วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

แรมเรือน : ความลุ่มลึกที่รอเวลา



รวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ เมื่อได้ยินชื่อพลอยเข้าใจว่าเป็นบทนิราศของคนไกลบ้าน แต่เมื่อได้สัมผัสเนื้อในแล้ว หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลากหลาย ที่นับว่าโดดเด่นกลายเป็นเรื่องความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม มีหลายบทที่กวีชี้ชวนให้หันมองธรรมชาติในหลายแง่หลายมุม

ในบท “โขงขื่น” กัมปนาท แสงทองยกเพลงเก่ามาประกอบ ช่วยยึดโยงความคิดที่ยังไม่ล้าสมัยเกินไปจนทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วยได้ กวีทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนแม่โขง ถ้อยคำในบทนี้ล้วนตัดพ้ออย่างคมคาย ดังว่า “โขงอยากจะทิ้งขื่น ขอขวัญคืนอย่างคนบ้าง ใครช่วยบอกหนทาง จะทิ้งขื่นคืนให้ใคร” ความสะเทือนอารมณ์ที่ได้รับในฐานะของผู้อ่าน ระลึกรู้ได้ทันทีว่า ป่านนี้แม่โขงคงจะขมขื่นเต็มทนแล้ว เพราะใครๆ ก็พากันเอาความขมขื่นไปทับถมให้ ชาวบ้านที่ได้อาศัยแม่น้ำสายนี้คงตระหนักกันดี


กวียังชี้ชวนให้เรามองธรรมชาติในอีกแง่มุมหนึ่ง ในบท “ สารภีสีเพลิง” กวีเล่นกับสัจธรรมที่ว่าสรรพสิ่งในโลกย่อมอาศัยพึ่งพากัน ทุกอย่างมีสูงสุดแล้วก็คืนสู่สามัญ งดงามเพื่อรอวันล่วงหล่นกลายเป็นปุ๋ยบำรุงต้นต่อไป บท “ร้อนใน” ก็เช่นกัน ที่ให้ความหมายสรรพสิ่งสมดุลกันอยู่ในธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเกิดภาวะเหลื่อมล้ำกัน อาการร้อนในก็เกิดขึ้น นับว่ากวีน้อยผู้นี้ได้รับการสั่งสมและสืบทอดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ต่อได้อย่างลึกซึ้ง

ความงดงามของภาพเสื่อมสลายนั้น ได้รับการบันทึกภาพไว้ผ่านอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน สื่อภาษาที่ละเมียดละไม ดังว่า “ฝนปรายเลือกโปรยโรยระริน กันแสงเสียงดิน หญ้ายินยิ่งเศร้ากรำทรวง” หรือภาพของฝนตกหนักจนน้ำนองท่วมบ้าน ในบท “แหนน้อย” กวีมิได้กังวลแต่อย่างใด กลับเห็นความงามของจอกแหน ที่พร้อมจะไหลเลื่อนไปไหนๆ อย่างมีอิสระ ดังที่ว่า “แหนน้อยที่ลอยเล่น ฉันอยากเป็นบ้างได้ไหม ใจน้อยฉันลอยไป กับแหนน้อยที่ลอยลำ” แต่อย่างไรก็ดี ก็อาจจะตีความอีกอย่างว่า กวีเห็นสภาพบ้านที่น้ำเจิ่งนองแล้วก็ถอดใจจนอยากจะหนีไปให้ไกลจากสภาพที่เห็นก็เป็นได้เหมือนกัน

ภาพรวมของ “แรมเรือน” นี้ เป็นความงดงามที่ปรากฏเป็นแห่งๆ อยู่ห่างๆ คงเปรียบกับเพชรที่ยังอัดความร้อนไม่เต็มที่ ความลุ่มลึกทางความคิดจึงยังต้องรอการตกผลึก รอการเจียระไนเหลี่ยมรูปจากช่างผู้มีฝีมือ ถึงครานั้นเพชรเม็ดนี้คงฉายแสงระยิบระยับให้เราชื่นชมในวันเวลาข้างหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: