วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

เซี่ยงไฮ้เบบี้ : เรื่องเล่าความในใจของหญิงจีนยุคใหม่



นวนิยายเรื่อง "เซี่ยงไฮ้เบบี้ (Shanghai Baby หรือ 上海宝贝)" กล่าวถึงนิกกิหรือโกโก้ หญิงสาวที่เกิดมาในครอบครัวจีนที่ออกจะหัวโบราณ พ่อและแม่จึงรับไม่ได้ที่ลูกสาวจะย้ายออกไปอยู่กับแฟนหนุ่มโดยไม่แคร์ต่อสายตาเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่อาจยับยั้งเธอได้ เธอย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์กับเทียนเทียนโดยบอกว่าจะไปเป็นสาวเสิร์ฟในร้านกาแฟเพื่อจะได้ข้อมูลมาเขียนนวนิยาย จากการใช้ชีวิตอิสระทำให้เธอได้พบกับความรักหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบผูกพันอย่างลึกซึ้งกับเทียนเทียน ศิลปินหนุ่มที่มีปัญหาครอบครัว เขาเป็นชายคนรักที่ไม่อาจให้ความสุขทางเพศแก่เธอได้ หรือความรักแบบผิวเผินระหว่างมาร์ค หนุ่มเยอรมันที่มีครอบครัวแล้ว แต่บังเอิญมาพบกับเธอ และเขารู้ว่าเธอขาดอะไร ซึ่งเขาก็ตอบสนองให้เธอเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ต้องจากลา นวนิยายเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวความรัก ความสุข ความโศกเศร้าที่แยกไม่ออกว่าเกิดจากความรักหรือความใคร่ หรือทั้งสองอย่างปนๆ กันไป

นวนิยายเริ่มเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครเอกว่า “ฉันชื่อนิกกิ แต่เพื่อนๆ เรียกฉันว่าโกโก้ ตามชื่อโกโก้ ชาเนลดีไซเนอร์หญิงชาวฝรั่งเศสที่มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี เธอเป็นบุคคลในดวงใจฉันรองจากเฮนรี มิลเลอร์ ทุกๆ เช้าฉันจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความคิดที่ว่า ทำอย่างไรฉันจะโด่งดังมีชื่อเสียง ทำอย่างไรชื่อของฉันจะพวยพุ่งเจิดจ้าขึ้นกลางเมืองเหมือนดอกไม้ไฟ มันเป็นแรงทะยานอยากและเกือบจะเป็นเหตุผลเดียวในการมีชีวิตอยู่ของฉัน...” การมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วท่ามกลางการดิ้นรนต่อสู้ของสังคมเมืองใหม่อย่างเซี่ยงไฮ้ เป็นเนื้อหาหลักของนวนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ตีแผ่ความปรารถนาอย่างร้อนแรงของหญิงคนหนึ่งที่มีความพึงพอใจในเพศรสและคิดถึงอยู่ตลอดเวลา การดำรงชีวิตกับแฟนหนุ่มที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศจึงเป็นความทุกข์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เธอก็มีทางออกแม้ว่าจะสำนึกผิดทุกครั้งที่ทำตัวคล้ายนอกใจคนรัก เธออดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเธอ ก็จะเป็นเนื้อหาของนวนิยายเรื่องแรกที่จะทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังนั่นเอง

นับว่านวนิยายเรื่องนี้แหวกขนบของการเป็นนวนิยายจีนอย่างสิ้นเชิง ไม่แปลกที่ทางการจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่และมีการสั่งเผา ศาสตราจารย์เก้าหยวนเป่ นักวิจารณ์วรรณกรรมแห่งคณะวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยฟู่ตัน กล่าวต่อต้านงานเขียนของเว่ย ฮุ่ยว่า นักศึกษาของเขาไม่ชอบงานของเว่ย ฮุ่ย และไม่เชื่อว่ามันเป็นตัวแทนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ เป็นเหมือนแฟชั่นที่ไม่ช้าก็จะหายไปจากวงวรรณกรรมจีนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ายิ่งมีกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง นวนิยายเรื่องนี้ยิ่งถูกลักลอบนำมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ก๊อปปี้ขายอย่างผิดกฎหมาย และในทางตรงข้ามกลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจนเป็น “international bestseller” โดยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย
คำ ผกา

หากจะอ่านนวนิยายเรื่องนี้แบบนักวรรณคดีศึกษา คงเห็นความลุ่มลึกของตัวละครหญิงโกโก้ที่กล้าเผยความรู้สึกโดยเฉพาะเรื่องเพศได้อย่างถึงแก่น แต่ถ้าจะหาสาเหตุของความกล้าที่แหวกขนบ อาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ที่เจริญทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมความทะเยอทะยานอยากมีชื่อเสียงในชั่วเวลาข้ามคืนให้แก่ตัวละครเอก


อีกประการหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในแต่ละบทของนวนิยายเรื่องนี้ จะมีข้อความของนักเขียนชื่อดังยกมานำเรื่อง ข้อความนั้นมักสอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละตอน ซึ่งก็เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง ดังตัวอย่าง

ท้ายหน้านี้ ขอขอบคุณ "ณัฐา ค้ำชู" ที่แนะนำนวนิยายเรื่องนี้ให้รู้จัก รวมทั้งการได้พูดคุยกันแล้วเลยต้องหามาอ่านจนอิ่ม

1 ความคิดเห็น:

litschool-principal กล่าวว่า...

ผมอ่านเล่มนี้แล้วครับอาจารย์ x มากๆ แต่ก็อาจเป็น The Awakening ฉบับภาษาจีนได้นะครับ