วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550

‘อมตะ’ และ ‘The 6th Day’: แนวคิดเรื่องการเกิดใหม่






ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรานั้น คงยากที่จะปฏิเสธว่า หลายขณะ มนุษย์เราคิดถึงความตายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออกต่างก็ตระหนักถึงความอ่อนแอของตน แต่กระนั้นต่างก็ยังมุ่งหวังจะให้เผ่าพันธุ์ของตนดำรงอยู่ต่อไป มนุษย์จึงพยายามจึงหาทางขยายเผ่าพันธุ์และแสวงหาทางยับยั้งความตายที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนั้นด้วย ความพยายามที่จะฝืนธรรมชาตินี้เองเป็นเหตุให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในสภาวะของการกลัวตาย หรือกล่าวให้ชัดคือ กลัวที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพธรรมชาติ มนุษย์จึงพยายามค้นหาแนวทางการดำรงอยู่อย่างเปลี่ยนแปลงสภาพน้อยที่สุด โดยอาศัยความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีพในสภาพการณ์ปัจจุบัน

การโคลนนิ่งเป็นผลจากการพัฒนาวิทยาการขั้นสูงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบัน ถือเป็นหนทางสำคัญในความพยายามที่จะรักษาสภาวะเดิมของมนุษย์ รวมทั้งขยายและสืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น การโคลนนิ่งมนุษย์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเมื่อมนุษย์ต้องการตอบคำถามว่า เราจะยอมจำนนต่อความตายหรือภาวะที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรือไม่ และเราจะพึ่งพาความเจริญก้าวหน้านี้เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไปได้หรือไม่

ปัจจุบันนี้ การโคลนนิ่งมนุษย์ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ทั้งในแง่ของกฎหมาย ศีลธรรม โดยที่เป็นการขัดขืนต่อสภาวะธรรมชาติ อีกทั้งยังกระทบถึงความเชื่อในเรื่องอำนาจของพระเจ้า แต่ในโลกของจินตนาการ การโคลนนิ่งมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้วในนวนิยายเรื่องอมตะของวิมล ไทรนิ่มนวล และภาพยนตร์เรื่อง The 6th day ซึ่งกำกับการแสดงโดยโรเจอร์ สปอตติสวูด[1] วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ น่าจะเกิดจากความบังเอิญคิดหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการกลัวตาย ซึ่งทำให้มนุษย์เราเกิดมีจินตนาการที่จะพยายามหาหนทางดำรงชีวิตให้เป็นอมตะ เรื่ององการเล็งเห็นความสำคัญของอำนาจเงินและโอกาสที่พัฒนาความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนบางกลุ่มฯลฯ ความคิดเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นโดยนำเสนอรายละเอียดของเนื้อหาต่างกัน แต่ก็มีแนวคิดเรื่องการเกิดใหม่เช่นเดียวกัน

อมตะเป็นนวนิยายที่กล่าวถึงการโคลนนิ่งมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมอนาคตที่ไม่ไกลจากสังคมปัจจุบันนัก พรหมินทร์ ธนบดินทร์ อภิมหาเศรษฐี ประธานบริษัทในเครือบำเรอบริภัณฑ์ จำกัด ใช้ช่องว่างของกฎหมายฉบับที่อ้างว่าเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โคลนตนเองไว้เมื่อ ๒๒ ปีก่อน จนได้ “คนโคลน” ๒ คน โคลนหนึ่ง คือ ชีวัน ผู้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในฐานะบุตรชายของเขา ส่วนอีกโคลนหนึ่ง คือ อรชุน ภควัท เขาหลบหนีไปตั้งแต่เด็กและต้องแปลงโฉมเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกตามล่า แต่เมื่อมีโอกาสอรชุนก็กลับมาแก้แค้นผู้ให้กำเนิด ด้วยการสละร่างให้เป็นอะไหล่ แทนร่างของชีวันที่พรหมินทร์เลี้ยงไว้เพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ พรหมินทร์เองก็ปรารถนาเช่นนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตเป็นอมตะ

จากความจงใจที่ตั้งชื่อตัวละครว่า อรชุน นามสกุลภควัท ทำให้สืบสาวความคิดได้ว่าผู้เขียนกำลังอ้างถึง (allusion) อรชุนในคัมภีร์ภควัทคีตา อันเป็นคัมภีร์ปรัชญาและศาสนาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวฮินดู คัมภีร์นี้อยู่ในภีษมบรรพ (ต้นบรรพที่ ๖) ของมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ ซึ่งเป็นตอนที่อรชุน แม่ทัพของฝ่ายปาณฑพต้องทำสงครามประหัตประหารกับฝ่ายเการพ ทั้งๆ ที่บางคนก็เป็นญาติสนิท บางคนก็เป็นครูบาอาจารย์ และบางคนก็เป็นเพื่อนรัก

การรบครั้งนี้ทำให้อรชุนท้อแท้ใจจนวางอาวุธคิดจะยอมแพ้และอมตาย แต่พระกฤษณะผู้มีศักดิ์เป็นญาติฝ่ายมารดาของกษัตริย์ทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพและมาเป็นสารถีให้แก่อรชุนในสงครามนี้ ได้อธิบายให้อรชุนเข้าใจหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ว่ามีหน้าที่ที่ต้องรบเพื่อความสงบสุขของประชาชนและเพื่อความเป็นธรรม คำอธิบายของพระกฤษณะทำให้อรชุนคลายความท้อแท้ใจและเข้าใจหน้าที่ของตน จึงจับอาวุธขึ้นต่อสู่จนกระทั่งมีชัยชนะฝ่ายเการพ (วิสุทธ์ บุษยกุล 2543 : 3-4)
อรชุนในอมตะก็มีบทบาทไม่แตกต่างกับอรชุนในภควัทคีตา คือต้อง “รบ” กับพรหมินทร์ ซึ่งก็คือพระพรหม หรือพระผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง จุดประสงค์ที่อรชุนนำมาอ้างในการที่จะต่อสู้กับพรหมินทร์ผู้เป็นประหนึ่งบิดาของเขาเองก็คือ เป็นการทำไปเพื่อปกป้องบรรดาคนโคลนทั้งหลายที่เขาเห็นว่าคนโคลนเหล่านั้นล้วนเป็นมนุษย์ ต่างมีชีวิตจิตใจเช่นกันกับคนต้นแบบ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการแก้แค้นผู้สร้างตัวเขาขึ้นมาด้วยความโลภและเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด อรชุนได้เลือกวิธีที่จะทำลายตนเองเพื่อเล็งผลเลิศว่า จะ “ครอบครอง” ตัวตนของ “ผู้สร้าง” รวมทั้งสมบัติของเขาทั้งหมด


อมตะได้อธิบายเรื่องวิธีการโคลนนิ่งว่า คนโคลนรุ่นแรกเกิดจากการเพาะเซลล์ของคนต้นแบบ แล้วฝากเลี้ยงไว้ในครรภ์ของหญิงรับจ้างอุ้มท้อง จนกระทั่งคลอดออกมาแล้วนำมาเลี้ยงดูให้เติบโตตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่คนโคลนรุ่นต่อๆ มาซึ่งถูกเลี้ยงในฟาร์มกลับได้รับการพัฒนาด้วยการย่นระยะเวลาเลี้ยงดูให้เร็วขึ้น โดยให้อาหารแคปซูล คนโคลนรุ่นหลังจึงใช้เวลาอนุบาลเพียงไม่กี่ปีก็จะได้คนโคลนที่เหมือนกับต้นแบบ แต่ก็เหมือนเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ส่วนบุคลิกลักษณะนิสัยและความรู้สึกนึกคิดจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพราผู้สร้างหรือผู้ผลิตไม่ต้องการความรู้สึกนึกคิดของคนโคลน จึงไม่สนใจลักษณะท่าทางและอารมณ์ที่อ้างว้างโดดเดี่ยวของคนโคลนเหล่านั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนคนธรรมดาทั่วไป


อันที่จริงนั้น อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์รู้จักการโคลนนิ่งมานับนานเป็นพันปีแล้ว แต่เป็นการโคลนนิ่งพืชที่สืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) ซึ่งก็คือการเพาะชำนั่นเอง แต่การโคลนที่เป็นข่าวครึกโครมคือ การสร้างแกะโคลนชื่อดอลลี่ (Dolly) นับเป็นความสำเร็จของการทำโคลนสัตว์ใหญ่เป็นครั้งแรก (ชัยวัฒน์ คุประตกุล 2542 : 180) เมื่อโคลนนิ่งสัตว์ใหญ่สำเร็จนักวิทยาศาสตร์ก็มีกำลังใจที่จะทำโคลนนิ่งมนุษย์ ต่อมาในปลาย ค.ศ. 1999 มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดว่าการโคลนนิ่งมนุษย์นั้นทำได้แน่ แต่ยังคงเป็นปัญหาว่าสมควรทำหรือไม่ เพราะยังคงมีการตั้งคำถามให้ค้างคาใจว่า มนุษย์โคลนจะมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร และจะมีปัญหาด้านจริยธรรมหรือไม่

เมื่อถึงสหัสวรรษใหม่คือใน ค.ศ. 2001 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยว่าขณะนี้มีทารกถึง 30 คนที่เกิดจากการดัดแปลงทางพันธุกรรม (จีโนม) ซึ่งเป็นวิธีตรงกันข้ามการโคลนนิ่ง กล่าวคือ เป็นการย้ายฝากซัยโตพลาสซั่ม (ของเหลวที่อยู่รอบๆ นิวเคลียสของเซลล์) ในเซลล์ไข่ของหญิงที่เคยมีบุตรแล้วมาไว้ในเซลล์ไข่ของภรรยา แล้วนำมาผสมกับเซลล์อสุจิของสามี แพทย์จะทำวิธีนี้ให้ก็ต่อเมื่อทำวิธีอื่นมาแล้วไม่สัมฤทธิผล[2] ส่วนการโคลนนิ่งนั้นใช้การย้ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ แล้วเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน วิธีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ได้ช่วยให้ครอบครัวที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้

ส่วนคำถามทางจริยธรรมบางส่วนที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิธีนี่จะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดหรือลักษณะนิสัยของเด็กหรือไม่ ซึ่งอาเข้าใจได้ว่ามีมารกสองคน และคู่สามีภรรยาจะกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่สามผู้เป็นเข้าของซัยโตพลาสซั่มหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้น่าจะเป็นพัฒนาสายพันธุ์และเอื้อให้มีการศึกษาเซลล์อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น(กนก ภาวสุทธิไพศิฐ 2544 : อ้างแล้ว) ซึ่งก็เป็นมุมมองเฉพาะด้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ในด้านจริยธรรมแล้ว ยังไม่มีผู้ใดออกมากล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อครอบครัวของทารกเหล่านั้น รวมทั้งประเด็นที่ว่าการแสดงศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าจะเปลี่ยนไปหรือไม่ วิทยาศาสตร์จะช่วยให้คนเราไม่เจ็บไม่แก่และไม่ตายตามธรรมชาติ หรือจะไม่มีการเกิดดับตามปรัชญาพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ หรือมนุษย์ที่มีเงินตราจะสามารถซื้อความตายและสามารถดำรงชีวิตเป็นอมตะได้ตลอดไป คำถามเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่และต้องขบคิดกันทั้งโลกของความจริงและในโลกแห่งจินตนาการ

ในภาพยนตร์เรื่อง The 6th Day กล่าวถึงการโคลนนิ่งมนุษย์เช่นเดียวกัน
เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาสืบต่อจากการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ของนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1997 จนกระทั่งสามารถโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงต่างๆ ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย การโคลนมนุษย์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป จึงมีการรณรงค์เรียกร้อง และเกิดการต่อต้าน โดยให้คำนึงถึงปัญหาทางจริยธรรม จนในที่สุดมีการตรากฎหมายห้ามการโคลนมนุษย์ขึ้น เรียกว่ากฎหมายวันที่หก อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง (นพมาส 2544 : 79) ซึ่งได้อ้างถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่งแล้ว ในวันที่หกพระเจ้าก็สร้างมนุษย์ ตัวละครเอกในเรื่องนี้จึงมีชื่อว่าอดัม ซึ่งเป็นชื่อของมนุษย์คนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้น

The 6th Day ได้สมมุติบริษัท Replacement Technologies ซึ่งมีมหาเศรษฐีชื่อไมเคิล ดรักเกอร์ (โทนี โกลด์วิน) เป็นเจ้าของกิจการ “repet” อันเป็นบริการสร้างสัตว์เลี้ยงใหม่ด้วยการสร้างโคลนสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตให้กลับมามีชีวิตจิตใจอีกครั้ง โดยไม่สามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างจากต้นแบบได้ ส่วนหลังฉากก็รับทำโคลนนิ่งมนุษย์ด้วยการสร้างร่างมนุษย์เก็บไว้ใต้น้ำ แล้วนำรหัสดีเอ็นเอของคนต้นแบบกับความทรงจำที่บันทึกไว้ด้วยเครื่องมือคล้ายการตรวจสายตา ออกมาเป็น “syncording” มาใส่ในร่างนั้น ก็จะได้คนโคลนที่เหมือนกับต้นแบบทั้งรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอและความทรงจำทั้งหมดอีกหนึ่งชีวิตอย่างง่ายดาย อดัม กิ๊บสัน ได้กล่าวเย้ยหยันความเจริญก้าวหน้าของการโคลนไว้ว่า “นับจากนี้แล้ว จะไม่มีใครตายกันอีก”

อดัม กิ๊บสัน (อาร์โนลด์ ชวาซเซเนกเกอร์) เป็นนักบินฝีมือเยี่ยม เขามีภรรยาและบุตรสาว จัดเป็นครอบครัวที่อบอุ่น วันหนึ่งเขาเพื่อนถูกหลอกให้ตรวจวัดสายตา และนั่นได้นำไปสู่การโคลนนิ่งตัวเขาและเพื่อนโดยไม่รู้ตัว ต่อเมื่อเขาไม่พบคนโคลนที่เหมือนเขาทุกประการอยู่กับภรรยาและลูกพร้อมด้วยเพื่อนๆ ของเขาในวันเกิดของลูกที่บ้าน เขาจึงรู้ตัวว่าได้กลายเป็นมนุษย์โคลนไปแล้ว และต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการธุรกิจของนายทุนคนหนึ่ง จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้มีการตามเก็บตัวจริง เกิดการไล่ล่าตามสไตล์ภาพยนตร์อเมริกัน และตามแนวภาพยนตร์อเมริกัน และตามแนวภาพยนตร์แบบเรื่อง ฅนเหล็ก (The Terminator) ซึ่งก็ได้ดำเนินไปอย่างมีรสชาติจนจบ

การโคลนนิ่งมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ้นสุดลงเมื่อการโคลนครั้งสุดท้ายของดรักเกอร์ไม่สมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการค้นคว้าวิจัยสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดถูกอดัมทำลายจนหมดสิ้น การโคลนนิ่งมนุษย์ต้องยุติลง แต่ยังคงเหลืออดัมที่เป็นมนุษย์โคลนคนสุดท้าย ชีวิตของเขาจากนี้แสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์ธรรมชาติได้ถูกทำลายลง อำนาจของพระเจ้าก็ถูกมนุษย์ท้าทาย ความผิดปกติเกิดขึ้นได้เมื่อมีอดัมถึงสองคน ภาพยนตร์จึงต้องหาทางออกให้แก่ตัวละครนี้อย่างที่ผู้ชมจะพอยอมรับได้ในโลกเซลลูลอยด์

แต่ในอมตะ เรื่องราวการโคลนนิ่งยังคงดำเนินต่อไป เพราะโปรเฟสเซอร์เดวิด สเปนเซอร์นักวิทยาศาสตร์คู่บุญของพรหมินทร์ยังคงเชื่อมั่นในฝีมือการผ่าตัดครั้งล่าสุดของตนที่นำสมองของพรหมินทร์ไปใส่ในร่างของอรชุนได้ และความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอรชุนที่สามารถหลอกสายตาของโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และสาธารณชนได้ทั้งหมด รวมไปถึงผู้อ่านบางคนก็ถูกหลอกด้วยเช่นกัน นวนิยายเรื่องนี้ได้ผูกปมทิ้งท้ายไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทรงจำของพรหมินทร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอรชุนที่มีจิตใจเข้มแข็งมุ่งมั่นที่จะล้างแค้น เรื่องบุตรสาวของพรหมินทร์ที่กำลังอุ้มท้องบุตรที่เกิดขึ้นกับอรชุน และยังมีเรื่องบุตรของชีวันอีกด้วย นับว่าผู้เขียนพยายามโยงประเด็นเรื่องการเกิดใหม่ต่อไปอีก ซึ่งคงจะไม่จบลงอย่างง่ายดายเป็นแน่

การซ่อนปมสำคัญไว้ในตอนท้ายเรื่องนั้น กล่าวได้ว่าวิมล ไทรนิ่มนวลทำได้ดี โดยใช้สายตาเป็นสื่อฟ้องว่าผู้ที่ประกาศตนหลังจากการเปลี่ยนร่างสำเร็จนั้นมิใช่สายตาของพรหมินทร์ แต่เป็นสายตาที่เต็มไปด้วยการเย้ยหยันของอรชุนที่ฉายออกมาพร้อมกับคำพูดที่ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือสัจธรรมอันไม่จอมปลอมของเรา!” (วิมล ไทรนิ่มนวล ๒๕๔๓ : ๒๒๒) การเลือกสายตามาเป็นตัวไขปริศนาว่าแท้จริงแล้วพรหมินทร์หรืออรชุนกันแน่ที่เป็นผู้ชนะนั้น หากไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วก็อาจจะเข้าใจว่าพรหมินทร์ต่างหากคือผู้ชนะ แต่คำกล่าวที่ว่าสายตาคือหน้าต่างของหัวใจก็แสดงอานุภาพให้เรารู้ว่าร่างนี้มีผู้ควบคุมคือจิตของอรชุน นั่นย่อมหมายความว่าอรชุนต่างหากที่เป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่า ทั้งภาพยนตร์และนวนิยายต่างก็แฝงความคิดต่อต้านวิทยาศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในนวนิยาย เห็นชัดว่าวิมล ไทรนิ่มนวลมีความพยายามในการสร้างกระแสต่อต้าน ความเจริญทางเทคโนโลยีที่มักจะละเลยการตระหนักถึงมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง นวนิยายเรื่องนี้ยังได้สะท้องความคิดของผู้เขียน โดยเสนอว่าการโคลนนิ่งมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นภาวการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้แล้วตราบใดที่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ยังมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ชวนให้วิตกไม่น้อยที่จะมีมนุษย์เทียมอยู่ร่วมกับเราในสังคมอนาคต

ในภาพยนตร์นั้น ดูเหมือนจะเป็นการให้ความหวังว่า แม้วันนี้การโคลนนิ่งยังคงไมสำเร็จลงได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่สักวันมนุษย์ย่อมต้องทำได้ แต่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ถ้าหากโลกนี้จะมีนักบินที่เก่งกล้าและมีครอบครัวที่อบอุ่นเช่นอดัมถึงสองคน ภาพยนตร์จึงจบลงด้วยการให้อดัมคนหนึ่งหลบไปใช้ชีวิตที่ห่างไกลจากสังคมของอดัมอีกคน

หากพิจารณาเนื้อหาที่ว่าด้วย “การเกิดใหม่” ในบทสนทนาที่อรชุนยกมาเป็นหัวข้อวิวาทะกับโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และพรหมินทร์ย่างละเอียดแล้ว อากล่าวได้ว่า วิมล ไทรนิ่มนวลน่าจะได้รับอิทธิพลความคิดเกี่ยวกับปรัชญาการเกิดใหม่จากภควัทคีตา โดยเฉพาะเนื้อหาที่กล่าวว่าคนเราประกอบด้วยสรีระและจิตวิญญาณ ส่วนของสรีระร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณซึ่งเรียกว่าอาตมันนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน ไม่มีการแตกดับหรือเสื่อมสลาย เมื่อร่างกายแตกดับไป จิตวิญญาณยังคงอยู่ จะเวียนว่ายไปเกิดใหม่และครองร่างอื่นต่อไป (วิสุทธ์ บุษยกุล 2543 : 6) ดังข้อความที่ว่า

“... อาตมันที่สิงอยู่ในร่างของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก, ร่างหนุ่มสาว, และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้
หนาว,ร้อน,สุข,ทุกข์ ฯลฯ เกิดจากการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะฉะนั้นท่านจะหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด
ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับสุขทุกข์ได้ชื่อว่าทำชีวิตตนเองให้เป็นอมตะ ...”
(ภควัทคีตา บทเพลงแห่งองค์ภควัน : 31-32)

อมตะกล่าวถึงการเกิดใหม่ไว้ในตอนที่อรชุนเล่าเรื่องชายชราอายุ 77 ปีให้แก่ชีวันฟัง อรชุนให้คำแนะนำแก่ชายชราให้ปลงกับสรีระร่างกายที่เป็นเพียง “... ถุงขี้เน่าๆ ที่เป็นที่อาศัยของโรคสารพัด โดยเฉพาะไอ้โรคเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งไม่มีวันจะรักษาหาย สู้ตายแล้วเกิดใหม่ดีกว่า ...” (115) เรื่องราวของชายชราที่อรชุนนำมาเล่าอย่างละเอียดนั้น ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสื่อความคิดเรื่องการเกิดใหม่อย่างชัดเจน ความตายของชายชราเป็นประหนึ่ง “การปลดปล่อย” ตนเองให้ไปสู่ภาวะเกิดใหม่ เช่นเดียวกับที่อรชุนในภควัทคีตาได้ปลดปล่อยบรรดาญาติให้ไปเกิดใหม่ อรชุนใช้เรื่องนี้เป็นสื่อปลอบใจชีวัน ให้มีความหวังที่จะยอมรับสภาวะของการเกิดใหม่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งก็คงจะได้ผล ดังที่ศศิประภาถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของชีวันให้อรชุนฟังว่า “... เขา(ชีวัน)เครียดแต่ก็สงบ . . .เขาหันมามองฉัน ส่งสายตาเหมือนจะบอกว่าให้ฉันเข้มแข็ง ...” ( 116)

เมื่อพิจารณาบทบาทของอรชุนในอมตะแล้ว อาจเห็นว่าอรชุนพยายามที่จะปลดปล่อยพรหมินทร์ในลักษณะเดียวกับอรชุนในภควัทคีตา แต่ก็พลิกความคาดหมายด้วยการให้พรหมินทร์ไปเกิดใหม่ภายใต้จิตดวงเดิมของอรชุนเอง นี่วิมล ไทรนิ่มนวลกำลัง “ล้อ” บทบาทของอรชุนในภควัทคีตาอยู่ใช่หรือไม่ เพราะขณะที่อรชุนใช้หลักธรรมพุทธศาสนาในการปลุกปลอบผู้อื่นให้คลายทุกข์ แต่จิตใจของอรชุนก็เต็มไปด้วยความเคียดแค้น มุ่งแต่จะทำลายล้าง และยังจะแสดงให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณของความโลภในตอนท้ายเรื่องอีกด้วย

อิทธิพลความคิดความเชื่อจากภควัทคีตายังปรากฏให้เห็นในตอนที่อรชุนแสดงความความเชื่อว่า คนเราตายแล้วเกิดใหม่ ระลึกชาติได้ ก็เพราะมีจิตเดิมตามมาเกิดด้วย ดังที่อธิบายให้ โปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์และพรหมินทร์ฟังว่า

“... พลังงานเกิดจากการสลายตัวหรือผันแปรของสสารหรือวัตถุ ซึ่งมันไม่มีคุณสมบัติที่จะเก็บข้อมูลและจดจำ แล้วมันจะเอาอะไรมาคิด เพราะคนเราจะคิดได้ก็ต้องมีข้อมูลที่จดจำไว้ไม่ใช่หรือครับ...อีกเหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ คนที่ตายแล้วิเกิดใหม่ แล้วเขาระลึกชาติได้ ลองคิดดูซิครับว่าเขาเอาสมองมาเกิดด้วยหรือเปล่า ถ้าเขาเอาสมองก้อนเดิมเมื่อชาติที่แล้วมาเกิดด้วยไม่ได้ แล้วเขาจะจำเรื่องราวในชาติก่อนได้อย่างไร จิตต่างหากครับที่มาเกิดได้ เพราะมันเป็นนามธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันล่องลอยมาเกิดเหมือนที่เราพูดๆ กัน จิตมันก็เกิดดับติดต่อกันเหมือนดวงไฟนั่นแหละครับ เราเห็นมันเป็นไฟดวงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริง ดวงไฟมันเกิดดับนับไม่ถ้วน ดวงไฟที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ดวงเดิม แต่เป็นดวงใหม่อยู่ตลอดเวลา ...” ( 153)

อรชุนพยายามะอธิบายว่า “จิต” เท่านั้นที่เป็นตัวทำหน้าที่แสดงความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่สมอง ซึ่งความคิดนี้ตรงกับที่ภควัทคีตากล่าวว่าการระลึกได้จากการเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะมีที่มาจากจิตดวงเดิม ดังที่พระกฤษณะกล่าวว่า “... ฟังนะ อรชุน! ทั้งเพื่อนและเราต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันมาไม่รู้คนละกี่ภพกี่ชาติแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดนั้น ทั้งหมดเราสามารถระลึกได้ ...” (54)

คำอธิบายของอรชุนในอมตะจึงน่าจะไม่ใช่ “จิต” ในทางพุทธศาสนา แต่เป็นคำอธิบายที่เกิดจากการผสมผสานอิทธพลความคิดจากศาสนาอื่นเข้ากับพุทธศาสนา และผู้เขียนยังได้แฝงจุดประสงค์บางอย่างที่จะโยงไปถึงความขัดแย้งระหว่างความคิดของอรชุนกับความคิดของโปรเฟสเซอร์สเปนเซอร์ ซึ่งเป็นภาพตัดกันแบบขาวดำ จึงมีผู้ตีความว่าทั้งสองเป็นตัวแทนของการวิวาทะระหว่างพุทธศาสนากับความคิดทางวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็น “ธัมมิกวรรณกรรม”[3]

เกี่ยวกับเรื่องความทรงจำจากจิตหรือสมองนี้ ในนวนิยายยังคงต้องขบคิดต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วจิตหรือสมองของพรหมินทร์กันแน่ที่จะควบคุมการกระทำของร่างกายหลังจากได้รับการผ่าตัด แต่ใน The 6th Day กลับมีคำตอบชัดเจนมาแล้วว่าความทรงจำต่างๆ นั้นได้มาจากคลื่นสมอง โดยใช้เครื่องบันทึกความทรงจำ (syncording) ซึ่งจะทำให้ความทรงจำที่มีอยู่ในคลื่นสมองทั้งหมดได้รับการถ่ายถอดไปสู่คนโคลนอย่างง่ายดาย ในนวนิยายอมตะก็นำเสนอวิธีคิดแบบชาวตะวันตกไว้แบบนี้เช่นกัน เรื่องราวจึงยังไม่จบลงที่อรชุนสามารถยึดครองร่างของพรหมินทร์ได้เพียงแค่นั้น แต่ยังคงค้างเรื่องที่ว่าอำนาจจิตของอรชุนที่จะควบคุมร่างของพรหมินทร์ต่อไปได้หรือไม่ และเราอาจขยายกรอบความคิดให้กว้างออกไปอีกว่า การที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องของความเป็นอมตะมาทั้งหมดนี้เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้วความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติโดยอาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อาจล้มเหลวลงด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง และนั่นหมายความว่า เมื่อถึงที่สุดของชีวิต มนุษย์ก็ต้องยอมจำนนต่อธรรมชาติ

หากพิจารณานวนิยายเรื่องนี้ในฐานะที่เป็น “เรื่องเล่า” (narrative) แล้ว อมตะก็คือเหตุการณ์สมมุติที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว (อิราวดี ไตลังคะ 2543 : “คำนำ”)
เราจะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้กำหนดเรื่องขึ้นอย่างมีเป้าหมายภายใต้กรอบของ “เรื่องแต่ง” (fiction) และอิทธิพลการกำกับของภาษา ดังที่จาค แดรีดา (Jacques Derrida) นักคิดชาวฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางภาษาศาสตร์ของโซซูร์ (Saussurean Linguistics) ที่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อยู่นอกกฎเกณฑ์แห่งภาษาหรือตัวบท กล่าวคือ ภาษาสร้าง “ความเป็นจริง” แห่งสรรพสิ่งทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือภาษา หรือเข้าใจได้โดยไม่ได้อยู่ในรูปของตัวบท (ธีระ นุชเปี่ยม 2539-2540 : 11)

การจัดลำดับโครงเรื่อง การนำเสนอตัวละคร แนวคิด กลวิธีการเล่าเรื่องประกอบกับการใช้ภาษาและน้ำเสียงของผู้เขียนในการผูกร้อยเรื่องราว อาจทำให้เกิดเป็นความหมายใหม่ระหว่างถ้อยคำหรือข้อเขียนขึ้น ค่าความจริงที่ปรากฏจึงมีก็แต่เฉพาะในบริบททางวาทกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ ในแง่ของประโยคหรือถ้อยคำ หากไม่มีประโยคหรือถ้อยคำ ก็ไม่มี “ความจริง” ดังนั้น “ความจริงจึงผูกอยู่กับความคิดและภาษาของมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้” (ธีระ นุชเปี่ยม 2539-2540 : 12)

นวนิยายเรื่องอมตะก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งภาษาและกรอบของเรื่องแต่งเช่นกัน แม้ว่าผู้เขียนจะทำการบ้านมาเพียงใดก็ตาม หากเมื่อเริ่มเขียนแล้วผู้เขียนก็อาจปล่อยให้ตัวละครในนวนิยายสนทนากันตามที่ผู้เขียนวางเป้าหมายไว้ว่าจะให้เกิดความหมายที่เป็นไปตามจินตนาการของตน อย่างไรก็ดี ความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมมีค่าของความจริงที่ผู้อ่านยอมรับได้ในโลกจินตนาการ เพราะเขาย่อมได้รับความคิดและความบันเทิงตามพันธกิจของความเป็นเรื่องแต่งอยู่แล้ว

หากจะประเมินค่านวนิยายเรื่องนี้ว่าผู้เขียนให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็น “ความรู้แบบไทยๆ” เช่นเรื่องเซลล์ (ธาวิต สุขพานิช 2543 : 41) และเมื่อกล่าวถึงปรัชญาพุทธศาสนา (หรือที่แท้อาจเป็นปรัชญาฮินดูผสมกับศรัทธาพุทธ) ผู้เขียนก็ได้ให้ข้อมูลที่ไม่สู้จะถูกต้องนัก การประเมินค่าในลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นการแสดงความคิดอคติต่อผู้เขียน ตัวบท และคงต้องรวมไปถึงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จะมีประโยชน์ในเชิงเกียรติยศแล้ว ยังมีประโยชน์ในเชิงการตลาดอีกด้วย (สุภาพ 2543 : 60) ซึ่งถ้าหากทำใจว่ากำลังอ่านวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงอันพันธกิจที่แท้จริงของวรรณกรรมแล้ว การรับรู้เรื่องโคลนนิ่งกับศรัทธาความเชื่อในอมตะ คงจะไม่แตกต่างกับการชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์เรื่อง The 6th Day เท่าใดนัก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฏข่าวว่าจะมีผู้ค้นหาค่าความจริงหรือออกมาต่อต้านจินตนาการของผู้สร้าง เราอาจจะเชื่อได้หรือไม่ว่า การปฏิเสธนวนิยายเรื่องนี้ในหมู่นักอ่านบางคน ก็เป็นเพราะอิทธิพลของรางวัลโดยแท้
บรรณานุกรม

กนก ภาวสุทธิไพศิฐ. สัมภาษณ์ในรายการ “จับกระแสโลก” ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี. 9 พฤษภาคม 2544.
ชัยวัฒน์ คุประตกุล. Cloning โคลนนิ่ง. สารคดี (ตุลาคม 2542) : 180.
ธาวิต สุขพานิช. นวนิยาย ‘อมตะ’ กับ รางวัลซีไรท์. มติชนสุดสัปดาห์. 20 , (28สิงหาคม 2543) : 41.
ธีระ นุชเปี่ยม. ความรู้ อำนาจ อุดมการณ์ในวาทกรรมทางประวัติศาสตร์. วารสารร่มพฤกษ์. 15, (ตุลาคม 2539-มกราคม 2540) :
วิมล ไทรนิ่มนวล. อมตะ. ปทุมธานี : สยามประเทศสำนักพิมพ์, 2543.
วิสุทธ์ บุษยกุล. ภควัทคีตาและอนุคีตา. เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่องมหาภารตะ : ความสัมพันธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 2 ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 20-21 พฤศจิกายน 2543.
สัจจา ประกาศชัย. ซีไรท์ ‘อมตะ’ นวนิยายส่งเสริมศาสนา ไฉนจึงกลายเป็นการย่ำยี. มติชนสุดสัปดาห์. 20, (18 ธันวาคม) : 60-62.
อิราวดี ไตลังคะ. ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพมหานคร : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543.


---------------------------------


[1]ขอขอบคุณดวงพร เมธสวัสดิ์ ที่กรุณาค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้จาก http://www.imdb.com/ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2543
[2] เช่น การทำกิ๊ฟ ผสมเทียม หรือนำเซลล์ไข่ของภรรยามาผสมกับเซลอสุจิของสามีแล้วยังไม่ประสบผล เป็นต้น ข้อมูลนี้ ศ.นพ.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับกระแสโลก” เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2544 ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
[3] โปรดดูส่วน “คำนำสำนักพิมพ์” ใน อมตะ

ไม่มีความคิดเห็น: