วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2550

กรรมกับการลงทัณฑ์ใน "โลสก(สะกะ) ชาดก"


ความเชื่อเรื่องกรรมฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านานแล้ว ความเข้าใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไป กรรมหมายถึงการได้รับผลตอบแทนการกระทำทั้งการทำดีและทำชั่ว หากไม่อาจอธิบายถึงเหตุที่เกิดจากการรับผลตอบแทนนั้นได้ ก็จะโยงไปถึงเรื่องกรรมเก่าในชาติปางก่อน หรือเป็นผลจากการกระทำของพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งมีคำสอนสืบมาว่า "มนุษย์มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์" ดังเรื่องน่าเศร้าของทารกน้อยที่พลัดหลุดเข้าไปในซี่ล้อรถมอเตอร์ไชด์พร้อมกับผ้าขนหนูที่ห่อหุ้มขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ จนเด็กน้อยเสียขาไปข้างหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการอธิบายในมุมของความเชื่อว่าเป็นเพราะกรรมที่พ่อของเขามีอาชีพฆ่าสุกร ลูกจึงต้องชดใช้เวรกรรมนั้น


น่าคิดว่าอะไรเป็นที่มาของความคิดความเชื่อเรื่องกรรมเก่าในอดีตชาติ เมื่อพิจารณาแล้วคงเห็นพ้องกันว่าเรื่องเล่าในชาดกนั้นเองที่หล่อหลอมความเชื่อนี้ในสังคมไทย ดังเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่งต้องอดอาหารมานานนับหลายร้อยชาติ เพียงแค่ความโลภที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น


เรื่องนี้เล่าถึงวิบากกรรมของพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลชื่อ พระโลสกะ พระรูปนี้เป็นผู้ไม่มีลาภ(ได้รับภัตตาหารไม่เพียงพอ) ตั้งแต่แรกปฏิสนธิจนกระทั่งก่อนหน้าปรินิพพาน ความไม่มีลาภดังกล่าวมีเหตุจากบุรพกรรมดังนี้


ในอดีตชาติอันไกลโพ้น พระโลสกะเคยบวชเป็นภิกษุรักษาศีล บำเพ็ญวิปัสสนาในบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง วันหนึ่งมีพระอรหันต์จากป่าหิมพานต์มาพำนักและรับภัตตาหารในเขตบ้านดังกล่าว ภิกษุโลสกะในอดีตเกิดความริษยาพระผู้มาใหม่ จึงกลั่นแกล้งโดยนำอาหารที่เศรษฐีฝากไปถวายพระอรหันต์ไปทำลายทิ้งเสีย ภิกษุโลสกะจึงกลายเป็นมนุษย์เปรต หลังจากใช้กรรมอยู่ในนรกเป็นเวลานานและไปเกิดในสภาวะต่ำทรามอนาถาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงได้กลับมาเกิดเป็นคนอีกครั้ง แต่ก็เป็นคนเข็ญใจอดอยาก แม้จะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์(อดีตชาติหนึ่งของพระพุทธองค์) แต่ก็ทำตนเป็นศิษย์ที่ดื้อรั้น ทำให้ต้องผจญวิบากกรรมนานัปการ



เมื่อท่านมาเกิดอีกครั้งในสมัยพุทธกาลอันเป็นชาติสุดท้าย พระโลสกะเกิดในครอบครัวชาวประมง เมื่อแรกปฏิสนธิก็ทำให้ครอบครัวและหมู่ญาติพากันอดอยาก จนกระทั่งคลอดและเติบโต ท่านก็ได้กินอาหารไม่เต็มท้องสักมื้อ ต่อมาได้พบพระอัครสาวก ท่านจึงอุปสมบทเป็นภิกษุมีสมญานามว่า โลสกติสสเถระ และได้บำเพ็ญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นพระอรหันต์ผู้มีลาภน้อยอยู่นั่นเอง(เพราะผู้ตักบาตรจะเกิดภาพลวงตาว่าบาตรของท่านเต็ม ทั้งๆ ที่มีอาหารอยู่เพียงเล็กน้อย) ต่อมาพระอัครสาวกรู้ว่า ถึงเวลาที่พระโลสกะจะปรินิพพานแล้ว จึงได้หาภัตตาหารให้ฉัน ท่านได้ฉันขนม ๔ อย่างจนอิ่มหนำก่อนจะปรินิพพานในที่สุด
เมื่อได้พิจารณาเนื้อความของชาดกเรื่องนี้แล้ว เราอาจสรุปเป็นเค้าโครงของเนื้อเรื่อง ตามลำดับได้ดังนี้


สภาวะเดิม :
โลสกะบำเพ็ญวิปัสสนา

เหตุเปลี่ยนสภาวะเดิม :
การปรากฏของอรหันต์

ทำลายสภาวะเดิม :
โลสกะเบียดเบียนลาภของอรหันต์

สภาวะใหม่ :
ชดใช้ความผิด
ฐานะถดถอย
(เป็นเปรต ยักษ์ สุนัข คนเข็ญใจ)
รับทุกข์ทรมาน(ไม่มีกิน)

กลับสู่สภาวะเดิม :
ได้กลับมาบวชเรียน
(พร้อมกับยังรับโทษต่อไป)

สภาวะสูงกว่าเดิม :
บรรลุอรหันต์
และหลุดพ้นจากวัฏฏสังสาร



จะเห็นได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นการเลื่อนสภาวะขึ้นลงของพระโลสกะ จากที่ได้บำเพ็ญวิปัสสนามาแล้วในชาติก่อน แต่เมื่อทำบาปด้วยการเบียดบังลาภของพระอรหันต์ ท่านจึงต้องได้รับวิบากกรรมจากการกระทำนั้นต่อมาอีกหลายต่อหลายชาติ สภาพการณ์แต่ละชาติต่างก็มีกระบวนการพัฒนาไปตาม“บุญ”และ”บาป”ที่ตนเองกระทำจนกระทั่งถึงชาติสุดท้ายจึงได้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา


จากเนื้อเรื่อง “โลสกชาดก” จะเห็นได้ว่าส่วนที่ว่าด้วยกิเลสและการรับโทษ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรื่อง ส่วนนี้กินเนื้อความและมีรายละเอียดมากมายหลายประเด็น แต่ละประเด็นมักมีข้อความซ้ำๆ กัน เริ่มจากการกล่าวถึงเหตุของเรื่อง คือการหวงกิน ภิกษุโลสกะในอดีตชาติเองก็รู้ตระหนักถึงจุดนี้ ท่านถึงกับกล่าวว่า “โอ เพราะท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมไม่สมควรเลย" เมื่อพิจารณาคำกล่าวของพระโลสกะให้ดีจะเห็นว่า อาหารการกิน นับเป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่สำคัญมากจนกระทั่งอาจก่อให้เกิดเหตุร้ายได้เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดในการดำรงชีวิต เรื่องเกี่ยวกับอาหารและการกินเป็นประเด็นใหญ่ (theme)ในชาดกนี้ และแตกออกเป็นอนุภาค(motif) ที่พบประปรายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง(การต้องเลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ด, การได้รับของขบเคี้ยว,การหายไปของข้าวยาคูในบาตร,การได้รับอาหารเพียงเพื่อสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น,การทำลายข้าวปายาส,การกินรกคน,การกินอาเจียน, การได้รับน้ำและปลายข้าวไม่ถึงครึ่งท้อง ฯลฯ)


ส่วนโทษที่พระโลสกะได้รับนั้น นับว่ามีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับความผิดที่กระทำ (เบียดเบียนอาหารของผู้อื่นหนึ่งครั้ง) แม้จะพิจารณาว่าเป็นความผิดที่กระทำต่อพระอรหันต์ก็ตามที ดังข้อความที่กล่าวถึงโทษของพระโลสกะไว้ว่า “ ภิกษุนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี เศษของผลกรรมยังนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว. (จนถึงวันจะตายจึ่งได้กินอิ่ม) คือได้กินรกคนเต็มท้องอยู่วันหนึ่ง (ถัดจากเกิดเป็นยักษ์) ก็ไปเกิดเป็นหมา ๕๐๐ ชาติ แม้ในกาลที่เกิดเป็นหมานั้น ก็ได้กินรากเต็มท้องวันเดียวเท่านั้น. ส่วนในกาลที่เหลือไม่เคยได้กินเต็มท้องเลยตลอดเวลาที่เป็นหมา ๕๐๐ ชาติ”



ที่สำคัญที่สุดพระโลสกะต้องรับโทษด้วยการถูกถ่วงเวลาของการเป็นพระอรหันต์ให้ช้าลงหลายโกฏิแสนปี ไม่เพียงแต่จะได้รับโทษด้วยตนเองเท่านั้น พระโลสกะยังนำความฉิบหายมาสู่ญาติพี่น้องและชาวบ้านใกล้เคียง ในชาติสุดท้ายที่มาเกิดเป็นพระโลสกะ ชาวบ้านเหล่านี้ต้องพบเหตุด้วยการถูกไฟไหม้ ๗ ครั้ง ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง ในชาติที่เกิดเป็นคนเข็ญใจก็เช่นกัน ชาวบ้านก็ต้องถูกราชทัณฑ์ ๗ ครั้ง ไฟไหม้บ้าน ๗ ครั้ง และบ่อน้ำพัง ๗ ครั้ง ด้วยความเป็นกาลกิณีของพระโลสกะนั่นเอง โทษที่พระโลสกะได้รับนั้น อาจมองได้ว่าเป็นการลงโทษที่เกินกว่าที่สมควรจะได้รับเพียงเพราะเหตุว่ากระทำผิดต่อ “ผู้ที่มีฐานะสูงกว่า” เท่านั้น ชาดกเรื่องนี้จึงเป็นการเน้นที่ปริมาณของการรับโทษจากบาปที่ก่อขึ้นเพียงครั้งเดียว

ในส่วนที่กล่าวถึงการบำเพ็ญวิปัสสนาและการรักษาศีล กลับกินเนื้อความน้อยมาก แม้แต่ในชาติปัจจุบันซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระโลสกะซึ่งจะบรรลุอรหันต์ ก็กล่าวถึงความเป็นผู้มีบุญไว้เพียงว่า “ธรรมดา ท่านผู้เป็นสัตว์เกิดมาในภพสุดท้าย ใครไม่อาจทำลายได้ เพราะมีอุปนิสัยแห่งอรหัตผลรุ่งเรืองอยู่ในหทัยของท่าน เหมือนดวงประทีปภายในหม้อฉะนั้น” และ “โดยสมัยต่อมา ท่านเจริญวิปัสสนา แม้จะดำรงในพระอรหัตต์อันเป็นผลชั้นยอด ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านร่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ ก็ถึงวันที่ปรินิพพาน”

การกล่าวถึงการทำความดี หรือการเป็นผู้มีบุญแต่เพียงน้อยนิดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าจะแสดงถึงภาวะของผู้ที่ถึงพร้อมด้วยการสั่งสมบารมีในแต่ละชาติ ซึ่งคราวนี้จะเน้นที่เรื่องของคุณภาพ ดังที่พระโลสกะได้กระทำการรักษาศีล และหมั่นบำเพ็ญวิปัสสนาในชาติแรกเริ่มก่อนหน้าที่จะทำบาป เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งในชาติที่เป็นคนเข็ญใจ แม้ว่าจะไม่มีปัญญาศึกษาหาความสว่างให้แก่ชีวิต แต่ก็ได้รับใช้อาจารย์ทิศาปาโมกข์จวบจนสิ้นอายุขัย ผลบุญนี้ได้ส่งผลในชาติที่เกิดเป็นพระโลสกะให้ท่านได้มาเกิดในสมัยพุทธกาล ได้พบกับพระอัครสาวกในเวลาที่อดอยากเต็มที่ และได้มีโอกาสอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา จนกระทั่งหลุดพ้นจากวัฏฏสังสารในที่สุด



เป็นที่น่าสังเกตว่า โทษที่ได้รับนั้นเป็นสัดส่วนที่ขยายผลจากเหตุออกไปเป็นร้อยเท่าพันทวี เหมือนไม่รู้จักจบสิ้น สอดคล้องกับการลงโทษผู้กระทำผิดใน
ทางโลกโดยเฉพาะเมื่อกระทำต่อผู้มีฐานะสูงกว่า เช่น การไม่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต้องรับโทษประหารเจ็ดชั่วโคตร หรือการกระทำความผิดหน้า
พระที่นั่ง แม้ว่าจะไม่มีเจตนา แต่ก็ต้องโทษถึงประหารชีวิต ดังชะตากรรมของขุนไกรในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ส่วนภรรยาและลูก รวมทั้งทรัพย์สมบัติก็ต้องถูก
ริบเป็นของหลวง หรือตัวอย่างจาก กฏมนเทียรบาล มีข้อกำหนดถึงโทษของผู้กระทำความผิดเล็กน้อยแต่ต้องต้องรับการลงทัณฑ์อย่างหนัก เช่น “ผู้ใดซัดไม้ค้อนก้อนดินอิดผาข้ามพระราชวังโทษตัดมือ คว่างพระธินั่งโทษถึงตาย…ถ้าถีบประตูวังให้ตัดตีนเสีย”
จะเห็นว่าการทำผิดในทางโลก จะต้องได้รับโทษสูงที่เกินกว่าการกระทำผิดหลายต่อหลายเท่านักโดยที่คุณงามความดีอาจจะช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่ในทางธรรมนั้นภาวะการณ์อาจจะต่างกัน นั่นคือเมื่อผู้กระทำผิดได้รับโทษอันเกินกว่าเหตุไปจนหมดสิ้นแล้ว ก็จะได้รับรางวัลตอบแทนในภายหลัง ที่น่าสงสัยต่อไปก็คือว่าแล้วคนที่ทำความผิดมหันต์แต่ยังไม่ได้รับโทษทางโลก เขาเหล่านั้นจะได้รับโทษทางธรรมหรือเปล่า ความคิดเรื่องกรรมจะยังคงใช้ได้หรือไม่ หรือแท้จริงกรรมก็ทำหน้าที่ติดตามไป แค่ยังไม่ถึงจังหวะและเวลาของการลงทัณฑ์เท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: