วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ณ กาลเวลา : หนังสือสวยคำงามคมความคิด



เย็นวันหนึ่งเดินเข้าไปที่ศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัย เจอหนังสือเล่มหนึ่งปกสวย เปิดดูเนื้อใน หนังสือของ "อดุล จันทรศักดิ์" ไม่เคยรู้จักกวีคนนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งอ่านไปเจอว่า ก็คือ "อัคนี หฤทัย" ไงล่ะ กวีการเมืองสมัยก่อนที่เขียน "ดอกไม้ไฟ" นั่นเอง เมื่อไล่สายตาไปตามหน้าหนังสือ พบความสวยแบบประณีตบรรจง เปิดดูแล้วเพลิน จนต้องหามุมนั่งลงอ่าน หน้าแล้วหน้าเล่า เพลิดเพลินไปกับบันทึกที่ใครๆ เขียนถึง "พี่งู" แล้ว ก็ให้เกิดความประทับใจ หนังสือเล่มนี้บอกความหมายที่นอกจากตัวตนของกวีแล้ว ยังบอกระยะสัมพันธ์ระหว่างกวีกับเพื่อนๆ กับพี่ๆ กับน้องๆ ที่ต่างเต็มใจมาเขียนบันทึกความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ในวันที่พี่งูเกษียณ อ่านแล้วก็อดที่จะบอกต่อไม่ได้ ลองดูหน้านี้



อดุล จันทรศักดิ์ได้ถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนใจที่มีต่อภัยสงครามได้อย่างชัดเจน จากภาพและถ้อยคำที่ต่างก็สื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง บทกวีล้วนสะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนและการตระหนักถึงชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกใบนี้
สำหรับมุมมองที่กวีมีต่อชีวิตนั้น หากพิจารณาจากบทกวี จะเห็นความลุ่มลึกอย่างยอมรับในสิ่งที่เห็นและเป็นไป ในกวีนิพนธ์หลายบท กวีมักตั้งคำถามกับเรื่องราวที่หลากหลายของคนในสังคม แม้แต่เรื่องที่เป็น"ข่าวคาว" ของดาราคนหนึ่ง ที่สื่อต่างประโคมข่าวประหนึ่งลมพายุพัดเข้ามา แล้วทิ้งร่องรอยกระแสตื่นตระหนกโกหกคำโตไว้ให้แก่สังคมไทย ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามไว้ให้ขบคิดกันต่อในหนังสือเล่มนี้ กวีถามสังคมว่า
เธอมีสิทธิ์เสรีที่จะท้อง
เนื้อตัวเธอ เธอเป็นเจ้าของ หรือมิใช่?
เธออาจพลาดพลั้ง หรือตั้งใจ
เมื่อปล่อยไปตามปรารถนาและอารมณ์
เธอมีเลือดมีเนื้อ รู้ร้อนหนาว
ณ วัยสาวซึ่งโหยหารักมาห่ม
แต่ด้วยการถือสิทธิ์ของสังคม
เสือกไสเธอให้หกล้มและซมซาน
เหมือนเธอไม่มีที่จะยืน
ขมขื่นอยู่กลางกระแสต้าน
เป็นหัวข้อสนทนาอยู่ยาวนาน
เป็นเหยื่อกลางวงวิจารณ์อย่างสะใจ...
ตามไปอ่านต่อแล้วกันนะ รับรองว่าพี่งูจบบทนี้อย่างเฉียบคมเสียจนทำให้เราและอีกหลายๆคนในสังคมนี้ "อึ้ง" ไปกับความจริงแท้อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งยังให้มองมุมใหม่ที่สร้างสรรค์ และนั่นคือสาระของ ณ กาลเวลา ที่คุ้มค่าแก่การอ่านและสะสมสำหรับคนรักหนังสือ

ไม่มีความคิดเห็น: