วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

Ties That Bind, Ties That Break: ชะตากรรมของสาวจีน


เมื่อไม่นานมานี้ หญิงชราชาวจีนคนหนึ่งมีโอกาสเผยความทุกข์ทรมานที่เก็บไว้เป็นเวลากว่า ๘๐ ปี แม่เฒ่าโจวกุ้ยเจินได้เปิดเผยเท้าทองคำของเธอที่ถูกมัดไว้ตั้งแต่อายุได้ ๖ ขวบ ทำให้เท้าของเธอมีขนาดใกล้เคียงกับซองบุหรี่ เมื่อเธอถอดถุงเท้าออก สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคือ นิ้วเท้างองุ้มผิดรูปผิดร่าง ฝ่าเท้ามีรอยแยกเพื่อกดให้งอเข้าหากัน






วิธีการรัดเท้าก็คือ นำเท้ามาบิดงอรวบนิ้วเท้าทั้งห้าเข้าหากัน จากนั้นพันด้วยผ้าลินินขาวสะอาด ไล่จากหัวแม่เท้ายันปลายเท้าให้แน่น กระดูกรูปเท้าของเด็กหญิงก็จะเติบโตอย่างผิดรูปผิดร่าง ภายใต้รองเท้าเล็กกระจิดริด ซึ่งพวกเธอแต่ละคนทำขึ้นใช้เอง เท้าของเธอเหล่านั้นก็จะถูกบีบให้มีรูปทรงตามที่ผู้ใหญ่ต้องการจนกระทั่งเติบโตขึ้นกลายเป็นคนที่มีเท้าพิการไปตลอดชีวิต

เหตุที่ชายชาวจีนนิยมสาวเท้าเล็กนั้นว่ากันว่ามีมาตั้งแต่ในราชสำนัก มีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า หลี่โฮ่วจู่ มีนิสัยชอบอ่านหนังสือ มีฝีมือด้านอักษรศาสตร์ และจิตรกรรม แต่กลับขาดความสามารถด้านการปกครองประเทศ พระองค์ทรงมีพระสนมนางหนึ่ง เต้นรำอ่อนช้อยงดงาม ใช้ผ้าพันเท้า เท้านางเล็กโค้งงอดั่งพระจันทร์เสี้ยว นางสวมถุงเท้าขาว เต้นระบำอยู่บนดอกบัวที่ทำด้วยทองสูง ๖ ฟุต ลอยละล่องดุจเทพธิดา นางได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากโฮ่วจู่เป็นอย่างมาก คนสมัยต่อมาใช้คำ "จินเหลียน (ดอกบัวทอง)" มาบรรยายเท้าเล็กของหญิงสาว

จากนั้นเป็นต้นมา กระแสนิยมมัดเท้าภายใต้การริเร่มของนักปกครองในสมัยศักดินา ก็ได้สืบทอดต่อๆกันมา ยุคแล้วยุคเล่า นับวันกระแสความนิยมนี้ ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งส่วผู้มีเท้าใหญ่แทบไม่มีโอกาสได้แต่งงาน หญิงสาวชาวจีนถูกกระทำอย่างทารุณเช่นนี้นับเป็นเวลาถึงพันกว่าปี ประเพณีดังกล่าวค่อยแพร่มายังชนชั้นล่าง ด้วยพวกเขาเชื่อว่า จะช่วยยกระดับทางสังคม และเสริมความงามให้กับหญิงสาว จนในที่สุด เท้าของหญิงสาวกลายเป็นเครื่องตัดสินอนาคตชีวิตสมรส และความพึงพอใจทางกามารมณ์ที่ชายพึงมีต่อหญิง ฉะนั้น หญิงสาวแดนมังกรจำนวนมาก จำต้องพิกลพิการเพราะวัตรปฏิบัติ สนองตัณหาชาย


เรื่องราวของสาวมัดเท้ากลายเป็นประเด็นหลักในนวนิยายเรื่อง "Ties That Bind, Ties That Break" กล่าวถึงอ้ายหลินเด็กสาวผู้เกิดในตระกูลเถา ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกหลายคน ตอนเป็นเด็ก เธอมีแม่นมที่ไม่ได้รัดเท้าและต้องจากไปเมื่ออ้ายหลินอายุได้ ๔ ขวบ จากนั้นเธอก็มีพี่เลี้ยงคนใหม่ วันหนึ่งคุณนายหลิวพาหานเหว่ยมาดูตัวอ้ายหลินเพื่อจะให้หมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเห็นอ้ายหลินไม่ได้มัดเท้า คุณนายหลิวก็ไม่พอใจ แม่ของอ้ายหลินจึงพูดให้เธอมัดเท้า เพื่อจะได้แต่งงานกับหานเหว่ยซึ่งมีฐานะดี จะได้มาช่วยเรื่องธุรกิจของบ้าน





เมื่ออ้ายหลินเห็นพี่สาวถูกมัดเท้า และรู้ว่าจะเดินไปไหนมาไหนตามปกติไม่ได้ อ้ายหลินก็ไม่ยอมมัดเท้า ทำให้หานเหว่ยยกเลิกการหมั้นหมายกับเธอ อ้ายหลินขอพ่อไปเรียนหนังสือ เธอสนใจประวัติศาสตร์โลก ทำให้เธอมีโลกกว้าง ได้เรียนกับครูต่างชาติ ที่โรงเรียนเธอได้รู้จักซื่อหยัน ซึ่งสนใจจะเรียนแพทย์และตั้งใจจะเลี้ยงตัวเองโดยไม่คิดจะแต่งงาน (ซื่อหยันคนนี้ น่าจะเป็นนางเอกในนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของลินซีย์ นามิโอกะ ชื่อ An Ocean Apart, A World Away ( 2002 ) อ้ายหลินประทับใจวิธีคิดของซื่อหยันมาก


ต่อมาฐานะของครอบครัวก็เปลี่ยนไป เมื่อยายและพ่อเสียชีวิต ลุงก็บอกเธอว่าไม่มีเงินจะส่งเสียให้เรียนต่อ ครูฝรั่งจึงแนะนำให้เธอทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กของครอบครัววอนเนอร์ และต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัววอนเนอร์ เมื่อครอบครัวนี้ต้องย้ายกลับไปซานฟรานซิสโก พวกเขาจึงพาอ้ายหลินไปด้วย ขณะเดินทางเธอได้พบกับซื่อหยันเพื่อนเก่า และได้พบกับเจมส์ ซึ่งทึ่งในความสามารถของอ้ายหลิน เมื่อมาอยู่ที่อเมริกา อ้ายหลินรู้สึกเป็นอิสระจากประเพณีจีนที่กดรัดเธอไว้ คนอเมริกันจะรังเกียจสาวจีนที่ถูกมัดเท้า อ้ายหลินจึงอยู่ในอเมริกาได้ปกติสุขกว่าอยู่ที่จีน





เมื่อเจมส์ได้พบกับอ้ายหลินอีกครั้ง เขาก็ขออ้ายหลินแต่งงานทั้งสองช่วยกันทำร้านอาหารในไชน่าทาวน์ เมื่อหานเหว่ยได้พบกับอ้ายหลินอีกครั้งเขาเสียใจที่เธอไม่รอเขา และสังคมจีนก็เปลี่ยนแปลงไป ประเพณีมัดเท้าถูกยกเลิก ผู้หญิงก็มีการศึกษามากขึ้น มีโอกาสในการเลือกคู่มากขึ้นเช่นเดียวกับอ้ายหลิน


ประเพณีมัดเท้าของจีนโบราณ เกิดขึ้นจากค่านิยมเพื่อให้หญิงสาวได้รับการยกย่องจากชาย แต่ในนวนิยายเรื่องนี้กลับนำเสนอแนวคิดในทางตรงกันข้าม เจมส์ขออ้ายหลินแต่งงานก็เพราะเธอไม่ได้มัดเท้าเฉกเช่นเด็กสาวชาวจีนทั่วไป ความกล้าหาญที่จะแหวกขนบประเพณีของอ้ายหลิน เป็นแรงผลักดันให้เธอประสบความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตที่แตกต่างโดยแท้


ขอบคุณ "ประสิทธิ์ เพชรหนูเสด" ที่แนะนำนวนิยายเรื่องนี้มาให้ ขอบคุณนามิโอกะที่สะท้อนภาพความหาญกล้าของสาวจีนคนหนึ่งให้เราประจักษ์ถึงพลังการต่อสู้และความตั้งใจที่แน่วแน่

2 ความคิดเห็น:

giftstoffe กล่าวว่า...

อ่านเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ ชอบมาก เล็งๆอยู่ว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ดีมั้ย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สอบมิดเทอมกับปลายภาคเรื่องนี้ค่ะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาอ่านแล้วมันส์ดีสนุกขึ้นเรื่อยๆขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะค่ะ