วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

เล่ห์รักสลักใจ : พล็อตปลอมตัวยังไงก็ได้ผล



เมื่อคืนเพิ่งอ่าน เล่ห์รักสลักใจ นวนิยายจีนร่วมสมัยของฉวนเหยา ถอดความโดยอรจิรา เราอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าคือคนที่เขียนเรื่องตำนานรักดอกเหมยและองค์หญิงกำมะลอ ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เราคงร้องอ๋อกันเพราะคุ้นกับแนวเรื่องรักๆ หวานๆ ของนักประพันธ์ชาวไต้หวันคนนี้มากกว่าเล่ห์รักสลักใจ เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวสวยคนหนึ่งเพิ่งเรียนจบและมาสมัครงานที่บริษัทใหญ่ในตำแหน่งเลขานุการ เธอได้รับการคัดเลือกจากใบสมัครมากมาย


หลายคนเริ่มเดาเรื่องได้แล้วว่าจากเจ้านายกับเลขาฯก็จะกลายเป็นความรักแน่ พล็อตไม่ง่ายแบบนั้นหรอก เพราะเจ้านายอายุมากแล้วรุ่นคุณพ่อ เรื่องดำเนินไปโดยให้เลขาสาวสวยล่วงรู้ปมปัญหาในครอบครัวของเจ้านาย เธอรู้ความลับว่า เลขาของเจ้านายทุกคนมักลงท้ายด้วยการแต่งงานกับคนในครอบครัวของเจ้านาย เธอจึงเริ่มระวังตัวที่จะไม่เป็นคนต่อไป เธอจึงคบกับชายหนุ่มพนักงานระดับล่างหน้าตาดีคนหนึ่ง ที่เข้ามาใกล้ชิดกับเธอตั้งแต่วันแรกของการเป็นพนักงานในบริษัทนี้ คราวนี้คงเดาทางถูกแล้ว กับชื่อเรื่องเล่ห์รัก ชายหนุ่มผู้ยากจนและต่ำต้อย แท้จริงแล้วก็คือลูกชายเจ้านายนั่นเอง


ว้า...เฉลยซะแล้ว คราวนี้ก็คงจะอ่านไม่สนุกล่ะสิ ..เปล่าเลย เฉาหยวนยังสร้างเรื่องราวที่ชวนให้เราติดตามไปได้เรื่อยๆ ทำให้เราคอยลุ้นว่าคนทั้งสองจะลงเอยอย่างไร และยังมีเรื่องราวความรักของเพื่อนสาวอีกคนหนึ่งด้วยว่า เธอจะสมหวังหรือไม่ ก็นับว่าเป็นนวนิยายที่อ่านสนุกเรื่องหนึ่งเหมือนกันนะ
ถ้าจะอ่านเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว เราอาจจะต้องกลับมานั่งคิดพิจารณาว่า ด้วยพล็อตปลอมตัวธรรมดาๆ เหตุใดถึงยังเป็นเรื่องที่นักอ่านนิยมชมชอบอยู่ ทั้งๆ ที่เรื่องแนวนี้เขียนมาตั้งแต่สมัยคุณยายยังสาว น่าคิดว่าโลกในจินตนาการสร้างให้เรามีหนทางหนีจากความจริงที่ร้ายๆ เราคงไม่อยากอ่านเรื่องเครียดๆ ที่หญิงสาวเจอชายหนุ่มหน้าตาดี ฐานะร่ำรวย แต่ผลสุดท้ายพบว่าเป็นเศรษฐีจอมปลอมแบบในชีวิตจริงของใครหลายคน ความเป็นนวนิยายจึงสร้างเรื่องที่สวยงามและจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งมากกว่า เหมือนกับว่าให้เราสุขในฝันแล้วตื่นมายอมรับกับความเป็นจริงว่าไม่ได้สวยงามอย่างในนิยายก็ยังดีกว่า จริงมั้ย
หากจะศึกษานวนิยายเรื่องนี้ในฐานะสื่อทางวัฒนธรรมของจีนแล้ว เราอาจไม่เห็นอะไรนอกจากการหล่อหลอมความฝันแบบทุนนิยมเข้าไปในจิตใจของนักอ่านรุ่นใหม่ ไม่แน่ใจว่านักอ่านคนจีนจะอ่านงานของนักประพันธ์รุ่นคุณแม่ยังสาวผู้นี้อยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เราไม่เห็นสภาพสังคมหรือความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือวิธีคิดของคนจีนแม้แต่น้อย เรื่องมันลอยๆ อยู่ท่ามกลางความรักความสับสนในใจของหนุ่มสาวแค่นั้น ไม่ได้ผูกดึงไว้กับสังคมจีน เราอาจเห็นสภาพความเป็นอยู่ในสังคมเมืองใหญ่อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างฉาบฉวย ถ้าว่างๆ ก็ลองหามาอ่านดูนะคะของสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ ราคา 180 บาท อ่านเอาสนุกๆ และนอนหลับฝันดีก็พอแล้วค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: