วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

กว่าจะข้ามขุนเขา(ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน) : ความงามที่พร่าเลือน



กวีนิพนธ์ไทยเล่มใหม่ของศิวกานต์ ปทุมสูติ ภายใต้นามปากกา "ธมกร" ดูเหมือนว่าเล่มนี้ศิวกานต์ ปทุมสูติพยายามจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อาจเป็นรูปแบบใหม่หรือเนื้อหาใหม่ กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงมีฉันทลักษณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่กลอนพื้นบ้านไปจนถึงฉันท์ ความงดงามที่ปรากฏเป็นบางบท สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของกวีรุ่นใหญ่ บางบทนำเสนอธรรมชาติในมุมที่งดงามแปลกตา เช่น บทที่ชื่อ เวฬุนารี เป็นบทชมโฉมปล้องไผ่ที่งดงามราวสาวน้อย

เปลื้องผ้าสิสาวน้อย ขณะนี้มิมีใคร

ไยดีฤดีใส บริสุทธิเดียงสา

แม้ธารละหานแห้ง วนะแกร่งเพราะเธอกล้า

อาบแสงอุษาพา รพิกอดตระกองขวัญ

โปรยปลิวละลิ่วลม สิจะห่มพนมวัน

เผยร่างสะอางอัน ยุวรุ่นดรุณศรี

กวีนิพนธ์เล่มนี้ เป็นเหมือนการรวมภาพความงามที่กวีสัมผัส เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เก็บภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพความงามที่บริสุทธิ์ของธรรมชาติ แล้วนำมากลั่นให้เกิดเป็นพุทธิปัญญา โดยส่วนตัวแล้วชอบบทที่ชื่อ รูปรอยที่แตกต่าง กวีขึ้นต้นว่า

แดดเช้าเฉิดฉันตะวันรุ่ง ทาทองท้องทุ่งและทิวไผ่

ภิกษุรูปนั้นเดินผ่านไป เพียงกลดไตรจีวรและบาตรธุดงค์

ท่านหันมายิ้มพมพ์ภาพเช้า ทอดเงาวิมุติวิสุทธิสงฆ์

ดั่งเชิญเดินทางสร้างเส้นตรง สู่องค์ธรรมทิพย์พระนิพพาน

ยกมือขึ้นสาธุโมทนา ภิกษุแห่งมรรคาผู้กล้าหาญ

ท่านมีทางหมายโพธิญาณ ฉันมีทางศานติกมล

ท่านเปลือยเท้าเปล่าก้าวไป ฉันใส่รองเท้าเดินถนน

ท่านออกจากคฤหัสถ์ตัดกังวล ฉันอยู่กับผู้คนระคนรัก

มิหมายรุดขุดรากโดยพรากพ้น แต่หมายยลต้นตอการทอถัก

สัมผัสด้วยรู้สึกไม่ทึกทัก ไม่ปักหลักแต่ปักเสาเหย้าการุณย์

ฉันพบว่าแสงเช้าย่อมผ่านเช้า ไปโดยก้าวแห่งกาลอันอบอุ่น

สายจนบ่ายเย็นย่ำนำสมดุล รอเกื้อหนุนเช้าใหม่หทัยทิวา

สิ้นกัปสิ้นกาลที่ตรงไหน ตราบสิ้นอายุขัยลงเบื้องหน้า

ทางที่เลือกถูกแท้ในศรัทธา ย่อมไม่เสียเวลาก้าวเดิน

แดดเช้าเฉิดฉันตะวันรุ่ง ทาทองท้องทุ่งและเถื่อนเถิน

ภาพภิกษุลับตาพนาเนิน ฉันเพลินกับภาพใหม่สดใสงาม

ความหมายที่ดูเหมือนจะตัดกันระหว่างภิกษุผู้บรรลุ กับฉันที่ยังติดบ่วง กลับพร่าเลือนไปในตอนท้ายบทอย่างน่าเสียดาย หลายๆ บทก็ให้ความหมายที่พร่าเลือนไปอย่างน่าเสียดายเช่นนี้ เมื่อมองหันกลับไปหา กวีนิพนธ์เล่มก่อน "ครอบครัวดวงตะวัน"

สำหรับ "ครอบครัวดวงตะวัน" จะเห็นภาพความงดงามของเด็กและครอบครัวอย่างมีเอกภาพมากกว่าเล่มล่าสุด นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าอาจเป็นเพราะกวีต้องการแหวกจากการนำเสนอความรู้สึกนึกคิดแบบเดิมๆ ไปสู่ความแปลกใหม่หรือเปล่า จึงทำให้เกิดความไม่ค่อยลงตัวระหว่างเนื้อหากับฉันทลักษณ์ ซึ่งถ้านามปากกาของกวีนิพนธ์เล่มนี้จะเป็นธมกร นักอ่านอีกหลายคนคงไม่นึกไปถึงศิวกานต์ ปทุมสูติเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น: