วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2550

แรมนราฯ "โลกในดวงตาข้าพเจ้า"


ได้รับข่าวร้ายของชายแดนภาคใต้มาตลอด ได้แต่เศร้าสลดใจกับบรรยากาศที่โหดร้ายและหดหู่ ทว่าก็ยังรู้สึกว่าห่างไกลกับความเป็นอยู่ของเรา แต่พอได้อ่านกวีนิพนธ์บทชื่อ แรมนราฯ กลับทำให้รับรู้สึกว่าเรื่องราวอันน่ากลัวไม่ได้ห่าวจากเราเลย สายตาของกวีพาเราเข้าไปใกล้เหตุการณ์นั้น และเกิดความหวาดกลัวเสมือนว่าเราเองก็ไม่ต่างกับคนในพื้นที่ หรือว่าเหตุการณ์ภาคใต้จะไม่ได้ไกลอย่างที่เคยคิด


กวีนิพนธ์บทนี้ รวมอยู่ในเล่ม "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" ของมนตรี ศรียงค์ บทกวีกล่าวถึงสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความน่าประหวั่นพรั่นพรึง ไม่รู้ว่าวันใดระเบิดจะพาความตายมาเยี่ยมเยือน เป็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่หวาดระแวงและหม่นเศร้า กวีแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ท่อน เริ่มต้นจากการพรรณนาบรรยากาศโดยรวมว่า

1

ฟ้าดำด้วยดึกอันลึกลับ

มืดจับแผ่นฟ้าแล้วทาทั่ว

โลกตกอยู่ในความเงียบอันน่ากลัว

หมองหมองมัวมัวอยู่ทึมทึม

เหมือนเธอตื่นในวันคืนฝันร้าย

ที่ความตายยิ้มเยียบอยู่เงียบขรึม

เหมือนเธอหลับในคืนวันขื่นซึม

กับเสียงบึ้มตูมตามประจำวัน

นาตาชา

คืนแรมนราฯ ช่างน่าพรั่น

ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์

และที่นานกว่านั้นคือฝันดี...

2

จู่จู่นกก็เป็นกระดาษพับ

โปรยปรายแล้วหายวับบินลับหนี

คลื่นความร้อนควั่นลำกระหน่ำตี

อ้าวอบทบทวีนับปีมา

เกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินนี้?

หัวเราะอยู่ดีดีก็ถูกฆ่า

ไม่รู้ใครเป็นใครแล้วนราฯ

หวาดกลัวกันเกินกว่าจะวางใจ

เราไกลกันจึงเหมือนยิ่งไกลกัน

หลับก็ต้องตื่นร้องไห้

กับคนตายรายเรี่ย-ฉันเสียใจ

ที่ฉันช่วยอะไรไม่ได้เลย

นาตาชา

เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?

หากแรมปีแรมเดืแนยังเหมือนเคย

จะเฉยเมยต่อกันได้อย่างไร?

เช่นนั้นไม่ได้หรอก-นาตาชา

ต่อคลื่นร้อนเชี่ยวกล้ามาแค่ไหน

หากหมดสิ้นปัญญาพึ่งพาใคร

จะกอดเธอร้องไห้ไปด้วยกัน

3

นาตาชา

คืนแรมนราฯ ช่างน่าหวั่น

ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์

และยิ่งนานกว่านั้นคือฝันร้าย!


กวีนิพนธ์บทนี้อาจไม่ต่างกับอีกหลายบทที่กล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงภาคใต้ ทว่าบทนี้กวีได้จัดวางจังหวะไว้อย่างค่อนข้างลงตัว คือเปิดบทด้วยการให้บรรยากาศโดยรวมที่น่ากลัวและลึกลับที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่รู้ว่าสถานการณ์นั้นไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตเราเลย ต่อจากนั้นมีตัวละคร "นาตาชา" ปรากฏเป็นภาพหญิงสาวที่เป็นภาพแทนชาวต่างชาติซึ่งก็ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวไม่แพ้กัน ท่อน 2 ชวนเรากลับไปหาบรรยากาศของการพับนกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่ง ในท่อนที่ 3 มนตรี ศรียงค์ได้กลับมาย้ำท่อน 1 โดยเล่นคำให้ต่างไป ทว่าให้ความหมายเดิม ที่ว่า "ยังอีกนานกว่าจันทร์จะเต็มจันทร์ และยิ่งนานกว่านั้นคือฝันร้าย" ทำให้กวีนิพนธ์บทนี้ เป็นเสมือนท่อนฮุก(hook) ของบทเพลง ที่ยังดังก้องซ้ำแล้วซ้ำอีกในท่วงทำนองที่เศร้าสร้อย


กวีใช้ภาพพจน์ปฏิปุจฉาด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า "เกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินนี้?" และถามต่อไปว่า "เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?" การใช้สรรพนามว่า "เรา" น่าสนใจยิ่ง เป็นการสร้างความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าไทยหรือเทศ กวีจึงสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นได้ ส่วน "คนอื่น" ไม่ปรากฏเป็นคำสรรพนาม แต่เป็น "ใครๆ " ที่ไม่ใช่ "พวกมัน"


ถ้อยคำที่กวีนำมาจัดวางไว้นั้น เล่นสลับเสียงได้อย่างไพเราะพร้อมกับสร้างจินตภาพให้เห็นชัดที่ว่า "คลื่นความร้อนควั่นลำกระหน่ำตี อ้าวอบทบทวีนับปีมา" คลื่นความร้อนไม่ได้หมายถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวเท่านั้น แต่เป็นบรรยากาศทางการเมือง บรรยากาศของความน่าหวาดหวั่นแต่ไม่ใช่ความเย็นยะเยือก กลับเป็นร้อนระอุมากกว่า นับว่าสายตาของกวีได้นำเราเข้าไปรับรู้สภาพที่น่าประหวั่น แม้ไม่ถึงมิคสัญญี แต่ก็เกือบจะไม่ต่าง


วรรคที่ให้ความสะเทือนใจคือ "หัวเราะอยู่ดีดีก็ถูกฆ่า ไม่รู้ใครเป็นใครแล้วนรา หวาดกลัวกันเกินกว่าจะวางใจ" กวีให้ภาพของความหวาดระแวงซึ่งกันและกันของคนในชุมชนเดียวกัน และในแผ่นดินเดียวกัน ยิ่งกว่าคำที่ว่า "รู้หน้าไม่รู้ใจ" เสียอีก เพราะข้อสรุปของความรู้สึกคือ "เราจะเหมือนคนแปลกหน้ากันไหมเอ่ย?" เป็นคำถามที่กวีฝากให้ผู้อ่านกลับไปขบคิดถึงสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในบ้านของเรา


กวีนิพนธ์บทนี้ชวนให้รู้สึกคล้อยตามกวีได้ไม่ยาก เมื่อมองโลกผ่านสายตาของกวีแล้ว ก็เห็นความอ่อนไหวในดวงตาคู่นี้ เป็นแววตาของผู้มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ และอีกหลายบทในเล่มก็เชิญชวนให้มองดูผู้คนที่อยู่บนถนนละม้ายสงเคราะห์ มองไปรอบๆ ถึงสภาพสังคมที่โลดแล่นตามวัตถุและค่านิยมตะวันตก อิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและเลยไปถึงมหันตภัยทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน


4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์คะ มีเรื่องอยากจะถามน่ะค่ะ

ถ้าตัวละครไม่ใช่คน จะมีวิธีการวิจารณ์ยังไงคะ

( ตัวละครเป็นหมา)

ขอบคุณค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขยายความเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ใน maysaifon@hotmail.com สิคะ จะได้แนะนำและตอบกลับให้ชัดเจน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นอาจารย์บอกว่า การวิจารณ์ควรจะใช้คำที่ง่ายๆ สามารถทำให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย แต่ในบทวิจารณ์ของอาจารย์ ทำไมใช้คำว่า มิคสัญญี อ่ะคะ หนูไม่เข้าใจความหมายเลย ช่วยอธิบายทั้งความหมายและบอกถึงเหตุผลที่เลือกใช้คำที่เข้าใจยากคำนี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

คอมเม้นท์เมื่อกี้น่าจะเป็นเพื่อนเอกไทยนะครับ แล้วก็น่าจะได้คำตอบจากอาจารย์ในห้องเรียนแล้ว ขอขยายความนิดๆ แล้วก็ถามต่อละกันครับ
มิคสัญญี ถ้าเทียบความเป็นภาษาอังกฤษ ความหมายน่าจะใกล้เคียงคำว่า terror (เอ๊ะหรือคำเดียวกัน)ประมาณว่า หวาดกลัว หวาดผวา ตื่นตระหนก อะไรทำนองนี้
ที่อาจารย์ใช้คำนี้ก็คงเพราะ "ไม่มีคำอื่นที่เหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว" กับสถานการณ์ "การก่อการร้าย" ของภาคใต้มั้งครับ (เดาไปเอง)
แต่ผมก็เห็นด้วยกับคอมเม้นท์ของเพื่อนนะครับ ที่ว่าคำนี้มันค่อนข้างยาก แล้วที่อาจารย์บอกว่าเด็กเอกไทยน่าจะรู้ ผมว่ากว่าครึ่งเอกคงไม่ทราบหรอกครับ(รวมผมด้วยที่เพิ่งทราบทีหลัง)อีกอย่างคนอ่านบทวิจารณ์ก็อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เรียนไทยโดยตรงก็ได้ อาจจะงงๆ กับคำนี้ อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่ติดตามข่าวโดยเฉพาะข่าวภาคใต้คงคุ้นเคยกับศัพท์คำนี้พอสมควรและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่ถ้าจะถามว่า แล้วจะใช้คำไหนที่ง่ายกว่ามาแทนคำนี้ ผมก็ตอบไม่ได้ (ยากเกินที่สมองก้อนน้อยๆ นี้จะคิดออก)สรุปว่าถึงคำนี้จะค่อนข้างยาก แต่ก็เหมาะสมกับบริบทแล้ว(ว่างั้น) (แล้วจะพูดยืดยาวเพื่ออะไรเนี่ย งง) แหะๆ