วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(2)


ศักดิ์และสิทธิ์ของกวีโบราณ

ในวรรณคดีโบราณมักไม่ปรากฏนามของกวีซึ่งเป็นนักปราชญ์ราชสำนัก แต่จะแฝงด้วยเสียงของการให้คุณค่าแก่ผลงานการประพันธ์ในลักษณะ “อัตวิพากษ์” อยู่เสมอด้วยน้ำเสียงอหังการแสดงถึงความทระนงตน เช่นกล่าวยกย่องบทประพันธ์ที่ไพเราะของตนว่ามีค่าเปรียบได้กับพวงมาลาและเครื่องประดับที่มีค่าควรเมือง ดังใน ยวนพ่ายโคลงดั้น กล่าวว่า


สารสยามภาคพร้อง กลกานท นี้ฤๅ

คือคู่มาลาสวรรค ช่อช้อย

เบญญาพิศาลแสดง เดอมเกียรติ พระฤๅ

คือคู่ไหมแสร้งร้อย กึ่งกลาง

เปนสร้อยโสภิตพ้น อุปรมา

โสรมสรวงศิรธิรางค เวี่ยไว้

จงคู่กัลปา ยืนโยค

หายแผ่นดินฟ้าไหม้ อย่าหายฯ


กวีแสดงความภูมิใจและเชื่อมั่นในผลงานของตนว่ามีค่างดงามมากพอที่จะให้อยู่คู่บ้านเมืองไปชั่วกัลปาวสาน แม้จะไม่มีแผ่นฟ้าแผ่นดินแล้วแต่ผลงานนี้ก็ขอให้ยังคงอยู่ คำประพันธ์ที่เป็นเสมือนคำอธิษฐานข้างต้นเป็นภาพเสนอให้เห็นความคิดเชิงอุดมคติที่กวีมีต่อผลงานวรรณศิลป์ ในวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ ก็ปรากฏลักษณะของการประเมินค่าวรรณศิลป์ในทำนองนี้เช่นกัน ดังความตอนหนึ่งว่า


สรวลเสียงขับอ่านอ้าง ใดปาน
ฟังเสนาะใดปูน เปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลกานท์ กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ
เป็นศรีแก่ปากผู้ ผจงฉันท์
คือคู่มาลาสรร เรียบร้อย
เป็นถนิมประดับกรรณ ทุกเมื่อ
กลกระแจะต้องน้อย หนึ่งได้แรงใจฯ
กวีเปรียบบทประพันธ์ของตนว่าเป็นมาลัยที่ร้อยกรองอย่างงดงามประหนึ่งเครื่องประดับหู เมื่อได้ฟังแล้วก็อิ่มเอิบใจดังได้แตะเครื่องหอมแม้เพียงน้อยนิด การประเมินค่าผลงานในลักษณะนี้เป็นขนบอย่างหนึ่งของกวีไทยและได้รับการสืบทอดมาสู่กวีในยุคหลังๆ แม้กวีโบราณจะไม่ประกาศถึงความเป็นกวี แต่ก็แสดงอารมณ์ความรู้สึกหยิ่งทระนงและยกระดับผลงานล้ำค่าให้อยู่คู่ควรเมืองฝากไว้ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป มีบ้างที่เป็นการกล่าวเชิญชวนให้ “รื้อ” และ “เกลา” กลอนได้ ดังที่ว่า

ใดผิดเชอญช่วยรื้อ รอนเสีย
ใดชอบกาลเชอญเกลา กล่าวเข้า

แต่ในวรรคถัดมากวีก็ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงของความเชื่อมั่นในฝีมือการประพันธ์ของตน และยกย่องผลงานนี้เปรียบดังดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างในยามเช้า (พยงพระระพีเพงีย สบสาธุ) ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในผลงานวรรณศิลป์ของตนจึงได้ยกย่องไว้อย่างสูงส่งเช่นนั้น

การที่กวีโบราณยกย่องผลงานวรรณศิลป์ด้วยการฝากไว้ให้เป็นมรดกของชาติและให้คนรุ่นหลานสืบทอดนั้น สะท้อนให้เห็นความคิดเชิงอุดมคติที่ว่า ผลงานวรรณศิลป์ที่รจนาขึ้นจากถ้อยคำอย่างวิจิตรบรรจงนั้น สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและสื่อสารข้ามมิติของเวลาและสังคมวัฒนธรรมได้ เพราะงานวรรณศิลป์นั้นแสดงถึงลักษณะร่วมของมนุษยชาติ แม้กาลเวลา สภาพสังคมและวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่อารมณ์ความรู้สึกและปรัชญาความคิดของกวีก็ยังคงสื่อสารข้ามห้วงกาลเวลามาถึงปัจจุบันได้

ไม่มีความคิดเห็น: