วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ฟอกไม่ขาว : เรื่องสอนใจชายด้วยความตายของหญิง



ฟอกไม่ขาว เป็นบทละครพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกิดจากจินตนาการของพระองค์เอง มีผู้วิจารณ์ว่าบทละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของการสร้างโครงเรื่องที่น่าสนใจ ดังที่มีผู้ศึกษาลักษณะโครงเรื่องของบทละครพูดเฉพาะเรื่องที่พระองค์ทรงจินตนาการขึ้นใหม่ โดยนำทฤษฎีโครงเรื่องในบทละครตะวันตกมาวิเคราะห์ จากการ ศึกษาพบว่าบทละครพูดพระราชนิพนธ์ได้เสนอแนวคิดของเรื่องอย่างเด่นชัด มีเหตุผล สมจริง และยังทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเรื่องได้ง่ายอีกด้วย


บทละครเรื่องนี้กล่าวถึง “จำรัส” หญิงม่ายคนหนึ่งเคยอยู่กินกับนายบุญส่งมาก่อน ต่อมาได้เลิกกันไปเพราะนายบุญส่งทิ้งนางให้อยู่อย่างอดๆอยากๆ ครั้นจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ตามเดิม ก็กลับไม่ได้ เพราะครอบครัวไม่อาจตอบสนองความเป็นอยู่ที่สุขสบายให้แก่นางได้ และนางเองก็ทำผิดไว้มาก เพราะแต่ก่อน นางหนีตามนายบุญส่งมา เมื่อพ่อแม่มาตามให้กลับนางก็ไม่ยอมกลับ และนายบุญส่งก็รับปากกับพ่อและแม่ว่าจะดูแลเป็นอย่างดี เมื่อมาทิ้งขว้างไปนางจึงต้องหาชายคนใหม่เลี้ยงดู แต่ก็ไม่มีใครเลี้ยงดูได้นาน นางอยู่กินกับชายคนแล้วคนเล่า มีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากมาย จนกระทั่งได้มาพบกับหลวงพร ผู้ซึ่งคิดจะเลี้ยงดูนางอย่างจริงจัง และนางก็ปวารณาไว้แล้วว่าจะขออยู่กับหลวงพรไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ บังเอิญว่าวันหนึ่งนายบุญส่งมาพบกับนางที่บ้านของหลวงพร ด้วยความสำนึกผิดว่าที่แล้วมาทำไม่ดีไว้มาก จึงอยากจะช่วยปลดหนี้สินให้ แต่จำรัสก็ไม่ยอม จะทยอยใช้หนี้เองจนหมด โดยไม่ขอความช่วยเหลือใดๆ ทั้งจากนายบุญส่งและหลวงพร แต่จะขอให้นายบุญส่งนำเงินไปให้เจ้าหนี้ทั้งหลายแทนนาง หนี้สินต่างๆ จึงเป็นความลับระหว่างจำรัสกับนายบุญส่งเท่านั้น

เรื่องราวเกิดขึ้นในวันที่นายบุญส่งมาคุยกับจำรัสแล้วกำลังจะลากลับ ก่อนจากบุญส่งก็เอื้อมมือไปลูบมือจำรัสเป็นการแสดงความสงสารและเห็นใจนาง หลวงพรมาเห็นเข้าพอดี ก็เข้าใจว่านางหลอกลวง และอยากจะกลับไปมีความสัมพันธ์กับนายบุญส่งอีก จึงบอกกับนายบุญส่งว่าให้ไปรอพบที่ห้องรับแขก จากนั้นหลวงพรก็หันมาด่าว่าจำรัสด้วยความโกรธ หลวงพรประณามว่านางเหมือนกับผ้าที่ฟอกเท่าไรก็ไม่ขาว ทำได้แต่เพียงฉีกทิ้งเท่านั้น แม้ว่าจำรัสจะอ้อนวอนให้ฟังนางอธิบายบ้าง แต่หลวงพรก็ไม่ยอมฟัง ในที่สุดก็ตัดสินใจไล่นางออกจากบ้านไปกับนายบุญส่ง จำรัสเสียใจมาก ได้แต่ร้องไห้วิ่งออกไป นายบุญส่งเดินมาพบพอดี เมื่อทราบเรื่องแล้วได้บอกกับหลวงพรถึงความตั้งใจจริงของจำรัส เมื่อหลวงพรได้ทราบดังนั้น ก็เข้าไปตามจำรัส พบว่านางดื่มยาพิษตายเสียแล้ว


เป็นที่น่าคิดว่าเหตุใดจำรัสเลือกความตายเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดีของนางที่มีต่อหลวงพร และเหตุใดหลวงพรจึงไม่ยอมเชื่อ อีกทั้งยังไม่ให้โอกาสนางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ จนกระทั่งมาพบในตอนท้ายว่านางได้เลือกความตายเป็นหนทางพิสูจน์ บทละครเรื่องนี้จบลงด้วยฉากที่แสดงถึงการตกใจของชายสองคน รวมทั้งผู้ชมด้วย ความงงงันในตอนจบน่าจะแฝงจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ในลักษณะของการตักเตือนอย่างรุนแรงหรือไม่ คำถามเหล่านี้อาจนำไปคิดและหาคำอธิบายความเป็นเหตุเป็นผลในบทละครเรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ชวนให้น่าศึกษาในประเด็นของความเป็นบทละครโศกนาฏกรรม

แต่ถ้าจะกล่าวว่า “ฟอกไม่ขาว” เป็นบทละครโศกนาฏกรรมเพราะจบลงด้วยความหายนะของตัวละครเอกแล้ว ก็อาจจะต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “จำรัส” มิได้เป็นตัวละครผู้สูงศักดิ์และมิได้มีข้อบกพร่องในด้านบุคลิกลักษณะนิสัยจนนำไปสู่ความหายนะในตอนจบของเรื่อง ดังนี้แล้วจะจัดว่าเป็นบทละครโศกนาฏกรรมได้หรือไม่ และที่สำคัญบทละครเรื่องนี้แฝงแง่คิดตักเตือนใคร และจะเป็นบทละครโศกนาฏกรรมสอนชายหรือหญิงกันแน่

ตัวละครเอกตาย : ลักษณะเด่นของบทละครโศกนาฏกรรม


บทละครโศกนาฏกรรม (tragedy) มีกำเนิดจาก การร้องเพลงสวดบูชาเทพเจ้า เป็นการร้องสด ต่อมาดัดแปลงเป็นบทโต้ตอบกับกลุ่มคอรัส และพัฒนาเป็นบทสนทนา จนกระทั่งมีการเขียนเป็นบทละคร คือมีลักษณะเป็นละครร้อง ประกอบด้วยเพลงร้อง โดยกลุ่มคอรัส และมีบทสนทนาโต้ตอบของตัวละคร
ละครโศกนาฏกรรมมีลักษณะเด่นอยู่ที่การแสดง(dramatic) ซึ่งเป็นการแสดงของตัวละครที่มีศักดิ์สูงส่ง ส่วนมากเป็นกษัตริย์หรือชนชั้นสูง แต่มีจุดอ่อนหรือมีความผิดพลาดบางอย่างซึ่งสามารถนำไปสู่ความหายนะในตอนท้ายเรื่อง ความผิดพลาดนี้มิใช่เกิดจากการทำผิดศีลธรรมอย่างใด แต่เกิดจากข้อเสียที่เป็นลักษณะนิสัยเช่น ความหยิ่ง หลงตน และนำไปสู่ความตกต่ำของชีวิต การตกต่ำของตัวละคร(tragic flaw) ในตอนจบนี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการชำระอารมณ์ (catharsis) จากการปลุกเร้าความสงสารและความกลัว(pity & fear) จากการเห็นความหายนะของตัวละครเอก ผู้ชมจะเกิดความกลัวว่าเคราะห์กรรมนั้นจะเกิดขึ้นกับตนเองบ้าง ความกลัวที่เกิดขึ้นบางครั้งทำให้เกิดพุทธิปัญญาขึ้น บทละครโศกนาฏกรรมจึงมีบทบาทในการสั่งสอน เพราะชะตากรรมที่ตัวละครได้รับนั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโชคชะตาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือไม่น่าคนที่ทำความดี หรือมีชาติกำเนิดที่สูงส่งจะสมควรได้รับความหายนะเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องของชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว อย่างไม่อาจฝืนหรือเปลี่ยนแปลงได้


ในสมัยกรีกนั้น มีขนบนิยมของการแสดงละครโศกนาฏกรรมอยู่ว่า มักจะไม่ให้มีฉากที่แสดงความรุนแรงบนเวที มีตัวละครปรากฏตัวในหนึ่งฉากมีไม่เกินสามตัว และมีกลุ่มคอรัสทำหน้าที่โต้ตอบกับตัวละคร กลุ่มคอรัสนี้ มีบทบาทสำคัญในละครโศกนาฏกรรมสมัยกรีก เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ให้ภูมิหลังของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ยังมีบทบาทในการวิเคราะห์เรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย บางครั้งคอรัสอาจเป็นตัวละครที่มาสนับสนุนหรือขัดแย้งกับความคิดของตัวละคร หรืออาจจะช่วยเน้นอารมณ์และความคิดที่ผู้ประพันธ์ต้องการให้เกิดกับผู้ชมด้วยเช่นกัน


หากนำขนบนิยมของบทละครโศกนาฏกรรมในสมัยกรีกมาพิจารณาบทละครเรื่องฟอกไม่ขาว จะเห็นว่าเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่แสดงความเป็นบทละครโศกนาฏกรรม กล่าวคือ โครงเรื่องนั้น นอกจากจะมีความสั้น กระชับใช้เวลาในการแสดงไม่มากแล้ว ยังมีเหตุการณ์สำคัญซึ่งเป็นจุดวิกฤตแค่เหตุการณ์เดียว และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นจุดสุดยอด(climax )ของเรื่องในตอนจบเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นอีกด้วย เมื่อเขียนเป็นแผนภูมิ จะได้โครงสร้างตามพีระมิดของไฟรทาก (Freytag’s pyramid) ดังนี้

*จุดสุดยอด - จำรัสกินยาตาย
*เหตุการณ์วิกฤต - จำรัสหนีเข้าห้อง-หลวงพรทราบความจริง
*ปัญหาเริ่มขยาย - หลวงพรไล่จำรัสออกจากบ้าน
*การผูกปม – หลวงพรเห็นและเกิดความระแวงจำรัส
*การเปิดเรื่อง - จำรัสสนทนากับบุญส่งถึงหนี้เก่า

จากแผนภูมิ จะเห็นได้ว่าบทละครเรื่องนี้ มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นการขมวดปมเพียง ๔ เหตุการณ์ ได้แก่ ๑. บุญส่งสนทนากับจำรัสเรื่องหนี้เก่า ๒. บุญส่งแสดงการปลอบใจจำรัสหลวงพรมาเห็นและเข้าใจผิด ๓. หลวงพรโกรธและขับไล่จำรัสออกจากบ้าน ๔. จำรัสเสียใจหนีเข้าห้อง และมีเหตุการณ์คลี่คลายปมเพียงเหตุการณ์เดียวในตอนสุดท้าย นั่นคือจำรัสกินยาตาย ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องเช่นกัน นับว่าเป็นโครงเรื่องที่สั้นและกระชับมาก มีเหตุการณ์เล่าเรื่องต่อเนื่องกันไปเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

หากพิจารณาเรื่องสามเอกภาพ (three unities) อันเป็นสัญนิยมที่มีลักษณะเฉพาะ ๓ ประการของบทละครสมัยคลาสสิกใหม่ ได้แก่เอกภาพแห่งเวลา เอกภาพแห่งสถานที่ และเอกภาพแห่งการดำเนินเรื่องแล้ว จะพบว่าบทละครเรื่องนี้ มีเอกภาพทั้งสามครบถ้วน กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวันเดียว เกิดในสถานที่แห่งเดียว และเป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องเดียว ซึ่งก็คือมีความขัดแย้งเพียงปมเดียวเท่านั้น การที่บทละครเรื่องนี้เคารพกฎสามเอกภาพอย่างเคร่งครัด ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องมีความกระชับ สมจริง น่าเชื่อถือว่าเป็นไปได้ และมีความสะเทือนอารมณ์สูง บทละครเรื่องนี้ จึงนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง

จำรัส : ตัวละครสามัญที่เคยผิดพลาดในชีวิต

ตัวละครในบทละครโศกนาฏกรรมของอริสโตเติลนั้น มีคุณสมบัติเป็นผู้มีนิสัยดีงาม ไม่ประพฤติผิดศีลธรรม มีลักษณะนิสัยที่เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละคร ละครโศกนาฏกรรมนั้นเป็นการเลียนแบบตัวละครที่ดีเกินจริง ส่วนใหญ่เป็นตัวละครสูงศักดิ์ แม้จะมีลักษณะนิสัยที่บกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคนดี และไม่สมควรที่จะประสบกับชะตากรรมในตอนจบ การที่ละครโศกนาฏกรรมมีตัวละครสูงศักดิ์เช่นนี้ จึงทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า tragic flaw คือมีชะตากรรมที่ตกต่ำลง อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับตัวละครผู้สูงศักดิ์ในลักษณะนี้ แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่กำหนดชีวิตไว้แล้วได้

แต่จำรัสไม่ใช่ตัวละครผู้สูงศักดิ์ และนางก็ไม่ใช่แบบอย่างของผู้หญิงที่ดีด้วย นางเป็นเพียงตัวละครที่เกิดความสำนึกถึงความผิดพลาดหลายครั้งของตนในอดีต และได้ถือเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องเตือนใจว่าจะไม่ทำผิดพลาดดังแต่ก่อนอีก แต่แล้วดูเหมือนว่าชายที่นางทุ่มเทให้ทั้งชีวิตและจิตใจ ยึดมั่นว่าจะเป็นคนรักคนสุดท้ายกลับไม่เปิดโอกาสให้นางได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจและความตั้งใจจริงครั้งนี้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่านางจะไม่ยอมทำผิดใดๆ อีก นางจึงขอยืนยันความจริงใจทั้งหมดที่มีด้วยการฆ่าตัวตาย

ความยิ่งใหญ่ของตัวละครสามัญเช่นจำรัสจึงน่าจะอยู่ที่มีความกล้าหาญที่จะประกาศถึงความบริสุทธิ์ใจที่มีต่อชายคนปัจจุบัน ซึ่งนางปักใจแน่วแน่ว่าจะซื่อสัตย์กับเขาไปตลอดชีวิต จำรัสจึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตของตนเป็นเดิมพัน แสดงให้เขาเห็นว่าสิ่งที่นางได้กล่าวกับเขานั้น เป็นความจริงทุกคำพูด แต่จำรัสคงเกิดความอับอายและไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว เมื่อชายที่นางยกย่องและยอมรับเป็นสามีดุด่าว่ากล่าวนางอย่างรุนแรง โดยไม่ยอมฟังความใดๆ และเลยไปจนถึงรังเกียจว่านางเป็น “ผ้าสกปรกที่ฟอกไม่ขาว” จำรัสจึงได้ตัดสินใจล้างความอับอายนั้นด้วยความตาย

ตัวละครสามัญผู้เคยทำความผิดเช่นจำรัส อาจจะมีส่วนทำให้ความเป็นโศกนาฏกรรมในบทละครเรื่องนี้ลดความยิ่งใหญ่ลงไปบ้าง ที่ตัวละครไม่ได้เป็นผู้มีเกียรติสูงส่ง และไม่ได้เป็นคนมีความประพฤติดีประพฤติชอบ แต่เป็นตัวละครที่เคยทำผิดพลาดมาก่อนซึ่งก็น่าจะทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างตัวละครกับผู้ชมทั่วไป เกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจตัวละครจำรัส ซึ่งไม่สมควรจะต้องตาย ขณะเดียวกันก็เห็นใจตัวละครชายทั้งสอง ผู้ซึ่งไม่ปรารถนาจะให้เกิดเรื่องร้ายถึงแก่ชีวิตกับหญิงที่ตนเคยรัก

เพราะเหตุว่าผู้ชมละครส่วนใหญ่เป็นคนสามัญทั่วไป ย่อมมีความผิดพลาดมาก่อนในชีวิต โอกาสที่จะเกิดเรื่องราวอันน่าอัปยศดังในละครเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อผู้ชมละครแล้วเกิดความสะเทือนใจ ก็จะได้รับการชำระอารมณ์ในทันทีทันใด หากแต่การชมละครในสังคมไทยนั้นยังคงผูกติดอยู่กับค่านิยมของความรื่นเริงบันเทิงใจมากกว่าจะนำมาสู่การฉุกคิดให้เกิดพุทธิปัญญา เมื่อละครเรื่องนี้ มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องความมัวหมองของหญิงและ จบลงท้ายด้วยความตาย จำรัสจึงเป็นตัวละครที่สังคมไทยในเวลานั้นน่าจะไม่ยอมรับว่าเป็นหญิงที่มีความดี แม้ว่าจะมีความตั้งใจจริงว่าจะซื่อสัตย์กับชายคนสุดท้ายในชีวิตก็ตาม และอีกประการหนึ่งจำรัสนับว่าเป็นตัวละครที่อ่อนแอเกินไป หุนหันพลันแล่น ตัดสินใจด้วยอารมณ์เสียใจพียงชั่ววูบ ความตายของจำรัสไม่มีค่าเพียงพอกับเหตุที่เกิดขึ้น วิธีการหาทางออกของจำรัสจึงไม่ได้ทำให้นางได้รับการยกย่องหรือยอมรับว่าตัดสินใจถูกถ้วนแล้วจึงทำ อาจเป็นด้วยเหตุนี้ด้วยกระมังที่ทำให้บทละครเรื่องนี้ ไม่ใคร่จะนิยมนำไปแสดงในโอกาสต่างๆ จำรัสจึงเป็นตัวละครเอกหญิงที่มีผู้รู้จักไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวละครเอกหญิงในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ

ฟอกไม่ขาว : เรื่องสอนใจชายหรือหญิง

อริสโตเติลกล่าวไว้ใน The Poetics ว่า ละครโศกนาฏกรรมต้องแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโชคชะตาจากเรื่องดีไปสู่เรื่องร้ายของตัวละครที่ดูเพียบพร้อม แต่ทว่ามีจุดอ่อนบางประการที่ทำให้ตัวละครต้องพบความหายนะ บทละครโศกนาฏกรรมจึงทำหน้าที่สั่งสอนและเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้ชมฉุกคิดถึงคนดีมีศีลธรรมแต่ได้รับชะตากรรมที่ผกผันอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ตามจุดมุ่งหมายของละครโศกนาฏกรรมที่มุ่งให้ผู้ชมเกิดความสงสารและความกลัวเพื่อให้เกิดการชำระอารมณ์ในตอนท้าย

ฟอกไม่ขาว ก็ทำหน้าที่เสมือนบทเรียนทางศีลธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของจำรัสผู้เลือกความตายเป็นสรณะ จำรัสมาด่วนตายไปเสียก่อน ที่หลวงพรจะได้ทราบความจริงจากนายบุญส่ง เหตุการณ์ที่ผกผันนี้น่าจะเป็นการสอนที่แฝงน้ำเสียงประชดทั้งผู้ชายที่ด่วนสรุปและผู้หญิงที่ด่วนคิดสั้น จึงทำให้เกิดความหายนะอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เมื่อหลวงพรทราบว่าจำรัสได้ดื่มยาพิษตาย เพราะเสียใจที่ถูกสามีด่าทออย่างรุนแรงจนจำรัสไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นั้น หลวงพรก็ได้รับบทเรียนด้วยความสะเทือนใจอย่างสูงสุดติดตัวไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับชายผู้ประสงค์ดีและคิดที่จะทำความดีล้างความผิดในอดีตอย่างบุญส่ง ก็คงอดคิดไม่ได้ว่าด้วยความปรารถนาดีอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและด้วยมุมมองเพียงด้านเดียวของตน จึงไม่ทันได้นึกถึงจิตใจของชายอีกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองจำรัสอย่างชอบธรรม ผลก็คือทำให้เกิดโศก นาฏกรรมอย่างที่ตนก็ไม่อาจคาดคิดเช่นกัน นับว่าชายทั้งสองคนได้รับบทเรียนสอนใจด้วยความตายของหญิงที่ตนรัก ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากความหุนหันพลันแล่นและด่วนสรุป จนทำให้เกิดการสูญเสียอย่างไม่มีวันที่จะได้คืนกลับมา

ในส่วนของจำรัสนั้น ดูเหมือนว่าผู้ทรงพระราชนิพนธ์จะแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของหญิงที่ถูกกำหนดในกรอบความคิดของชาย โดยการนำเรื่องราวในอดีตมาตัดสินการกระทำในปัจจุบัน แต่หญิงผู้นี้ก็ควรได้รับการตำหนิเช่นเดียวกับตัวละครชายในเรื่อง กล่าวคือจากความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในอดีตนั้นเองได้เป็นเครื่องกำหนดชะตากรรมปัจจุบัน ตัวละครจำรัสจึงแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของหญิงที่ไม่พึงเป็นแบบอย่าง อีกประการหนึ่ง จำรัสอ่อนแอเกินไปที่คิดสั้น เลือกที่ตายทันทีที่ถูกประณาม หากจำรัสมีความเข้มแข็งและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความสุขุมเยือกเย็นกว่านี้ เรื่องราวแห่งความหายนะคงจะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่ บทละครเรื่องนี้ จึงมุ่งสอนใจชาย ที่ไม่พึงนำเรื่องราวในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็สอนหญิงให้ลดทิฐิ ให้มีความเข้มแข็งอดทนและแก้ปัญหาด้วยความสงบเยือกเย็น ลักษณะดังกล่าวนี้นับว่าเป็นข้อบกพร่องของทั้งชายและหญิงโดยทั่วไป บทละครเรื่องนี้จึงนำเสนอสารที่เป็นเครื่องเตือนใจชายและหญิงด้วยเหตุการณ์ที่รุนแรง และชวนให้สะดุดกับเหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่องได้เป็นอย่างดี

ฟอกไม่ขาว เป็นละครโศกนาฏกรรมที่มีผู้กล่าวถึงไม่มากนัก อาจเป็นเพราะรสนิยมของการชมละครในสังคมไทยยังคงยึดติดอยู่กับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรื่องที่จบลงด้วยความเศร้าและความรุนแรงเช่นนี้ จึงไม่ใคร่เป็นที่นิยมนำมาแสดงในงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม บทละครขนาดสั้นเรื่องนี้ นับว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะวรรณศิลป์อยู่อย่างครบถ้วน ทั้งบทสนทนาที่คมคาย เฉือดเฉือน ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ หรือการซ่อนความรุนแรงไว้หลังเวที และการจบเรื่องทันทีที่พบว่าตัวละครดื่มยาพิษตายก็นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้เกิดความสงสารและกลัวอย่างฉับพลันขึ้นได้ ลักษณะวรรณศิลป์ทางการแสดงตามสัญนิยมของละครโศกนาฏกรรมเหล่านี้ ล้วนฉายชัดถึงพระอัจฉริยลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทางด้านการละคร

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีครับ อ.สายวรุณ

บล็อกอาจารย์อลังการมาก เดี๋ยวจะแวะมาอ่านบ่อยๆ ขอบคุณที่อาจารย์อยากให้มานำเสนองาน ไม่รู้ผมจะเตรียมตัวทันหรือเปล่า แต่จะพยายามครับ เพราะผมไม่ค่อยก้าวหน้าสักเท่าไหร่ มีแต่ย่ำอยู่กับทีละมากกว่า ผมิยากได้เมล์ของอาจารย์ เผื่อจะติดต่อส่งเอกสารครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับคำชม บล็อกของอาจารย์ก็งาม..ล้าย หลายค่ะ เนื้อหาไม่ต้องพูดถึง เรื่องล่าสุดนี่ติดเรทเลยนะคะ555

maysaifon@hotmail.com