อศิลปกรรมโดยเฉพาะศิลปะอยุธยา กวีนิพนธ์ของเขาได้ซึมซับความรู้สึกนี้ไว้ จนผู้อ่านเกิดจินตนาการและสะเทือนใจไปพร้อมๆ กับกวีด้วยเห็นชัดว่าอังคารภาคภูมิใจความยิ่งใหญ่และความงามของศิลปกรรมในอดีต พร้อมๆ กับแสดงความเศร้าโศกเสียใจเสียดายที่ปัจจุบันความงามนั้นไม่เหลือไว้ให้ชนรุ่นหลังอีกต่อไปแล้ว อังคารจึงได้จารึกความงามของศิลปกรรมนั้นลงในกวีนิพนธ์ เช่น ในบทกวีชื่อ “ชมลายประดับมุก” และ “กนกนกแก้ว”

ส่วนกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ มุ่งเน้นความเกี่ยวพันของศิลปะสองแขนง คือ กวีนิพนธ์กับจิตรกรรม ด้วยการสร้างสรรค์บทกวีจากความประทับใจที่กวีเคยได้รับจากการชมภาพจิตรกรรม และจากการคลุกคลีอยู่กับการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของจิตรกรร่วมสมัย เช่น อองเดร เบรอตง เขียนบทกวีชื่อ “แมกซ์ แอร์นส์” (Max Ernst) ขึ้นจากความประทับใจผลงานของแอร์นส์ เนื้อความตอนหนึ่งในกวีนิพนธ์บทนี้กล่าวถึง “ผู้ร่วมประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิดผู้ประเปรียวหมุนรอบพรหมจรรย์ของกระโปรงตัวสั้น” ทำให้เราหวนระลึกถึงภาพเขียนของแอร์นส์ ชื่อ “ยามเที่ยงคืนย่างกรายอยู่เหนือหมู่เมฆ” (“Au-dessus des nuages marche la minuitt”) ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงไม่มีศีรษะ สวมกระโปรงสั้น


กวีนิพนธ์บทนี้มีลักษณะเป็น “บทกวี-ภาพเขียน” เพราะในขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านกวีนิพนธ์บทนี้อยู่จะรู้สึกเหมือนกำลังชมภาพเขียนไปด้วย นับได้ว่ากวีนิพนธ์ของอังคารและของเซอเรียลิสม์นั้น มีแก่นเรื่องแสดงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะสองแขนง บทกวีของอังคารสะท้อนความงามของศิลปกรรมในอดีต แต่บทกวีเซอเรียลิสม์เน้นความประทับใจจากภาพจิตรกรรมของกวีร่วมสมัยที่อยู่ในกลุ่มร่วมอุดมการณ์


๔. มีการเสนอจินตภาพ (Image) ที่น่าอัศจรรย์ใจ


“จินตภาพที่น่าอัศจรรย์ใจ” ในที่นี้หมายถึง ภาพที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของตน ตามที่เคยได้มีประสบการณ์มา แต่จินตภาพที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกโอ่อ่า มลังเมลือง ตื่นตาตื่นใจ เกินความเป็นจริง กึ่งฝันและชวนให้พิศวง ความอัศจรรย์ใจนี้ถือเป็นลักษณะสำคัญของกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ซึ่งนิยมเสนอความแปลกใหม่ที่ผู้อ่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน การเสนอจินตภาพที่น่าอัศจรรย์ใจนี้ ก็มีปรากฏในกวีนิพนธ์ของอังคารเช่นกัน แม้ว่าจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างกัน แต่อังคารและกวีเซอเรียลิสม์ก็มีวิธีการนำเสนอจินตภาพที่น่าอัศจรรย์ใจคล้ายๆ กันดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

๔.๑ การแสดงภาพที่วิปริตแปรปรวน



ภาพที่วิปริตแปรปรวนนี้คือ การสะท้อนภาพความจริงในสังคม ในชีวิตประจำวันออกมาเป็นภาพที่เกินไปจากความจริง แสดงความปั่นป่วน ชวนให้งงงวย หรือเป็นภาพชนิดที่เราไม่เคยคาดคิดและพบเห็นมาก่อน ดังที่อังคารเสนอภาพการกลับตาลปัตรของธรรมชาติ เป็นภาพที่แฝงด้วยสัญลักษณ์มากมายในกวีนิพนธ์ชื่อ “เปลือยป่าช้าร่าระบำรำ”

สุเมรุเอนจากหลักโลก เริ่มคลอนโยกเป็นตมเลน
ตมสูงเตรียมล้มระเนน วินาศเน่าเบ้ากว่าอาจม
กิ้งก่าผวาหาหลักฟ้า ซ่าสอพลอสิ่งซึ่งล้ม
อึ่งอ่างหมอบปลอบตม อมเหรียญตราบ้ายศจัด
หมากิ้งกือเลื้อยไปมา สุเมรุหลงว่าทักษิณาวัฏฏ์
สัตว์เคารพท่านถนัด บัดซบชะงัดอย่างมหัศจรรย์
สัตว์ต่ำเลื้อยสอสอ ประจบสอพลอจ้าละหวั่น
สุขตมเอกเอนกอนันต์ สรรเสริญจนเจริญสรรพภัย
(ปณิธานกวี ๒๕๒๙ : ๙๑)

ในกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์มีการแสดงภาพที่เป็นสัญลักษณ์ซ่อนเรื่องราวที่แท้จริงเอาไว้เช่นกัน บางภาพนั้น นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของกวีแล้ว ยังแฝงความปรารถนาทางเพศไว้ด้วย เช่นที่ เครอเวล (Crevel) กวีกลุ่มเซอเรียลิสม์ได้สร้างสรรค์เมืองมาร์แซยให้แสดงท่ายั่วยวนได้

เมืองนอนเปลือยกางขา Les Jambes ecartees, une ville
อยู่ริมทะเลเรืองแสง S’endort, nue sur la mer
phosphorescente
(สดชื่น ชัยประสาธน์ ๒๕๓๒ : ๖๖)


คำว่า “nue” นอกจากจะมีความหมายว่า “เปลือย” แล้ว ยังให้ภาพของพื้นที่ที่ปราศจากต้นไม้อีกด้วย นับว่าเป็นการสะท้อนสภาพเมืองมาร์แซยที่เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรม มีแต่ตึกรามและโรงงาน อีกทั้งเมืองนี้เป็นท่าจอดเรือ มีอ่าวอยู่กลางเมือง การที่กวีบรรยายว่าเขาเห็น “เมืองนอนกางขา” นั้น ก็เป็นการบรรยายสภาพที่เป็นจริงด้วยสายตาที่แปลกออกไป ทำให้ผู้อ่านเกิดอัศจรรย์ใจได้

๔.๒ การแสดงภาพอันกว้างใหญ่ของธรรมชาติและอาณาจักรของเวลา


อังคารมักใช้คำที่เสนอภาพกว้างใหญ่ ไม่มีขอบเขตจำกัด และหาที่สิ้นสุดมิได้ เช่น

ณ เวิ้งวิเวกเอกภพมหึมา และ ณ ตราจักรอันหลากหลาย
จะหาหล้าไหนวิเศษแพร้วพรรณราย ให้ดุจโลกมนุษย์สุดยากนัก
(ปณิธานกวี ๒๕๒๙ : ๔๐)

การใช้คำว่า “เวิ้ง” “มหึมา” นั้น แสดงภาพโล่ง กว้างใหญ่ พร้อมทั้งให้ความรู้สึกมลังเมลือง โอ่อ่า ในคำว่า “วิเศษ” “แพร้วพรรณราย” ในกวีนิพนธ์ชื่อ “กาลจักร” ก็ปรากฏฉากที่วิจิตรบรรจงเช่นกัน

“… เวลาก็เร่งฝีเท้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล่วงหน้าสรรพสิ่งทั้งหลายไป กระทั่งล่วงเข้าไปในแว่นแคว้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครไปถึง มีเทือกผาชันสูงลิบลิ่ว บางดวงดาวโคจรมากระทบหน้าผาแตกร่วงเนผลึกแก้วมณี ต้องสายน้ำตกทอรุ้งแวววาว สายลมโชยนานาบุปผาชาติ หอมเข้มข้นเป็นวนวัง แววทิพยเนตรแห่งเวลาได้มาเห็นและหลงใหลในภวังค์ธรรมชาตินั้น จึงหลงทางปะทะหน้าผาลื่นสลบไสลไป …”
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๗๐)

จะเห็นได้ว่าฉากนี้งดงามอย่างไม่มีที่ติ ผู้อ่านจะจินตนาการไปกับวรรคที่ว่า “บางดวงดาวโคจรมากระทบหน้าผาแตกร่วงเป็นผลึกแก้วมณี ต้องสายน้ำตกทอรุ้งแวววาว” ขณะเดียวกันก็ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ นับเป็นจินตนาการที่เปี่ยมด้วยอิสระของผู้แต่ง แสดงถึงการไม่สิ้นสุดของจินตนาการ ซึ่งนอกจากผู้แต่งจะถ่ายทอดจินตนาการอันไม่สิ้นสุดนี้ออกมาด้วนการแสดงภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัดทางพื้นที่แล้ว ยังไม่มีขอบเขตจำกัดทางเวลาอีกด้วย ลักษณะนี้ก็มีปรากฏในกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์เช่นกัน ดังในบทกวีของเดสนอส (Desnos) กวีผู้หนึ่งในกลุ่มเซอเรียลิสม์

“… เมื่อฉันหลับตาลง มวลดอกไม้ก็เบ่งบานและเหี่ยวเฉาไป แล้วผลิขึ้นมาใหม่ราวกับดอกไม้ที่มีเนื้อหนังมังสา ฉันจึงเดินทางไปทั่วประเทศ ที่ไม่รู้จักหลายประเทศ มีพรรคพวกและส่ำสัตว์ทั้งหลายติดตามไป
มีเธอด้วยแน่นอนโอ้จารสตรีคนงามและสงบเสงี่ยม และดวงวิญญาณที่สัมผัสได้เห็นชัดเจนของอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล
ในยามราตรีมีเธอ
ในทิวาวารด้วยเช่นกัน …”
(พูนศรี วงศ์วิทวัส ๒๕๒๙ : ๕๑)

กวีนิพนธ์บทนี้ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภาพกว้างใหญ่ของธรรมชาติกับอาณาจักรของเวลาที่กวีให้ความสำคัญ และโยงเข้ากับการพรรณนาถึงสาวคนรัก จะเห็นได้ว่าทั้งอังคารและ เดสนอสต่างเห็นความสำพันธ์ระหว่างความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและอาณาจักรของเวลา ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาล


ดาลี (Dali) ศิลปินเซอเรียลิสม์ผู้หนึ่ง ก็ได้แสดงความคิดนี้ไว้ในภาพชื่อ “ความทรงจำ” (The Persistence of Memory) ภาพนี้แสดงถึงสถานที่เวิ้งว้างมีนาฬิกาสามเรือนวางอยู่ในลักษณะอ่อนปวกเปียก นาฬิกาเรือนหนึ่ง วางคร่อมอยู่บนวัตถุคล้ายใบหน้าด้านข้างของคน นักวิจารณ์ศิลปะท่านหนึ่งได้วิจารณ์ภาพนี้ว่า “ภาพนี้เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกประหลาด แสดงให้เห็นถึงสภาวะของมนุษย์ที่ถูกครอบงำด้วยกาลเวลา” (สมพร ๒๕๒๔ : ๘๓–๘๕)


การแสดงภาพกว้างใหญ่ของธรรมชาติและอาณาจักรของเวลานี้ ได้สะท้อนให้เห็นความคิดของอังคารและกวีเซอเรียลิสม์ว่า มนุษย์ทุกรูปนามย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “เวลา” และความยิ่งใหญ่ของ “ธรรมชาติ”

๔.๓ การแสดงภาพการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน


เป็นที่น่าสังเกตว่า อังคารมักสร้างฉากในกวีนิพนธ์ให้เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์ใจ ด้วยการเสนอภาพที่มีกริยาเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน เช่น ในกวีนิพนธ์ชื่อ “ความฝันของเทือกผาหลวง”

“… ท่ามกลางความฝันสีทิพย์ทอเงินยาว มีอสรพิษสีนิลสนิทเหลือบแววน้ำเงินวาวละออง รอบลำตัวงอกใบไม้และดอกขาวหอมบริสุทธิ์ มันเลื้อยซ่อนเร้นมาใต้ละลอกแผ่วเบาของกระแสคลื่นเสียงกำลังขดขนดนิ่งรอคอยจะกัดกินความตาย …”
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๑๑๔)


อังคารได้สีแสดงความขัดแย้งเมื่อกล่าวถึง “สีนิลสนิท” ก็น่าจะมองไม่เห็นสีอื่นใดอีก แต่ในที่นี้ อังคารกลับมองเห็นสี “เหลือบแววน้ำเงินวาวละออง” เป็นการสะท้อนสีของโลกธรรมชาติ ที่ต้องอาศัยแววตาอันประณีตในการเพ่งพินิจจึงจะสัมผัสได้ อสรพิษนี้นับเป็นสัตว์ที่น่าอัศจรรย์มา คือ “รอบลำตัวงอกใบไม้และดอกขาวหอมบริสุทธิ์” การ “งอก” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๑๓) แต่อสรพิษ “กำลังขด ขนด นิ่ง รอคอย จะกัดกิน” ความตาย จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการเสนอภาพขัดแย้งที่ประสานกลมกลืนกันระหว่างการเกิดกับการตายในเวลาเดียวกัน


การเสนอภาพเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งนี้ ก็มีปรากฏในกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ด้วยเช่นกัน เราจะเห็นการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันไปในหลายทิศทาง จากบทกวีชื่อ “การตื่นแต่เช้าตรู่” (“Le Reveil au petit jour”)

“… หมวกของภรรยาเจ้าของโรงสีลอยไปไกลราวกับติดปีกบิน และนั่นไงมันล่องลอยอยู่เหนือระฆัง กำลังไล่ผลักหมู่ว่าวแห่งรัตติกาล ในขณะที่ดาวดวงอื่นๆ เป็นรูปหัวใจและกรงนก คันไถหัวเป็นรูปนกกระจาบฝน กำลังเพ่งมองหมวกใบนั้นจากยอดหญ้างามเป็นมัน เปลวไฟอันเร่าร้อนลำสุดท้าย พุ่งขึ้นกลางเตียงที่คนเพิ่งลุกขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ ในระดับเดียวกับทุกสิ่งที่ขยายออกไปข้างหน้า …”
(พูนศรี วงศ์วิทวัส ๒๕๒๙ : ๑๖๖)

เมื่ออ่านกวีนิพนธ์บทนี้ เราจะจินตนาการเห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ขัดแยังกันในหลายๆ ทิศทาง ซึ่งมีทั้งกริยาเคลื่อนไหวและหยุดอยู่กับที่ การเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันนี้ นับว่าเป็นการเสนอจินตภาพที่น่าอัศจรรย์ใจได้วิธีหนึ่ง

๔.๔ การแสดงภาพที่กวีสัมผัสธรรมชาติ

ชอง อาร์พ (Jean Arp) หนึ่งในผู้นิยมแนวคิดเซอเรียลิสม์ ได้ใช้จินตนาการเชื่อมโยงตัวเองให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับจักรวาล เช่นในตอนหนึ่งของกวีนิพนธ์ชื่อ “วันผลิใบ”


เมฆงอกออกจากมือฉัน
ฉันลูกไล้มัน
แล้วฉันก็นอนหลับ
หลับสบายราวกับอยู่ในไข่
ฉันหลับรอให้ใบไม้งอกออกจากร่าง
(สดชื่น ชัยประสาธน์ ๒๕๓๒ : ๖๔)

อังคารก็ใช้จินตนาการสร้างภาพความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างตัวเขากับธรรมชาติด้วยการใช้คำว่า “ดื่ม” หรือ “กิน” ธรรมชาติ ดังบทกวีที่ว่า

ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัย
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๓๒)

หรือ

ร่ำสุราอำมฤตซึ่ง ถึงสวรรค์
ลืมดื่มดาวและจันทร์ ฟากฟ้า
(เรื่องเดียวกัน : ๗๓)

ในลำนำภูกระดึง มีบทประพันธ์จำนวนไม่น้อยที่ผู้แต่งแสดงตนว่า เป็นผู้ใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งกว่าใครๆ ด้วยการแสดงจินตภาพที่น่าอัศจรรย์ใจว่า

เหาะเหินเดินหาวเอื้อมเดือนได้ สะดวกสบายทุกแห่งหาวหน
ลูบไล้สายรุ้งขี่ลมบน ข้าซุกซนฝันทุกอย่างไป
(ลำนำภูกระดึง ๒๕๑๖ : ๑๑๒)

อังคารได้ใช้จินตภาพเหล่านี้สร้างความอัศจรรย์ใจและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด


การเสนอภาพที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้ มีปรากฏทั้งในกวีนิพนธ์ของอังคาร และกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ ซึ่งอาจเป็นความปรารถนาของกวีที่ต้องการเอาชนะหรือมีอำนาจอยู่เหนือธรรมชาติ เมื่อไม่สามารถทำได้ในโลกของความเป็นจริง กวีก็ใช้จินตนาการแสดงภาพขึ้นเพื่อทดแทนความปรารถนานั้นอย่างมีความสุข

๕. มีลักษณะของความหลายนัย (Ambiguity)


ลักษณะความหลายนัยเป็นวิธีการเชขียนที่มีลักษณะคล้ายกันระหว่างกวีนิพนธ์ของอังคาร กับบทกวีเซอเรียลิสม์ ทั้งนี้ความหลายนัยที่ปรากฏในบทกวีของอังคารนั้น อาจเกิดจากสาเหตุประการหนึ่ง คือ การใช้โคลงกระทู้ตามแบบขนบโบราณมาแต่งโคลง เพื่อแสดงความสามารถในการใช้ถ้อยคำให้เหนือไปกว่าการแต่งโคลงแบบธรรมดา เช่น บทกวีชื่อ “จินตนาการ”

ทะ เลหลากท่วมเวิ้ง หนหาว
ลุ่ม ลิ่วจมดาวหนาว แหล่งหล้า
ปุ่ม หินเปื่อยเบาราว ปุยนุ่น
ปู ไต่เมฆข้ามฟ้า เที่ยวเฟ้นกินสวรรค์
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๖๐)

โคลงบทนี้แสดงภาพแปรปรวนของธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไร้ขอบเขต ซึ่งเมื่อถอดความแล้วเราไม่อาจแน่ใจในความหมายที่แท้จริงของโคลงบทนี้ได้อย่างแน่ชัด อาจเป็นการพรรณนาจากโลกจินตนาการของกวีที่สอดคล้องกับชื่อบท “จินตนาการ” พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้อ่านตีความได้อย่างเสรีอีกด้วย
การใช้คำกระทู้ ทะ ลุ่ม ปุ่ม ปู มาเป็นคำกำหนดในการแต่งโคลงนั้น เป็นการท้าทายความสามารถในการใช้ถ้อยคำเป็นสำคัญ จึงทำให้ความหมายของคำและความเป็นรองลงไป และบางครั้งทำให้ผู้อ่านรู้สึกความหมายหลายนัย เช่นเดียวกับการเล่นคำของกวีเซอเรียลิสม์ ซึ่งพึงพอใจมากเมื่อนึกถึงคำพ้องเสียงขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ เช่น ข้อความที่ว่า


Les fards des joues dejouent les phares


เสียงของคำนามที่เป็นประธานไปพ้องกับเสียงคำกริยาและกรรมโดยบังเอิญ แต่ทำให้มีความหมายน่าประหลาดใจมาก เพราะแปลได้ว่า “สีทาแก้มขัดขวาง (การทำงาน) ของประภาคาร” ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยในความหมายของข้อความนี้ และก่อให้เกิดการตีความอย่างเสรีขึ้น


ลักษณะของความหลายนัยทั้งในกวีนิพนธ์ของอังคาร และกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์นั้น มีความ


คล้ายกันตรงที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ตีความในถ้อยคำเหล่านั้นอย่างอิสระปราศจากกรอบเกณฑ์และเหตุผลในโลกแห่งความเป็นจริง

ลักษณะที่แตกต่างกัน

ส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างกวีนิพนธ์ของอังคาร และกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์นั้น ได้แก่


๑. วิธีการเขียนแบบอัตโนมัติ


เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเซอเรียลิสม์ที่เปิดโอกาสให้จิตใต้สำนึกถ่ายทอดออกมา โดยไม่คำนึงถึงอักขระไวยากรณ์ตามหลักภาษา ดังข้อความที่ว่า

“… นักโทษในหยดน้ำ เราเป็นเพียงสัตว์อยู่นิรันดร์ เราวิ่งอยู่ในเมืองโดยไม่มีเสียง และภาพโฆษณาสีสวยสดไม่อาจจะสะดุดใจเราอีกต่อไป ความเบิกบานที่พุ่งขึ้นสูงแต่เหือดแห้งไปแล้ว หรือความกระตือรือร้นอย่างมหาศาลแต่เปราะบางจะมีประโยชน์ เราไม่รู้มากไปกว่าดาวดับแสงเลย …”
(สดชื่น ชัยประสาธน์ ๒๕๓๒ : ๕๒)

ข้อความตอนนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นการทำงานอย่างเป็นอิสระของจิตที่ไม่มีต่อเนื่องปราศจากเหตุผลแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของกวีและเพื่อนๆ ช่วงที่กลับจากสงครามใหม่ๆ เป็นคนงานที่ใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ และเต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวังอีกด้วย


ลักษณะการพรั่งพรูออกจากจิตใต้สำนึก เช่น บทกวีเซอเรียลิสม์ ไม่ปรากฏในกวีนิพนธ์ของอังคาร ทั้งนี้ เนื่องจากงานกวีนิพนธ์ของอังคารได้แสดงถึงความประณีตบรรจงในการใช้ถ้อยคำ ซึ่งนอกจากจะสื่อความหมายในเนื้อหาที่ลุ่มลึกแล้ว ยังเกิดความไพเราะสละสลวยเป็นเสียงของถ้อยคำนั้นมาเรียงร้อยอีกด้วย ดังที่อังคารได้เปรียบเทียบการรจนากวีนิพนธ์ของเขาในบทชื่อว่า “บันทึก”

แสวงสุนทรีย์ทีละเล็กทีละน้อย ดังผึ้งคอยสะสมน้ำหวาน
ยิ่งสนุกสนานในการงาน สู่กาลจักรอักษรไทย
ถึงอ้อมแก้วแหวนแสนเมืองมิ่ง จะซื้อสิ่งสุดปรารถนาไฉน
ต้องลงทุนวิริยะแรงใจ จึงได้ค่าความหมายชีวา
(กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ๒๕๒๙ : ๑๒๖)

ข้อความดังกล่าวย้ำให้เราเห็นว่า การรจนากวีนิพนธ์ของอังคารนั้น มิใช่การทำตัวให้อยู่ในสภาพรับ “คำสั่ง” หรือทำตัวคล้ายเครื่องจักรที่มีกลไกทำงานโดยอัตโนมัติ แต่เป็นการ “ลงทุนวิริยะแรงใจ” ดุจดังหมู่ผึ้งที่ทำงานหนักเพื่อสะสมน้ำหวาน ผลที่เขาได้รับจากการสั่งสม “สุนทรีย์” นั้น คือ ค่าความหมายของชีวิต ที่เกิดจากการ “บ่มร่ำ” ของกาลเวลา

๒. การเสนอภาพพจน์ที่น่าประหลาดใจและการแสดงความงามที่ผิดมนุษย์


ลักษณะสำคัญนี้ ไม่ปรากฏในกวีนิพนธ์ของอังคาร เนื่องจากกวีนิพนธ์ของอังคารได้รับการสั่งสม และบ่มร่ำจากขนบในวรรณคดีไทยและเป็นผลงานจากการรังสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงที่เกิดจากสายตาอันคมกริบของกวี อังคารมิได้ทำให้ผู้อ่านเกิดความตื่นตระหนกในภาพพจน์ (figures of speech) ซึ่งหมายถึงความเปรียบที่เกิดจากการนำคำสองคำที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่กวีนำมาเข้าคู่กันแล้วเกิดเป็นความรู้สึกที่ประหลาดพิสดาร ไม่คาดฝันและยั่วยุความปรารถนาทางเพศ ดังเช่นที่ปรากฏชัดในกวีนิพนธ์เซอเรียลิสม์ เป็นภาพพจน์เกี่ยวกับความรัก และเป็นความเปรียบที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน เช่น

ความรักไม่เคยก้มหัว แต่เชิด
หงอนอำพันและท่องเคลื่อนไว้เสมอ
และเป็น :
เหมือนศพกับผ้าตราสัง
เหมือนม้านั่งกับเขา
เหมือนธารน้ำแข็งกับภูผา
เหมือนโกรกธารกับเหวหุบ
…………………
เหมือนเหลี่ยมกับแก้วเจียระไน
เหมือนลิ้นกับการจูบ
เหมือนดนตรี……………..
(สดชื่น ชัยประสาธน์ ๒๕๓๒ : ๕๙)

หรือในความเปรียบที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชมความงามของหญิงสาวด้วยภาพพจน์ที่น่าประหลาดใจ ในบทกวีชื่อ “เอกภาพอันเสรี” L’union Libre





สาวของฉันมีสะโพกเหมือนเรือเล็ก
มีสะโพกเหมือนโคมระย้าและขนนกที่ปลายลูกศร
เหมือนขนนกยูงสีขาว
เหมือนตาชั่งที่ได้สมดุล
สาวของฉันมีบั้นท้ายเหมือนดินปั้นหม้อและแร่ทนไฟ
สาวของฉันมีบั้นท้ายเหมือนหลังหงส์
สาวของฉันมีบั้นท้ายเหมือนฤดูใบไม้ผลิ
…………………………………
(พูนศรี วงศ์วิทวัส ๒๕๒๙ : ๕)


ภาพเหล่านี้ บางอย่างดูแปลกประหลาดไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าจินตนาการให้ดีแล้วก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ภาพพจน์เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยที่กวีไม่ได้ตั้งใจคิดหาสิ่งต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน ทำให้ภาพพจน์นี้มีความเข้มข้นรุนแรง ให้อารมณ์กวีและมีชีวิตชีวามากกว่าภาพเปรียบธรรมดา ลักษณะสำคัญเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่ปรากฏในกวีนิพนธ์ของอังคารเลย


คำว่าเซอเรียลิสม์ (Surrealism) ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในวงวรรณกรรมไทยนั้นน่าจะใช้ในความหมายตื้นๆ หมายถึงโวหารเกินจริง หรือ อติพจน์ (hyperbole) ซึ่งเป็นความเปรียบที่เน้นความรู้สึกเกินจริง หรือแสดงจินตภาพให้อยู่เหนือความเป็นไปได้ในโลกธรรมชาติ หากแต่เป็นไปได้ในโลกของจินตนาการ ส่วนเซอเรียลิสม์ที่แท้จริงนั้นมุ่งเน้นการแสดงออกจากจิตใต้สำนึกโดยให้ผู้อ่านเห็นภาพนั้นทันที ภาพนี้เกิดขึ้นในสายตาของคนทั่วไป จะประหลาดใจมากด้วยเหตุว่าเป็นคู่เปรียบเทียบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทว่ากวีเซอเรียลิสม์มีความเห็นว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงจนจิตใต้สำนึกนำให้มาเสนอคู่กันได้


จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์กับลักษณะเซอเรียลิสม์ในกวีฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงลักษณะเด่นในกวีนิพนธ์ของอังคารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ นอกจากจะแสดงออกถึงการมองโลกด้วยสายตาที่เฉียบคม มีจินตนาการอย่างลึกซึ้งแล้วยังแสดงถึงสัจธรรมที่แฝงไว้ในธรรมชาติ ได้แก่ การเสียสละของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ อังคารได้ชี้ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความมีเมตตาธรรมของธรรมชาติที่จะเป็นแม่แบบในการดำเนินชีวิตของมนุษย์



[1] ดูรายละเอียดใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ผจงถ้อยร้อยเรียง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กะรัต, ๒๕๓๐)