วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550

‘อมตะ’ และ ‘The 6th Day’: แนวคิดเรื่องการเกิดใหม่






ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรานั้น คงยากที่จะปฏิเสธว่า หลายขณะ มนุษย์เราคิดถึงความตายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออกต่างก็ตระหนักถึงความอ่อนแอของตน แต่กระนั้นต่างก็ยังมุ่งหวังจะให้เผ่าพันธุ์ของตนดำรงอยู่ต่อไป มนุษย์จึงพยายามจึงหาทางขยายเผ่าพันธุ์และแสวงหาทางยับยั้งความตายที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนั้นด้วย ความพยายามที่จะฝืนธรรมชาตินี้เองเป็นเหตุให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในสภาวะของการกลัวตาย หรือกล่าวให้ชัดคือ กลัวที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพธรรมชาติ มนุษย์จึงพยายามค้นหาแนวทางการดำรงอยู่อย่างเปลี่ยนแปลงสภาพน้อยที่สุด โดยอาศัยความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีพในสภาพการณ์ปัจจุบัน

การโคลนนิ่งเป็นผลจากการพัฒนาวิทยาการขั้นสูงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบัน ถือเป็นหนทางสำคัญในความพยายามที่จะรักษาสภาวะเดิมของมนุษย์ รวมทั้งขยายและสืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น การโคลนนิ่งมนุษย์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเมื่อมนุษย์ต้องการตอบคำถามว่า เราจะยอมจำนนต่อความตายหรือภาวะที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรือไม่ และเราจะพึ่งพาความเจริญก้าวหน้านี้เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไปได้หรือไม่

ปัจจุบันนี้ การโคลนนิ่งมนุษย์ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ทั้งในแง่ของกฎหมาย ศีลธรรม โดยที่เป็นการขัดขืนต่อสภาวะธรรมชาติ อีกทั้งยังกระทบถึงความเชื่อในเรื่องอำนาจของพระเจ้า แต่ในโลกของจินตนาการ การโคลนนิ่งมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้วในนวนิยายเรื่องอมตะของวิมล ไทรนิ่มนวล และภาพยนตร์เรื่อง The 6th day ซึ่งกำกับการแสดงโดยโรเจอร์ สปอตติสวูด[1] วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ น่าจะเกิดจากความบังเอิญคิดหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการกลัวตาย ซึ่งทำให้มนุษย์เราเกิดมีจินตนาการที่จะพยายามหาหนทางดำรงชีวิตให้เป็นอมตะ เรื่ององการเล็งเห็นความสำคัญของอำนาจเงินและโอกาสที่พัฒนาความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนบางกลุ่มฯลฯ ความคิดเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นโดยนำเสนอรายละเอียดของเนื้อหาต่างกัน แต่ก็มีแนวคิดเรื่องการเกิดใหม่เช่นเดียวกัน

อมตะเป็นนวนิยายที่กล่าวถึงการโคลนนิ่งมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมอนาคตที่ไม่ไกลจากสังคมปัจจุบันนัก พรหมินทร์ ธนบดินทร์ อภิมหาเศรษฐี ประธานบริษัทในเครือบำเรอบริภัณฑ์ จำกัด ใช้ช่องว่างของกฎหมายฉบับที่อ้างว่าเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โคลนตนเองไว้เมื่อ ๒๒ ปีก่อน จนได้ “คนโคลน” ๒ คน โคลนหนึ่ง คือ ชีวัน ผู้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในฐานะบุตรชายของเขา ส่วนอีกโคลนหนึ่ง คือ อรชุน ภควัท เขาหลบหนีไปตั้งแต่เด็กและต้องแปลงโฉมเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกตามล่า แต่เมื่อมีโอกาสอรชุนก็กลับมาแก้แค้นผู้ให้กำเนิด ด้วยการสละร่างให้เป็นอะไหล่ แทนร่างของชีวันที่พรหมินทร์เลี้ยงไว้เพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ พรหมินทร์เองก็ปรารถนาเช่นนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตเป็นอมตะ

จากความจงใจที่ตั้งชื่อตัวละครว่า อรชุน นามสกุลภควัท ทำให้สืบสาวความคิดได้ว่าผู้เขียนกำลังอ้างถึง (allusion) อรชุนในคัมภีร์ภควัทคีตา อันเป็นคัมภีร์ปรัชญาและศาสนาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวฮินดู คัมภีร์นี้อยู่ในภีษมบรรพ (ต้นบรรพที่ ๖) ของมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ ซึ่งเป็นตอนที่อรชุน แม่ทัพของฝ่ายปาณฑพต้องทำสงครามประหัตประหารกับฝ่ายเการพ ทั้งๆ ที่บางคนก็เป็นญาติสนิท บางคนก็เป็นครูบาอาจารย์ และบางคนก็เป็นเพื่อนรัก

การรบครั้งนี้ทำให้อรชุนท้อแท้ใจจนวางอาวุธคิดจะยอมแพ้และอมตาย แต่พระกฤษณะผู้มีศักดิ์เป็นญาติฝ่ายมารดาของกษัตริย์ทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพและมาเป็นสารถีให้แก่อรชุนในสงครามนี้ ได้อธิบายให้อรชุนเข้าใจหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ว่ามีหน้าที่ที่ต้องรบเพื่อความสงบสุขของประชาชนและเพื่อความเป็นธรรม คำอธิบายของพระกฤษณะทำให้อรชุนคลายความท้อแท้ใจและเข้าใจหน้าที่ของตน จึงจับอาวุธขึ้นต่อสู่จนกระทั่งมีชัยชนะฝ่ายเการพ (วิสุทธ์ บุษยกุล 2543 : 3-4)
อรชุนในอมตะก็มีบทบาทไม่แตกต่างกับอรชุนในภควัทคีตา คือต้อง “รบ” กับพรหมินทร์ ซึ่งก็คือพระพรหม หรือพระผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง จุดประสงค์ที่อรชุนนำมาอ้างในการที่จะต่อสู้กับพรหมินทร์ผู้เป็นประหนึ่งบิดาของเขาเองก็คือ เป็นการทำไปเพื่อปกป้องบรรดาคนโคลนทั้งหลายที่เขาเห็นว่าคนโคลนเหล่านั้นล้วนเป็นมนุษย์ ต่างมีชีวิตจิตใจเช่นกันกับคนต้นแบบ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการแก้แค้นผู้สร้างตัวเขาขึ้นมาด้วยความโลภและเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด อรชุนได้เลือกวิธีที่จะทำลายตนเองเพื่อเล็งผลเลิศว่า จะ “ครอบครอง” ตัวตนของ “ผู้สร้าง” รวมทั้งสมบัติของเขาทั้งหมด


อมตะได้อธิบายเรื่องวิธีการโคลนนิ่งว่า คนโคลนรุ่นแรกเกิดจากการเพาะเซลล์ของคนต้นแบบ แล้วฝากเลี้ยงไว้ในครรภ์ของหญิงรับจ้างอุ้มท้อง จนกระทั่งคลอดออกมาแล้วนำมาเลี้ยงดูให้เติบโตตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่คนโคลนรุ่นต่อๆ มาซึ่งถูกเลี้ยงในฟาร์มกลับได้รับการพัฒนาด้วยการย่นระยะเวลาเลี้ยงดูให้เร็วขึ้น โดยให้อาหารแคปซูล คนโคลนรุ่นหลังจึงใช้เวลาอนุบาลเพียงไม่กี่ปีก็จะได้คนโคลนที่เหมือนกับต้นแบบ แต่ก็เหมือนเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ส่วนบุคลิกลักษณะนิสัยและความรู้สึกนึกคิดจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพราผู้สร้างหรือผู้ผลิตไม่ต้องการความรู้สึกนึกคิดของคนโคลน จึงไม่สนใจลักษณะท่าทางและอารมณ์ที่อ้างว้างโดดเดี่ยวของคนโคลนเหล่านั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนคนธรรมดาทั่วไป


อันที่จริงนั้น อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์รู้จักการโคลนนิ่งมานับนานเป็นพันปีแล้ว แต่เป็นการโคลนนิ่งพืชที่สืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) ซึ่งก็คือการเพาะชำนั่นเอง แต่การโคลนที่เป็นข่าวครึกโครมคือ การสร้างแกะโคลนชื่อดอลลี่ (Dolly) นับเป็นความสำเร็จของการทำโคลนสัตว์ใหญ่เป็นครั้งแรก (ชัยวัฒน์ คุประตกุล 2542 : 180) เมื่อโคลนนิ่งสัตว์ใหญ่สำเร็จนักวิทยาศาสตร์ก็มีกำลังใจที่จะทำโคลนนิ่งมนุษย์ ต่อมาในปลาย ค.ศ. 1999 มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดว่าการโคลนนิ่งมนุษย์นั้นทำได้แน่ แต่ยังคงเป็นปัญหาว่าสมควรทำหรือไม่ เพราะยังคงมีการตั้งคำถามให้ค้างคาใจว่า มนุษย์โคลนจะมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร และจะมีปัญหาด้านจริยธรรมหรือไม่

เมื่อถึงสหัสวรรษใหม่คือใน ค.ศ. 2001 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยว่าขณะนี้มีทารกถึง 30 คนที่เกิดจากการดัดแปลงทางพันธุกรรม (จีโนม) ซึ่งเป็นวิธีตรงกันข้ามการโคลนนิ่ง กล่าวคือ เป็นการย้ายฝากซัยโตพลาสซั่ม (ของเหลวที่อยู่รอบๆ นิวเคลียสของเซลล์) ในเซลล์ไข่ของหญิงที่เคยมีบุตรแล้วมาไว้ในเซลล์ไข่ของภรรยา แล้วนำมาผสมกับเซลล์อสุจิของสามี แพทย์จะทำวิธีนี้ให้ก็ต่อเมื่อทำวิธีอื่นมาแล้วไม่สัมฤทธิผล[2] ส่วนการโคลนนิ่งนั้นใช้การย้ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ แล้วเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน วิธีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ได้ช่วยให้ครอบครัวที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้

ส่วนคำถามทางจริยธรรมบางส่วนที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิธีนี่จะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดหรือลักษณะนิสัยของเด็กหรือไม่ ซึ่งอาเข้าใจได้ว่ามีมารกสองคน และคู่สามีภรรยาจะกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่สามผู้เป็นเข้าของซัยโตพลาสซั่มหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้น่าจะเป็นพัฒนาสายพันธุ์และเอื้อให้มีการศึกษาเซลล์อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น(กนก ภาวสุทธิไพศิฐ 2544 : อ้างแล้ว) ซึ่งก็เป็นมุมมองเฉพาะด้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ในด้านจริยธรรมแล้ว ยังไม่มีผู้ใดออกมากล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อครอบครัวของทารกเหล่านั้น รวมทั้งประเด็นที่ว่าการแสดงศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าจะเปลี่ยนไปหรือไม่ วิทยาศาสตร์จะช่วยให้คนเราไม่เจ็บไม่แก่และไม่ตายตามธรรมชาติ หรือจะไม่มีการเกิดดับตามปรัชญาพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ หรือมนุษย์ที่มีเงินตราจะสามารถซื้อความตายและสามารถดำรงชีวิตเป็นอมตะได้ตลอดไป คำถามเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่และต้องขบคิดกันทั้งโลกของความจริงและในโลกแห่งจินตนาการ

ในภาพยนตร์เรื่อง The 6th Day กล่าวถึงการโคลนนิ่งมนุษย์เช่นเดียวกัน
เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาสืบต่อจากการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ของนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1997 จนกระทั่งสามารถโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงต่างๆ ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย การโคลนมนุษย์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป จึงมีการรณรงค์เรียกร้อง และเกิดการต่อต้าน โดยให้คำนึงถึงปัญหาทางจริยธรรม จนในที่สุดมีการตรากฎหมายห้ามการโคลนมนุษย์ขึ้น เรียกว่ากฎหมายวันที่หก อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง (นพมาส 2544 : 79) ซึ่งได้อ้างถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่งแล้ว ในวันที่หกพระเจ้าก็สร้างมนุษย์ ตัวละครเอกในเรื่องนี้จึงมีชื่อว่าอดัม ซึ่งเป็นชื่อของมนุษย์คนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้น

The 6th Day ได้สมมุติบริษัท Replacement Technologies ซึ่งมีมหาเศรษฐีชื่อไมเคิล ดรักเกอร์ (โทนี โกลด์วิน) เป็นเจ้าของกิจการ “repet” อันเป็นบริการสร้างสัตว์เลี้ยงใหม่ด้วยการสร้างโคลนสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตให้กลับมามีชีวิตจิตใจอีกครั้ง โดยไม่สามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างจากต้นแบบได้ ส่วนหลังฉากก็รับทำโคลนนิ่งมนุษย์ด้วยการสร้างร่างมนุษย์เก็บไว้ใต้น้ำ แล้วนำรหัสดีเอ็นเอของคนต้นแบบกับความทรงจำที่บันทึกไว้ด้วยเครื่องมือคล้ายการตรวจสายตา ออกมาเป็น “syncording” มาใส่ในร่างนั้น ก็จะได้คนโคลนที่เหมือนกับต้นแบบทั้งรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอและความทรงจำทั้งหมดอีกหนึ่งชีวิตอย่างง่ายดาย อดัม กิ๊บสัน ได้กล่าวเย้ยหยันความเจริญก้าวหน้าของการโคลนไว้ว่า “นับจากนี้แล้ว จะไม่มีใครตายกันอีก”

อดัม กิ๊บสัน (อาร์โนลด์ ชวาซเซเนกเกอร์) เป็นนักบินฝีมือเยี่ยม เขามีภรรยาและบุตรสาว จัดเป็นครอบครัวที่อบอุ่น วันหนึ่งเขาเพื่อนถูกหลอกให้ตรวจวัดสายตา และนั่นได้นำไปสู่การโคลนนิ่งตัวเขาและเพื่อนโดยไม่รู้ตัว ต่อเมื่อเขาไม่พบคนโคลนที่เหมือนเขาทุกประการอยู่กับภรรยาและลูกพร้อมด้วยเพื่อนๆ ของเขาในวันเกิดของลูกที่บ้าน เขาจึงรู้ตัวว่าได้กลายเป็นมนุษย์โคลนไปแล้ว และต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการธุรกิจของนายทุนคนหนึ่ง จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้มีการตามเก็บตัวจริง เกิดการไล่ล่าตามสไตล์ภาพยนตร์อเมริกัน และตามแนวภาพยนตร์อเมริกัน และตามแนวภาพยนตร์แบบเรื่อง ฅนเหล็ก (The Terminator) ซึ่งก็ได้ดำเนินไปอย่างมีรสชาติจนจบ

การโคลนนิ่งมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ้นสุดลงเมื่อการโคลนครั้งสุดท้ายของดรักเกอร์ไม่สมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการค้นคว้าวิจัยสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดถูกอดัมทำลายจนหมดสิ้น การโคลนนิ่งมนุษย์ต้องยุติลง แต่ยังคงเหลืออดัมที่เป็นมนุษย์โคลนคนสุดท้าย ชีวิตของเขาจากนี้แสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์ธรรมชาติได้ถูกทำลายลง อำนาจของพระเจ้าก็ถูกมนุษย์ท้าทาย ความผิดปกติเกิดขึ้นได้เมื่อมีอดัมถึงสองคน ภาพยนตร์จึงต้องหาทางออกให้แก่ตัวละครนี้อย่างที่ผู้ชมจะพอยอมรับได้ในโลกเซลลูลอยด์

แต่ในอมตะ เรื่องราวการโคลนนิ่งยังคงดำเนินต่อไป เพราะโปรเฟสเซอร์เดวิด สเปนเซอร์นักวิทยาศาสตร์คู่บุญของพรหมินทร์ยังคงเชื่อมั่นในฝีมือการผ่าตัดครั้งล่าสุดของตนที่นำสมองของพรหมินทร์ไปใส่ในร่างของอรชุนได้ และความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอรชุนที่สามารถหลอกสายตาของโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และสาธารณชนได้ทั้งหมด รวมไปถึงผู้อ่านบางคนก็ถูกหลอกด้วยเช่นกัน นวนิยายเรื่องนี้ได้ผูกปมทิ้งท้ายไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทรงจำของพรหมินทร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอรชุนที่มีจิตใจเข้มแข็งมุ่งมั่นที่จะล้างแค้น เรื่องบุตรสาวของพรหมินทร์ที่กำลังอุ้มท้องบุตรที่เกิดขึ้นกับอรชุน และยังมีเรื่องบุตรของชีวันอีกด้วย นับว่าผู้เขียนพยายามโยงประเด็นเรื่องการเกิดใหม่ต่อไปอีก ซึ่งคงจะไม่จบลงอย่างง่ายดายเป็นแน่

การซ่อนปมสำคัญไว้ในตอนท้ายเรื่องนั้น กล่าวได้ว่าวิมล ไทรนิ่มนวลทำได้ดี โดยใช้สายตาเป็นสื่อฟ้องว่าผู้ที่ประกาศตนหลังจากการเปลี่ยนร่างสำเร็จนั้นมิใช่สายตาของพรหมินทร์ แต่เป็นสายตาที่เต็มไปด้วยการเย้ยหยันของอรชุนที่ฉายออกมาพร้อมกับคำพูดที่ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือสัจธรรมอันไม่จอมปลอมของเรา!” (วิมล ไทรนิ่มนวล ๒๕๔๓ : ๒๒๒) การเลือกสายตามาเป็นตัวไขปริศนาว่าแท้จริงแล้วพรหมินทร์หรืออรชุนกันแน่ที่เป็นผู้ชนะนั้น หากไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วก็อาจจะเข้าใจว่าพรหมินทร์ต่างหากคือผู้ชนะ แต่คำกล่าวที่ว่าสายตาคือหน้าต่างของหัวใจก็แสดงอานุภาพให้เรารู้ว่าร่างนี้มีผู้ควบคุมคือจิตของอรชุน นั่นย่อมหมายความว่าอรชุนต่างหากที่เป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า ทั้งภาพยนตร์และนวนิยายต่างก็แฝงความคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในนวนิยาย เห็นชัดว่าวิมล ไทรนิ่มนวลมีความพยายามในการสร้างกระแสต่อต้าน ความเจริญทางเทคโนโลยีที่มักจะละเลยการตระหนักถึงมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง นวนิยายเรื่องนี้ยังได้สะท้องความคิดของผู้เขียน โดยเสนอว่าการโคลนนิ่งมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นภาวการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้แล้วตราบใดที่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ยังมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ชวนให้วิตกไม่น้อยที่จะมีมนุษย์เทียมอยู่ร่วมกับเราในสังคมอนาคต

ในภาพยนตร์นั้น ดูเหมือนจะเป็นการให้ความหวังว่า แม้วันนี้การโคลนนิ่งยังคงไมสำเร็จลงได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่สักวันมนุษย์ย่อมต้องทำได้ แต่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ถ้าหากโลกนี้จะมีนักบินที่เก่งกล้าและมีครอบครัวที่อบอุ่นเช่นอดัมถึงสองคน ภาพยนตร์จึงจบลงด้วยการให้อดัมคนหนึ่งหลบไปใช้ชีวิตที่ห่างไกลจากสังคมของอดัมอีกคน

หากพิจารณาเนื้อหาที่ว่าด้วย “การเกิดใหม่” ในบทสนทนาที่อรชุนยกมาเป็นหัวข้อวิวาทะกับโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และพรหมินทร์ย่างละเอียดแล้ว อากล่าวได้ว่า วิมล ไทรนิ่มนวลน่าจะได้รับอิทธิพลความคิดเกี่ยวกับปรัชญาการเกิดใหม่จากภควัทคีตา โดยเฉพาะเนื้อหาที่กล่าวว่าคนเราประกอบด้วยสรีระและจิตวิญญาณ ส่วนของสรีระร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณซึ่งเรียกว่าอาตมันนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน ไม่มีการแตกดับหรือเสื่อมสลาย เมื่อร่างกายแตกดับไป จิตวิญญาณยังคงอยู่ จะเวียนว่ายไปเกิดใหม่และครองร่างอื่นต่อไป (วิสุทธ์ บุษยกุล 2543 : 6) ดังข้อความที่ว่า

“... อาตมันที่สิงอยู่ในร่างของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก, ร่างหนุ่มสาว, และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้
หนาว,ร้อน,สุข,ทุกข์ ฯลฯ เกิดจากการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะฉะนั้นท่านจะหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด
ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับสุขทุกข์ได้ชื่อว่าทำชีวิตตนเองให้เป็นอมตะ ...”
(ภควัทคีตา บทเพลงแห่งองค์ภควัน : 31-32)

อมตะกล่าวถึงการเกิดใหม่ไว้ในตอนที่อรชุนเล่าเรื่องชายชราอายุ 77 ปีให้แก่ชีวันฟัง อรชุนให้คำแนะนำแก่ชายชราให้ปลงกับสรีระร่างกายที่เป็นเพียง “... ถุงขี้เน่าๆ ที่เป็นที่อาศัยของโรคสารพัด โดยเฉพาะไอ้โรคเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งไม่มีวันจะรักษาหาย สู้ตายแล้วเกิดใหม่ดีกว่า ...” (115) เรื่องราวของชายชราที่อรชุนนำมาเล่าอย่างละเอียดนั้น ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสื่อความคิดเรื่องการเกิดใหม่อย่างชัดเจน ความตายของชายชราเป็นประหนึ่ง “การปลดปล่อย” ตนเองให้ไปสู่ภาวะเกิดใหม่ เช่นเดียวกับที่อรชุนในภควัทคีตาได้ปลดปล่อยบรรดาญาติให้ไปเกิดใหม่ อรชุนใช้เรื่องนี้เป็นสื่อปลอบใจชีวัน ให้มีความหวังที่จะยอมรับสภาวะของการเกิดใหม่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งก็คงจะได้ผล ดังที่ศศิประภาถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของชีวันให้อรชุนฟังว่า “... เขา(ชีวัน)เครียดแต่ก็สงบ . . .เขาหันมามองฉัน ส่งสายตาเหมือนจะบอกว่าให้ฉันเข้มแข็ง ...” ( 116)

เมื่อพิจารณาบทบาทของอรชุนในอมตะแล้ว อาจเห็นว่าอรชุนพยายามที่จะปลดปล่อยพรหมินทร์ในลักษณะเดียวกับอรชุนในภควัทคีตา แต่ก็พลิกความคาดหมายด้วยการให้พรหมินทร์ไปเกิดใหม่ภายใต้จิตดวงเดิมของอรชุนเอง นี่วิมล ไทรนิ่มนวลกำลัง “ล้อ” บทบาทของอรชุนในภควัทคีตาอยู่ใช่หรือไม่ เพราะขณะที่อรชุนใช้หลักธรรมพุทธศาสนาในการปลุกปลอบผู้อื่นให้คลายทุกข์ แต่จิตใจของอรชุนก็เต็มไปด้วยความเคียดแค้น มุ่งแต่จะทำลายล้าง และยังจะแสดงให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณของความโลภในตอนท้ายเรื่องอีกด้วย

อิทธิพลความคิดความเชื่อจากภควัทคีตายังปรากฏให้เห็นในตอนที่อรชุนแสดงความความเชื่อว่า คนเราตายแล้วเกิดใหม่ ระลึกชาติได้ ก็เพราะมีจิตเดิมตามมาเกิดด้วย ดังที่อธิบายให้ โปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และพรหมินทร์ฟังว่า

“... พลังงานเกิดจากการสลายตัวหรือผันแปรของสสารหรือวัตถุ ซึ่งมันไม่มีคุณสมบัติที่จะเก็บข้อมูลและจดจำ แล้วมันจะเอาอะไรมาคิด เพราะคนเราจะคิดได้ก็ต้องมีข้อมูลที่จดจำไว้ไม่ใช่หรือครับ...อีกเหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ คนที่ตายแล้วิเกิดใหม่ แล้วเขาระลึกชาติได้ ลองคิดดูซิครับว่าเขาเอาสมองมาเกิดด้วยหรือเปล่า ถ้าเขาเอาสมองก้อนเดิมเมื่อชาติที่แล้วมาเกิดด้วยไม่ได้ แล้วเขาจะจำเรื่องราวในชาติก่อนได้อย่างไร จิตต่างหากครับที่มาเกิดได้ เพราะมันเป็นนามธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันล่องลอยมาเกิดเหมือนที่เราพูดๆ กัน จิตมันก็เกิดดับติดต่อกันเหมือนดวงไฟนั่นแหละครับ เราเห็นมันเป็นไฟดวงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริง ดวงไฟมันเกิดดับนับไม่ถ้วน ดวงไฟที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ดวงเดิม แต่เป็นดวงใหม่อยู่ตลอดเวลา ...” ( 153)

อรชุนพยายามะอธิบายว่า “จิต” เท่านั้นที่เป็นตัวทำหน้าที่แสดงความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่สมอง ซึ่งความคิดนี้ตรงกับที่ภควัทคีตากล่าวว่าการระลึกได้จากการเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะมีที่มาจากจิตดวงเดิม ดังที่พระกฤษณะกล่าวว่า “... ฟังนะ อรชุน! ทั้งเพื่อนและเราต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันมาไม่รู้คนละกี่ภพกี่ชาติแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดนั้น ทั้งหมดเราสามารถระลึกได้ ...” (54)

คำอธิบายของอรชุนในอมตะจึงน่าจะไม่ใช่ “จิต” ในทางพุทธศาสนา แต่เป็นคำอธิบายที่เกิดจากการผสมผสานอิทธพลความคิดจากศาสนาอื่นเข้ากับพุทธศาสนา และผู้เขียนยังได้แฝงจุดประสงค์บางอย่างที่จะโยงไปถึงความขัดแย้งระหว่างความคิดของอรชุนกับความคิดของโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์ ซึ่งเป็นภาพตัดกันแบบขาวดำ จึงมีผู้ตีความว่าทั้งสองเป็นตัวแทนของการวิวาทะระหว่างพุทธศาสนากับความคิดทางวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็น “ธัมมิกวรรณกรรม”[3]

เกี่ยวกับเรื่องความทรงจำจากจิตหรือสมองนี้ ในนวนิยายยังคงต้องขบคิดต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วจิตหรือสมองของพรหมินทร์กันแน่ที่จะควบคุมการกระทำของร่างกายหลังจากได้รับการผ่าตัด แต่ใน The 6th Day กลับมีคำตอบชัดเจนมาแล้วว่าความทรงจำต่างๆ นั้นได้มาจากคลื่นสมอง โดยใช้เครื่องบันทึกความทรงจำ (syncording) ซึ่งจะทำให้ความทรงจำที่มีอยู่ในคลื่นสมองทั้งหมดได้รับการถ่ายถอดไปสู่คนโคลนอย่างง่ายดาย ในนวนิยายอมตะก็นำเสนอวิธีคิดแบบชาวตะวันตกไว้แบบนี้เช่นกัน เรื่องราวจึงยังไม่จบลงที่อรชุนสามารถยึดครองร่างของพรหมินทร์ได้เพียงแค่นั้น แต่ยังคงค้างเรื่องที่ว่าอำนาจจิตของอรชุนที่จะควบคุมร่างของพรหมินทร์ต่อไปได้หรือไม่ และเราอาจขยายกรอบความคิดให้กว้างออกไปอีกว่า การที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องของความเป็นอมตะมาทั้งหมดนี้เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้วความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติโดยอาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อาจล้มเหลวลงด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง และนั่นหมายความว่า เมื่อถึงที่สุดของชีวิต มนุษย์ก็ต้องยอมจำนนต่อธรรมชาติ

หากพิจารณานวนิยายเรื่องนี้ในฐานะที่เป็น “เรื่องเล่า” (narrative) แล้ว อมตะก็คือเหตุการณ์สมมุติที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว (อิราวดี ไตลังคะ 2543 : “คำนำ”)
เราจะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้กำหนดเรื่องขึ้นอย่างมีเป้าหมายภายใต้กรอบของ “เรื่องแต่ง” (fiction) และอิทธิพลการกำกับของภาษา ดังที่จาค แดรีดา (Jacques Derrida) นักคิดชาวฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางภาษาศาสตร์ของโซซูร์ (Saussurean Linguistics) ที่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อยู่นอกกฎเกณฑ์แห่งภาษาหรือตัวบท กล่าวคือ ภาษาสร้าง “ความเป็นจริง” แห่งสรรพสิ่งทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือภาษา หรือเข้าใจได้โดยไม่ได้อยู่ในรูปของตัวบท (ธีระ นุชเปี่ยม 2539-2540 : 11)

การจัดลำดับโครงเรื่อง การนำเสนอตัวละคร แนวคิด กลวิธีการเล่าเรื่องประกอบกับการใช้ภาษาและน้ำเสียงของผู้เขียนในการผูกร้อยเรื่องราว อาจทำให้เกิดเป็นความหมายใหม่ระหว่างถ้อยคำหรือข้อเขียนขึ้น ค่าความจริงที่ปรากฏจึงมีก็แต่เฉพาะในบริบททางวาทกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ ในแง่ของประโยคหรือถ้อยคำ หากไม่มีประโยคหรือถ้อยคำ ก็ไม่มี “ความจริง” ดังนั้น “ความจริงจึงผูกอยู่กับความคิดและภาษาของมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้” (ธีระ นุชเปี่ยม 2539-2540 : 12)

นวนิยายเรื่องอมตะก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งภาษาและกรอบของเรื่องแต่งเช่นกัน แม้ว่าผู้เขียนจะทำการบ้านมาเพียงใดก็ตาม หากเมื่อเริ่มเขียนแล้วผู้เขียนก็อาจปล่อยให้ตัวละครในนวนิยายสนทนากันตามที่ผู้เขียนวางเป้าหมายไว้ว่าจะให้เกิดความหมายที่เป็นไปตามจินตนาการของตน อย่างไรก็ดี ความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมมีค่าของความจริงที่ผู้อ่านยอมรับได้ในโลกจินตนาการ เพราะเขาย่อมได้รับความคิดและความบันเทิงตามพันธกิจของความเป็นเรื่องแต่งอยู่แล้ว

หากจะประเมินค่านวนิยายเรื่องนี้ว่าผู้เขียนให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็น “ความรู้แบบไทยๆ” เช่นเรื่องเซลล์ (ธาวิต สุขพานิช 2543 : 41) และเมื่อกล่าวถึงปรัชญาพุทธศาสนา (หรือที่แท้อาจเป็นปรัชญาฮินดูผสมกับศรัทธาพุทธ) ผู้เขียนก็ได้ให้ข้อมูลที่ไม่สู้จะถูกต้องนัก การประเมินค่าในลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นการแสดงความคิดอคติต่อผู้เขียน ตัวบท และคงต้องรวมไปถึงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จะมีประโยชน์ในเชิงเกียรติยศแล้ว ยังมีประโยชน์ในเชิงการตลาดอีกด้วย (สุภาพ 2543 : 60) ซึ่งถ้าหากทำใจว่ากำลังอ่านวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงอันพันธกิจที่แท้จริงของวรรณกรรมแล้ว การรับรู้เรื่องโคลนนิ่งกับศรัทธาความเชื่อในอมตะ คงจะไม่แตกต่างกับการชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์เรื่อง The 6th Day เท่าใดนัก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฏข่าวว่าจะมีผู้ค้นหาค่าความจริงหรือออกมาต่อต้านจินตนาการของผู้สร้าง เราอาจจะเชื่อได้หรือไม่ว่า การปฏิเสธนวนิยายเรื่องนี้ในหมู่นักอ่านบางคน ก็เป็นเพราะอิทธิพลของรางวัลโดยแท้
บรรณานุกรม

กนก ภาวสุทธิไพศิฐ. สัมภาษณ์ในรายการ “จับกระแสโลก” ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี. 9 พฤษภาคม 2544.
ชัยวัฒน์ คุประตกุล. Cloning โคลนนิ่ง. สารคดี (ตุลาคม 2542) : 180.
ธาวิต สุขพานิช. นวนิยาย ‘อมตะ’ กับ รางวัลซีไรท์. มติชนสุดสัปดาห์. 20 , (28สิงหาคม 2543) : 41.
ธีระ นุชเปี่ยม. ความรู้ อำนาจ อุดมการณ์ในวาทกรรมทางประวัติศาสตร์. วารสารร่มพฤกษ์. 15, (ตุลาคม 2539-มกราคม 2540) :
วิมล ไทรนิ่มนวล. อมตะ. ปทุมธานี : สยามประเทศสำนักพิมพ์, 2543.
วิสุทธ์ บุษยกุล. ภควัทคีตาและอนุคีตา. เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่องมหาภารตะ : ความสัมพันธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 2 ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 20-21 พฤศจิกายน 2543.
สัจจา ประกาศชัย. ซีไรท์ ‘อมตะ’ นวนิยายส่งเสริมศาสนา ไฉนจึงกลายเป็นการย่ำยี. มติชนสุดสัปดาห์. 20, (18 ธันวาคม) : 60-62.
อิราวดี ไตลังคะ. ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพมหานคร : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543.


---------------------------------


[1]ขอขอบคุณดวงพร เมธสวัสดิ์ ที่กรุณาค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้จาก http://www.imdb.com/ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2543
[2] เช่น การทำกิ๊ฟ ผสมเทียม หรือนำเซลล์ไข่ของภรรยามาผสมกับเซลอสุจิของสามีแล้วยังไม่ประสบผล เป็นต้น ข้อมูลนี้ ศ.นพ.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับกระแสโลก” เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2544 ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
[3] โปรดดูส่วน “คำนำสำนักพิมพ์” ใน อมตะ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2550

หมู่บ้านในแสงเงา : กวีนิพนธ์บนเส้นสีชีวิต



หมู่บ้านในแสงเงา รวมบทกวีนิพนธ์ของโกสินทร์ ขาวงาม ผู้เป็นน้องชายคลานตามกันมาของไพรวรินทร์ ขาวงาม ความเรียบง่ายที่นุ่มนวลเมื่อกวีพรรณนาถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวนับเป็นภาพรวมของบทกวีเล่มนี้ กวีผู้เติบใหญ่ท่ามกลางความรัก ความดูแลเอาใจใส่ของพ่อและแม่ แม้พ่อจะไม่อยู่ แต่แม่ก็คอยบอกลูกว่า " นั่นชมพู่กิ่งใบในใจตัว เหมือนยิ้มยั่วโน้มนำเล่าตำนาน เป็นต้นที่พ่อเจ้าเขาเฝ้าปลูก แล้วจากลูก-แม่ไปไม่อยู่บ้าน เหลือเพียงกลิ่นสาบเสื้อจากเหงื่องาน อวลไปทั่วเรือนชานบ้านอารมณ์"


ลูกคนนี้จึงเติบโตขึ้นอย่างคนที่เปี่ยมรักและเลยแผ่ความรักในใจไปสู่ธรรมชาติ เขาจึงรู้ซึ้งถึงความงดงามของธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่งดงามเท่านั้น ยังบันดาลให้เข้าถึงพุทธิปัญญาได้ไม่ยากนัก ดังที่ว่า "โอ้เจ้านวลดอกแคที่แม่ปลูก เจ้าพันผูกตัวตนลูกคนไหน กระดาษถึงบานออกเป็นดอกใบ สะพรั่งในทัศนียภาพนั้น นวลด้วยใจสัตย์ซื่อ มือยบย่น ตักน้ำฝนพออิ่มไว้ปริ่มขัน นกกระจิบเริงแสงแห่งตะวัน งามที่ปันสีขาวเจ้าขาวนวล โอ้เจ้านวลดอกแคที่แม่ปลิด ภาพชีวิตคุ้นชินบนดินสวน หัวใจผ่านร้อนเย็นเป็นกระบวน กอบเก็บถ้วนฝุ่นเถ้าในเหงาลึก สัมผัสผ่านอายุทะนุถนอม ดอกชีวิตเก็บดอมหอมรู้สึก เนื้อหาโลกเก็บงำในสำนึก โยงผ่านผลึกลึกล่วงร่วงดอกแค"


รวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ อาจทำให้หลายคนหวนคิดถึงวัยเยาว์ในอดีต ในยามที่เคยอยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่ และตายาย บทหนึ่งที่แสดงความรักความผูกพันระหว่างตาหลาน โดยเฉพาะในยามที่หลานเติบโตแล้วไปอยู่ที่อื่น ดังว่า "ตาของใครอ้อยส้อยนั่งคอยหลาน ในร่มลานเงียบเย็นโอนเอนไหว ต้นชีวิตผ่านคล้อยปลิดขั้วใบ รอคอยใครเดียวดายในสายตา นานมาแล้วหลานรักไม่กลับบ้าน จนวันหนึ่งจึงหลานกลับมาหา ไปพบกาลผ่านพรากรากพุทรา จักรยานของตาเก่าพังแล้ว!"


ความงดงามของ "หมู่บ้านในแสงเงา" แม้จะยังไม่งดงามทั้งหมด แต่ก็ก่อให้เกิดอารมณ์หวามไหวในบางตอน หากไม่คำนึงถึงพลังและอำนาจในความหมายของคำมากจนเกินไปนัก บทกวีเล่มนี้ก็นับว่างดงามในแสงเงาอยู่ไม่น้อย อ้อ! ขอแถมท้าย ที่หน้าปกเสมือนว่ามีสติ๊กเกอร์การันตีรางวัลติดอยู่ แท้จริงเป็นอารมณ์ขันปนเสียดสีที่เขียนว่า "หนังสือเล่มแรก" ช่างน่ารักน่าหยิกอะไรเช่นนี้หนอ!!

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(จบ)

คุณค่าของกวีและกวีนิพนธ์ในปัจจุบัน
เมื่อกวีคนหนึ่งกล่าวไว้อย่างสิ้นหวังว่า
…...................................... โอ้สระพยัญชนะมาแสนเข็ญ
วรรณยุกต์เคยว่องไวคำตายเป็น มากระเด็นกระโดดกระดอนลงนอนตาย
คลั่งดุ่มด้นค้นเค้าด้วยเศร้าโศก คนเขียนหนังสือวิปโยคลาญสลาย
นับวันหนออักษราลามลาย โอ้ใจหายโอ้นักเขียนโอ้นักกลอน
กอดปากกาอุ้มดินสอมาขอเขียน ร่ายอักษรว่อนเวียนเทียนอักษร
โลกหนังสือเคยอิสระและสุนทร กลับมารอนรานร้าวลงคราวนี้
ชมสวนคำอำลาน้ำตาตก แน่นในอกอึกอัดถนัดถนี่
ในสังคมอันระอุวัตถุเสรี คำนักเขียนคำกวีไร้ชีพแล้ว [i]

น่าคิดว่ากวีและกวีนิพนธ์ในปัจจุบันจะหมดหน้าที่และบทบาทลงแล้วในสังคมทุนนิยมนี้จริงหรือ หากมองไปรอบๆ ในตลาดหนังสือ เราพบว่าหนังสือรวมกวีนิพนธ์ของกวีบางคนก็ยังเป็นที่ต้องการในหมู่วัยรุ่น แต่ก็อาจไม่เป็นที่จับใจของผู้อ่านที่เลยวัยแล้ว แต่หากเพ่งพินิจถึงคุณค่าของกวีนิพนธ์ในปัจจุบัน เห็นได้ว่าสิ่งที่ขาดหายคือความคิดและปรัชญาที่ลุ่มลึก

การที่บทกวีเป็นรูปแบบสำคัญที่ต้องแฝงปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้งนั้น คงเป็นเพราะบทกวีเป็นงานวรรณศิลป์ที่ใช้คำน้อย แต่ต้องการพลังที่กระทบใจผู้อ่าน แต่การจะมุ่งทำให้กวีนิพนธ์กลายเป็นวรรณกรรมคำสอนนั้น ก็อาจต้องอาศัยเทคนิคที่เป็นฝีไม้ลายมือเฉพาะตัวของกวีว่าจะสรรคำมาให้เกิดเป็นความหมายสื่อสารมายังผู้อ่านได้มากน้อยเพียงใด ที่จะไม่ให้ผู้อ่านรู้ตัวว่ากำลังถูกยัดเยียดความคิดเชิงสั่งสอน

โรนัลด์ พีค็อก (Ronald Peacock) นักวรรณคดีศึกษาชาวอังกฤษได้เสนอความคิดเรื่อง “ความคิด ความเชื่อ และความสำนึกเชิงปรัชญา” ว่า “ความสำนึกเชิงปรัชญาเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมีเพื่อที่งานวรรณกรรมเหล่านั้นจะมิได้กลายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่า ตื้นเขิน หรือเป็นแค่การเล่าเรื่องหรือแต่งกลอนด้วยวิธีที่ราวกับเป็นเครื่องจักรกล” [ii] คุณค่าทางปรัชญานี่เองที่ทำให้งานวรรณศิลป์มีพลัง ทำให้เกิดการครุ่นคิดและการหยั่งรู้ต่อไปทั้งในส่วนของผู้สร้างสรรค์และผู้รับ

ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณเคยกล่าวถึง “กวี” ไว้ว่า “สำหรับดิฉัน กวีหมายความว่าผู้มีสมรรถภาพโดยธรรมชาติ ที่จะสังเกต จะเห็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น อาจจะมีความรู้สึกไหวสะท้านต่อสิ่งที่คนอื่นไม่ไหวสะท้าน กวีต้องสูงกว่าคนทั่วๆไปในด้านความรู้สึก นอกจากนั้น กวีมีความสามารถที่จะกลั่นกรองความรู้สึกออกมาเป็นถ้อยคำที่ไพเราะ อาจทำให้คนอื่นไหวสะท้านไปด้วย โดยอำนาจที่กวีเลือกเฟ้นมาใช้ในจังหวะ ในรูปแบบที่เหมาะแก่ถ้อยคำ ”[iii]

หากอ่านกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ก็จะได้ยินเสียงจังหวะของโคลงกลอนที่แต่งในสมัยอยุธยา เมื่ออ่านกวีนิพนธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ก็ได้ยินเสียงขับเสภาขุนช้างขุนแผนแว่วมา และเมื่ออ่านบทกวีของคมทวน คันธนูก็มองเห็นร่องรอยการสืบทอดขนบของวรรคทองในวรรณคดีอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่ามีกวีร่วมสมัยในปัจจุบันเพียงไม่กี่คนที่สืบสานขนบในอดีตย้อนลงไปถึงวรรณคดีโบราณได้

สิ่งที่เป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นระหว่างกวีโบราณกับกวีร่วมสมัยในปัจจุบันอาจอยู่ที่การขาดช่วงของการสั่งสมประสบการณ์การอ่านวรรณคดี มีความยากง่ายของการเข้าถึงความหมายของถ้อยคำที่ข้ามผ่านกาลเวลาเป็นอุปสรรค การขาดโอกาสที่จะแสวงหาประสบการณ์ตรงในชีวิต ขาดการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ขาดการสังเกตโลกด้วยสายตาที่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป และท้ายที่สุดคือ การขาดความหยั่งรู้พุทธปรัชญา

กวีร่วมสมัยในปัจจุบันอาจต้องการเวลาในการบ่มเพาะประสบการณ์การหยั่งรู้ และการตกผลึกของสำนึกเชิงปรัชญา ในฐานะผู้อ่านที่เฝ้าแอบพิจารณาบทกวีอยู่เงียบๆ ในมุมมืด ยังคงรอคอยกวีนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่ของกวีร่วมสมัยในปัจจุบัน เผื่อว่าโลกของวงวรรณกรรมจะมีกวีที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกวีในอดีตที่เคยสร้างผลงานข้ามยุคสมัยให้แก่มวลมนุษยชาติมาแล้วเพิ่มขึ้นอีก


[i] ชมจันทร์. อรุณในราตรี .(กรุงเทพฯ :คมบาง,2541).
[ii] โรนัลด์ พีค็อก “ความคิด ความเชื่อ และความสำนึกเชิงปรัชญา” เจตนา นาควัชระ แปล. เอกสารโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 2” พลังการวิจารณ์ : วรรณศิลป์ (เอกสารอักสำเนา), 2547,472-474.
[iii] ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ “อังคาร กัลยาณพงศ์” แว่นวรรณกรรม.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อ่านไทย,2529),472.

-----------------------------------

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(3)

การสืบทอดความเป็นกวีและความสำคัญของกวีนิพนธ์

อังคาร กัลยาณพงศ์เป็นกวีร่วมสมัยคนแรกที่ประกาศอุดมการณ์ของการเป็นกวีอย่างชัดเจน และได้สถาปนากวีนิพนธ์ขึ้นเป็น “วิชากวี” ไว้ด้วยในบทที่ว่า
ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงสุด
ขลังดั่งบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอมฯ [i]

การที่กวียอม “สละทอดทิ้ง” ชีวิต มาสร้างงานวรรณศิลป์ ใช้จินตนาการสร้างโลกนี้ให้หอมไปถึงโลกหน้าได้นั้น นับเป็นความตั้งใจอย่างสูงส่งของผู้สร้างซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญต่อการสร้างงานศิลปะแบบทุ่มเทจิตวิญญาณแล้ว ยังเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเป็นกวีและยกระดับคุณค่าของกวีนิพนธ์ให้สูงสุดด้วยการกล่าวเป็นคำอธิษฐานว่า “วิชากวีจงศักดิ์สิทธิ์สูงสุด” กวีและกวีนิพนธ์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ และผู้สร้างยังได้กล่าวฝากงานวรรณศิลป์ที่ล้ำค่าไว้ในโลก ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอีกด้วย ดังที่ว่า

โอมกราบพิฆเณศวร์แก้ว กายสิทธิ์
ขอรุ่งเรืองบุญฤทธิ์ เก่งกล้า
พลีชีวิตนฤมิต โคลงกาพย์
จุ่งศักดิ์สิทธิ์สถิติหล้า ตราบฟ้าดินหายฯ [ii]
การอธิษฐานให้โคลงกาพย์มีศักดิ์และสิทธิ์คงอยู่คู่หล้านั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นการสืบทอดมโนทัศน์การยกย่องผลงานของตนให้สูงสุดแล้ว ยังแสดงให้เห็นอหังการของกวีที่ประเมินค่าผลงานไว้อย่างสูงส่ง การ “พลีชีวิต” ของกวีนั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะในทางโลกเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธความปรารถนาสูงสุดในทางธรรมอีกด้วย โดยยอมที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ต่อไป ดังที่กล่าวไว้ใน “ปณิธานกวี” ว่า

ถึงใครเหาะเหินวิมุติสุดฝั่งฟ้า เดือนดาริกาเป็นมรรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวีวาย
จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาล
เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์ ที่สุดสู่ยุคสุขเกษมศานต์
วารนั้นฉันจะป่นปนดินดาน เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง [iii]
การที่กวีกล่าวยืนยันว่าจะไม่ไปแม้แต่ “พระนิรพาน” นั้น อาจเป็นการยอมรับในฐานะมนุษย์ว่า ขอวนว่ายใน “วัฏฏะสังสาร” เพื่อมีชีวิตอยู่สร้างผลงานวรรณศิลป์ กวีนิพนธ์จึงได้รับการยกย่องสูงสุดอีกครั้งว่ามีค่าเหนือกว่า “พระนิรพาน” กล่าวได้ว่าอังคาร กัลยาณพงศ์ยอมปวารณาตนด้วยการขอเป็นผู้เสียสละเพื่อมวลมนุษย์ โดยขอมีชีวิตอยู่เพื่อ “แปลค่าแท้ดาราจักร” ให้เป็นบทกวีสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งก็เป็นการแสดงอุดมการณ์สูงสุดเพื่อจะ “ลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์” นับว่าอังคารให้ความหมายของกวีและกวีนิพนธ์ไว้อย่างสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์

การประกาศถึงความเป็นกวีและยกย่องวิชากวีให้สูงสุดนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของยุคสมัยเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา ต่อจากนั้นการยืนยันถึงสถานะของกวีก็เริ่มปรากฏเป็นเนื้อหาของกวีนิพนธ์ร่วมสมัยมากขึ้น หากแต่การยืนยันถึงความเป็นกวีแตกต่างไปจากมโนทัศน์เดิม ดังในบทที่ชื่อ ปณิธานรัก – ปณิธานกวี

ทุกภพชาติปรารถนาของข้านี้ ขอให้เกิดเป็นกวีศรีสวรรค์
เพื่อถักถ้อยร้อยอักษรกลอนรำพัน สำหรับจรรโลงโลกโศลกวอน
ทุกภพชาติปรารถนาของข้านี้ ให้คนรักเป็นกวีศรีอักษร
จะเห่กล่อมลำนำด้วยคำกลอน เพื่อออดอ้อนคำรักประจักษ์จินต์
จะครองคู่อยู่สุขทุกค่ำเช้า คือฝันเฝ้ายิ่งใหญ่ใฝ่ถวิล
แก้มแนบแก้มแย้มยิ้มอิ่มทิพย์กิน ตลอดสิ้นชั่วนิรันดร์ทุกวันคืน
ทุกภพชาติปรารถนาไม่ลาเลิก ให้เกียรติเกริกก้องไกลได้สุขชื่น
ปณิธานรักปณิธานกวีนี้ยาวยืน ตราบแสนหมื่นพรรษาอย่ารู้จาง [iv]

“กวี” ในบทนี้ มีบทบาทหน้าที่ถักร้อยอักษรเพื่อจรรโลงโลกเช่นกัน แต่การเป็นกวีของเขาก็ประสานกับความปรารถนาในความรักความสุขระหว่างเขากับคนรัก ดูเหมือนว่ากวีในปัจจุบันจะเพ่งแต่ความเป็นอยู่และความปรารถนาของตน เช่นเดียวกับอีกบทหนึ่ง ที่ว่าเกิดมาเป็นกวี ชีวีอุทิศแด่โลกวรรณศิลป์โสตสดับทุกสิ่งสรรพที่ยลยิน ไม่ถวิลหาอาวรณ์จ่ายพ่ายหทัยดำรงตนเฉกคนสามัญ มีเจ็บปวดป่วยจาบัลย์ทุกข์หมองไหม้คือวิถีอักษรศรีกวีไซร้ แม้ชีพวายใจจักอยู่ในโลกกวี [v]

ในบทนี้ แสดงความรู้สึกขัดแย้งของกวีที่ว่า การเกิดมาเป็นกวีนั้น ต้องอุทิศชีวิตเพื่อโลกวรรณศิลป์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคนทั่วไป ดังนั้นอาจต้องแยกกัน คือ ใจเท่านั้นที่อยู่ใน “โลกกวี”ได้ แต่ชีวิตก็คงต้องดำเนินไปแบบคนธรรมดา แล้วกวีจะมีชีวิตอย่างไรในโลกที่วุ่นวายเช่นปัจจุบัน


[i] อังคาร กัลยาณพงศ์. กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ :เคล็ดไทย, 2529.)33.
[ii] เรื่องเดียวกัน,128.
[iii] อังคาร กัลยาณพงศ์. ปณิธานกวี,พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กะรัต,2529),23.
[iv] คำเมือง เอกอ้อย. โคลงฉันท์กาพย์กลอน(คำรักคำกวี).(นครพนม : สำนักพิมพ์อักษรธรรม),2546.
[v] จักษณ์ จันทร. “ใจกวี” เมรัยรำพัน. (กรุงเทพฯ : D76,2544).




วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(2)


ศักดิ์และสิทธิ์ของกวีโบราณ

ในวรรณคดีโบราณมักไม่ปรากฏนามของกวีซึ่งเป็นนักปราชญ์ราชสำนัก แต่จะแฝงด้วยเสียงของการให้คุณค่าแก่ผลงานการประพันธ์ในลักษณะ “อัตวิพากษ์” อยู่เสมอด้วยน้ำเสียงอหังการแสดงถึงความทระนงตน เช่นกล่าวยกย่องบทประพันธ์ที่ไพเราะของตนว่ามีค่าเปรียบได้กับพวงมาลาและเครื่องประดับที่มีค่าควรเมือง ดังใน ยวนพ่ายโคลงดั้น กล่าวว่า


สารสยามภาคพร้อง กลกานท นี้ฤๅ

คือคู่มาลาสวรรค ช่อช้อย

เบญญาพิศาลแสดง เดอมเกียรติ พระฤๅ

คือคู่ไหมแสร้งร้อย กึ่งกลาง

เปนสร้อยโสภิตพ้น อุปรมา

โสรมสรวงศิรธิรางค เวี่ยไว้

จงคู่กัลปา ยืนโยค

หายแผ่นดินฟ้าไหม้ อย่าหายฯ


กวีแสดงความภูมิใจและเชื่อมั่นในผลงานของตนว่ามีค่างดงามมากพอที่จะให้อยู่คู่บ้านเมืองไปชั่วกัลปาวสาน แม้จะไม่มีแผ่นฟ้าแผ่นดินแล้วแต่ผลงานนี้ก็ขอให้ยังคงอยู่ คำประพันธ์ที่เป็นเสมือนคำอธิษฐานข้างต้นเป็นภาพเสนอให้เห็นความคิดเชิงอุดมคติที่กวีมีต่อผลงานวรรณศิลป์ ในวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ ก็ปรากฏลักษณะของการประเมินค่าวรรณศิลป์ในทำนองนี้เช่นกัน ดังความตอนหนึ่งว่า


สรวลเสียงขับอ่านอ้าง ใดปาน
ฟังเสนาะใดปูน เปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลกานท์ กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ
เป็นศรีแก่ปากผู้ ผจงฉันท์
คือคู่มาลาสรร เรียบร้อย
เป็นถนิมประดับกรรณ ทุกเมื่อ
กลกระแจะต้องน้อย หนึ่งได้แรงใจฯ
กวีเปรียบบทประพันธ์ของตนว่าเป็นมาลัยที่ร้อยกรองอย่างงดงามประหนึ่งเครื่องประดับหู เมื่อได้ฟังแล้วก็อิ่มเอิบใจดังได้แตะเครื่องหอมแม้เพียงน้อยนิด การประเมินค่าผลงานในลักษณะนี้เป็นขนบอย่างหนึ่งของกวีไทยและได้รับการสืบทอดมาสู่กวีในยุคหลังๆ แม้กวีโบราณจะไม่ประกาศถึงความเป็นกวี แต่ก็แสดงอารมณ์ความรู้สึกหยิ่งทระนงและยกระดับผลงานล้ำค่าให้อยู่คู่ควรเมืองฝากไว้ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป มีบ้างที่เป็นการกล่าวเชิญชวนให้ “รื้อ” และ “เกลา” กลอนได้ ดังที่ว่า

ใดผิดเชอญช่วยรื้อ รอนเสีย
ใดชอบกาลเชอญเกลา กล่าวเข้า

แต่ในวรรคถัดมากวีก็ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงของความเชื่อมั่นในฝีมือการประพันธ์ของตน และยกย่องผลงานนี้เปรียบดังดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างในยามเช้า (พยงพระระพีเพงีย สบสาธุ) ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในผลงานวรรณศิลป์ของตนจึงได้ยกย่องไว้อย่างสูงส่งเช่นนั้น

การที่กวีโบราณยกย่องผลงานวรรณศิลป์ด้วยการฝากไว้ให้เป็นมรดกของชาติและให้คนรุ่นหลานสืบทอดนั้น สะท้อนให้เห็นความคิดเชิงอุดมคติที่ว่า ผลงานวรรณศิลป์ที่รจนาขึ้นจากถ้อยคำอย่างวิจิตรบรรจงนั้น สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและสื่อสารข้ามมิติของเวลาและสังคมวัฒนธรรมได้ เพราะงานวรรณศิลป์นั้นแสดงถึงลักษณะร่วมของมนุษยชาติ แม้กาลเวลา สภาพสังคมและวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่อารมณ์ความรู้สึกและปรัชญาความคิดของกวีก็ยังคงสื่อสารข้ามห้วงกาลเวลามาถึงปัจจุบันได้

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(1)

เพียงนึกเท่านั้นก็เป็นกวี


...ข้ารู้จักความรักเมื่อรักเจ้า รับรู้ว่าความเหงาช่างหน่วงหนัก

ได้รู้รสพิษร้ายแห่งความรัก ได้จ้วงตักความหวานจากธารนี้

ข้าจึงเป็นกวีที่ไหวอ่อน ฝากอักษรกลอนขานวานสักขี

หวานความรักร่ำร่ายมโหรี ข้าจึงเป็นกวีเต็มวิญญาณ [i]



การประกาศความเป็นกวีมักเป็นแนวคิดที่ปรากฏในกวีนิพนธ์ร่วมสมัย สะท้อนให้เห็นความคิดที่ว่า เป็นกวีต้องประกาศอัตลักษณ์ หรือกล่าวถึงการดำรงชีวิตที่มักจะต่างจากคนธรรมดาทั่วไป บางครั้งก็เป็นการย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของความเป็นกวีในสังคมปัจจุบัน การนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้ อาจมีความหมายว่า ความเป็นกวีในสังคมปัจจุบันนั้นกำลังถูกท้าทาย การยืนยันถึงสถานะความเป็นกวีในกวีนิพนธ์ข้างต้นนี้ อาจเกิดจากความไม่แน่ใจและไม่เชื่อมั่นในความเป็นกวี กวีในปัจจุบันก็อาจไม่ต่างจากคนทั่วไปและเป็นกันได้ง่าย ดังที่มีกวีผู้หนึ่งกล่าวว่า

เพียงนึกเท่านั้นก็เป็นกวี ง่ายดายเหลือดีกวีใหม่

มีอารมณ์เสียอย่างมีทางไป สร้างกวีภายในไม่เว้นวัน

ล้วนแล้วด้วยเรื่องของความรัก เรื่องคนอกหัก เรื่องเพ้อฝัน

เรื่องความเข้าใจไม่ตรงกัน เรื่องเธอกับฉันแค่นั้นเอง

มีหมอก น้ำค้าง ความว่างเปล่า มีความเงียบเหงาเข้าข่มเหง

มีน้ำตา ความว้าเหว่ ความวังเวง มีดาวเดือนเอื้อนเพลงอยู่ลิบลิบ

นี่คือข้อมูลที่พูนพร้อม รอการหล่อหลอมอย่างดิบดิบ

รอแรงหัวใจไหวกระซิบ รอการประจงหยิบข้อมูลกวี [ii]


กวีนิพนธ์บทนี้ แสดงน้ำเสียงประชดประชันบรรดากวีใหม่ทั้งหลายว่า สามารถเป็นกวีได้อย่างง่ายดายเพียงแต่ “นึก” เท่านั้นก็เป็นกวีแล้ว เนื้อหาของกวีนิพนธ์จึงมีเพียงแค่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในใจเท่านั้นเองหรือ แล้วกวีจะมีความหมายใด จะมีบทบาทหน้าที่ใดในสังคมปัจจุบัน คำถามเหล่านี้ชวนให้น่าค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความหมายของกวีและกวีนิพนธ์ เพือนำไปสู่การค้นหาสถานะของกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัยในสังคมปัจจุบัน


[i] เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์. “ดวงมณีที่น้อมนำ” บ้านแม่น้ำ .(กรุงเทพฯ :คมบาง,2538),20.

[ii] แรคำ ประโดยคำ, แรคำ (กรุงเทพฯ : คณาธร),2535.



ปั่นแปะ : สัจจะของลูกผู้ชายที่ไม่สมประกอบ


07 มิถุนายน, 2007


"ปั่นแปะ" เป็นเรื่องสั้นของอุเทน พรมแดง นักขยันเขียนผู้มากฝีมือ เขามีผลงานรวมเรื่องสั้นมากมาย ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในวัยเพียงยี่สิบกว่าๆ เท่านั้น

ปั่นแปะเป็นเรื่องของ "ผม" หนุ่มบ้านนาที่มาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เมื่อเขาได้กลับบ้านที่จากมานาน เขาพบกับ "หน่อง" เพื่อนเก่าผู้มีสติไม่สมประกอบอีกครั้งในวงเหล้า หน่องเป็นหนุ่มใหญ่ที่ไม่อาจใช้ชีวิตครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ เพราะสติที่ไม่สมประกอบ แต่เขากลับมีพรสวรรค์ในการพนันและเขารักการพนันเป็นชีวิตจิตใจ ในวงเหล้านั้นเอง "ผม" ได้เล่นปั่นแปะกับหน่องโดยบังเอิญเมื่อเหรียญบาทเหรียญหนึ่งตกจากกระเป๋า การปั่นแปะครั้งนั้น ทำให้เขาพบสัจจะในวงเหล้าจากชายผู้มีสติไม่สมประกอบโดยที่เขานึกไม่ถึง หลังจากเศษสตางค์สูญไปกับการทายหัว-ก้อยจนหมด หน่องก็พนันว่าถ้าเขาแพ้ จะยอมไถนาให้บ้านเขาสามปี และในที่สุดก็ทำตามที่พูดอย่างเคร่งครัด เขาเสียอีกที่ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อเขาได้พบหน่องอีกครั้งและเล่นปั่นแปะกันอีก คราวนี้หน่องพนันด้วยการยอมไถนาให้บ้านเขาสิบปี แต่เขากลับกลัวสัจจะของหน่องเสียแล้ว...


เรื่องนี้มีโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อน แต่มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่การสร้างตัวละครให้ขัดแย้งกัน "ผม"เป็นภาพแทนของคนหมู่มากในสังคมที่ไม่ได้ยึดถือคำพูดอย่างจริงจัง ในขณะที่หน่องเป็นภาพแทนของคนกลุ่มน้อยถึงน้อยมากที่ให้คำสำคัญกับคำสัญญา ความมีสติที่ไม่สมประกอบบอกเราว่า คนอย่างหน่องแทบไม่พบในชีวิตประจำวัน แต่คนอย่าง "ผม" เราพบเห็นได้ทั่วไป ตัวละครที่ขัดแย้งนี้ นำไปสู่ความขัดแย้งของเรื่อง เมื่อ "ผม" ต้องปั่นแปะอีกครั้งด้วยเดิมพันแรงงานสิบปีของหน่อง "ผม"ก็ไม่อยากจะให้ผลออกว่าว่าหน่องแพ้อีก ความขัดแย้งในใจของตัวละครจึงสร้างอารมณ์กดดันให้แก่ผู้อ่านด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาแก่นเรื่องแล้ว เราคงเห็นความคิดของผู้เขียนที่มุ่งนำเสนอความหมายของคำสัญญา ซึ่งหาได้ยากแล้วในสังคมปัจจุบัน เรื่องจึงมุ่งไปที่การสร้างให้เกิดในวงเหล้า และเกิดขึ้นกับตัวละครที่มีสติไม่สมประกอบ แม้ผู้เขียนจะแฝงน้ำเสียงและท่าทีแบบเหลือเชื่อเมื่อ "ผม" รู้ว่าหน่องมาไถนาให้ตามสัญญานานถึงสามปี แต่ผู้เขียนก็น่าจะสื่อสารมายังผู้อ่านว่า ถึงกระนั้นในสังคมที่ผู้คนสนใจแต่ธุระของตนเอง ก็ยังมีคนดีเช่นหน่องหลงเหลืออยู่บ้าง แม้จะหาได้ยากเต็มทีแล้ว

"ปั่นแปะ" อาจเป็นแบบฝึกคิดที่ไม่ยากจนเกินไป โครงเรื่องเชิงเดี่ยวและตัวละครที่ไม่มีพลวัตก็ทำให้เราเข้าถึงสารของเรื่องได้โดยง่าย สิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจให้ต้องขบคิดกันต่อไปอีก ก็เห็นจะเป็นชื่อเรื่อง ปั่นแปะ อาจเป็นเพียงการพนันที่แสนจะธรรมดา แต่ก็สะท้อนความคิดของคนที่มักเห็นภาพเพียงขาว และดำเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงทุกอย่างล้วนมีสีเทาไม่ใช่หรือ คนอย่าง"ผม" ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก คนอย่าง"หน่อง" ก็อาจมีความไม่สมประกอบเป็นมุมมืด โลกเราก็เป็นเช่นนี้เอง ...

Ties That Bind, Ties That Break: ชะตากรรมของสาวจีน


เมื่อไม่นานมานี้ หญิงชราชาวจีนคนหนึ่งมีโอกาสเผยความทุกข์ทรมานที่เก็บไว้เป็นเวลากว่า ๘๐ ปี แม่เฒ่าโจวกุ้ยเจินได้เปิดเผยเท้าทองคำของเธอที่ถูกมัดไว้ตั้งแต่อายุได้ ๖ ขวบ ทำให้เท้าของเธอมีขนาดใกล้เคียงกับซองบุหรี่ เมื่อเธอถอดถุงเท้าออก สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคือ นิ้วเท้างองุ้มผิดรูปผิดร่าง ฝ่าเท้ามีรอยแยกเพื่อกดให้งอเข้าหากัน






วิธีการรัดเท้าก็คือ นำเท้ามาบิดงอรวบนิ้วเท้าทั้งห้าเข้าหากัน จากนั้นพันด้วยผ้าลินินขาวสะอาด ไล่จากหัวแม่เท้ายันปลายเท้าให้แน่น กระดูกรูปเท้าของเด็กหญิงก็จะเติบโตอย่างผิดรูปผิดร่าง ภายใต้รองเท้าเล็กกระจิดริด ซึ่งพวกเธอแต่ละคนทำขึ้นใช้เอง เท้าของเธอเหล่านั้นก็จะถูกบีบให้มีรูปทรงตามที่ผู้ใหญ่ต้องการจนกระทั่งเติบโตขึ้นกลายเป็นคนที่มีเท้าพิการไปตลอดชีวิต

เหตุที่ชายชาวจีนนิยมสาวเท้าเล็กนั้นว่ากันว่ามีมาตั้งแต่ในราชสำนัก มีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า หลี่โฮ่วจู่ มีนิสัยชอบอ่านหนังสือ มีฝีมือด้านอักษรศาสตร์ และจิตรกรรม แต่กลับขาดความสามารถด้านการปกครองประเทศ พระองค์ทรงมีพระสนมนางหนึ่ง เต้นรำอ่อนช้อยงดงาม ใช้ผ้าพันเท้า เท้านางเล็กโค้งงอดั่งพระจันทร์เสี้ยว นางสวมถุงเท้าขาว เต้นระบำอยู่บนดอกบัวที่ทำด้วยทองสูง ๖ ฟุต ลอยละล่องดุจเทพธิดา นางได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากโฮ่วจู่เป็นอย่างมาก คนสมัยต่อมาใช้คำ "จินเหลียน (ดอกบัวทอง)" มาบรรยายเท้าเล็กของหญิงสาว

จากนั้นเป็นต้นมา กระแสนิยมมัดเท้าภายใต้การริเร่มของนักปกครองในสมัยศักดินา ก็ได้สืบทอดต่อๆกันมา ยุคแล้วยุคเล่า นับวันกระแสความนิยมนี้ ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งส่วผู้มีเท้าใหญ่แทบไม่มีโอกาสได้แต่งงาน หญิงสาวชาวจีนถูกกระทำอย่างทารุณเช่นนี้นับเป็นเวลาถึงพันกว่าปี ประเพณีดังกล่าวค่อยแพร่มายังชนชั้นล่าง ด้วยพวกเขาเชื่อว่า จะช่วยยกระดับทางสังคม และเสริมความงามให้กับหญิงสาว จนในที่สุด เท้าของหญิงสาวกลายเป็นเครื่องตัดสินอนาคตชีวิตสมรส และความพึงพอใจทางกามารมณ์ที่ชายพึงมีต่อหญิง ฉะนั้น หญิงสาวแดนมังกรจำนวนมาก จำต้องพิกลพิการเพราะวัตรปฏิบัติ สนองตัณหาชาย


เรื่องราวของสาวมัดเท้ากลายเป็นประเด็นหลักในนวนิยายเรื่อง "Ties That Bind, Ties That Break" กล่าวถึงอ้ายหลินเด็กสาวผู้เกิดในตระกูลเถา ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกหลายคน ตอนเป็นเด็ก เธอมีแม่นมที่ไม่ได้รัดเท้าและต้องจากไปเมื่ออ้ายหลินอายุได้ ๔ ขวบ จากนั้นเธอก็มีพี่เลี้ยงคนใหม่ วันหนึ่งคุณนายหลิวพาหานเหว่ยมาดูตัวอ้ายหลินเพื่อจะให้หมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเห็นอ้ายหลินไม่ได้มัดเท้า คุณนายหลิวก็ไม่พอใจ แม่ของอ้ายหลินจึงพูดให้เธอมัดเท้า เพื่อจะได้แต่งงานกับหานเหว่ยซึ่งมีฐานะดี จะได้มาช่วยเรื่องธุรกิจของบ้าน





เมื่ออ้ายหลินเห็นพี่สาวถูกมัดเท้า และรู้ว่าจะเดินไปไหนมาไหนตามปกติไม่ได้ อ้ายหลินก็ไม่ยอมมัดเท้า ทำให้หานเหว่ยยกเลิกการหมั้นหมายกับเธอ อ้ายหลินขอพ่อไปเรียนหนังสือ เธอสนใจประวัติศาสตร์โลก ทำให้เธอมีโลกกว้าง ได้เรียนกับครูต่างชาติ ที่โรงเรียนเธอได้รู้จักซื่อหยัน ซึ่งสนใจจะเรียนแพทย์และตั้งใจจะเลี้ยงตัวเองโดยไม่คิดจะแต่งงาน (ซื่อหยันคนนี้ น่าจะเป็นนางเอกในนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของลินซีย์ นามิโอกะ ชื่อ An Ocean Apart, A World Away ( 2002 ) อ้ายหลินประทับใจวิธีคิดของซื่อหยันมาก


ต่อมาฐานะของครอบครัวก็เปลี่ยนไป เมื่อยายและพ่อเสียชีวิต ลุงก็บอกเธอว่าไม่มีเงินจะส่งเสียให้เรียนต่อ ครูฝรั่งจึงแนะนำให้เธอทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กของครอบครัววอนเนอร์ และต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัววอนเนอร์ เมื่อครอบครัวนี้ต้องย้ายกลับไปซานฟรานซิสโก พวกเขาจึงพาอ้ายหลินไปด้วย ขณะเดินทางเธอได้พบกับซื่อหยันเพื่อนเก่า และได้พบกับเจมส์ ซึ่งทึ่งในความสามารถของอ้ายหลิน เมื่อมาอยู่ที่อเมริกา อ้ายหลินรู้สึกเป็นอิสระจากประเพณีจีนที่กดรัดเธอไว้ คนอเมริกันจะรังเกียจสาวจีนที่ถูกมัดเท้า อ้ายหลินจึงอยู่ในอเมริกาได้ปกติสุขกว่าอยู่ที่จีน





เมื่อเจมส์ได้พบกับอ้ายหลินอีกครั้ง เขาก็ขออ้ายหลินแต่งงานทั้งสองช่วยกันทำร้านอาหารในไชน่าทาวน์ เมื่อหานเหว่ยได้พบกับอ้ายหลินอีกครั้งเขาเสียใจที่เธอไม่รอเขา และสังคมจีนก็เปลี่ยนแปลงไป ประเพณีมัดเท้าถูกยกเลิก ผู้หญิงก็มีการศึกษามากขึ้น มีโอกาสในการเลือกคู่มากขึ้นเช่นเดียวกับอ้ายหลิน


ประเพณีมัดเท้าของจีนโบราณ เกิดขึ้นจากค่านิยมเพื่อให้หญิงสาวได้รับการยกย่องจากชาย แต่ในนวนิยายเรื่องนี้กลับนำเสนอแนวคิดในทางตรงกันข้าม เจมส์ขออ้ายหลินแต่งงานก็เพราะเธอไม่ได้มัดเท้าเฉกเช่นเด็กสาวชาวจีนทั่วไป ความกล้าหาญที่จะแหวกขนบประเพณีของอ้ายหลิน เป็นแรงผลักดันให้เธอประสบความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตที่แตกต่างโดยแท้


ขอบคุณ "ประสิทธิ์ เพชรหนูเสด" ที่แนะนำนวนิยายเรื่องนี้มาให้ ขอบคุณนามิโอกะที่สะท้อนภาพความหาญกล้าของสาวจีนคนหนึ่งให้เราประจักษ์ถึงพลังการต่อสู้และความตั้งใจที่แน่วแน่

ถ้าชีวิตได้พบกับเทวดา...เทวดาที่โหล่



ข่าวที่ทำให้เกิดความเศร้าต้อนรับฤดูกาลเปิดเทอมใหม่ คงไม่พ้นเรื่องเอ็น' ไม่ติด ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกแอดมิดชั่นแล้ว แต่ความรู้สึกคงไม่ต่างกัน นั่นก็คือต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นเลิศทางวิชาการเพื่อให้เป็นหนึ่งที่ได้เรียนดังที่ใจหวัง มีบทความหลายบทที่ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องของการสอบแข่งและผิดหวังไว้อย่างน่าสนใจ เช่นเรื่อง เมื่อความรักของพ่อแม่วัดค่าลูกที่ “ความเก่ง” ของสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ซึ่งก็มีประเด็นให้ต้องบรรดาพ่อแม่ต้องขบคิดกันต่ออีกมากมาย


หากคนเราตั้งความหวังไว้กับสิ่งใดมาก ในยามที่ผิดหวัง ก็ย่อมเสียใจมากเช่นกัน คงเหมือนน้องต้นที่หวังไว้ว่าจะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ได้ในปีนี้ เขาเผชิญกับความผิดหวังมาครั้งหนึ่งแล้ว และในครั้งนี้ก็พกความหวังมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่แล้ว..น้องต้นก็พลาดอีก ถ้าเพียงแต่น้องต้นได้พบเทวดา.... น้องต้นคงไม่คิดฆ่าตัวตายเทวดาที่ว่านี้ ก็คือ เทวดาที่โหล่ ซึ่งมีคำโปรยว่า นิยายอบอุ่นอ่อนโยนที่ส่งเสริมให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของ'ความพยายาม' ผู้เขียนคือ โอคะดะ จุน แปลโดยปริวัณย์ เยี่ยมแสนสุข (153 หน้า ราคา 140 บาท)
คิโนชิตะ ฮาจิเม เพิ่งย้ายเข้ามาเรียนชั้นประถม 4 หลังจากต้องสูญเสียพ่อไป พ่อผู้มีแต่ความมุ่งมั่น แข่งขันและพยายาม เมื่อพ่อจากไป ฮาจิเมจึงได้รับการปลูกฝังจากแม่ให้ห่างไกลจากการแข่งขันให้เป็นที่หนึ่ง เมื่อเขาต้องเข้าโรงเรียนแห่งใหม่ที่จัดลำดับที่นั่งตามผลคะแนนสอบ คนที่ได้คะแนนดีที่สุดจะนั่งหน้าห้อง ฮาจิเมจึงเหลือที่นั่งหลังสุดของห้อง และที่นั้นเอง ฮาจิเมได้พบเทวดาตังจิ๋ว มีปีกเล็กๆ ตัวโปร่งใส "เทวดาที่โหล่" นั่นเอง

เราอาจเห็นความน่ารักของความพยายามที่จะเลิกแข่งขันของเด็กๆ แล้วหันมาช่วยกันเรียนหนังสือจนได้คะแนนสูงขึ้นกันทั้งห้อง และแน่นอน หนังสือเล่มนี้ ย่อมไม่ได้สอนแค่เด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยิ่งต้องการพบเทวดาที่โหล่ เพื่อว่า เราจะได้ทำงานเป็นทีมด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจะเป็น I am the best. เพราะชีวิตนี้สั้นนัก จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะทำร้ายตัวเองอย่างนั้นแม้แต่นิดเดียว

หากสนใจบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ "นรา" เขียนไว้ดีเชียวค่ะ ลองคลิกตามไปอ่านกัน แล้วจะรู้ว่าหนังสือเด็กมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด

เซี่ยงไฮ้เบบี้ : เรื่องเล่าความในใจของหญิงจีนยุคใหม่



นวนิยายเรื่อง "เซี่ยงไฮ้เบบี้ (Shanghai Baby หรือ 上海宝贝)" กล่าวถึงนิกกิหรือโกโก้ หญิงสาวที่เกิดมาในครอบครัวจีนที่ออกจะหัวโบราณ พ่อและแม่จึงรับไม่ได้ที่ลูกสาวจะย้ายออกไปอยู่กับแฟนหนุ่มโดยไม่แคร์ต่อสายตาเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่อาจยับยั้งเธอได้ เธอย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์กับเทียนเทียนโดยบอกว่าจะไปเป็นสาวเสิร์ฟในร้านกาแฟเพื่อจะได้ข้อมูลมาเขียนนวนิยาย จากการใช้ชีวิตอิสระทำให้เธอได้พบกับความรักหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบผูกพันอย่างลึกซึ้งกับเทียนเทียน ศิลปินหนุ่มที่มีปัญหาครอบครัว เขาเป็นชายคนรักที่ไม่อาจให้ความสุขทางเพศแก่เธอได้ หรือความรักแบบผิวเผินระหว่างมาร์ค หนุ่มเยอรมันที่มีครอบครัวแล้ว แต่บังเอิญมาพบกับเธอ และเขารู้ว่าเธอขาดอะไร ซึ่งเขาก็ตอบสนองให้เธอเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ต้องจากลา นวนิยายเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวความรัก ความสุข ความโศกเศร้าที่แยกไม่ออกว่าเกิดจากความรักหรือความใคร่ หรือทั้งสองอย่างปนๆ กันไป

นวนิยายเริ่มเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครเอกว่า “ฉันชื่อนิกกิ แต่เพื่อนๆ เรียกฉันว่าโกโก้ ตามชื่อโกโก้ ชาเนลดีไซเนอร์หญิงชาวฝรั่งเศสที่มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี เธอเป็นบุคคลในดวงใจฉันรองจากเฮนรี มิลเลอร์ ทุกๆ เช้าฉันจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความคิดที่ว่า ทำอย่างไรฉันจะโด่งดังมีชื่อเสียง ทำอย่างไรชื่อของฉันจะพวยพุ่งเจิดจ้าขึ้นกลางเมืองเหมือนดอกไม้ไฟ มันเป็นแรงทะยานอยากและเกือบจะเป็นเหตุผลเดียวในการมีชีวิตอยู่ของฉัน...” การมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วท่ามกลางการดิ้นรนต่อสู้ของสังคมเมืองใหม่อย่างเซี่ยงไฮ้ เป็นเนื้อหาหลักของนวนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ตีแผ่ความปรารถนาอย่างร้อนแรงของหญิงคนหนึ่งที่มีความพึงพอใจในเพศรสและคิดถึงอยู่ตลอดเวลา การดำรงชีวิตกับแฟนหนุ่มที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศจึงเป็นความทุกข์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เธอก็มีทางออกแม้ว่าจะสำนึกผิดทุกครั้งที่ทำตัวคล้ายนอกใจคนรัก เธออดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเธอ ก็จะเป็นเนื้อหาของนวนิยายเรื่องแรกที่จะทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังนั่นเอง

นับว่านวนิยายเรื่องนี้แหวกขนบของการเป็นนวนิยายจีนอย่างสิ้นเชิง ไม่แปลกที่ทางการจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่และมีการสั่งเผา ศาสตราจารย์เก้าหยวนเป่ นักวิจารณ์วรรณกรรมแห่งคณะวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยฟู่ตัน กล่าวต่อต้านงานเขียนของเว่ย ฮุ่ยว่า นักศึกษาของเขาไม่ชอบงานของเว่ย ฮุ่ย และไม่เชื่อว่ามันเป็นตัวแทนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ เป็นเหมือนแฟชั่นที่ไม่ช้าก็จะหายไปจากวงวรรณกรรมจีนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ายิ่งมีกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง นวนิยายเรื่องนี้ยิ่งถูกลักลอบนำมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ก๊อปปี้ขายอย่างผิดกฎหมาย และในทางตรงข้ามกลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจนเป็น “international bestseller” โดยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย
คำ ผกา

หากจะอ่านนวนิยายเรื่องนี้แบบนักวรรณคดีศึกษา คงเห็นความลุ่มลึกของตัวละครหญิงโกโก้ที่กล้าเผยความรู้สึกโดยเฉพาะเรื่องเพศได้อย่างถึงแก่น แต่ถ้าจะหาสาเหตุของความกล้าที่แหวกขนบ อาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ที่เจริญทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมความทะเยอทะยานอยากมีชื่อเสียงในชั่วเวลาข้ามคืนให้แก่ตัวละครเอก


อีกประการหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในแต่ละบทของนวนิยายเรื่องนี้ จะมีข้อความของนักเขียนชื่อดังยกมานำเรื่อง ข้อความนั้นมักสอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละตอน ซึ่งก็เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง ดังตัวอย่าง

ท้ายหน้านี้ ขอขอบคุณ "ณัฐา ค้ำชู" ที่แนะนำนวนิยายเรื่องนี้ให้รู้จัก รวมทั้งการได้พูดคุยกันแล้วเลยต้องหามาอ่านจนอิ่ม

จาก "ฉวนเหยา" ถึง "เว่ยฮุ่ย"

ครั้งก่อนพูดถึงนวนิยายของฉวนเหยา ทีแรกเข้าใจว่าชื่อของเธออาจไม่คุ้นหู แต่เมื่อหาชื่อในกูเกิลพบว่า นักเขียนชาวไต้หวันคนนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่นักอ่านนวนิยายจีน ชื่อของเธอนั้น บางคนออกเสียงว่า ฉงเหยา และเปรียบเธอว่าเป็น ทมยันตี หรือ บุษยมาส ของเมืองไทย ผลงานของเธอมักได้รับการคัดเลือกมาสร้างเป็นภาพยนตร์และเป็นละครโทรทัศน์หลายเรื่อง

เมื่อชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จึงมีนักแปลเลือกนวนิยายของเธอมาแปลเป็นภาษาไทยหลายเรื่องแล้ว เช่นเรื่อง ดั่งคนละฟากฟ้า

มีคำโปรยถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่า"ชีวิตคนก็เหมือนท้องฟ้า ยามเมื่อฟ้าหม่นเมฆหมอกบดบัง ชีวิตก็เหี่ยวเฉา แต่ยามใดเมื่อฟ้าโปร่งไร้ก้อนเมฆ ชีวิตก็สดใสอีกครั้ง ขอเพียงตั้งปณิธานให้กับตัวเองว่าจะต้องรอดูท้องฟ้าที่สดใสให้ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้างก็จำต้องอดทนเพื่อวันแห่งความสุขจะได้กลับมาเยือนอีกครา"

“ดั่งคนละฟากฟ้า” เป็นนวนิยายชีวิตที่ผู้เขียนคือ ฉวนเหยา ได้หยิบยกประเด็นความรักอันยิ่งใหญ่ระหว่างพี่น้องที่รักใคร่ห่วงหา-อาทรกันตลอดเวลา แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด แต่ก็ยังยึดมั่นในสำนวนที่ว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” ความรักที่ยิ่งใหญ่เปิดเผย และหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเอง" (ดั่งคนละฟากฟ้า โดย ฉวนเหยา เขียน / น.นพรัตน์ แปล : สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งที่ 1: กรกฎาคม 2538 ความหนา 180 หน้า) นักอ่านที่ชื่นชอบนวนิยายรักหวานซึ้งก็คงจะติดตามผลงานของเธอในฉบับภาษาไทยอีกหลายเรื่องต่อไป


นักเขียนจีนหญิงอีกคนที่มีคนพูดถึงกันคือ เว่ยฮุ่ย ที่จริงเธอผู้นี้ได้รับการกล่าวขานมาสักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อ "คำ ผกา" แปลนวนิยายเรื่องเซี่ยงไฮ้เบบี้ และได้รับการตอบรับจากนักอ่านอย่างล้นหลามจนต้องพิมพ์หลายครั้ง และชื่อของเว่ยฮุ่ยก็เป็นที่ติดตามของนักอ่านคนไทยมาจนถึงปัจจุบันเว่ย ฮุ่ย (卫慧) เป็นนักเขียนหญิงชาวจีนรุ่นใหม่ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1973 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยฟู่ตัน เคยทำงานเป็นนักข่าว บรรณาธิการ ผู้จัดรายการโทรทัศน์ เคยเขียนบทละคร กำกับและแสดงเอง ทั้งยังเคยเป็นพนักงานต้อนรับในร้านกาแฟ มีผลงานมาแล้ว ๖ เล่ม คือ รวมเรื่องสั้นชุดเสียงกรีดร้องของผีเสื้อ พรหมจรรย์ในสายน้ำ ปืนปรารถนา บ้าอย่างเว่ย ฮุ่ย เซี่ยงไฮ้เบบี้ และ ฌานของฉัน เธอถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “กลุ่มนักเขียนที่เกิดในยุคปี 70” ที่ถูกสังคมจีนวิพากษ์ว่ามักนำเสนอเรื่องราวไร้สาระ เปิดเผยเรื่องเพศ และไม่มีคุณค่าจรรโลงสังคม
คราวหน้าจะเล่าถึง เซี่ยงไฮ้เบบี้ นวนิยายที่มีคำโปรยว่า “หนังสืออื้อฉาวที่ทางการจีนสั่งห้ามขายและถูกสั่งเผาไปแล้วกว่าสี่หมื่นเล่ม”

เล่ห์รักสลักใจ : พล็อตปลอมตัวยังไงก็ได้ผล



เมื่อคืนเพิ่งอ่าน เล่ห์รักสลักใจ นวนิยายจีนร่วมสมัยของฉวนเหยา ถอดความโดยอรจิรา เราอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าคือคนที่เขียนเรื่องตำนานรักดอกเหมยและองค์หญิงกำมะลอ ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เราคงร้องอ๋อกันเพราะคุ้นกับแนวเรื่องรักๆ หวานๆ ของนักประพันธ์ชาวไต้หวันคนนี้มากกว่าเล่ห์รักสลักใจ เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวสวยคนหนึ่งเพิ่งเรียนจบและมาสมัครงานที่บริษัทใหญ่ในตำแหน่งเลขานุการ เธอได้รับการคัดเลือกจากใบสมัครมากมาย


หลายคนเริ่มเดาเรื่องได้แล้วว่าจากเจ้านายกับเลขาฯก็จะกลายเป็นความรักแน่ พล็อตไม่ง่ายแบบนั้นหรอก เพราะเจ้านายอายุมากแล้วรุ่นคุณพ่อ เรื่องดำเนินไปโดยให้เลขาสาวสวยล่วงรู้ปมปัญหาในครอบครัวของเจ้านาย เธอรู้ความลับว่า เลขาของเจ้านายทุกคนมักลงท้ายด้วยการแต่งงานกับคนในครอบครัวของเจ้านาย เธอจึงเริ่มระวังตัวที่จะไม่เป็นคนต่อไป เธอจึงคบกับชายหนุ่มพนักงานระดับล่างหน้าตาดีคนหนึ่ง ที่เข้ามาใกล้ชิดกับเธอตั้งแต่วันแรกของการเป็นพนักงานในบริษัทนี้ คราวนี้คงเดาทางถูกแล้ว กับชื่อเรื่องเล่ห์รัก ชายหนุ่มผู้ยากจนและต่ำต้อย แท้จริงแล้วก็คือลูกชายเจ้านายนั่นเอง


ว้า...เฉลยซะแล้ว คราวนี้ก็คงจะอ่านไม่สนุกล่ะสิ ..เปล่าเลย เฉาหยวนยังสร้างเรื่องราวที่ชวนให้เราติดตามไปได้เรื่อยๆ ทำให้เราคอยลุ้นว่าคนทั้งสองจะลงเอยอย่างไร และยังมีเรื่องราวความรักของเพื่อนสาวอีกคนหนึ่งด้วยว่า เธอจะสมหวังหรือไม่ ก็นับว่าเป็นนวนิยายที่อ่านสนุกเรื่องหนึ่งเหมือนกันนะ
ถ้าจะอ่านเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว เราอาจจะต้องกลับมานั่งคิดพิจารณาว่า ด้วยพล็อตปลอมตัวธรรมดาๆ เหตุใดถึงยังเป็นเรื่องที่นักอ่านนิยมชมชอบอยู่ ทั้งๆ ที่เรื่องแนวนี้เขียนมาตั้งแต่สมัยคุณยายยังสาว น่าคิดว่าโลกในจินตนาการสร้างให้เรามีหนทางหนีจากความจริงที่ร้ายๆ เราคงไม่อยากอ่านเรื่องเครียดๆ ที่หญิงสาวเจอชายหนุ่มหน้าตาดี ฐานะร่ำรวย แต่ผลสุดท้ายพบว่าเป็นเศรษฐีจอมปลอมแบบในชีวิตจริงของใครหลายคน ความเป็นนวนิยายจึงสร้างเรื่องที่สวยงามและจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งมากกว่า เหมือนกับว่าให้เราสุขในฝันแล้วตื่นมายอมรับกับความเป็นจริงว่าไม่ได้สวยงามอย่างในนิยายก็ยังดีกว่า จริงมั้ย
หากจะศึกษานวนิยายเรื่องนี้ในฐานะสื่อทางวัฒนธรรมของจีนแล้ว เราอาจไม่เห็นอะไรนอกจากการหล่อหลอมความฝันแบบทุนนิยมเข้าไปในจิตใจของนักอ่านรุ่นใหม่ ไม่แน่ใจว่านักอ่านคนจีนจะอ่านงานของนักประพันธ์รุ่นคุณแม่ยังสาวผู้นี้อยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เราไม่เห็นสภาพสังคมหรือความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือวิธีคิดของคนจีนแม้แต่น้อย เรื่องมันลอยๆ อยู่ท่ามกลางความรักความสับสนในใจของหนุ่มสาวแค่นั้น ไม่ได้ผูกดึงไว้กับสังคมจีน เราอาจเห็นสภาพความเป็นอยู่ในสังคมเมืองใหญ่อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างฉาบฉวย ถ้าว่างๆ ก็ลองหามาอ่านดูนะคะของสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ ราคา 180 บาท อ่านเอาสนุกๆ และนอนหลับฝันดีก็พอแล้วค่ะ

กากี : เดิมพันในเกมการต่อสู้ของผู้ชาย



กากีเป็นตัวละครเอกหญิงในวรรณคดีไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงชั่วเพราะความใจง่ายและมักมากในกามคุณ นับตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจวบจนปัจจุบัน เรื่องราวของนางซึ่งมีมาจากชาดกเรื่อง กากาติชาดก และสุสันธีชาดก ก็ได้ถูกนำไปแต่งเป็นคำประพันธ์หลายรูปแบบเช่น กาพย์เห่เรือ กลอนอ่าน บทละคร บทมโหรี เนื้อเพลงไทยสากล และแม้แต่เพลงกล่อมเด็ก อย่างไรก็ตาม สำนวนเรื่องกากีที่ถือกันว่าสร้างเนื้อเรื่องได้ครบสมบูรณ์และใช้โวหารไพเราะที่สุดก็คือ กากีกลอนสุภาพของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งดูเผินๆ ก็มีจุดมุ่งหมายในการแต่งเหมือนสำนวนอื่นๆ คือมุ่งสาธิตให้เห็นความมีใจโลเลของสตรีเพศ ดังคำกล่าวในตอนต้นเรื่องว่า "หวังแสดงแห่งจิตหญิงพาล ให้ชายชาญรู้เชิงกระสัตรี"

ทว่า เมื่อลองพินิจอ่าน กากีกลอนสุภาพ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆในเรื่องอย่างละเอียดเราจะพบว่าประเด็นที่โดดเด่นน่าสนใจในวรรณกรรมเรื่องนี้กลับมิใช่พฤติกรรมอันเลวร้ายของสตรี หากแต่เป็นการแข่งขันชิงดีกันในระหว่างบุรุษ โดยนางกากีมีบทบาทเป็นเพียง "เดิมพัน"


เนื้อเรื่องใน กากีกลอนสุภาพ นั้นมีอยู่ว่า เมื่อครั้งอดีตชาติพระโพธิสัตว์มาเสวยพระชาติเป็นพระยาครุฑ พระยาครุฑได้แปลงกายเป็นมานพมาเล่นสกากับพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีแล้วลอบลักนางกากีมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตไปร่วมอภิรมย์ ณ วิมานสิมพลีพระเจ้าพรหมทัตเสียพระทัยมากที่นางหายไป จึงได้ให้คนธรรพ์ พี่เลี้ยงไปตามหานาง คนธรรพ์แน่ใจว่าต้นเหตุที่ทำให้นางหายไปคือพระยาครุฑ คนธรรพ์จึงแปลงตัวเป็นไรแอบในขนปีกของพระยาครุฑตามไปจนถึงวิมานสิมพลี และได้ร่วมอภิรมย์กับนาง เมื่อกลับไปยังพาราณสี คนธรรพ์ได้ดีดพิณและขับเพลงมีความนัยถึงนาง ให้บุรุษทั้งสองฟัง และได้รับรางวัลตอบแทน พระยาครุฑกลับไปคาดคั้นกับนางเรื่องคนธรรพ์ แต่นางไม่ยอมรับพระยาครุฑจึงบริภาษอย่างรุนแรงแล้วพานางมาคืนพระเจ้าพรหมทัต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้พบก็บริภาษและลงโทษนางด้วยการลอยแพ


ในท้องเรื่อง นางกากีแทบมิได้มีบทบาทเป็นผู้กระทำเลย เหตุการณ์สำคัญในเรื่องนั้นเกิดจาการกระทำของตัวละครชายทั้งสิ้น ได้แก่ พระยาครุฑลักนางกากีพระเจ้าพรหมทัตคร่ำครวญถึงนางและใช้ให้คนธรรพ์ไปตามนางคนธรรพ์ตามไปพบนางและได้ร่วมอภิรมย์ - คนธรรพ์เย้ยพระยาครุฑ - พระยาครุฑพานางพานางมาคืนพระเจ้าพรหมทัตลงโทษนาง จะเห็นได้ว่าตลอดเรื่องนางมีบทบาทเป็นผู้ถูกกระทำ(passive)จะว่าไปแล้ว นางกากีเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของความเลวร้ายตามที่ฝ่ายชายเป็นตัวกำหนด ตั้งแต่ชื่อของนางซึ่งฟังดูไม่ไพเราะเนื่องจากการซ้ำเสียงพยัญชนะจากลำคอประกอบกับรากศัพท์ของคำนี้มีความหมายว่า "อีกา" ซึ่งในขนบของวรรณคดีไทยถือว่าเป็นสัตว์อัปมงคลและมีนิสัยไม่ดี ในเนื้อเรื่องนางกากีเองก็ไม่ปรากฏคุณสมบัติอื่นใดนอกจากการเป็นหญิงงามและมีกลิ่นหอมหวนยวนใจเท่านั้น นางจึงเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่คอยรองรับการกระทำต่างๆของละครชาย แต่บทบาทที่ passive นี้เองกลับเป็นปัจจัยที่ทำให้นางถูกตราหน้าว่าชั่วร้ายอันที่จริงพฤติกรรมมากชู้หลายผัวของกากีถูกกำหนดขึ้นจากความจำเป็นด้านการเล่าเรื่องในอันที่จะทำให้ตัวละครชายทั้งหลายได้มาสัมพันธ์กัน หน้าที่ของนางคือเชื่องโยงชายทั้งสามคนให้มาแข่งกันเพื่อที่จะได้สมสู่กับนาง แต่ละคนจะใช้คุณสมบัติต่างๆ กันเพื่อครอบครองนาง พระเจ้าพรหมทัตเป็นเจ้าของนางด้วยอำนาจราชศักดิ์ พระยาครุฑใช้รูปและคารมเกี้ยวพาราสีนางจนได้สมปรารถนา ส่วนคนธรรพ์ก็ใช้เล่ห์กลเป็นเครื่องมือพิชิตนางเป็นคนสุดท้าย ได้หยามทั้งพระยาครุฑและลบหลู่พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นนายไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสิ่งที่น่าสนใจควรพิจารณายิ่งเสียกว่าความมากชู้หลายผัวของกากีก็คือ พฤติกรรมของตัวละครชายทั้งสาม ซึ่งอาจจะช่วยให้เราสามารถประเมินบทบาทกากีเสียใหม่


พระยาครุฑผู้ก่อเหตุ


ใน กากีกลอนสุภาพ ตัวละครพระยาครุฑมีสถานะกึ่งเทพกึ่งสัตว์ มีอิทธิฤทธิ์เหนือคนธรรมดาแต่ก็มีสัญชาตญาณของความเป็นสัตว์อยู่ด้วย อาจกล่าวได้ว่าถ้าจะพิจารณาสถานะของตัวละครนี้โดยคำนึงถึงชาดกเรื่องอื่นๆด้วยแล้ว พระยาครุฑก็จัดเป็นตัวละครเอกของเรื่องกล่าวคือเป็นการมาเสวยพระชาติของพระโพธิสัตว์เพื่อสั่งสม "บารมี" แม้ว่าจะไม่ปรากฏชัดว่าเป็นปัญญาบารมี แต่ก็เป็นบารมีที่นำไปสู่ "ความรู้" บางประการพระยาครุฑนั้นเป็นตัวดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการใช้กำลังพานางกากีไปไว้ที่วิมานสิมพลี ทั้งๆที่รู้ว่ากากีเป็นมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต แต่พระยาครุฑก็มิได้ "เกรง" ด้วยเห็นว่าพระเจ้าพรหมทัตเป็นเพียงมนุษย์เดินดินเท่านั้น และแล้วพระยาครุฑเองที่เป็นผู้พาคนธรรพ์แฝงตัวไปเป็นชู้กับนางกากีทำให้พระยาครุฑเกิดความคั่งแค้นถึงกับรำพันออกมาว่า


เราเสียแก้วกากีศรีสวาท

เพราะประมาทไม่ถนอมเป็นจอมขวัญ

เสียฤทธิ์เพราะไม่คิดจะป้องกัน

คนธรรพ์มันจึ่งแทรกเข้าซ้อนกล

ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้

ถึงเสียชู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน

เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน

จำจนจำพรากอาลัยลาญ


การสูญเสียของพระยาครุฑ (ซึ่งทั้งเสียฤทธิ์ เสียรัก และเสียชู้) เป็นความสูญเสียที่ปราศจากการชดเชยใดๆเลยหรือหามิได้ สิ่งที่พระยาครุฑได้รับ ตอบแทนกลับมานั้นน่าจะมีค่ายิ่งกว่าสิ่งที่เสียไปอย่างประมาณมิได้ เพราะครั้งนี้ "เสียรักก็ได้รู้ ถึงเสียชู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน" หากจะอ่านเฉพาะตามท้องเรื่องแล้ว"เชาวน์ที่เฉาฉงน" อาจหมายถึงเพียงคำเฉลยในสิ่งที่พระยาครุฑสงสัยไม่รู้ เกี่ยวกับพฤติกรรมของนางกากี แต่ถ้าอ่านให้ลึกซึ้งไปกว่าเนื้อเรื่องก็น่าจะเข้าใจได้ว่า"เชาวน์" นั้นคือการตระหนักล่วงรู้ถึงธาตุแท้และความเป็นไปของมนุษย์ อันได้แก่ความรวนเรของน้ำใจ และข้อเท็จจริงที่ว่าการแย่งชิงเอาของผู้ใดมาครอบครองย่อมไม่ยั่งยืน จะต้องถูกแย่งชิงไปอีกต่อหนึ่งจนได้ แน่นอนที่ในระดับของการเสวยพระชาติเป็นพระยาครุฑ การเรียนรู้นี้ยังมิได้บรรลุถึงขั้นรู้แจ้งสว่างอย่างปีติ สิ่งที่รู้แม้จะเป็นสัจจะแต่ก็นำมาซึ่งความรู้สึกสลดงงงันแก่ผู้ยังมีจิตใจจำกัดแบบมนุษย์ปุถุชน กระนั้นก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในมิติของชาดกเท่าที่มีอยู่ในนิยายเรื่องนี้นางกากีมีบทบาทเป็นเครื่องมือสาธิตกฏแห่งกรรมแบบพื้นๆได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรมทีเดียว


คนธรรพ์ผู้ฉวยโอกาส


ในเรื่อง กากีกลอนสุภาพ นี้ บรรยายว่าคนธรรพ์เป็นยักษ์(ครึ่งมนุษย์ครึ่งอสูร) มีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่ขับร้องและดีดพิณถวายพระเจ้าพรหมทัต มีนิสัยช่างสังเกตและมีปัญญา จึงสันนิษฐานได้ว่าต้นเหตุที่นางกากีหายไปน่าจะมาจากพระยาครุฑ นอกจากนี้คนธรรพ์ยังเป็นผู้ที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เห็นได้จากตอนที่คนธรรพ์รู้ดีว่า จะกล่าวเช่นไรกับพระเจ้าพรหมทัตจึงจะได้รับความดีความชอบ ดังคำกลอนที่ทูลพระเจ้าพรหมทัตว่าเมื่อพระองค์ทรงสกากับมาณพข้าเบือนพักตร์พอพบก็ดาลถวิลเห็นตาชายต่อตายุพาพินข้าคิดกินใจช้ำระกำแทนพอเกิดการโกลาในอากาศเห็นสมมาดนางหายข้าหมายแม่นคนธรรพ์ได้กล่าวด้วยถ้อยคำที่เข้าใจความรู้สึกของพระเจ้าพรหมทัตและทำให้พระองค์เกิดความไว้วางใจในตัวคนธรรพ์จนใช้ให้ไปตามนางกากีกลับมา แต่คนธรรพ์ก็ได้หยามศักดิ์ศรีของพระเจ้าพรหมทัตด้วยการร่วมอภิรมย์กับนางกากีผู้เป็นมเหสีของเจ้าเหนือหัว และใช้นางเป็นเครื่องมือในการดูหมิ่นเชิงชายถึงสองคน เมื่อคนธรรพ์กลับมาทูลต่อพระเจ้าพรหมทัต ก็กล่าวเท็จถึงท่าทีของนางกากีเพื่อปกปิดความผิดของตนเอง คนธรรพ์จึงเป็นตัวละครที่เห็นแก่ตัว และนอกจากจะหมิ่นชายถึงสองคนแล้ว ยังเหยียดหยามสตรีเพศมากที่สุดอีกด้วย ดังที่คิดกับนางกากีว่า"ประเวณีสตรีได้เตร่จิต จำจะคิดเหมือนเอาเสี้ยนมาบ่งหนาม จะเย้ายั่วให้มัวในกลกาม" เมื่อคนธรรพ์สบโอกาสขับเพลงเยาะเย้ยพระยาครุฑ คนธรรพ์ก็ยั่วยุให้พระยาครุฑเกิดความโกรธแค้นด้วยถ้อยคำแสดงความเวทนา


ว่าพลางขับครวญกระบวนพิณ

โอ้กลิ่นกากีพี่หมายมั่น

เสียดายพักตร์รับพักตร์พี่เมียงมัน

(....)

นิจจาเอ๋ยชวดเชยเพราะสองชู้

ถ้าคงคู่ก็ไม่ร้างภิรมย์ขวัญ

เวทนาด้วยพระยาสุบรรณครัน

ขับแล้วอภิวันท์กษัตราฯ


อาจกล่าวได้ว่า ในเกมการต่อสู้ระหว่างชายทั้งสาม คนธรรพ์เป็นผู้ได้รับชัยชนะ เพราะสามารถหยามศักดิ์ศรีชายอีกสองคนได้ เป็นที่น่าสังเกตอีกด้วยว่าโดยฐานะทางสังคมแล้ว คนธรรพ์นับว่าอยู่ในฐานะตกต่ำสุดในบรรดาชายทั้งสาม ดังนั้นจึงเท่ากับว่านางกากีก็มีบทบาทเป็นเครื่องมือให้คนธรรพ์สามารถใช้ไหวพริบและความกล้าหาญ บ่อนเซาะอำนาจของเจ้าเหนือหัว และศักดิ์ศรีของราชอาคันตุกะของพระองค์เพื่อชดเชยความมีสถานะด้อยกว่า อีกทั้งนางยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของรางวัลอีกด้วย


พระเจ้าพรหมทัตผู้สูญเสียทุกสิ่ง


พระเจ้าพรหมทัตเป็นตัวละครที่อยู่ในฐานะสูงสุดในท้องเรื่อง เพราะทรงเป็นถึงเจ้าครองนคร และทรงครอบครองนางกากีซึ่งเป็นมเหสีโดยชอบธรรม แต่แล้วพระองค์ก็ต้องสูญเสียนางผู้เป็นที่รัก เสียมิตร เสียศักดิ์และสิทธิ์ต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และยิ่งกว่านั้นก็เสียเชิงชายให้แก่คนธรรพ์และพระยาครุฑอีกด้วย เมื่อคนธรรพ์กลับมาทูลว่าได้พบนางกากีแล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่าพระเจ้าพรหมทัตทรงคั่งแค้นที่ถูกดูหมิ่นเชิงชาย


ด้วยอาลัยในดวงสุดาสวาท

ไปร่วมราชปักษีแล้วมิสา

ยังซ้ำคนธรรพ์อันธพาล์

เสียแรงว่าจงใจให้ไปตาม

ควรฤาคนธรรพ์ประทุษฐ์จิต

ทำลายมิตรให้กลิ้งกลางสนาม

เราไซร้ก็มิใช่ชายทราม

มาทำความบังเหตุให้อัประมาณ


น่าสงสัยว่าเหตุใดการสูญเสียหญิงผู้หนึ่งจึงมีความสำคัญต่อพระเจ้าพรหมทัตมากมายถึงเพียงนี้ คำตอบก็น่าจะเป็นว่าเพราะพระเจ้าพรหมทัตไปผูกติดไว้กับนาง ไม่ว่าจะเป็น ความสุข อำนาจ ศักดิ์ศรี การสูญเสียนางจึงเป็นเหมือนการสูญเสีย "สิ่งเสพย์ติด" อันที่จริง ถ้าพระองค์ยอมยุติเพียงแค่เสียนางไปในครั้งแรก เรื่องราวก็อาจจะไม่บานปลายถึงเพียงนี้ ทว่า พระองค์ปรารถนาได้นางกากีกลับคืนมาเพื่อลบล้างความอับอายและใช้นางเป็นเครื่องมือเสริมเกียรติยศและอำนาจ และด้วยความที่มีไม่ใคร่ครวญให้รอบคอบ พระองค์ได้ใช้ให้คนธรรพ์ไปตามนาง ซึ่งเท่ากับว่าทรงเปิดโอกาสให้คนธรรพ์ได้โจมตี "จุดอ่อน" ของพระองค์ ครั้นพระองค์ได้นางกากีคืนมาแล้ว ก็ทรงเห็นว่านางนั้นเป็นต้นเหตุให้ได้รับความอัปยศ นางจึงควรได้รับโทษอย่างหนักคือลอยแพไป ในที่สุดแล้วพระองค์ก็ไม่ได้สิ่งใดคืนมาแม้แต่ความรู้เท่าทันกิเลส พระเจ้าพรหมทัตจึงเป็นตัวละครที่น่าสมเพชที่สุดทั้งนี้เกิดจากความลุ่มหลงในตัวนางกากีเป็นประการสำคัญนั่นเอง


เมื่อได้พิจารณาถึงความสัมพันธ์เชิงแข่งขันระหว่างชายทั้งสามในเรื่องนี้แล้ว เราก็อาจย้อนกลับมามองบทบาทของนางกากีเสียใหม่ว่า นางเป็นเดิมพันที่มีความสำคัญมิใช่น้อย แต่มิใช่ในฐานะหญิงงามอันเป็นที่หมายปองของหมู่ชายตามท้องเรื่องอีกต่อไป ตรงกันข้าม นางได้เล่นบทเป็นผู้ชี้ "แสงสว่าง" ให้แก่พระยาครุฑผู้มัวเมาอยู่ในอวิชชา นางได้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คนธรรพ์อัน ต่ำต้อยได้ "แก้แค้น" ต่อผู้ที่มีศักดิ์เหนือกว่า และในที่สุด นางก็ได้ทำหน้าที่สาธิตให้เห็น "ช่องโหว่" ในอำนาจของผู้ปกครองที่หลงติดอยู่กับกิเลสตัณหา


หากเราตระหนักถึงบทบาทอันแท้จริงของนางกากีดังนี้แล้ว เราจะประณามว่านางเป็นหญิงชั่วช้าอีกหรือ

นางตันไตร : นักเล่านิทานเอก




การเล่านิทานนับเป็นการแสดงความสามารถอย่างหนึ่งของผู้เล่า ที่ต้องใช้ศิลปะในการเล่าเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวนั้น ผู้เล่าจึงมักเป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณในการเรียงร้อยเรื่องอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าเป็นการเล่านิทานโดยมีจุดมุ่งหมายให้ตนรอดพ้นจากการถูกประหารชีวิตด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ความสามารถสูงสุดในการจูงใจให้ผู้ฟังระงับคำสั่งประหารเพื่อจะได้ฟังนิทานอย่างไม่รู้จบ

ในวรรณคดีสันสกฤตมีเรื่องของนักเล่านิทานคนหนึ่ง ที่ได้แสดงความสามารถเพื่อให้ตนและบิดารอดพ้นจากการถูกประหารชีวิต เธอคือนางตันไตร บุตรีของพระมหาวิจิตรวิจารณา มหามนตรีเสนาบดีของพระเจ้าไอสุริยพาหราช ผู้ครองกรุงปาตลีบุตรมหานครราชธานี เรื่องราวของนางตันไตรไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายแม้แต่ในหมู่นักวรรณคดีศึกษา อาจเป็นด้วยชื่อของนางไม่ปรากฏเป็นชื่อเรื่องหรือเป็นชื่อหนังสือ อีกทั้งอาจเป็นเพราะความไม่ต่อเนื่องและไม่สมบูรณ์ของเนื้อเรื่อง ชื่อเสียงและบทบาทของนางตันไตรจึงถูกบดบังไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรวมนิทานเท่านั้น

เรื่องนางตันไตรปรากฏอยู่ใน นนทุกปกรณัมซึ่งเป็นภาคหนึ่งในนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) [1] หนังสือนี้เป็นรวมนิทานโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่ามีต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยอยู่ในหอหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและคัดเลือกเรื่อง[2] นิทานโบราณเหล่านี้มีที่มาจากวรรณคดี 4 เรื่องคือ นิทานอิหร่านราชธรรม เดิมเรียก นิทานสิบสองเหลี่ยม มีเค้าเรื่องแบบนิทานเปอร์เชีย ปักษีปกรณัม ปีศาจปกรณัมและนนทุกปกรณัม มีที่มาคือ ปัญจตันตระ ฉบับตันโตรปาขยานะ[3] เวตาลปกรณัม มีที่มาคือ เวตาลปัญจวีมศติ และหิโตปเทศวัตถุปกรณัม มีที่มาจากหิโตปเทศ [4]

เมื่อมีการชำระและจัดพิมพ์ขึ้น ได้จัดหมวดหมู่โดยแบ่งออกเป็น 6 ภาค ได้แก่ ภาคที่ 1 นิทานอิหร่านราชธรรม ภาคที่ 2 ปักษีปกรณัม ภาคที่ 3 ปีศาจปกรณัม ภาคที่ 4 เวตาลปกรณัม ภาคที่ 5 นนทุกปกรณัม และภาคที่ 6 หิโตปเทศวัตถุปกรณัมเรื่องนางตันไตรเป็นนิทานนำเรื่องอยู่ในนนทุกปกรณัม[5] ซึ่งกล่าวถึงนางตันไตรให้บิดาพาเข้าเฝ้าพระเจ้าไอสุริยพาหราช เพื่อไปเล่านิทานถวายให้พระองค์พอพระราชหฤทัย จะได้เว้นโทษประหารชีวิตนางและบิดา ส่วนนิทานที่นางเล่าถวายนั้น มีลักษณะเป็นนิทานขนาดสั้นมีลักษณะเป็นนิทานซ้อนนิทานมากมาย ใน นนทุกปกรณัม กล่าวถึงวัวนนทกคิดเอาใจออกห่างนายได้เล่านิทานโต้ตอบกับศัมพรสุนัขจิ้งจอกเสนาบดีของจัณฑปิงคละผู้เป็นราชสีห์ ใน ปักษีปกรณัม กล่าวถึงนกต่างๆ มาประชุมเพื่อเลือกนายนกแต่ละตัวได้เล่านิทานนกมาเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ที่ประชุมฟัง และใน ปีศาจปกรณัม เป็นเรื่องที่กล่าวถึงพระยาปีศาจจะอภิเษกกับนางมนุษย์ อำมาตย์ทั้งหลายก็ยกนิทานต่างๆ มาเป็นอุทาหรณ์เพื่อห้ามการอภิเษก

จากการศึกษาของกุสุมา รักษมณี พบว่า นิทานนางตันไตรไม่ได้มีเฉพาะฉบับภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังมีฉบับภาษาอื่นเช่น ภาษาทมิฬ ภาษาลาวบทความนี้ มีจุดมุ่งหมายจะศึกษาบทบาทของนางตันไตร ผู้เป็นนางเอกในนิทานปัญจตันตระฉบับไทย เพื่อพิจารณาความสามารถของนางตันไตรที่เป็นนักเล่าและนักรวบรวมนิทาน จนทำให้นิทานเรื่องนางตันไตรมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกับ วรรณคดีเรื่องอื่นในยุคสมัยเดียวกันบทบาทของนางตันไตรเริ่มขึ้นเมื่อพระมหาวิจิตรวิจารณาหานางเบญจกัลยาณี ไปถวายสมเด็จพระเจ้าไอสุริยพาหราชถึง 159 คนแล้ว ก็ไม่อาจจะหาจากบ้านใดอีก นางตันไตรผู้เป็นบุตรีจึงอาสาจะเข้าเฝ้าพระเจ้าไอสุริยพาหราช เพื่อไปเล่านิทานให้พระองค์พึงพอพระทัย หลังจากที่นางได้แสดงความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่บิดาแล้ว ท่านมหามนตรีจึงพานางเข้าเฝ้า และนางก็ได้เล่านิทานหลายเรื่องเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าไอสุริยพาหราช พระองค์ก็ได้ทรงละเว้นโทษประหารให้แก่นางและบิดาคืนแล้วคืนเล่า

นิทานซ้อนที่นางตันไตรนำมาเล่าถวายพระราชานั้น ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชิงสั่งสอนผู้ปกครอง เช่นมิให้หลงใหลมัวเมาในกามคุณ เช่นในเรื่อง โอรสพระเจ้าอุพัทราชาธิราช กล่าวถึงการที่พระกุมารสามารถดำรงตนอยู่ได้ โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส พระองค์จึงรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของนางยักษินีและได้ครองเมืองในที่สุด หรือสั่งสอนมิให้หลงในมารยาของสตรี เช่นเรื่อง พระเจ้าไตรวัต กล่าวถึงพระเจ้าไตรวัตผู้รู้มนต์ภาษาสัตว์ แต่กลับหลงมารยาของพระมเหสี ที่อ้อนวอนให้สอนมนต์แก่นาง จนแพะต้องเตือนสติพระองค์ หรือสอนเรื่องความโลภ ดังในเรื่อง สุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้ กล่าวถึงสุนัขจิ้งจอก(สิงคาล)ไปพบศพนายพราน ช้างและงูนอนตาย ที่นั้นมีหน้าไม้ที่ขึงตึงไว้ตกอยู่ ด้วยความโลภของสุนัขจิ้งจอกก็คิดจะเก็บซากสัตว์ทั้งสามไว้เป็นอาหารครั้งต่อไป โดยจะแทะหน้าไม้เป็นอาหารมื้อนี้ก่อน เมื่อกัดแทะที่หน้าไม้ ปีกไม้ที่ขึงตึงจึงดีดถูกอกอย่างแรงทำให้สุนัขจิ้งจอกเสียชีวิตทันที เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า นิทานซ้อนเหล่านี้ หลายเรื่องมีเนื้อหาคล้ายกับนิทานชาดก ทั้งอรรถ-กถาชาดกและปัญญาสชาดก ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงมีพระนิพนธ์ว่า “ผู้เรียบเรียงเห็นประโยชน์ในการสั่งสอนคนโดยวิธีเล่านิทานตามแบบชาดกนั้นเอง”[6] แต่เมื่อพิจารณากลวิธีการเล่าเรื่องในนิทานนางตันไตรแล้ว พบว่าแตกต่างกับการเล่านิทานชาดก ที่ปรากฏชัดเจนคือ กลวิธีการเล่าแบบนิทานซ้อนนิทาน กล่าวคือมีเรื่องของนางตันไตรเป็นนิทานหลัก(frame story) หรือนิทานนำเรื่อง (introductory story) [7] ส่วนนิทานที่นางตันไตรเล่าถวายพระเจ้าไอสุริยพาหราชนั้นเป็นนิทานซ้อน (emboxed story) คือเป็นนิทานขนาดสั้นที่มีโครงเรื่องสมบูรณ์ซ้อนกันหลายชั้น เช่น นางตันไตรเล่าเรื่องนางน้อยบุตรีของขุนเมืองช่วยบิดาตามหาโจรผู้ลักขโมยทองเป็นนิทานชั้นที่หนึ่ง (first emboxed story) นางน้อยเล่าเรื่องวิปกฤษพราหมณ์ไปสู่ขอนางลัดดาศรีเป็นนิทานชั้นที่สอง (second emboxed story) นางลัดดาศรีไปพบเสือโคร่ง เสือโคร่งเล่าเรื่องอุบลเศรษฐีเป็นนิทานชั้นที่สาม (Third emboxed story) เป็นต้น

นิทานขนาดสั้นที่นางตันไตรนำมาเล่านั้น หลายเรื่องมีเนื้อหาตรงกับนิทานในอรรถกถาชาดก เช่น เรื่องพราหมณ์เลือกเมีย (ลำดับที่ 16 ใน นนทุกปกรณัม) กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งเล่นสกาแพ้เพราะหญิงที่เลี้ยงไว้มีชู้ ตรงกับ อัณฑภูตชาดก (ลำดับที่ 62) เรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทราชาธิราช (ลำดับที่ 9) กล่าวถึงพระกุมาร ผู้มีความสามารถในการควบคุมสติอารมณ์ ไม่ตกอยู่ในอำนาจการยั่วยวนของนางยักษิณี จึงรอดพ้นจากการถูกจับกินเป็นอาหาร และได้ครองเมืองในที่สุด ตรงกับ เตลปัตตชาดก (ลำดับที่ 96) เรื่องพระเจ้าไตรวัต (ลำดับที่ 19) กล่าวถึงมนตร์รู้ภาษาสัตว์ ตรงกับ ขุรปุตตชาดก (ลำดับที่ 386) เรื่องเศวตโคธา (ลำดับที่ 34)กล่าวถึงฝูงตุ๊ดตู่ที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ถูกเพลิงเผา เพราะมีโคธาเผือกหนีนายพรานเข้าไปในโพรงไม้ ตรงกับ โคธชาดก(ลำดับที่ 138) เรื่องหงส์หามเต่า (ลำดับที่ 37)กล่าวถึงเต่าคาบไม้ให้หงส์พาเที่ยว แต่เผลอโกรธสุนัขจิ้งจอกอ้าปากร้องตอบจึงตกมาตาย ตรงกับ กัจฉปชาดก(ลำดับที่ 178) ฯลฯ

นอกจากนี้ ในนิทานเรื่อง โอรสพระเจ้ากรุงมัทราส (ลำดับที่ 11) ยังมีเรื่องการถอดดวงจิตคล้ายกับ สรรพสิทธิชาดก (ลำดับที่ 40 ในปัญญาสชาดก) และสุรพภชาดก (ลำดับที่ 4 ในปัญฉิมภาคของปัญญาสชาดก)[8] และนิทานเรื่อง สุบินกุมาร (ลำดับที่ 17 ) กล่าวถึงเจ้าสุบินที่บวชเป็นภิกษุ คล้ายกับเรื่องสุบินชาดก (ลำดับที่ 7 ในปัญฉิมภาคของปัญญาสชาดก) และ ทธิวาหนชาดก (ลำดับที่ 186 ในอรรถกถาชาดก)

นิทานที่มีเนื้อหาตรงกันบ้าง คล้ายกันบ้างเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าแต่เดิมนิทานเหล่านี้เป็นนิทานพื้นเมืองของอินเดียที่อยู่ในคลังนิทานของนักเล่า เมื่อเดินทางไปแห่งใดก็เล่าเรื่องไปทั่ว เมื่อศาสดาของศาสนามีความประสงค์จะใช้นิทานเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ในการสั่งสอน จึงได้ปรับเรื่องให้เข้ากับจุดประสงค์ของการสอนและกลวิธีการนำเสนอเรื่อง ดังที่พระบรมศาสดาในศาสนาพุทธได้ทรงปรับนิทานพื้นเมืองเหล่านี้ให้เป็นเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์

ในขณะที่นางตันไตรในนิทานปัญจตันตระ ได้ปรับนิทานพื้นเมืองให้เป็นเรื่องการสั่งสอนราชธรรมแก่พระราชา ทั้งนี้ ได้สอดร้อยนิทานเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยร้อยเป็นนิทานซ้อนอยู่ในนิทานหลัก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่สุดของนิทานสันสกฤต อีกประการหนึ่ง ผู้แปลและเรียบเรียงนิทานนางตันไตรออกเป็นภาษาไทย เป็นผู้มีอัธยาศัยในทางช่างเล่า จึงได้รวบรวมเรื่องเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา ซึ่งเป็นเรื่องเชิงสั่งสอนทำนองเดียวกันกับนิทานขนาดสั้นในปัญจตันตระ แล้วนำมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังที่รวมเรื่อง สุบินกุมาร (นิทานเรื่องที่ 17) ซึ่งมีที่มาจากปัญญาสชาดก มาเล่าเป็นนิทานซ้อนในนิทานนางตันไตร


เมื่อได้พิจารณานิทานปักษี (ปักษีปกรณัม) แล้ว ก็ยิ่งจะเห็นว่าผู้แปลและเรียบเรียงนิทานนางตันไตรฉบับภาษาไทยนี้ ช่างเป็นนักเล่าและรวบรวมได้อย่างเอกอุ เพราะได้จัดหมวดหมู่นิทานไว้ด้วยว่า นิทานในหมวดนี้เป็นเรื่องของปักษี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น ปักษีปกรณัม นี้ กล่าวถึงปักษีทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อเลือกพญาของตน ปักษีแต่ละตัวต่างยกนิทานอุทาหรณ์มาเล่าให้แก่ที่ประชุมฟัง และพิจารณาว่าปักษีตัวใดจะเหมาะสมเป็นพญาของตนมากที่สุด

นิทานอุทาหรณ์เหล่านี้ล้วนมีหน้าตาคล้ายกับนิทานชาดกยิ่งนัก เช่นเรื่องกาวิดน้ำทะเล (ลำดับที่ 3) คล้ายกับ กากชาดก (ลำดับที่ 146) เรื่องปุโรหิตผูกเวรกา (ลำดับที่ 4) คล้ายกับ กากชาดก (ลำดับที่ 140) เรื่องนกแขกเต้าอาสาไปเอาผลมะม่วงหิมพานต์ (ลำดับที่ 6) คล้ายกับ อัพภันตรชาดก (ลำดับที่ 281) เรื่องฤๅษีทุศีลติดใจแกงนกพิราบ (ลำดับที่ 8) คล้ายกับ โรมชาดก(ลำดับที่ 277) เรื่องนกกระทาเป็นครู (ลำดับที่ 10 ) คล้ายกับ ทัททรชาดก (ลำดับที่ 304) เรื่องแมวจำศีล (ลำดับที่ 13 ) คล้ายกับ อัคคิกชาดก (ลำดับที่ 129) เรื่องวิชาเสื่อมเพราะโกหก (ลำดับที่ 18) คล้ายกับ อัมพชาดก (ลำดับที่ 474) เรื่องนกไส้กับช้าง (ลำดับที่ 20) คล้ายกับ ลฏุกิกชาดก (ลำดับที่ 357) และเรื่องนกมูลไถกับเหยี่ยว (ลำดับที่ 24) คล้ายกับ สกุณัคฆิชาดก (ลำดับที่ 168)จะเห็นว่าการเล่านิทานปักษีไม่ค่อยมีลักษณะของนิทานซ้อนนิทานดังใน นนทุกปกรณัม การเล่าเรื่องปักษีเป็นการซ้อนชั้นเดียว อีกทั้งไม่ปรากฏเรื่องราวของนางตันไตรในนิทานนำเรื่องอีกด้วย นิทานปักษีจึงมีลักษณะเป็นการรวบรวมเรื่องที่เกี่ยวกับปักษีมาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการรวบรวมนิทานปักษีในอรรถกถาชาดกมาไว้ในปักษีปกรณัม และได้คัดเลือกนิทานมาแทรกไว้ในนนทุกปกรณัม โดยมีการปรับรายละเอียดและชื่อของตัวละครให้มีลักษณะเป็นนิทานเทศมากขึ้น

นิทานเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มไว้ด้วยกันและนำมาเล่าเป็นนิทานซ้อนอยู่ในนิทานเรื่องใหญ่ ซึ่งมีตัวละครหลักเล่าเรื่องเป็นชั้นแรก แล้วซ้อนเรื่องชาดกเป็นชั้นที่สองหรือชั้นที่สามของเรื่องเล่า เพื่อยกพฤติกรรมของตัวละครในชาดกมาเป็นอุทาหรณ์เช่นเดียวกับนิทานของสันสกฤต ซึ่งนำมาประกอบการสอนเพื่อแสดงแง่คิดและหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การซ้อนเรื่องชาดกเข้าไว้ในนิทานเหล่านี้ ทำให้ประชุมปกรณัมของไทยมีความยาวมากกว่าฉบับอื่นๆ ได้แก่ ฉบับสันสกฤต ทมิฬ ลาว และชวา [9] ขณะเดียวกันยังแสดงถึงความแพร่หลายของนิทานชาดกที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทานสันสกฤต เมื่อได้ถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยแล้ว หากพิจารณาบทบาทของนางตันไตรที่ปรากฏเฉพาะในส่วนที่เป็นนนทุกปกรณัม จะเห็นว่านางมีปัญญาเฉลียวฉลาดในการยกเรื่องมาเล่า จัดหมวดหมู่ของเรื่องให้เล่าต่อเนื่องกันไป อีกทั้งยังฉวยโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ จนได้รับความดีความชอบ และเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ดังข้อความบรรยายตอนที่บิดาของนางพาเข้าวังครั้งแรก นางกล่าวแก่นายทวารบาลว่า

ดูกรท่าน ข้านี้มาอยู่เป็นข้าทูลละอองพระบาทพระเจ้าอยู่หัวแล้วและจะเข้าออกนอกเวลาในเวลา แม้นจะผิดพลั้งหนักเบาประการใดก็ดี ผิแม้นแลผู้คนอลหม่านอยู่ด้วยข้านี้ ถ้าเข้าออกรับส่งข้า พี่เอื้อยพี่อ้ายหญิงและชาย ทั้งนี้ พี่จงช่วยอวยพรว่ากล่าวสั่งสอน ด้วยข้าเป็นชาวประเทศบ้านนอก (นนทุกปกรณัม,หน้า 45)

ด้วยความไม่ถือตนเป็นใหญ่ และรู้จักฝากตัวแก่ผู้อยู่ก่อนทำให้นางตันไตรได้รับความรักจากหญิงชายชาววังและได้รับคำสรรเสริญทันทีที่เข้าไปอยู่ในวังว่า “อันนางเข้ามาก่อนๆ นั้นจะได้พาทีปราศรัยอันหนึ่งอันใดไม่มีเลย และนางคนนี้มาพาทีมีวาจาไพเราะอ่อนหวานจับจิตจับใจ นางคนนี้จะมีบุญนักศักดิ์ใหญ่อยู่”

ครั้นเมื่อนางตันไตรรับราชการด้วยการเล่า “นิยาย” ให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว นางก็ยิ่งได้รับคำสรรเสริญไปทั่ว ดังที่หมู่เทพยดาก็กล่าวสาธุการแก่พระราชาว่า

ดูกรบพิตร พระองค์จะเลือกสกลนารีอันมีในไตรภพนี้ แลนางใดจะมีปรีชายิ่งกว่านางตันไตรนี้หามิได้แล้ว แลพระองค์ได้ทรงสดับปกรณัมทั้ง 3 นี้ แม้นพระองค์จะปรารถนาสวรรค์สมบัติก็จะได้ดุจนิยมนั้นแล (นนทุกปกรณัม, หน้า 124)

นางตันไตรได้รับการอภิเษกให้เป็นเอกองค์อัครมเหสี และ “พระมหากษัตริย์จึงประสาทอัครราชฐานแลมไหสุริยสมบัติมโหฬาร แก่วิจิตรวิจารณามหามนตรีผู้เป็นบิดานางตันไตรในกาลนั้น เกียรติยศก็เฟื่องฟุ้งขจรทั่วพิภพแลทิศานุทิศ ด้วยเดชฤทธิ์ปรีชาแห่งนางตันไตร” (หน้า 125)

นางตันไตร นับว่าเป็นนางเอกที่มียศถาบรรดาศักดิ์จากการเล่านิทาน นางแสดงความเป็นหญิงเจ้าปัญญา ด้วยการเลือกนิทานที่มีข้อคิดในการปกครองมาเล่า หรือยกเรื่องที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันมาเล่าให้เรื่องน่าฟังยิ่งขึ้น บางตอนมีแทรกบทสนทนาด้วยภาษาคมคาย และขณะเดียวกันนางก็รู้จักที่จะเล่าเรื่องอันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสังคมเวลานั้น นางตันไตรจึงเป็นนางเอกที่ทำให้นิทานเรื่องนี้ มีหน้าตาผิดแผกไปจากนิทานเรื่องอื่นหรือวรรณกรรมเรื่องอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยกัน

การแสดงความสามารถด้วยการเล่านิทานของนางตันไตรนี้ น่าจะเป็นแบบอย่างให้นางเอกในวรรณคดีไทยทั้งในยุคสมัยเดียวกันและในสมัยต่อมาแสดงความสามารถเช่นนางบ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาวรรณคดีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าไม่มีตัวละครหญิงในวรรณคดีเรื่องใด แสดงปัญญาด้วยการเล่านิทาน จะมีก็แต่นางนพมาศ ที่ได้แสดงความสามารถของตนให้ประจักษ์แก่บิดาและต่อหน้าสาธารณชน ด้วยการเล่านิทานเปรียบเทียบเพื่อตอบข้อถามของบิดา ซึ่งเมื่อนางถูกทดสอบปัญญาดังนั้น นางก็ได้เล่านิทานสามเรื่องเป็นการแสดงภูมิปัญญา

หากจะกล่าวว่าการแสดงปัญญาด้วยการเล่านิทานของนางนพมาศได้แบบอย่างไปจากบทบาทของนางตันไตร ก็เห็นจะกล่าวได้ไม่ถนัดนัก ด้วยว่าชื่อเสียงของนางตันไตรไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักในวงวรรณคดีไทย แต่ก็เป็นไปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงได้อ่านปกรณัมเหล่านี้มาบ้าง ดังที่ทรงมีบทบาทในการจารึกนิทานอิหร่านราชธรรมไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ อย่างไรก็ตาม การบรรยายว่านางนพมาศได้รับเกียรติยศชื่อเสียงจากพระเจ้าแผ่นดินหลายครั้ง ก็ชวนให้ระลึกถึงตอนที่นางตันไตรได้รับยกย่องจากพระเจ้าแผ่นดินในลักษณะเดียวกัน ซึ่งถ้าประชุมปกรณัมเหล่านี้ได้รับการชำระต้นฉบับอย่างสมบูรณ์แล้ว นางตันไตรคงจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะแม้ในปัจจุบันชื่อของวรรณคดีเรื่องนี้ยังคงเป็นนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) อยู่นั่นเอง บทบาทของนางจึงถูกบดบังด้วยมายาคติว่าเป็นเรื่องราวโบราณที่รวบรวมไว้เป็นหมวดต่างๆ นางผู้เป็นแบบฉบับของความเจ้าปัญญาจึงมิได้เผยโฉมจวบจนปัจจุบัน

เชิงอรรถ

[1] นิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม),พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา,2505.เป็นฉบับที่ใช้อ้างอิงในการเขียนบทความนี้[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คำนำ” ของปักษีปกรณัม, นิทานอิหร่านราชธรรม(ประชุมปกรณัม),หน้า 75.[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กุสุมา รักษมณี, “นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”,วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 4 (2521-2522):81-92.

[4] กุสุมา รักษมณี,เรื่องเดียวกัน,หน้า 86.

[5] Kusuma Raksamani, ”Nandakaprakarana Attributed to Vasubhaga : A Comparative Study of the Sanskrit, Lao and Thai Texts” (Ph.D.Dissertation, University of Toronto,1977). อ้างถึงใน กุสุมา รักษมณี,”นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”,เรื่องเดียวกัน.[6] กรมหมื่นพิทยาลงกรณ,”นนทุกปกรณัม”,นิทานอิหร่านราชธรรม เล่ม ๒, หน้าคำอธิบาย.

[7] กุสุมา รักษมณี,นิทานอุทาหรณ์ในสันสกฤต,หน้า 57.

[8] กุสุมา รักษมณี,”นิทานปัญจตันตระฉบับไทย”,หน้า 88.

[9] กุสุมา รักษมณี, ”นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ฉ.1-2 (2521-2522) , 83.