วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(จบ)

คุณค่าของกวีและกวีนิพนธ์ในปัจจุบัน
เมื่อกวีคนหนึ่งกล่าวไว้อย่างสิ้นหวังว่า
…...................................... โอ้สระพยัญชนะมาแสนเข็ญ
วรรณยุกต์เคยว่องไวคำตายเป็น มากระเด็นกระโดดกระดอนลงนอนตาย
คลั่งดุ่มด้นค้นเค้าด้วยเศร้าโศก คนเขียนหนังสือวิปโยคลาญสลาย
นับวันหนออักษราลามลาย โอ้ใจหายโอ้นักเขียนโอ้นักกลอน
กอดปากกาอุ้มดินสอมาขอเขียน ร่ายอักษรว่อนเวียนเทียนอักษร
โลกหนังสือเคยอิสระและสุนทร กลับมารอนรานร้าวลงคราวนี้
ชมสวนคำอำลาน้ำตาตก แน่นในอกอึกอัดถนัดถนี่
ในสังคมอันระอุวัตถุเสรี คำนักเขียนคำกวีไร้ชีพแล้ว [i]

น่าคิดว่ากวีและกวีนิพนธ์ในปัจจุบันจะหมดหน้าที่และบทบาทลงแล้วในสังคมทุนนิยมนี้จริงหรือ หากมองไปรอบๆ ในตลาดหนังสือ เราพบว่าหนังสือรวมกวีนิพนธ์ของกวีบางคนก็ยังเป็นที่ต้องการในหมู่วัยรุ่น แต่ก็อาจไม่เป็นที่จับใจของผู้อ่านที่เลยวัยแล้ว แต่หากเพ่งพินิจถึงคุณค่าของกวีนิพนธ์ในปัจจุบัน เห็นได้ว่าสิ่งที่ขาดหายคือความคิดและปรัชญาที่ลุ่มลึก

การที่บทกวีเป็นรูปแบบสำคัญที่ต้องแฝงปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้งนั้น คงเป็นเพราะบทกวีเป็นงานวรรณศิลป์ที่ใช้คำน้อย แต่ต้องการพลังที่กระทบใจผู้อ่าน แต่การจะมุ่งทำให้กวีนิพนธ์กลายเป็นวรรณกรรมคำสอนนั้น ก็อาจต้องอาศัยเทคนิคที่เป็นฝีไม้ลายมือเฉพาะตัวของกวีว่าจะสรรคำมาให้เกิดเป็นความหมายสื่อสารมายังผู้อ่านได้มากน้อยเพียงใด ที่จะไม่ให้ผู้อ่านรู้ตัวว่ากำลังถูกยัดเยียดความคิดเชิงสั่งสอน

โรนัลด์ พีค็อก (Ronald Peacock) นักวรรณคดีศึกษาชาวอังกฤษได้เสนอความคิดเรื่อง “ความคิด ความเชื่อ และความสำนึกเชิงปรัชญา” ว่า “ความสำนึกเชิงปรัชญาเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมีเพื่อที่งานวรรณกรรมเหล่านั้นจะมิได้กลายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่า ตื้นเขิน หรือเป็นแค่การเล่าเรื่องหรือแต่งกลอนด้วยวิธีที่ราวกับเป็นเครื่องจักรกล” [ii] คุณค่าทางปรัชญานี่เองที่ทำให้งานวรรณศิลป์มีพลัง ทำให้เกิดการครุ่นคิดและการหยั่งรู้ต่อไปทั้งในส่วนของผู้สร้างสรรค์และผู้รับ

ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณเคยกล่าวถึง “กวี” ไว้ว่า “สำหรับดิฉัน กวีหมายความว่าผู้มีสมรรถภาพโดยธรรมชาติ ที่จะสังเกต จะเห็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น อาจจะมีความรู้สึกไหวสะท้านต่อสิ่งที่คนอื่นไม่ไหวสะท้าน กวีต้องสูงกว่าคนทั่วๆไปในด้านความรู้สึก นอกจากนั้น กวีมีความสามารถที่จะกลั่นกรองความรู้สึกออกมาเป็นถ้อยคำที่ไพเราะ อาจทำให้คนอื่นไหวสะท้านไปด้วย โดยอำนาจที่กวีเลือกเฟ้นมาใช้ในจังหวะ ในรูปแบบที่เหมาะแก่ถ้อยคำ ”[iii]

หากอ่านกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ก็จะได้ยินเสียงจังหวะของโคลงกลอนที่แต่งในสมัยอยุธยา เมื่ออ่านกวีนิพนธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ก็ได้ยินเสียงขับเสภาขุนช้างขุนแผนแว่วมา และเมื่ออ่านบทกวีของคมทวน คันธนูก็มองเห็นร่องรอยการสืบทอดขนบของวรรคทองในวรรณคดีอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่ามีกวีร่วมสมัยในปัจจุบันเพียงไม่กี่คนที่สืบสานขนบในอดีตย้อนลงไปถึงวรรณคดีโบราณได้

สิ่งที่เป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นระหว่างกวีโบราณกับกวีร่วมสมัยในปัจจุบันอาจอยู่ที่การขาดช่วงของการสั่งสมประสบการณ์การอ่านวรรณคดี มีความยากง่ายของการเข้าถึงความหมายของถ้อยคำที่ข้ามผ่านกาลเวลาเป็นอุปสรรค การขาดโอกาสที่จะแสวงหาประสบการณ์ตรงในชีวิต ขาดการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ขาดการสังเกตโลกด้วยสายตาที่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป และท้ายที่สุดคือ การขาดความหยั่งรู้พุทธปรัชญา

กวีร่วมสมัยในปัจจุบันอาจต้องการเวลาในการบ่มเพาะประสบการณ์การหยั่งรู้ และการตกผลึกของสำนึกเชิงปรัชญา ในฐานะผู้อ่านที่เฝ้าแอบพิจารณาบทกวีอยู่เงียบๆ ในมุมมืด ยังคงรอคอยกวีนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่ของกวีร่วมสมัยในปัจจุบัน เผื่อว่าโลกของวงวรรณกรรมจะมีกวีที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกวีในอดีตที่เคยสร้างผลงานข้ามยุคสมัยให้แก่มวลมนุษยชาติมาแล้วเพิ่มขึ้นอีก


[i] ชมจันทร์. อรุณในราตรี .(กรุงเทพฯ :คมบาง,2541).
[ii] โรนัลด์ พีค็อก “ความคิด ความเชื่อ และความสำนึกเชิงปรัชญา” เจตนา นาควัชระ แปล. เอกสารโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 2” พลังการวิจารณ์ : วรรณศิลป์ (เอกสารอักสำเนา), 2547,472-474.
[iii] ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ “อังคาร กัลยาณพงศ์” แว่นวรรณกรรม.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อ่านไทย,2529),472.

-----------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: