วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

นางตันไตร : นักเล่านิทานเอก




การเล่านิทานนับเป็นการแสดงความสามารถอย่างหนึ่งของผู้เล่า ที่ต้องใช้ศิลปะในการเล่าเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวนั้น ผู้เล่าจึงมักเป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณในการเรียงร้อยเรื่องอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าเป็นการเล่านิทานโดยมีจุดมุ่งหมายให้ตนรอดพ้นจากการถูกประหารชีวิตด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ความสามารถสูงสุดในการจูงใจให้ผู้ฟังระงับคำสั่งประหารเพื่อจะได้ฟังนิทานอย่างไม่รู้จบ

ในวรรณคดีสันสกฤตมีเรื่องของนักเล่านิทานคนหนึ่ง ที่ได้แสดงความสามารถเพื่อให้ตนและบิดารอดพ้นจากการถูกประหารชีวิต เธอคือนางตันไตร บุตรีของพระมหาวิจิตรวิจารณา มหามนตรีเสนาบดีของพระเจ้าไอสุริยพาหราช ผู้ครองกรุงปาตลีบุตรมหานครราชธานี เรื่องราวของนางตันไตรไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายแม้แต่ในหมู่นักวรรณคดีศึกษา อาจเป็นด้วยชื่อของนางไม่ปรากฏเป็นชื่อเรื่องหรือเป็นชื่อหนังสือ อีกทั้งอาจเป็นเพราะความไม่ต่อเนื่องและไม่สมบูรณ์ของเนื้อเรื่อง ชื่อเสียงและบทบาทของนางตันไตรจึงถูกบดบังไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรวมนิทานเท่านั้น

เรื่องนางตันไตรปรากฏอยู่ใน นนทุกปกรณัมซึ่งเป็นภาคหนึ่งในนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) [1] หนังสือนี้เป็นรวมนิทานโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่ามีต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยอยู่ในหอหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและคัดเลือกเรื่อง[2] นิทานโบราณเหล่านี้มีที่มาจากวรรณคดี 4 เรื่องคือ นิทานอิหร่านราชธรรม เดิมเรียก นิทานสิบสองเหลี่ยม มีเค้าเรื่องแบบนิทานเปอร์เชีย ปักษีปกรณัม ปีศาจปกรณัมและนนทุกปกรณัม มีที่มาคือ ปัญจตันตระ ฉบับตันโตรปาขยานะ[3] เวตาลปกรณัม มีที่มาคือ เวตาลปัญจวีมศติ และหิโตปเทศวัตถุปกรณัม มีที่มาจากหิโตปเทศ [4]

เมื่อมีการชำระและจัดพิมพ์ขึ้น ได้จัดหมวดหมู่โดยแบ่งออกเป็น 6 ภาค ได้แก่ ภาคที่ 1 นิทานอิหร่านราชธรรม ภาคที่ 2 ปักษีปกรณัม ภาคที่ 3 ปีศาจปกรณัม ภาคที่ 4 เวตาลปกรณัม ภาคที่ 5 นนทุกปกรณัม และภาคที่ 6 หิโตปเทศวัตถุปกรณัมเรื่องนางตันไตรเป็นนิทานนำเรื่องอยู่ในนนทุกปกรณัม[5] ซึ่งกล่าวถึงนางตันไตรให้บิดาพาเข้าเฝ้าพระเจ้าไอสุริยพาหราช เพื่อไปเล่านิทานถวายให้พระองค์พอพระราชหฤทัย จะได้เว้นโทษประหารชีวิตนางและบิดา ส่วนนิทานที่นางเล่าถวายนั้น มีลักษณะเป็นนิทานขนาดสั้นมีลักษณะเป็นนิทานซ้อนนิทานมากมาย ใน นนทุกปกรณัม กล่าวถึงวัวนนทกคิดเอาใจออกห่างนายได้เล่านิทานโต้ตอบกับศัมพรสุนัขจิ้งจอกเสนาบดีของจัณฑปิงคละผู้เป็นราชสีห์ ใน ปักษีปกรณัม กล่าวถึงนกต่างๆ มาประชุมเพื่อเลือกนายนกแต่ละตัวได้เล่านิทานนกมาเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ที่ประชุมฟัง และใน ปีศาจปกรณัม เป็นเรื่องที่กล่าวถึงพระยาปีศาจจะอภิเษกกับนางมนุษย์ อำมาตย์ทั้งหลายก็ยกนิทานต่างๆ มาเป็นอุทาหรณ์เพื่อห้ามการอภิเษก

จากการศึกษาของกุสุมา รักษมณี พบว่า นิทานนางตันไตรไม่ได้มีเฉพาะฉบับภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังมีฉบับภาษาอื่นเช่น ภาษาทมิฬ ภาษาลาวบทความนี้ มีจุดมุ่งหมายจะศึกษาบทบาทของนางตันไตร ผู้เป็นนางเอกในนิทานปัญจตันตระฉบับไทย เพื่อพิจารณาความสามารถของนางตันไตรที่เป็นนักเล่าและนักรวบรวมนิทาน จนทำให้นิทานเรื่องนางตันไตรมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกับ วรรณคดีเรื่องอื่นในยุคสมัยเดียวกันบทบาทของนางตันไตรเริ่มขึ้นเมื่อพระมหาวิจิตรวิจารณาหานางเบญจกัลยาณี ไปถวายสมเด็จพระเจ้าไอสุริยพาหราชถึง 159 คนแล้ว ก็ไม่อาจจะหาจากบ้านใดอีก นางตันไตรผู้เป็นบุตรีจึงอาสาจะเข้าเฝ้าพระเจ้าไอสุริยพาหราช เพื่อไปเล่านิทานให้พระองค์พึงพอพระทัย หลังจากที่นางได้แสดงความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่บิดาแล้ว ท่านมหามนตรีจึงพานางเข้าเฝ้า และนางก็ได้เล่านิทานหลายเรื่องเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าไอสุริยพาหราช พระองค์ก็ได้ทรงละเว้นโทษประหารให้แก่นางและบิดาคืนแล้วคืนเล่า

นิทานซ้อนที่นางตันไตรนำมาเล่าถวายพระราชานั้น ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชิงสั่งสอนผู้ปกครอง เช่นมิให้หลงใหลมัวเมาในกามคุณ เช่นในเรื่อง โอรสพระเจ้าอุพัทราชาธิราช กล่าวถึงการที่พระกุมารสามารถดำรงตนอยู่ได้ โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส พระองค์จึงรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของนางยักษินีและได้ครองเมืองในที่สุด หรือสั่งสอนมิให้หลงในมารยาของสตรี เช่นเรื่อง พระเจ้าไตรวัต กล่าวถึงพระเจ้าไตรวัตผู้รู้มนต์ภาษาสัตว์ แต่กลับหลงมารยาของพระมเหสี ที่อ้อนวอนให้สอนมนต์แก่นาง จนแพะต้องเตือนสติพระองค์ หรือสอนเรื่องความโลภ ดังในเรื่อง สุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้ กล่าวถึงสุนัขจิ้งจอก(สิงคาล)ไปพบศพนายพราน ช้างและงูนอนตาย ที่นั้นมีหน้าไม้ที่ขึงตึงไว้ตกอยู่ ด้วยความโลภของสุนัขจิ้งจอกก็คิดจะเก็บซากสัตว์ทั้งสามไว้เป็นอาหารครั้งต่อไป โดยจะแทะหน้าไม้เป็นอาหารมื้อนี้ก่อน เมื่อกัดแทะที่หน้าไม้ ปีกไม้ที่ขึงตึงจึงดีดถูกอกอย่างแรงทำให้สุนัขจิ้งจอกเสียชีวิตทันที เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า นิทานซ้อนเหล่านี้ หลายเรื่องมีเนื้อหาคล้ายกับนิทานชาดก ทั้งอรรถ-กถาชาดกและปัญญาสชาดก ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงมีพระนิพนธ์ว่า “ผู้เรียบเรียงเห็นประโยชน์ในการสั่งสอนคนโดยวิธีเล่านิทานตามแบบชาดกนั้นเอง”[6] แต่เมื่อพิจารณากลวิธีการเล่าเรื่องในนิทานนางตันไตรแล้ว พบว่าแตกต่างกับการเล่านิทานชาดก ที่ปรากฏชัดเจนคือ กลวิธีการเล่าแบบนิทานซ้อนนิทาน กล่าวคือมีเรื่องของนางตันไตรเป็นนิทานหลัก(frame story) หรือนิทานนำเรื่อง (introductory story) [7] ส่วนนิทานที่นางตันไตรเล่าถวายพระเจ้าไอสุริยพาหราชนั้นเป็นนิทานซ้อน (emboxed story) คือเป็นนิทานขนาดสั้นที่มีโครงเรื่องสมบูรณ์ซ้อนกันหลายชั้น เช่น นางตันไตรเล่าเรื่องนางน้อยบุตรีของขุนเมืองช่วยบิดาตามหาโจรผู้ลักขโมยทองเป็นนิทานชั้นที่หนึ่ง (first emboxed story) นางน้อยเล่าเรื่องวิปกฤษพราหมณ์ไปสู่ขอนางลัดดาศรีเป็นนิทานชั้นที่สอง (second emboxed story) นางลัดดาศรีไปพบเสือโคร่ง เสือโคร่งเล่าเรื่องอุบลเศรษฐีเป็นนิทานชั้นที่สาม (Third emboxed story) เป็นต้น

นิทานขนาดสั้นที่นางตันไตรนำมาเล่านั้น หลายเรื่องมีเนื้อหาตรงกับนิทานในอรรถกถาชาดก เช่น เรื่องพราหมณ์เลือกเมีย (ลำดับที่ 16 ใน นนทุกปกรณัม) กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งเล่นสกาแพ้เพราะหญิงที่เลี้ยงไว้มีชู้ ตรงกับ อัณฑภูตชาดก (ลำดับที่ 62) เรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทราชาธิราช (ลำดับที่ 9) กล่าวถึงพระกุมาร ผู้มีความสามารถในการควบคุมสติอารมณ์ ไม่ตกอยู่ในอำนาจการยั่วยวนของนางยักษิณี จึงรอดพ้นจากการถูกจับกินเป็นอาหาร และได้ครองเมืองในที่สุด ตรงกับ เตลปัตตชาดก (ลำดับที่ 96) เรื่องพระเจ้าไตรวัต (ลำดับที่ 19) กล่าวถึงมนตร์รู้ภาษาสัตว์ ตรงกับ ขุรปุตตชาดก (ลำดับที่ 386) เรื่องเศวตโคธา (ลำดับที่ 34)กล่าวถึงฝูงตุ๊ดตู่ที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ถูกเพลิงเผา เพราะมีโคธาเผือกหนีนายพรานเข้าไปในโพรงไม้ ตรงกับ โคธชาดก(ลำดับที่ 138) เรื่องหงส์หามเต่า (ลำดับที่ 37)กล่าวถึงเต่าคาบไม้ให้หงส์พาเที่ยว แต่เผลอโกรธสุนัขจิ้งจอกอ้าปากร้องตอบจึงตกมาตาย ตรงกับ กัจฉปชาดก(ลำดับที่ 178) ฯลฯ

นอกจากนี้ ในนิทานเรื่อง โอรสพระเจ้ากรุงมัทราส (ลำดับที่ 11) ยังมีเรื่องการถอดดวงจิตคล้ายกับ สรรพสิทธิชาดก (ลำดับที่ 40 ในปัญญาสชาดก) และสุรพภชาดก (ลำดับที่ 4 ในปัญฉิมภาคของปัญญาสชาดก)[8] และนิทานเรื่อง สุบินกุมาร (ลำดับที่ 17 ) กล่าวถึงเจ้าสุบินที่บวชเป็นภิกษุ คล้ายกับเรื่องสุบินชาดก (ลำดับที่ 7 ในปัญฉิมภาคของปัญญาสชาดก) และ ทธิวาหนชาดก (ลำดับที่ 186 ในอรรถกถาชาดก)

นิทานที่มีเนื้อหาตรงกันบ้าง คล้ายกันบ้างเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าแต่เดิมนิทานเหล่านี้เป็นนิทานพื้นเมืองของอินเดียที่อยู่ในคลังนิทานของนักเล่า เมื่อเดินทางไปแห่งใดก็เล่าเรื่องไปทั่ว เมื่อศาสดาของศาสนามีความประสงค์จะใช้นิทานเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ในการสั่งสอน จึงได้ปรับเรื่องให้เข้ากับจุดประสงค์ของการสอนและกลวิธีการนำเสนอเรื่อง ดังที่พระบรมศาสดาในศาสนาพุทธได้ทรงปรับนิทานพื้นเมืองเหล่านี้ให้เป็นเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์

ในขณะที่นางตันไตรในนิทานปัญจตันตระ ได้ปรับนิทานพื้นเมืองให้เป็นเรื่องการสั่งสอนราชธรรมแก่พระราชา ทั้งนี้ ได้สอดร้อยนิทานเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยร้อยเป็นนิทานซ้อนอยู่ในนิทานหลัก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่สุดของนิทานสันสกฤต อีกประการหนึ่ง ผู้แปลและเรียบเรียงนิทานนางตันไตรออกเป็นภาษาไทย เป็นผู้มีอัธยาศัยในทางช่างเล่า จึงได้รวบรวมเรื่องเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา ซึ่งเป็นเรื่องเชิงสั่งสอนทำนองเดียวกันกับนิทานขนาดสั้นในปัญจตันตระ แล้วนำมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังที่รวมเรื่อง สุบินกุมาร (นิทานเรื่องที่ 17) ซึ่งมีที่มาจากปัญญาสชาดก มาเล่าเป็นนิทานซ้อนในนิทานนางตันไตร


เมื่อได้พิจารณานิทานปักษี (ปักษีปกรณัม) แล้ว ก็ยิ่งจะเห็นว่าผู้แปลและเรียบเรียงนิทานนางตันไตรฉบับภาษาไทยนี้ ช่างเป็นนักเล่าและรวบรวมได้อย่างเอกอุ เพราะได้จัดหมวดหมู่นิทานไว้ด้วยว่า นิทานในหมวดนี้เป็นเรื่องของปักษี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น ปักษีปกรณัม นี้ กล่าวถึงปักษีทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อเลือกพญาของตน ปักษีแต่ละตัวต่างยกนิทานอุทาหรณ์มาเล่าให้แก่ที่ประชุมฟัง และพิจารณาว่าปักษีตัวใดจะเหมาะสมเป็นพญาของตนมากที่สุด

นิทานอุทาหรณ์เหล่านี้ล้วนมีหน้าตาคล้ายกับนิทานชาดกยิ่งนัก เช่นเรื่องกาวิดน้ำทะเล (ลำดับที่ 3) คล้ายกับ กากชาดก (ลำดับที่ 146) เรื่องปุโรหิตผูกเวรกา (ลำดับที่ 4) คล้ายกับ กากชาดก (ลำดับที่ 140) เรื่องนกแขกเต้าอาสาไปเอาผลมะม่วงหิมพานต์ (ลำดับที่ 6) คล้ายกับ อัพภันตรชาดก (ลำดับที่ 281) เรื่องฤๅษีทุศีลติดใจแกงนกพิราบ (ลำดับที่ 8) คล้ายกับ โรมชาดก(ลำดับที่ 277) เรื่องนกกระทาเป็นครู (ลำดับที่ 10 ) คล้ายกับ ทัททรชาดก (ลำดับที่ 304) เรื่องแมวจำศีล (ลำดับที่ 13 ) คล้ายกับ อัคคิกชาดก (ลำดับที่ 129) เรื่องวิชาเสื่อมเพราะโกหก (ลำดับที่ 18) คล้ายกับ อัมพชาดก (ลำดับที่ 474) เรื่องนกไส้กับช้าง (ลำดับที่ 20) คล้ายกับ ลฏุกิกชาดก (ลำดับที่ 357) และเรื่องนกมูลไถกับเหยี่ยว (ลำดับที่ 24) คล้ายกับ สกุณัคฆิชาดก (ลำดับที่ 168)จะเห็นว่าการเล่านิทานปักษีไม่ค่อยมีลักษณะของนิทานซ้อนนิทานดังใน นนทุกปกรณัม การเล่าเรื่องปักษีเป็นการซ้อนชั้นเดียว อีกทั้งไม่ปรากฏเรื่องราวของนางตันไตรในนิทานนำเรื่องอีกด้วย นิทานปักษีจึงมีลักษณะเป็นการรวบรวมเรื่องที่เกี่ยวกับปักษีมาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการรวบรวมนิทานปักษีในอรรถกถาชาดกมาไว้ในปักษีปกรณัม และได้คัดเลือกนิทานมาแทรกไว้ในนนทุกปกรณัม โดยมีการปรับรายละเอียดและชื่อของตัวละครให้มีลักษณะเป็นนิทานเทศมากขึ้น

นิทานเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มไว้ด้วยกันและนำมาเล่าเป็นนิทานซ้อนอยู่ในนิทานเรื่องใหญ่ ซึ่งมีตัวละครหลักเล่าเรื่องเป็นชั้นแรก แล้วซ้อนเรื่องชาดกเป็นชั้นที่สองหรือชั้นที่สามของเรื่องเล่า เพื่อยกพฤติกรรมของตัวละครในชาดกมาเป็นอุทาหรณ์เช่นเดียวกับนิทานของสันสกฤต ซึ่งนำมาประกอบการสอนเพื่อแสดงแง่คิดและหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การซ้อนเรื่องชาดกเข้าไว้ในนิทานเหล่านี้ ทำให้ประชุมปกรณัมของไทยมีความยาวมากกว่าฉบับอื่นๆ ได้แก่ ฉบับสันสกฤต ทมิฬ ลาว และชวา [9] ขณะเดียวกันยังแสดงถึงความแพร่หลายของนิทานชาดกที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทานสันสกฤต เมื่อได้ถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยแล้ว หากพิจารณาบทบาทของนางตันไตรที่ปรากฏเฉพาะในส่วนที่เป็นนนทุกปกรณัม จะเห็นว่านางมีปัญญาเฉลียวฉลาดในการยกเรื่องมาเล่า จัดหมวดหมู่ของเรื่องให้เล่าต่อเนื่องกันไป อีกทั้งยังฉวยโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ จนได้รับความดีความชอบ และเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ดังข้อความบรรยายตอนที่บิดาของนางพาเข้าวังครั้งแรก นางกล่าวแก่นายทวารบาลว่า

ดูกรท่าน ข้านี้มาอยู่เป็นข้าทูลละอองพระบาทพระเจ้าอยู่หัวแล้วและจะเข้าออกนอกเวลาในเวลา แม้นจะผิดพลั้งหนักเบาประการใดก็ดี ผิแม้นแลผู้คนอลหม่านอยู่ด้วยข้านี้ ถ้าเข้าออกรับส่งข้า พี่เอื้อยพี่อ้ายหญิงและชาย ทั้งนี้ พี่จงช่วยอวยพรว่ากล่าวสั่งสอน ด้วยข้าเป็นชาวประเทศบ้านนอก (นนทุกปกรณัม,หน้า 45)

ด้วยความไม่ถือตนเป็นใหญ่ และรู้จักฝากตัวแก่ผู้อยู่ก่อนทำให้นางตันไตรได้รับความรักจากหญิงชายชาววังและได้รับคำสรรเสริญทันทีที่เข้าไปอยู่ในวังว่า “อันนางเข้ามาก่อนๆ นั้นจะได้พาทีปราศรัยอันหนึ่งอันใดไม่มีเลย และนางคนนี้มาพาทีมีวาจาไพเราะอ่อนหวานจับจิตจับใจ นางคนนี้จะมีบุญนักศักดิ์ใหญ่อยู่”

ครั้นเมื่อนางตันไตรรับราชการด้วยการเล่า “นิยาย” ให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว นางก็ยิ่งได้รับคำสรรเสริญไปทั่ว ดังที่หมู่เทพยดาก็กล่าวสาธุการแก่พระราชาว่า

ดูกรบพิตร พระองค์จะเลือกสกลนารีอันมีในไตรภพนี้ แลนางใดจะมีปรีชายิ่งกว่านางตันไตรนี้หามิได้แล้ว แลพระองค์ได้ทรงสดับปกรณัมทั้ง 3 นี้ แม้นพระองค์จะปรารถนาสวรรค์สมบัติก็จะได้ดุจนิยมนั้นแล (นนทุกปกรณัม, หน้า 124)

นางตันไตรได้รับการอภิเษกให้เป็นเอกองค์อัครมเหสี และ “พระมหากษัตริย์จึงประสาทอัครราชฐานแลมไหสุริยสมบัติมโหฬาร แก่วิจิตรวิจารณามหามนตรีผู้เป็นบิดานางตันไตรในกาลนั้น เกียรติยศก็เฟื่องฟุ้งขจรทั่วพิภพแลทิศานุทิศ ด้วยเดชฤทธิ์ปรีชาแห่งนางตันไตร” (หน้า 125)

นางตันไตร นับว่าเป็นนางเอกที่มียศถาบรรดาศักดิ์จากการเล่านิทาน นางแสดงความเป็นหญิงเจ้าปัญญา ด้วยการเลือกนิทานที่มีข้อคิดในการปกครองมาเล่า หรือยกเรื่องที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันมาเล่าให้เรื่องน่าฟังยิ่งขึ้น บางตอนมีแทรกบทสนทนาด้วยภาษาคมคาย และขณะเดียวกันนางก็รู้จักที่จะเล่าเรื่องอันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสังคมเวลานั้น นางตันไตรจึงเป็นนางเอกที่ทำให้นิทานเรื่องนี้ มีหน้าตาผิดแผกไปจากนิทานเรื่องอื่นหรือวรรณกรรมเรื่องอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยกัน

การแสดงความสามารถด้วยการเล่านิทานของนางตันไตรนี้ น่าจะเป็นแบบอย่างให้นางเอกในวรรณคดีไทยทั้งในยุคสมัยเดียวกันและในสมัยต่อมาแสดงความสามารถเช่นนางบ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาวรรณคดีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าไม่มีตัวละครหญิงในวรรณคดีเรื่องใด แสดงปัญญาด้วยการเล่านิทาน จะมีก็แต่นางนพมาศ ที่ได้แสดงความสามารถของตนให้ประจักษ์แก่บิดาและต่อหน้าสาธารณชน ด้วยการเล่านิทานเปรียบเทียบเพื่อตอบข้อถามของบิดา ซึ่งเมื่อนางถูกทดสอบปัญญาดังนั้น นางก็ได้เล่านิทานสามเรื่องเป็นการแสดงภูมิปัญญา

หากจะกล่าวว่าการแสดงปัญญาด้วยการเล่านิทานของนางนพมาศได้แบบอย่างไปจากบทบาทของนางตันไตร ก็เห็นจะกล่าวได้ไม่ถนัดนัก ด้วยว่าชื่อเสียงของนางตันไตรไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักในวงวรรณคดีไทย แต่ก็เป็นไปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงได้อ่านปกรณัมเหล่านี้มาบ้าง ดังที่ทรงมีบทบาทในการจารึกนิทานอิหร่านราชธรรมไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ อย่างไรก็ตาม การบรรยายว่านางนพมาศได้รับเกียรติยศชื่อเสียงจากพระเจ้าแผ่นดินหลายครั้ง ก็ชวนให้ระลึกถึงตอนที่นางตันไตรได้รับยกย่องจากพระเจ้าแผ่นดินในลักษณะเดียวกัน ซึ่งถ้าประชุมปกรณัมเหล่านี้ได้รับการชำระต้นฉบับอย่างสมบูรณ์แล้ว นางตันไตรคงจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะแม้ในปัจจุบันชื่อของวรรณคดีเรื่องนี้ยังคงเป็นนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) อยู่นั่นเอง บทบาทของนางจึงถูกบดบังด้วยมายาคติว่าเป็นเรื่องราวโบราณที่รวบรวมไว้เป็นหมวดต่างๆ นางผู้เป็นแบบฉบับของความเจ้าปัญญาจึงมิได้เผยโฉมจวบจนปัจจุบัน

เชิงอรรถ

[1] นิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม),พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา,2505.เป็นฉบับที่ใช้อ้างอิงในการเขียนบทความนี้[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คำนำ” ของปักษีปกรณัม, นิทานอิหร่านราชธรรม(ประชุมปกรณัม),หน้า 75.[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กุสุมา รักษมณี, “นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”,วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 4 (2521-2522):81-92.

[4] กุสุมา รักษมณี,เรื่องเดียวกัน,หน้า 86.

[5] Kusuma Raksamani, ”Nandakaprakarana Attributed to Vasubhaga : A Comparative Study of the Sanskrit, Lao and Thai Texts” (Ph.D.Dissertation, University of Toronto,1977). อ้างถึงใน กุสุมา รักษมณี,”นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”,เรื่องเดียวกัน.[6] กรมหมื่นพิทยาลงกรณ,”นนทุกปกรณัม”,นิทานอิหร่านราชธรรม เล่ม ๒, หน้าคำอธิบาย.

[7] กุสุมา รักษมณี,นิทานอุทาหรณ์ในสันสกฤต,หน้า 57.

[8] กุสุมา รักษมณี,”นิทานปัญจตันตระฉบับไทย”,หน้า 88.

[9] กุสุมา รักษมณี, ”นิทานปัญจตันตระฉบับภาษาไทย”, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ฉ.1-2 (2521-2522) , 83.

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชื่อหนังสือที่ใช้อ้างอิงคือ "นิทานปัญจะตันตระฉบับภาษาไทย" ของคุณกุสุมา รักษมณีเล่มพ.ศ.นี้ ไม่ทราบจะหาอ่านได้จากแหล่งค้นคว้าใดบ้างคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชื่อนางเอก"ตันไตร"แปลว่าอะไรคะ