วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ว่าด้วยกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัย(1)

เพียงนึกเท่านั้นก็เป็นกวี


...ข้ารู้จักความรักเมื่อรักเจ้า รับรู้ว่าความเหงาช่างหน่วงหนัก

ได้รู้รสพิษร้ายแห่งความรัก ได้จ้วงตักความหวานจากธารนี้

ข้าจึงเป็นกวีที่ไหวอ่อน ฝากอักษรกลอนขานวานสักขี

หวานความรักร่ำร่ายมโหรี ข้าจึงเป็นกวีเต็มวิญญาณ [i]



การประกาศความเป็นกวีมักเป็นแนวคิดที่ปรากฏในกวีนิพนธ์ร่วมสมัย สะท้อนให้เห็นความคิดที่ว่า เป็นกวีต้องประกาศอัตลักษณ์ หรือกล่าวถึงการดำรงชีวิตที่มักจะต่างจากคนธรรมดาทั่วไป บางครั้งก็เป็นการย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของความเป็นกวีในสังคมปัจจุบัน การนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้ อาจมีความหมายว่า ความเป็นกวีในสังคมปัจจุบันนั้นกำลังถูกท้าทาย การยืนยันถึงสถานะความเป็นกวีในกวีนิพนธ์ข้างต้นนี้ อาจเกิดจากความไม่แน่ใจและไม่เชื่อมั่นในความเป็นกวี กวีในปัจจุบันก็อาจไม่ต่างจากคนทั่วไปและเป็นกันได้ง่าย ดังที่มีกวีผู้หนึ่งกล่าวว่า

เพียงนึกเท่านั้นก็เป็นกวี ง่ายดายเหลือดีกวีใหม่

มีอารมณ์เสียอย่างมีทางไป สร้างกวีภายในไม่เว้นวัน

ล้วนแล้วด้วยเรื่องของความรัก เรื่องคนอกหัก เรื่องเพ้อฝัน

เรื่องความเข้าใจไม่ตรงกัน เรื่องเธอกับฉันแค่นั้นเอง

มีหมอก น้ำค้าง ความว่างเปล่า มีความเงียบเหงาเข้าข่มเหง

มีน้ำตา ความว้าเหว่ ความวังเวง มีดาวเดือนเอื้อนเพลงอยู่ลิบลิบ

นี่คือข้อมูลที่พูนพร้อม รอการหล่อหลอมอย่างดิบดิบ

รอแรงหัวใจไหวกระซิบ รอการประจงหยิบข้อมูลกวี [ii]


กวีนิพนธ์บทนี้ แสดงน้ำเสียงประชดประชันบรรดากวีใหม่ทั้งหลายว่า สามารถเป็นกวีได้อย่างง่ายดายเพียงแต่ “นึก” เท่านั้นก็เป็นกวีแล้ว เนื้อหาของกวีนิพนธ์จึงมีเพียงแค่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในใจเท่านั้นเองหรือ แล้วกวีจะมีความหมายใด จะมีบทบาทหน้าที่ใดในสังคมปัจจุบัน คำถามเหล่านี้ชวนให้น่าค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความหมายของกวีและกวีนิพนธ์ เพือนำไปสู่การค้นหาสถานะของกวีและกวีนิพนธ์ร่วมสมัยในสังคมปัจจุบัน


[i] เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์. “ดวงมณีที่น้อมนำ” บ้านแม่น้ำ .(กรุงเทพฯ :คมบาง,2538),20.

[ii] แรคำ ประโดยคำ, แรคำ (กรุงเทพฯ : คณาธร),2535.



ไม่มีความคิดเห็น: