วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

หนังสือแสดงกิจจานุกิจ : ต้นเค้าของสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน


Sadaengkijjanukit Book : The Origin of Thai Youth Encyclopedia

บทคัดย่อ
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) นิพนธ์หนังสือแสดงกิจจานุกิจขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ หนังสือเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่เยาวชนทั่วไป ในเวลานั้นผู้นิพนธ์เห็นว่าเด็กไทยได้แต่อ่านเขียนหัดท่องจำตามคำคล้องจองเท่านั้น มิได้ฝึกให้รู้จักการคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล จึงได้นำความรู้และวิธีการอธิบายด้วยเหตุผลแบบตะวันตกมาอธิบายความรู้เรื่องใกล้ตัวที่เด็กควรรู้ ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาแบบใหม่ ที่สำคัญหนังสือเรื่องนี้ยังอธิบายหลักพระพุทธศาสนาในลักษณะของ ศาสนาเปรียบเทียบไว้ด้วย สำหรับกลวิธีการเขียนนั้นมีลักษณะปุจฉาวิสัชนา พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบเป็นเรื่องๆ โดยละเอียด ส่วนเนื้อหามีทั้งด้านภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และศาสนา เห็นได้ชัดว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจมุ่งให้ความรู้ที่หลากหลาย แต่ยังไม่มีการจัดลำดับคำและตั้งเป็นคำศัพท์เพื่อให้สะดวกต่อการค้นเรื่อง อย่างไรก็ดี ลักษณะการรวบรวมความรู้สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฏในเรื่องซึ่งก็เป็นความรู้ที่ทันสมัยสมควรแก่เด็กไทยจะเรียนรู้ในช่วงเวลานั้น จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเรื่องนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน

abstract

Choapraya Thiphakornwong (Kham Boonnak) wrote the Sadaengkijjanukit book in the reign of King Rama IV, a period of time that Thai society gave much attention to the nation’s education. The book is written with an aim to educate Thai youth. In the author’s opinion, the textbooks in this era only taught our youth to read and write by rhymes instead of allowing them to practice thinking critically. This book could therefore help explain general knowledge around them, natural phenomena, and modern cosmology with the scientific approach of the West which spread in the country during that time. Significantly, it also explicated Buddhist Principles with a comparison to other religions. The rational question-answer method and variety of examples are two writing techniques the author employed for explanation. When scrutinizing the book categorization at the present, we discover that the Sadaengkijjanukit book is mainly characterized by its collection of update contemporary information. This book is thus regarded as the origin of Thaiyouth encyclopedia.

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีการปฏิรูปบ้านเมืองสร้างความเป็นอารยะและพัฒนาประเทศทั้งด้านวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำ ที่มุ่งให้ความรู้แก่สามัญชนและมุ่งกระจายความรู้ไปสู่สาธารณชนมากขึ้น ความคิดนี้มีมาตั้งแต่ในรัชกาลก่อนแล้ว ดังที่มีจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อันเป็นแหล่งความรู้แห่งแรกที่เผยแพร่สู่ประประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชสมัยนี้เองที่หมอสอนศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ทางตะวันตกให้แก่ชนชั้นสูงของไทย ดังที่กาญจนาคพันธุ์เล่าไว้ว่า หมอบรัดเลเป็นที่รู้จักดีของคนไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงมาจนเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหมด และชอบพอสนิทสนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าฟ้า ใหญ่ (พระจอมเกล้า), เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า), กรมหมื่นวงษาสนิท (ต้นสกุลสนิทวงศ์), หลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์), นายโหมด อมาตยกุล. หมอบรัดเล ได้เป็นครูสอนแนะนำวิชาความรู้ต่างๆ หลายอย่าง เช่น สอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าฟ้าทั้งสอง พระองค์, สอนวิชาแพทย์แก่กรมหมื่นวงษาฯ ทรงเรียนวิชาแพทย์ฝรั่งจนมีความรู้ได้ ประกาศนียบัตรจาก New York Academy of Medicine แห่งอเมริกา, แนะนำการต่อเรือ กำปั่นแบบฝรั่งแก่หลวงนายสิทธิ์, สอนวิชาแยกธาตุแก่นายโหมด อมาตยกุล. นอกจากนี้ หมอบรัดเลยังช่วยตรวจแปลหนังสือราชการที่สำคัญหลายครั้ง [๑]


การตื่นตัวที่จะเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ จากชาวต่างชาติปรากฏชัดเจนในหมู่ชนชั้นสูง ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้ศึกษาเล่าเรียนจินดามณี ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้มีฉบับของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาอ่านง่ายกว่าจินดามณีฉบับก่อนๆ ส่วนกุลบุตรทั่วไปก็มีแบบเรียนใหม่ที่แต่งขึ้นสำหรับสามัญชน คือประถม ก กา และปฐมมาลา

สำหรับวรรณคดีที่แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มักกล่าวถึงการแสวงหาความรู้และการศึกษาเล่าเรียนของตัวละครขั้นเปตอนมากกว่าจะกล่าวถึงบุญญาภินิหาริย์ ตัวละครเช่น พลายแก้ว พลายงาม ในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ดี พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ในเรื่องพระอภัยมณีก็ดี ล้วนแต่ได้รับการศึกษาขั้นสูงและจะเห็นได้ว่าแม้แต่ตัวละครหญิงในวรรณคดีที่แต่งขึ้นในช่วงเวลานี้ก็มีความสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดีหรือบางตัวอาจมีความรู้ความสามารถมากกว่าชายด้วยซ้ำไป เช่น นางละเวงวัณฬาและนางวาลี ทั้งนี้ ตัวละครหญิงดังกล่าวอาจเป็นตัวละครหญิงในอุดมคติของยุคสมัย ซึ่งผู้ประพันธ์อาจมุ่งกระตุ้นให้กุลธิดาในเวลานั้นให้ความสนใจและตระหนักถึงบทบาทของการศึกษาหาความรู้ก็เป็นได้

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ยังมีวรรณคดีเรื่องนางนพมาศอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงการศึกษาหาความรู้ของตัวละครหญิง ซึ่งเป็นธิดาพราหมณ์ นางนพมาศเป็นผู้มีความมานะพยายามที่จะแสดงความรู้ความ สามารถของตนจนได้เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า นางได้เสนอความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาด้วยโลกทัศน์ใหม่[๒] ที่ค้านกับหนังสือไตรภูมิกถา แต่หนังสือเรื่องนี้ไม่ปรากฏนามของผู้แต่งและยุคสมัยที่แต่งอย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจกันว่าเป็นตำราพิธีที่มีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย [๓] หนังสือเรื่องนางนพมาศจึงไม่ได้รับการต่อต้านเมื่อกล่าวถึงโลกและประเทศอื่นๆ ในชมพูทวีป ซึ่งแตกต่างกับการอธิบายเรื่องทวีปในไตรภูมิกถาอย่างสิ้นเชิง


วรรณคดีข้างต้นนับว่าเป็นบันทึกทางสังคมที่ทำให้เราเห็นร่องรอยของความคิดของคนในเวลานั้นที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและให้ความสนใจกับความเจริญก้าวหน้าของชาวตะวันตก เจตนา นาควัชระ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับสังคมไว้ว่า “ถ้าเราไม่รู้จักวรรณคดีดีแล้ว เราก็ไม่อาจจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสังคมได้ ทั้งนี้ก็เพราะวรรณคดีชี้ให้เห็นถึงชีวิตในมุมต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะสกัดเอาแก่นแท้ของสังคมนั้นออกมาให้เห็นได้”[๔]


หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นความคิดของชนชั้นผู้นำในสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ เขียนขึ้นเพื่อมุ่งให้ความรู้แก่เด็ก ดังที่ผู้นิพนธ์กล่าวว่า “ผู้แต่งหนังสือนี้ มีความกรุณาต่อเด็กๆ ทั้งหลาย ที่จะสืบต่อไปภายน่า “ ซึ่งเป็นการตอบสนองแนวคิดของชนชั้นนำไทยในช่วงเวลานั้น แต่ด้วยหนังสือเรื่องนี้มีวิธีการเขียนแตกต่างกับหนังสือประเภทอื่น โดยเฉพาะหนังสือที่ให้เด็กไทยอ่าน ดังนั้น เมื่อผู้นิพนธ์ประสงค์จะพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเรื่องนี้จึงได้รับการปฏิเสธและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นของชาว ต่างชาติไม่ยอมจัดพิมพ์ให้ เพราะเห็นว่าแนวคิดของหนังสือเรื่องนี้ขัดแย้งกับการสอนศาสนาอื่นอย่างรุนแรง[๕] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ผู้นิพนธ์จึงดำเนินการจัดพิมพ์เองโดยใช้แบบพิมพ์หินคือ เขียนตัวอักษรแบบอาลักษณ์แล้วนำแผ่นหินอ่อนมาทำเป็นแม่พิมพ์ มีทั้งหมด ๓๙๐ หน้า พิมพ์เสร็จเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ จำนวน ๒๐๐ เล่ม[๖]

เมื่อพิจารณาการนำเสนอเนื้อหาและกลวิธีการเขียนหนังสือเรื่องนี้ในเบื้องต้น จะเห็นว่าต่างกับวรรณคดีเรื่องอื่นในสมัยเดียวกัน โดยเฉพาะลักษณะที่เป็นหนังสือรวบรวมความรู้ในเรื่องต่างๆ เนื้อหาช่วงต้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ โดยอธิบายเป็นเรื่องๆ เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง ถึงความเป็นไปได้และความเป็นเหตุเป็นผลของคำอธิบาย ทั้งในตำราของไทยที่เคยมีมาและที่ได้จากตะวันตกซึ่งนับว่าทันสมัยในยุคนั้น จากวิธีคิด วิธีอธิบายและเนื้อหาที่เป็นเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นี้เอง จึงมีผู้จัดให้หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นหนังสือดีด้านวิทยาศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน[๗] และด้วยเนื้อหาช่วงหลังของหนังสือกล่าวถึงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งต่างกับแนวคิดที่ปรากฏในไตรภูมิกถา จึงมีผู้จัดหนังสือเรื่องนี้ว่าเป็นวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่[๘]

สำหรับกลวิธีการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจจะเห็นว่า มีลักษณะเป็นการรวบรวมความรู้ที่หลากหลาย และจากข้อความที่ว่า “ ข้าพเจ้าจึ่งคิดเรื่องราวกล่าวเหตุผลต่างๆ แก้ในทางโลกย์บ้าง ทางสาศนาบ้าง ที่มีพยานก็ชักมากล่าวไว้ ที่ไม่มีพยานเปนของที่ไม่เหนจริงก็คัดค้านเสียบ้าง ว่าไว้แต่ภอปัญญาเด็กรู้”[๙] (๒) ทำให้เห็นจุดประสงค์ของการเขียนได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งให้ความรู้ประดับสติปัญญาเด็ก และเพื่อว่าเด็ก “จะได้อ่านหนังสือนี้แทนหนังสือสวดแลหนังสือเรื่องลคร เหนจะเปนประโยชนรู้การเล็กๆน้อยๆบ้าง” หนังสือเรื่องนี้จึงน่าจะ็ดูมีลักษณะคล้ายกับหนังสือประเภทสารานุกรมสำหรับเยาวชน ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจน่าจะมีเค้าความคิดของการจัดทำเป็นสารานุกรม[๑๐] จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้าถึงลักษณะการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจ และอาจศึกษาไปถึงบริบททางสังคมในเวลานั้นโดยเฉพาะที่มีความคิดเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันกับที่ปรากฏในหนังสือเรื่องนี้

บทความนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาและกลวิธีการเขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจ ซึ่งอาจทำให้เห็นว่าผู้นิพนธ์น่าจะมีความคิดในการจัดทำหนังสือเรื่องนี้ให้เป็นเช่นเดียวกับหนังสือประเภทสารานุกรมสำหรับเยาวชนดังในปัจจุบัน ซึ่งมุ่งให้ความรู้และมุ่งฝึกให้เด็กไทยใช้ความคิดพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาแล้ว
สารานุกรม : คำจำกัดความ

สารานุกรม คือหนังสืออ้างอิงหรือหนังสืออุเทศประเภทหนึ่ง ที่รวบรวมความรู้อันเป็นพื้นฐานในทุกสาขาวิชาหรือรวบรวมความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะแล้วนำมาเรียบเรียงไว้ตามลำดับอักษร เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้จากหนังสือสารานุกรมนิยมใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือได้ สารานุกรมจึงเป็นคลังทรัพย์สินทางปัญญาที่บริบูรณ์ในตัวเอง เปรียบเหมือนห้องสมุดขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ตามผู้ที่เป็นเจ้าของ ความรู้ในหนังสือสารานุกรมที่เขียนขึ้น ในแต่ละยุคจะทันสมัยที่สุดสำหรับช่วงเวลานั้นๆ [๑๑]

สารานุกรม ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ สารและอนุกรม คำว่าสาร มีความหมายว่า แก่นเนื้อแท้ ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ[๑๒] ส่วนคำว่า อนุกรมหมายถึง ลำดับ ระเบียบ ชั้น รวมความแล้ว “สารานุกรม” มีความหมายว่า คือเรื่องราวที่เป็นเนื้อแท้แก่นสารนำมาเรียบเรียง โดยใช้ถ้อยคำที่มีการจัดระเบียบแต่ละเรื่องตามลำดับให้อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือหลายเล่ม แต่เป็นชุดเดียวกัน[๑๓] หากพิจารณาเนื้อหาในเล่มอาจจำแนกสารานุกรมออกได้เป็น ๒ ประเภท คือสารานุกรมทั่วไปและสารานุกรมเฉพาะวิชา แต่ทั้งสองประเภทก็มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความรู้ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับลึกซึ้งเป็นประการสำคัญ หนังสือแสดงกิจจานุกิจ : คำอธิบายสิ่งละอันพันละน้อย

หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่แสดงวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยใช้การปุจฉาวิสัชนาและการอธิบายด้วยเหตุผล เอนก นาวิกมูลกล่าวไว้ว่าหนังสือเรื่องนี้เดิมใช้ชื่อว่าโกศลกิจจานุกิตย์[๑๔] ซึ่งรับกับข้อความในตอนท้ายเรื่องที่ว่า “จบเรื่องโกสลกิจจานุกิตย์”[๑๕] แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อตั้งแต่เมื่อใด แต่ฉบับที่ใช้อ้างอิงนี้กล่าวอย่างชัดเจนในเนื้อหาตอนต้นว่า “ให้ชื่อว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์” [๑๖] แต่มาเปลี่ยนตัวอักษรในการพิมพ์เป็น “แสดงกิจจานุกิจ” ตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐาน
แสดงกิจจานุกิจประกอบด้วยคำว่า แสดง หมายถึง ชี้แจง,อธิบายให้ปรากฏชัดเจน และคำว่า กิจจานุกิจ ซึ่งหมายถึงการงานน้อยใหญ่หรือเรื่องราวทั่วไป เมื่อรวมความจากชื่อเรื่องแล้ว เห็นได้ว่าผู้นิพนธ์มีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้เรื่องราวสิ่งละอันพันละน้อยที่เคยมีผู้อธิบายไว้แต่ก่อนแล้ว และเมื่อมีผู้ให้คำอธิบายใหม่ที่ทันสมัยก็นำมากล่าวแก้ เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล มิใช่เชื่อกันไปตามเรื่องราวที่เคยมีมาแต่ก่อน เนื้อหาที่ปรากฏนั้นมักเป็นความรู้ในเรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องของวัน เวลา ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความรู้เกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาต่างๆโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา

ผู้นิพนธ์หนังสือแสดงกิจจานุกิจคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี(ขำ บุนนาค) ท่านผู้นี้เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๕ เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และหม่อมรอด ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นนายพันมหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาเป็นจมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจ ท่านมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ผู้ช่วยราชการในกรมท่า (กระทรวงต่างประเทศ) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ.๒๓๙๙ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนนามจาก“รวิวงศ์”เป็น“ทิพากรวงศ์”[๑๗]สำหรับผลงานของท่านที่สำคัญคือการเป็นแม่กองบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ เป็นแม่กองขุดคลองมหาสวัสดิ์ และสร้างศาลาริมคลอง รวมทั้งติดกระดาษตำรายาไว้ ซึ่งเป็นที่มาของตำบลศาลายา[๑๘] ส่วนทางด้านวรรณกรรมที่นับว่าเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ คือการเรียบเรียงหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[๑๙]

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีจากทั้งครูคนไทยและชาวต่างชาติ จากการได้ติดต่อทั้งในหน้าที่การงานและการหมั่นศึกษาหาความรู้เป็นนิจ หนังสือเรื่องนี้เกิดขึ้นก็เพราะความตั้งใจที่จะให้ความรู้ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นที่ทราบทั่วกันเผยแพร่ไปในหมู่เด็กไทย ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการ ศึกษาของเด็กไทยในเวลานั้นน่าจะได้รับการส่งเสริมให้เกิดการคิดใคร่ครวญไตร่ตรองมากกว่าจะเป็นการเรียนที่เอาแต่ท่องจำข้อความสัมผัสเท่านั้น ดังที่ท่านได้วิจารณ์แบบเรียนในเวลานั้นว่า

ข้าพเจ้า เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี... ผู้แต่งหนังสือนี้ มีความกรุณาต่อเด็กๆ ทั้งหลาย ที่จะสืบต่อไปภายน่า จะได้ยินได้ฟังการต่างๆ หนาหูเข้า จะชักเอาปัญญาแลใจ แปรปรวน ไปด้วยความไม่รู้อะไรถึงจะไปเล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้าง ที่บ้านบ้าง อาจาริย์สั่งสอนให้เล่าเรียน หนังสือพอรู้อ่านก็ให้อ่านหนังสือปถม ก กา แล้วก็ให้อ่านหนังสือสวดต่างๆ แล้วก็ให้อ่านเรื่องต่างๆ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูหนังสือที่เด็กอ่าน ก็ไม่เปนประโยชน์แก่เด็กเลย แต่หนังสือปถม ก กา เปนที่ฬ่อให้ เด็กอ่านง่ายก็ดีอยู่ ถ้าเปนหนังสือไทยๆ ที่เด็กอ่าน ก็มีแต่หนังสือการประเล้าประโลมโดยมากกว่า หนังสือสุภาสิต เด็กนั้นไม่ใคร่จะได้ปัญญาสิ่งใด ผู้ใหญ่จะสั่งสอนเด็กก็มีแต่คำที่ไม่เปนประโยชน เปนต้นว่า “จันทร์เจ้าเอ๋ย ขอเข้าขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า” มีแต่ถ้อยคำสั่งสอนกันดังนี้ มีหลายอย่าง ยกขึ้นว่าภอเปนสังเขป เพราะฉะนั้นจึ่งไม่ได้ความฉลาดมาแต่เล็ก (๒)
ด้วยเหตุที่เกรงว่าเด็กจะไม่ได้รับการฝึกคิดให้เกิดปัญญา ผู้นิพนธ์จึงได้นำเสนอเนื้อหาความรู้ที่หลากหลายสาขาโดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ประดับสติปัญญาของเด็ก ซึ่งถ้าเด็กคนใดอ่านหนังสือเรื่องนี้แล้ว ประสงค์จะค้นคว้าเพิ่มเติมให้มีความรู้มากขึ้นอีก หนังสือแสดงกิจจานุกิจได้แนะแนวทางไว้ว่า “ ถ้าเด็กผู้ใดอ่านหนังสือนี้แล้ว อยากจะรู้ความให้วิเสศโดยพิสดาร ก็ให้หาครูเรียนโหราสารทธรรมสารทต่างๆ ก็จะรู้ได้โดยเลอียด”(๒)
ข้อความนี้ ชวนให้คิดว่าผู้ประพันธ์หวังว่าเมื่อเด็กอ่านหนังสือเรื่องนี้แล้ว ก็อยากจะติดตามหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นก็คงต้องปรึกษาขอความรู้จากครูผู้สอนต่อไป
ตำราวิทยาศาสตร์หรือศาสนาเปรียบเทียบ

หากพิจารณาเนื้อหาของหนังสือแสดงกิจจานุกิจ พบว่าส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องหลากหลายที่อยู่ใกล้ตัว ได้แก่การนับโมงยาม จำนวนนับของเวลา การเกิดฤดูต่างๆ การกำหนดเดือนและปี เหตุที่อากาศร้อนและหนาว โลกกลมหรือแบน เหตุใดน้ำทะเลจึงเค็ม การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นการให้คำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยกเรื่องราวตำนานที่เคยรับรู้มาก่อนขึ้นต้น จากนั้นถึงจะขยายความด้วยการให้ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่นคำถามที่ว่า “แผ่นดินไหวด้วยเหตุอันใด นานๆ จึ่งไหวคราวหนึ่ง” ท่านตอบว่า

ขอแก้ตามลัทธิคำโปราณาจาริย์แก้ไว้ว่า แผ่นดินไหวด้วยเหตุแปดประการ คือผู้มีบุญหกประการไหวด้วยปลาใหญ่ที่รองแผ่นดินพลิกตัวไหวบ้าง ไหวด้วยน้ำ ด้วยลมรองแผ่นดินก็มีบ้าง ข้างจีนว่าอึ่งอ่างที่หนุนแผ่นดินอยู่ไหวตัวบ้าง คำที่ว่า แผ่นดินไหวเพราะผู้มีบุญนั้นยกไว้ก่อน ด้วยเปนความอัศจรรย์ของผู้มีบุญคัดค้านไม่ได้ ของเปนเพราะท่านผู้มีวาศนา แต่คำที่ว่าปลาอานนท์ที่รองแผ่นดินแลอึ่งอ่าง ที่หนุนแผ่นดินจะต้องคัดค้านเสีย เปนเช่นนั้น แผ่นดินก็จะไหวทั่วกันทั้งพิภพพร้อมกัน ... แลนักปราชเขาได้สืบดูรู้ว่าเหนจะเปนของที่เปนอยู่ในใต้ดิน จะเปนน้ำหรือจะเปนลม เปนไฟเปนฤทธิ์แร่ต่างๆ อย่างไรอย่างหนึ่ง...การก็เหนปรากฏเปนพยานอยู่ดังนี้ นักปราชชาวยุโรปเขาคิดเหนว่าธาตุในแผ่นดินกำเริบขึ้น (๕๘)
คำอธิบายเรื่องแผ่นดินไหวข้างต้น ทำให้เห็นว่าผู้นิพนธ์มีความตั้งใจจะให้เด็กรู้จักคิดว่าการที่แผ่นดินไหวนั้นควรจะเกิดจากการเคลื่อนตัวของธาตุที่อยู่ใต้พื้นพิภพ ซึ่งแต่เดิมนั้น มี “โปราณาจาริย์” ให้คำอธิบายไว้แล้ว ต่อมาก็มี “นักปราชญ์” อธิบายด้วยการให้โลกทัศน์ใหม่ เด็กจึงต้องคิดพิจารณาว่าจากคำกล่าวทั้งสองแหล่งนี้ คำอธิบายใดที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้ หรือคำถามเกี่ยวกับสุริยคาธจันทรคาธ ที่มีการตีเกราะเคาะไม้ ถามว่าจะไม่เป็นการช่วยพระอาทิตย์พระจันทร์หรือ คำตอบก็อธิบายว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อ มีเรื่องราวมากมายจากแหล่งต่างๆ ผู้นิพนธ์ไม่มีข้อสรุปชัดเจนเพียงประการเดียว แต่จะให้เด็กไตร่ตรองและพิจารณาความรู้ที่ได้ยินได้ฟังจากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง ตอนท้ายของคำตอบจึงมักมีข้อความว่า “ขอท่านผู้มีสะติปัญญาตริตรองดูเถิด” (๗๙)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและเป็นเรื่องควรรู้ใกล้ตัวแล้ว เมื่ออภิปรายถึงโลกกลมหรือแบน ท่านผู้นิพนธ์ก็อธิบายเรื่องจักรวาลวิทยา ในเวลานั้นทราบกันทั่วไปตามคัมภีร์ไตรภูมิกถาว่าโลกมีแกนกลางอยู่ที่เขาพระสุเมรุ ดังที่มีคำถามว่า “ซึ่งว่าลูกพิภพกลมลอยหมุนเวียนไป จะมิผิดกับในหนังสือไตรยภูมโลกย์สัณฐาน โลกย์ทิปกแลคัมภีร์อื่นๆ มีอีกหลายแห่ง ที่ว่าโลกย์แผ่นดินพิภพเปนเหมือนใบบัว ตั้งอยู่บนหลังน้ำ ก็มีปลาอานนท์หนุนแผ่นดิน...” ท่านกล่าวแก้ว่า “ความเรื่องนี้ขอยกไว้ทีหนึ่ง ข้าพเจ้าได้สืบสวนตริตรองนักแล้ว พอจะได้ความจริงอยู่บ้างเดิมทีแต่ก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่บังเกิด ก็มีแต่ละคนถือสาศนา...” จากนั้นก็โยงไปถึงพระพุทธศาสนาและรายละเอียดในศาสนาอื่นๆ เนื้อหาของหนังสือในช่วงหลังจึงมีลักษณะเป็นศาสนาเปรียบเทียบ

เนื้อหาการให้ความคิดเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในหนังสือแสดงกิจจานุกิจนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการปฏิเสธแนวความคิดในเรื่องไตรภูมิกถา ดังในตอนอธิบายเรื่องสัณฐานของโลกว่า “การทุกวันนี้ นักปราชเปนอันมาก เขาก็ได้เที่ยวทั่วพิภพตรวจตราชันสูตร ตามความคิดปัญญาของเขาหาพยานได้ ก็รู้ว่าพิภพกลมหมุนแลลอยอยู่ในอากาศเปนแน่ ผิดกับคำไตรภูมโลกย์สัณฐาน ที่เขาถือมาแต่โบราณ” (๙๘) อธิบายว่าที่เป็นดังนี้เนื่องจากไตรภูมิมิใช่พระพุทธวจนะ แต่เป็นคำบาลีที่พระสงฆ์รุ่นหลังอธิบายเพิ่มเติมขึ้น ดังที่ว่า “พระสงฆ์ทั้งปวง...จึ่งเก็บเอาตามคัมภีร์ไตรยเพทต่างๆ บ้าง แลในบาฬีที่พระพุทธเจ้าเทศนาเปนคำเปรียบบ้าง เปนคำอนุโลมตามเหตุบ้างคำอุประมาบ้าง มาร้อยกรองเปนคัมภีร์ไตรยภูมโลกย์สัณฐานขึ้นอ้างว่าเปนพุทธฎีกาเทศนา”

การกล่าวปฏิเสธหรือโต้แย้งความคิดที่ปรากฏในคัมภีร์ไตรภูมินับเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยว่าเรื่องไตรภูมิเป็นความคิดที่หยั่งรากลึกในดินแดนสุวรรณภูมิมาช้านาน หากไม่มีผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้คิดค้านก็ย่อมทำได้ยาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ชาวต่างชาติได้บันทึกไว้เกี่ยวกับการโต้แย้งทางความคิดกับคัมภีร์ไตรภูมิ พบว่า พระสงฆ์จากสำนักของเจ้าฟ้ามงกุฎได้อธิบายให้มิชชันนารีฟังว่า หนังสือไตรภูมิกถานี้ ไม่ใช่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และใครที่คิดว่าไตรภูมิเอาความคิดมาจากพระไตรปิฎกเป็นผู้เข้าใจผิด เพราะความจริงแล้วนักปราชญ์ผู้เขียนอาจสอดแทรกความคิดของตนเองลงไปได้[๒๐]
จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับข้อความในหนังสือแสดงกิจจานุกิจอย่างยิ่ง จึงอาจสรุปความคิดเรื่องคำอธิบายที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในหนังสือแสดงกิจจานุกิจได้ว่าน่าจะเป็นการสนับสนุนความคิดที่จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาของเจ้าฟ้ามงกุฎหรืออีกนัยหนึ่งคือ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)เขียนหนังสือแสดงกิจจานุกิจขึ้นเพื่ออธิบายความคิดปฏิรูปพระพุทธศาสนาของพระองค์ก็เป็นได้ ไม่ว่าจะจัดหนังสือเรื่องนี้เป็นตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย หรือเป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาได้อย่างเข้าใจชัดเจนก็ตาม แต่หนังสือเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เผยแพร่ในสังคมเวลานั้น อีกทั้งยังไม่ให้เด็กใช้เป็นหนังสืออ่านตามที่ได้ตั้งจุดประสงค์ไว้อีกด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหนังสือเรื่องนี้ค้านแนวคิดสำคัญในคัมภีร์ไตรภูมิ หรืออาจเป็นเพราะทำให้มิชชันนารีผิดหวังว่า หากคนไทยปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับจักรวาลในไตรภูมิกถาแล้ว ความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็จะสั่นคลอนไปด้วย[๒๑] แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อชนชั้นผู้นำแยกไตรภูมิออกจากพระพุทธศาสนา และสนับสนุนว่าความคิดหลายเรื่องของพระพุทธเจ้าสอดรับกันดีกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย พระพุทธศาสนาจึงกลับเข้มแข็งขึ้นกว่าก่อน[๒๒]

มิชชันนารีต่างโจมตีพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาล้าหลัง เหมาะสำหรับชนชาติที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น[๒๓] ผู้นิพนธ์จึงได้รวบรวมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา นำเสนอในแนวโต้แย้งหักล้างกับคำสอนของหมอสอนศาสนา ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นจำนนต่อคำโต้แย้งและไม่อาจชี้แจงได้ หนังสือเรื่องนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่หมอสอนศาสนาหลายคนในเวลานั้น

เมื่อผู้นิพนธ์พิมพ์เผยแพร่หนังสือเรื่องนี้เอง ชาวต่างชาติบางคนนำข้อความบางตอนไปแปลลงในหนังสือเรื่อง The Wheel of the Law ของนายเฮนรี่ อัลบาสเตอร์(Henry Alabaster) ต่อมาผู้นี้ได้นำเนื้อหาบางตอนในหนังสือแสดงกิจจานุกิจมาพิมพ์ ใช้ชื่อว่า The Modern Buddhist แล้วอธิบายว่า ”เขียนจากทัศนะของเสนาบดีไทยท่านหนึ่งซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับศาสนาของท่านเองและศาสนาของผู้อื่น” หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่บริษัท Trubner & Co. ในกรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ.๒๔๑๓[๒๔] จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในสังคมไทย อีกทั้งยังมีการแปลและพิมพ์เผยแพร่ในสังคมต่างประเทศ ทำให้ชาวยุโรปทราบถึงทัศนะของคนที่มีการศึกษาดีในประเทศตะวันออกคนหนึ่ง
กลวิธีการเขียน : การลำดับความคิด รวบรวมและอ้างอิง

หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่มีวิธีเขียนที่น่าสนใจ แม้จะใช้การถาม – ตอบเพื่อนำไปสู่การอธิบายอย่างละเอียดคล้ายกับวรรณกรรมพระพุทธศาสนา แต่ก็มิได้มีลักษณะเป็นการปุจฉาวิสัชนาข้อหลักธรรมดังที่ปรากฏในวรรณคดีพระพุทธศาสนาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่เป็นการอธิบายถึงแหล่งความรู้อย่างหลากหลายรอบด้าน โดยยกความรู้ที่ได้จาก “โบราณาจาริย์” ว่าไว้และบอกเล่าสืบต่อกันมาอธิบายเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงอธิบายด้วยความรู้สมัยใหม่ที่ได้จากนักปราชญ์ตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือมีการอธิบายพร้อมทั้งให้เหตุผล เป็นขั้นตอนมีรายละเอียดประกอบ และให้คำศัพท์ภาษาต่างประเทศกำกับไว้ด้วย เช่น คำถามที่ว่าวันมีกี่วัน ท่านอธิบายว่า

แก้ว่ามีเจ็ดวัน วันหนึ่งกี่โมง แก้ว่ากลางวัน ๑๒ โมง กลางคืนนับ ๑๒ ทุ่ม โมงหนึ่ง ๑๐ บาด ว่าอีกอย่างหนึ่ง วันกับคืนหนึ่งเปน ๖๐ นาที นาทีหนึ่งเปน ๔ บาด บาดหนึ่ง ๑๕ เพ็ชนาที เพ็ชนาทีหนึ่ง ๖ ปราณ ปราณหนึ่ง ๑๐ อักษร อย่างนี้มาตราไทย ถ้าจะว่าตามพวกที่เขาใช้นาฬิกาพก เขาคิดเอาเทพจรผู้ชาย ที่อายุตั้งอยู่ในมัชฌิมไวย เทพจรนั้นเดินเสมอทีหนึ่งเขาเอามาตั้งเรียกว่าสกัน ๖๐ สกันเป็นมินิตย์ ๖๐มินิตย์เปน โมงหนึ่ง เขาคิดตั้งแต่ล่วงเที่ยงคืนไปจนเปนวันน่าจนถึงเที่ยงวัน เรียกว่าเวลาเช้า บ่ายโมง หนึ่งไปจนสองยาม เรียกว่าเวลาค่ำ ก็เปน ๒๔ โมงเหมือนกัน ถ้าจะเรียกตามไทย สกันหนึ่ง ก็เรียกว่าวินาที ๖๐ วินาทีเปนมหานาที ๖๐ มหานาทีเปนโมงหนึ่ง (๓) หากศึกษาวิธีการเขียนหนังสือเรื่องนี้โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า มีการเลือกสรรข้อมูลความรู้ที่เป็นเรื่องรอบๆ ตัว มาตั้งเป็นคำถาม บางเรื่องเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้ว แต่ต้องการนำมาอธิบายด้วยโลกทัศน์ใหม่ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใกล้ตัวจนไม่มีผู้ใดสนใจใคร่รู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น คำถามเรื่องหน้าร้อน หน้าหนาว

เมื่อพิจารณาการตั้งคำถาม พบว่าน่าจะมิได้มีการจัดลำดับเรื่อง หรือตั้งเป็นคำศัพท์เรียงตามตัวอักษรตามลักษณะเด่นของหนังสือสารานุกรมดังในปัจจุบัน ผู้นิพนธ์น่าจะเขียนขึ้นเมื่อนึกเรื่องราวใดที่คิดว่าเด็กควรรู้และควรเข้าใจให้ถ่องแท้ก็นำมาอธิบายขยายความ จากเรื่องใกล้ตัวแล้วเล่าไกลตัวออกไป การรวบรวมก็จัดเป็นเรื่องๆ ของแต่ละคำถาม มิได้มีการจัดหมวดหมู่ เช่นเริ่มจากคำถามเรื่องการนับพุทธศักราช มหาศักราชและจุลศักราช เมื่อขยายความแล้ว ถามต่อเรื่องสงกรานต์ และขยายความด้วยพิธีต่างๆ ในแต่ละเดือน จากนั้นถามเรื่องที่มาของพิธีต่างๆ สิบสองเดือน แล้วโยงไปสู่การเล่นเบี้ยในงานตรุษสงกรานต์ จากนั้นขยายคำถามไปเรื่องการเล่นเบี้ยว่ามีบาปหรือไม่ ก็อธิบายเรื่องบาปตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าไม่มีการจัดหมวดหมู่ของความรู้เป็นหมวดๆ แต่มีการร้อยเรียงต่อเนื่องกันไปเป็นเรื่องๆ เท่านั้น[๒๕] นอกจากการเขียนอธิบายตามข้างต้นนี้แล้ว จะเห็นกลวิธีที่เด่นอีกประการหนึ่งคือ การอ้างอิงคำตอบส่วนใหญ่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของเรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นภูมิรู้ของผู้นิพนธ์ เช่น การอ้างถึงความในหนังสือเล่มหนึ่งที่บาทหลวงเขียนไว้ชื่อ “มหากังวล” หรืออ้างถึง “หมอยอนอเมริกันทำหนังสือตราชูทองชั่งสาศนาพระพุทธเจ้าแลพระเยซูคฤศเจ้า” เป็นต้น การอ้างอิงนี้ผู้นิพนธ์มักยกแหล่งข้อมูลมากล่าวด้วยทุกครั้ง เช่นว่า “อ้างว่าคัมภีร์ของเก่านักปราชเขาเขียนไว้”(๑๔๘) “อ้างว่าสมณะผู้เปนครูเปนอาจาริย์ของเรา ท่านว่าอย่างนี้ ท่านถืออย่างนี้”(๑๕๐) เป็นต้น

การอ้างอิงนับเป็นการให้ความสำคัญของแหล่งที่มาของข้อมูลและเป็นการสอนให้เด็กรู้จักพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่อ้างด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีการสอนให้คิดพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งทำให้ผู้อ่านไม่ยึดติดว่าโบราณาจารย์แต่ก่อนอธิบายไว้อย่างไรก็ต้องเชื่อตามนั้น เพราะถ้าคำของนักปราชญ์ชาวยุโรปดูจะมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่าก็น่าจะใช้ปัญญาไตร่ตรองดู
กล่าวได้ว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิจมีความคิดที่จะรวบรวมเรื่องราวที่เป็นประโยชน์มาให้เด็กได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักการไตร่ตรองเหตุผลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ผู้นิพนธ์ได้นำมารวบรวมไว้ นำเสนอในรูปของปุจฉาวิสัชนา ซึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดการพิจารณาติดตามเป็นเรื่องๆ ไป ผู้นิพนธ์จึงได้ร้อยเรียงเรื่องราวให้อ่านต่อเนื่องกันไปได้อย่างเพลิดเพลิน การตั้งเป็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอธิบายตอบ น่าจะก่อให้เกิดนิสัยของการช่างสงสัยใคร่รู้และมิให้เชื่อตามๆ กันไปดังแต่ก่อน นับว่าเป็นหนังสือที่เกิดจากความคิดที่ลึกซึ้งของชนชั้นผู้นำคนหนึ่งของไทยในสมัยที่มีการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติอย่างแน่นแฟ้นกว่าสมัยก่อนๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ตอนท้ายเรื่องว่า
อนึ่งเหนว่าในประเทศสยามนี้ มีหนังสือสำรับที่จะอ่านนั้นน้อยนัก แล้วหนังสือที่จะอ่าน นั้นเล่า ก็เปนแต่เรื่องประโลมโลกย์ยักษ์ลักนาง...ถ้าจะเปนเรื่องรวมตำราบ้าง ก็เปนตำรา กาหลงนั้นมีมาก ตำรากาให้ฉลาดนั้นมีน้อย เรื่องราวนั้นอ่านยังค่ำ ไม่เปนคุณไม่เปน ประโยชน์อันใดนัก กลับชักให้หลงไปเสียอีก มาเหนว่าคนบางจำพวกในประเทศนี้ จืดจาง ต่อสาศนา ไม่ใคร่จะแสวงหาความจริง คนต่างประเทศเขามีความอุส่าห์สั่งสอนกัน ก็ชาว สยามนี้ขี้เกียจสั่งสอนกัน ดูเปนน่าอดสูแก่คนเหล่านั้น ข้าพเจ้ามีความปราฐนาจะให้คนที่ ไม่รู้ในทางสาศนานั้นรู้ขึ้น จะไม่ต้องอดสูแก่ผู้ที่เขารู้นั้น (๒๔๕-๒๔๖)
เป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือเรื่องนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนให้คนไทยอ่านกันอย่างแพร่หลาย และเรื่องนี้น่าจะไม่มีโอกาสนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ผู้นิพนธ์ตั้งไว้ เด็กไทยในยุคสมัยนั้นที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้คงมีไม่มากนัก หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ตาม

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า หนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นหนังสือที่ล้ำสมัยเรื่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะได้พิมพ์เผยแพร่ในสังคมต่างประเทศแล้ว ยังเป็นหนังสือที่ช่วยให้ชาวต่างชาติเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังสะท้อนให้ชาวต่างชาติได้เห็นทัศนะของเสนาบดีคนหนึ่งในประเทศตะวันออก ซึ่งมีความรู้ต่างๆ และมีความเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี หนังสือแสดงกิจจานุกิจนี้ยังเป็นผลงานที่เกิดจากความคิดก้าวหน้าทั้งในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้และในด้านการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเด็กไทยให้มีหนังสือที่สามารถนำไปศึกษาเองได้ ขณะเดียวกันก็สอนให้เด็กรู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองถึงแหล่งที่มาของความรู้ที่มีอยู่ในสังคมเวลานั้น หนังสือแสดงกิจจานุกิจจึงนับเป็นต้นเค้าสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนที่เขียนขึ้นโดยคนไทย และตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่หวังจะให้เด็กไทยมีความรู้ และรู้จักคิดพิจารณาทัดเทียมกับเด็กๆ ในอารยะประเทศของยุคสมัยนั้นด้วยเช่นกัน
------------------------------------------
[๑] กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. (พระนคร : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๓), ๓๗๙.
[๒] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ “โลกของนางนพมาศ” ใน ปากไก่และใบเรือ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ – วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร : แพรวสำนักพิมพ์,๒๕๓๘) : ๔๐๗-๔๔๙.
[๓] สายวรุณ น้อยนิมิตร.”นางนพมาศ : นางเอกที่ถูกมองข้าม”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๐ (มิถุนายน ๒๕๔๐ - พฤษภาคม ๒๕๔๑).
[๔] เจตนา นาควัชระ. “วรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษา” วรรณคดี กรุงเทพมหานคร ; ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๐.
[๕] เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๘ (๒๕๒๙) : ๘๓-๙๔.
[๖] เรื่องเดียวกัน, ๘๕.
[๗] โครงการคัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน
[๘] พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร ,”วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่" วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
[๙] สะกดตามต้นฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ,หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๑๖.
[๑๐] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK12/chapter2/t12-2-l4.html
[๑๑] เรื่องเดียวกัน.
[๑๒] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒,(กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น, ๒๕๔๖) : ๑๑๘๒.
[๑๔] เอนก นาวิกมูล, ภาพเก่าเล่าตำนาน, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๐),๔๙.
[๑๕] เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ,หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว,๒๔๙.
[๑๖] ฉบับที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายศุข นาคสุวรรณ ๔ เม.ย.๒๕๐๘ (พระนคร : โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์,๒๕๐๘) ใช้ชื่อว่า “กิจจานุกิตย์” อ้างถึงใน เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” , อ้างแล้ว, ๘๕.
[๑๗] เรื่องเดียวกัน,๘๔.
[๑๘] เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่าเล่าตำนาน.อ้างแล้ว,๕๐.
[๑๙] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑,(กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕) .
[๒๐] Terviel,B.J. Mu’ang Thai and the World : Changing Perspectives during the Third Reign. เอกสารการอภิปราย ณ ห้องประชุมชั้น ๗ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ ,๒๕. อ้างถึงใน วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. (กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ , ๒๕๔๕) ,๕๖.
[๒๑] Bradley Dan Beach, M.D. Rev. Abstract of the Rev. Dan Beach Bradley, M.D.Medical Missionary in Siam 1835 – 1873. อ้างถึงใน วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อ้างแล้ว.,๕๖.
[๒๒] วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อ้างแล้ว.,๕๖
[๒๓] สุกิจ นิมมานเหมินท์ “คำนำ” หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว.
[๒๔] สุกิจ นิมมานเหมินท์ “คำนำ” หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, อ้างแล้ว.
[๒๕] หากพิจารณาวิธีการเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ จะเห็นว่ามีลีลาการเขียนที่คล้ายกับหนังสือแสดงกิจจานุกิจ กล่าวคืออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด เป็นลำดับ แต่ไม่ได้แบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจน ดังที่หลวงวิจิตรวาทการวิจารณ์ไว้ว่า “ นึกจะแซกเรื่องอะไรลงไปตรงไหนก็แซกลงไปไม่ติดต่อกัน ... การเรียบเรียงพงศาวดารย่อมจดลงไปตามลำดับเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดได้ละเอียดดี” หลวงวิจิตรวาทการ ,“คำนำ(ในการพิมพ์ครั้งแรก)” พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๘),(๓).

บรรณานุกรม
กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. พระนคร : บำรุงสาส์น, ๒๕๑๓.
เจตนา นาควัชระ.“วรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษา” วรรณคดี กรุงเทพมหานคร:ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๐.
เชิดเกียรติ อัตถากร, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตำราวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๘ (๒๕๒๙) : ๘๓-๙๔.
ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค),เจ้าพระยา.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓.กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด,๒๕๓๘.
ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค),เจ้าพระยา.หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๑๖.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ “โลกของนางนพมาศ” ใน ปากไก่และใบเรือ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ – วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์.กรุงเทพมหานคร : แพรวสำนักพิมพ์,๒๕๓๘: ๔๐๗-๔๔๙.
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร.”วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่" วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊ค พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖.
วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ , ๒๕๔๕.
สายวรุณ น้อยนิมิตร.”นางนพมาศ : นางเอกที่ถูกมองข้าม”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๐ (มิถุนายน ๒๕๔๐ - พฤษภาคม ๒๕๔๑).
เอนก นาวิกมูล . ภาพเก่าเล่าตำนาน . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๐. http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK12/chapter2/t12-2-l4.html

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์ครับเข้ามาดู blog ของ ต่อศิลป์บ้างนะครับ อยากให้อาจารย์ชี้แนะหน่อยคับ จะพยายามเขียนเยอะๆ

http://eazyroute.blogspot.com/

easyroute กล่าวว่า...

อาจารย์ครับเข้ามาดู blog ของ ต่อศิลป์บ้างนะครับ อยากให้อาจารย์ชี้แนะหน่อยคับ จะพยายามเขียนเยอะๆ
http://eazyroute.blogspot.com/