วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(3)

การสืบทอดความเป็นกวีและความสำคัญของกวีนิพนธ์

อังคาร กัลยาณพงศ์เป็นกวีร่วมสมัยคนแรกที่ประกาศอุดมการณ์ของการเป็นกวีอย่างชัดเจน และได้สถาปนากวีนิพนธ์ขึ้นเป็น “วิชากวี” ไว้ด้วยในบทที่ว่า
ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงสุด
ขลังดั่งบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอมฯ [i]

การที่กวียอม “สละทอดทิ้ง” ชีวิต มาสร้างงานวรรณศิลป์ ใช้จินตนาการสร้างโลกนี้ให้หอมไปถึงโลกหน้าได้นั้น นับเป็นความตั้งใจอย่างสูงส่งของผู้สร้างซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญต่อการสร้างงานศิลปะแบบทุ่มเทจิตวิญญาณแล้ว ยังเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเป็นกวีและยกระดับคุณค่าของกวีนิพนธ์ให้สูงสุดด้วยการกล่าวเป็นคำอธิษฐานว่า “วิชากวีจงศักดิ์สิทธิ์สูงสุด” กวีและกวีนิพนธ์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ และผู้สร้างยังได้กล่าวฝากงานวรรณศิลป์ที่ล้ำค่าไว้ในโลก ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอีกด้วย ดังที่ว่า

โอมกราบพิฆเณศวร์แก้ว กายสิทธิ์
ขอรุ่งเรืองบุญฤทธิ์ เก่งกล้า
พลีชีวิตนฤมิต โคลงกาพย์
จุ่งศักดิ์สิทธิ์สถิติหล้า ตราบฟ้าดินหายฯ [ii]
การอธิษฐานให้โคลงกาพย์มีศักดิ์และสิทธิ์คงอยู่คู่หล้านั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นการสืบทอดมโนทัศน์การยกย่องผลงานของตนให้สูงสุดแล้ว ยังแสดงให้เห็นอหังการของกวีที่ประเมินค่าผลงานไว้อย่างสูงส่ง การ “พลีชีวิต” ของกวีนั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะในทางโลกเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธความปรารถนาสูงสุดในทางธรรมอีกด้วย โดยยอมที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ต่อไป ดังที่กล่าวไว้ใน “ปณิธานกวี” ว่า

ถึงใครเหาะเหินวิมุติสุดฝั่งฟ้า เดือนดาริกาเป็นมรรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวีวาย
จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาล
เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์ ที่สุดสู่ยุคสุขเกษมศานต์
วารนั้นฉันจะป่นปนดินดาน เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง [iii]
การที่กวีกล่าวยืนยันว่าจะไม่ไปแม้แต่ “พระนิรพาน” นั้น อาจเป็นการยอมรับในฐานะมนุษย์ว่า ขอวนว่ายใน “วัฏฏะสังสาร” เพื่อมีชีวิตอยู่สร้างผลงานวรรณศิลป์ กวีนิพนธ์จึงได้รับการยกย่องสูงสุดอีกครั้งว่ามีค่าเหนือกว่า “พระนิรพาน” กล่าวได้ว่าอังคาร กัลยาณพงศ์ยอมปวารณาตนด้วยการขอเป็นผู้เสียสละเพื่อมวลมนุษย์ โดยขอมีชีวิตอยู่เพื่อ “แปลค่าแท้ดาราจักร” ให้เป็นบทกวีสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งก็เป็นการแสดงอุดมการณ์สูงสุดเพื่อจะ “ลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์” นับว่าอังคารให้ความหมายของกวีและกวีนิพนธ์ไว้อย่างสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์

การประกาศถึงความเป็นกวีและยกย่องวิชากวีให้สูงสุดนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของยุคสมัยเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา ต่อจากนั้นการยืนยันถึงสถานะของกวีก็เริ่มปรากฏเป็นเนื้อหาของกวีนิพนธ์ร่วมสมัยมากขึ้น หากแต่การยืนยันถึงความเป็นกวีแตกต่างไปจากมโนทัศน์เดิม ดังในบทที่ชื่อ ปณิธานรัก – ปณิธานกวี

ทุกภพชาติปรารถนาของข้านี้ ขอให้เกิดเป็นกวีศรีสวรรค์
เพื่อถักถ้อยร้อยอักษรกลอนรำพัน สำหรับจรรโลงโลกโศลกวอน
ทุกภพชาติปรารถนาของข้านี้ ให้คนรักเป็นกวีศรีอักษร
จะเห่กล่อมลำนำด้วยคำกลอน เพื่อออดอ้อนคำรักประจักษ์จินต์
จะครองคู่อยู่สุขทุกค่ำเช้า คือฝันเฝ้ายิ่งใหญ่ใฝ่ถวิล
แก้มแนบแก้มแย้มยิ้มอิ่มทิพย์กิน ตลอดสิ้นชั่วนิรันดร์ทุกวันคืน
ทุกภพชาติปรารถนาไม่ลาเลิก ให้เกียรติเกริกก้องไกลได้สุขชื่น
ปณิธานรักปณิธานกวีนี้ยาวยืน ตราบแสนหมื่นพรรษาอย่ารู้จาง [iv]

“กวี” ในบทนี้ มีบทบาทหน้าที่ถักร้อยอักษรเพื่อจรรโลงโลกเช่นกัน แต่การเป็นกวีของเขาก็ประสานกับความปรารถนาในความรักความสุขระหว่างเขากับคนรัก ดูเหมือนว่ากวีในปัจจุบันจะเพ่งแต่ความเป็นอยู่และความปรารถนาของตน เช่นเดียวกับอีกบทหนึ่ง ที่ว่าเกิดมาเป็นกวี ชีวีอุทิศแด่โลกวรรณศิลป์โสตสดับทุกสิ่งสรรพที่ยลยิน ไม่ถวิลหาอาวรณ์จ่ายพ่ายหทัยดำรงตนเฉกคนสามัญ มีเจ็บปวดป่วยจาบัลย์ทุกข์หมองไหม้คือวิถีอักษรศรีกวีไซร้ แม้ชีพวายใจจักอยู่ในโลกกวี [v]

ในบทนี้ แสดงความรู้สึกขัดแย้งของกวีที่ว่า การเกิดมาเป็นกวีนั้น ต้องอุทิศชีวิตเพื่อโลกวรรณศิลป์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคนทั่วไป ดังนั้นอาจต้องแยกกัน คือ ใจเท่านั้นที่อยู่ใน “โลกกวี”ได้ แต่ชีวิตก็คงต้องดำเนินไปแบบคนธรรมดา แล้วกวีจะมีชีวิตอย่างไรในโลกที่วุ่นวายเช่นปัจจุบัน


[i] อังคาร กัลยาณพงศ์. กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ :เคล็ดไทย, 2529.)33.
[ii] เรื่องเดียวกัน,128.
[iii] อังคาร กัลยาณพงศ์. ปณิธานกวี,พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กะรัต,2529),23.
[iv] คำเมือง เอกอ้อย. โคลงฉันท์กาพย์กลอน(คำรักคำกวี).(นครพนม : สำนักพิมพ์อักษรธรรม),2546.
[v] จักษณ์ จันทร. “ใจกวี” เมรัยรำพัน. (กรุงเทพฯ : D76,2544).




ไม่มีความคิดเห็น: