วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก : การต่อรองราคาแห่งชีวิต


หากเอ่ยชื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์แล้ว นักอ่านทั้งหลายก็คงนึกถึงเรื่องสั้นลือชื่อชุดเหมืองแร่ ซึ่งได้มีโอกาสปรากฏในรูปของภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ ผลงานของอาจินต์ ปัญจพรรค์นับเป็นเรื่องสั้นชั้นครูที่อยู่ในดวงใจของนักเขียนรุ่นหลังหลายคน ดังที่อัญชันเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือในดวงใจซึ่งมีมากมาย และหนึ่งในจำนวนนั้นมีเรื่อง “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์รวมอยู่ด้วย

เรื่องนี้กล่าวถึงชายสองคนรอดชีวิตจากพายุที่พัดเอาเรือใหญ่จมหายลงทะเลด้วยการโดดลงเรือเล็กได้ทันการณ์ คนหนึ่งเป็นกะลาสีเรือที่มีประสบการณ์ทางน้ำมากว่าครึ่งชีวิต ส่วนอีกคนเป็นเศรษฐีใหญ่ที่บังเอิญประสบภัยธรรมชาติครั้งนี้ เมื่อคนทั้งสองต้องมาลงเรือลำเดียวกัน ทั้งสองต่างหาวิธีให้ตนได้ในสิ่งที่ต้องการเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ขณะเดียวกันทั้งสองก็ช่วงชิงความเป็นนายทุนผู้ครอบครองสมบัติ ซึ่งจะมีค่ามหาศาลเมื่อขึ้นฝั่ง แต่แล้วทั้งสองก็ไม่อาจเอาชนะชะตากรรมในเรือครั้งนี้ไปได้ แม้กระนั้นสมบัติที่ประดับกายก็ช่วยให้ผู้พบศพเห็นชัยชนะของนายทุนในที่สุด

เนื้อเรื่องข้างต้นน่าสนใจมากตรงที่ผู้เล่าเรื่องมิได้เฉลยอย่างหมดจด แต่ให้ผู้อ่านขบคิดเองว่า ในตอนท้ายเรื่อง ใครกันแน่ที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินจนทำให้ผู้พบศพสันนิษฐานว่า คนหนึ่งเป็นพ่อค้าใหญ่ ส่วนอีกคนเป็นคนรับใช้หรือเป็นกุ๊กประจำเรือ ซึ่งก็อาจคิดได้ทั้งสองทางว่า ในที่สุดแล้วกะลาสีเรือก็ไม่ยอมแลกสมบัติกับเศษขนมปังและยอมหิวจนตาย หรืออีกทางหนึ่งก็คือ เศรษฐีนั้นเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะด้วยการแลกเศษขนมปังกับได้สมบัติของตนกลับคืนมาในที่สุด แต่ใครจะได้สมบัติไว้นั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าในที่สุดแล้วคนทั้งสองก็ไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไป และสมบัติดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยชีวิตแต่อย่างใด ความขัดแย้งที่ทำท่าว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กลับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งในท้ายที่สุดมนุษย์ที่เล็กกระจ้อยร่อยก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้เล่าเน้นบรรยายให้เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในด้านกายภาพระหว่างกะลาสีกับเศรษฐี ดังที่ว่า “คนหนึ่งผิวดำคล้ำแดด ร่างกายกำยำเพราะเป็นกะลาสีเรือ ตลอดชีวิตของเขามีแต่กลิ่นเหล้า คาวทะเล และงาน ๆ ๆ ซึ่งหนักอึ้งจนกล้ามเนื้อทุกอณูพองขึ้นมาต้อนรับความตรากตรำเหล่านั้น อีกคนหนึ่งผิวขาวเพราะเคยอยู่แต่ในชายคาตึกและประทุนรถเก๋ง ข้อมือเล็กแต่มากด้วยเนื้อเพราะบริบูรณ์อาหารการกิน มีนาฬิกาและแหวนราคาแพงเท่าค่าอาหารของคนจนเป็นปี ๆ” แต่ความแตกต่างข้างต้นกลับทำให้เห็นความเหมือนของวิธีคิดและการต่อรองระหว่างคนทั้งสองได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือคนทั้งสองเห็นความสำคัญของวัตถุที่มีค่า มีราคา และมีความหมายต่อการเป็นนายทุน เมื่อสังคมยอมรับนับถือสมบัติเหล่านี้ว่าเป็นเครื่องประดับเศรษฐีแล้ว คนที่เคยเป็นก็ยังอยากจะเป็นตลอดไป ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นก็ยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้เป็นสักครั้งหนึ่งในชีวิต


ผู้เล่าเรื่องได้ถ่ายทอดบทสนทนาและวิธีคิดของเขาทั้งสองให้เราได้เห็นการต่อรองเพื่อการอยู่รอด ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นเนื้อหาหลักที่วนเวียนอยู่กับสมบัติพัสถานของเศรษฐีกับความสำคัญของขนมปังสองแถว และน้ำดื่มในกระติกเล็กของกะลาสี การเล่าเรื่องของผู้รู้แจ้งด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันเสียดสี ทำให้เราตระหนักถึง “สาร” ที่ผู้เขียนสื่อได้อย่างชัดเจน ตัวละครทั้งสองต่างก็งัดกลเม็ดที่จะมาต่อรอง โดยหวังจะครอบครองทรัพย์สินเงินทองซึ่งจะมีค่ามากมายหากได้ขึ้นฝั่ง แต่ถ้าอยู่ในเรือแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ก็มีค่าเพียงแค่ก้อนขนมปังและหยาดน้ำเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น

การต่อรองระหว่างความเป็นนายทุนกับการดำรงอยู่ของชีวิตนั้น นับเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เขียนตั้งไว้ในผู้อ่านฉุกใจคิด แม้ว่าเรื่องสั้นนี้จะเขียนไว้นานมากแล้ว(พ.ศ.๒๔๙๗) แต่ยังคงทันสมัย ยิ่งการดำรงอยู่ในสังคมบริโภคนิยมปัจจุบันด้วยแล้ว ผู้คนยิ่งต้องรู้เท่าทันความสำคัญระหว่างวัตถุกับชีวิตให้มาก เพราะเรามักหลงใหลกับสิ่งที่ครอบครองอยู่ หรือเคยครอบครอง จนต้องหาทางไขว่คว้าการครอบครองนั้นให้กลับมาอยู่ในมืออีกครั้งแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยศักดิศรี ศีลธรรมหรือชีวิตก็ตาม นับเป็นความหลงผิดของมนุษย์โดยแท้

11 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผู้แต่งไม่ได้ต้องการให้รู้ว่าสุดท้ายแล้วใครได้สมบัติไปรึเปล่าคะ เพราะว่าถึงใครจะได้ไปก็ตายอยู่ดี คุณอาจินต์น่าจะบอกว่าคนเราตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ^^"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

>< หนูกลับไปอ่านเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกอีกครั้งอย่างที่อาจารย์แนะในห้องแล้วค่ะ รู้สึกว่าเราเขียนอะไรส่งอาจารย์ไปกันนี่ T^T การอ่านแต่ละครั้งก็ให้แนวคิดที่ต่างกัน...แล้วจะค่อยๆพัฒนาต่อไปค่ะอาจารย์ ^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าลองอ่านดีๆ ตอนท้ายบอกไว้แล้วนะว่าจบเรื่องอย่างไร ใครเป็นคนได้สมบัติ แต่ด้วยฝีมือชั้นครู จะบอกตรงๆ ซื่อๆ ก็ดูจะง่ายและเชย สู้เขียนให้ใช้ปัญญาขบคิด และสื่อ "สาร"ได้ชัดเจนอีกด้วย ดูจะมีชั้นเชิงกว่ามาก

ในบทวิจารณ์นี้ก็ดูเหมือนจะแนะวิธีคิดไว้ให้แล้วด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์คะการที่หนูคิดไม่ได้เหมือนอาจารย์หมายความว่าหนูคิดผิดหรือเปล่า อ่านกี่รอบ ยังไง้ยังไงก็ตีไม่แตก หรือว่ามันฝังใจกับความคิดเดิมไปแล้วจนไม่เกิดแนวคิดใหม่ก็ไม่รู้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มัน มัน มันอยากเอากลับมาทำใหม่จังค่ะ ขอเอากลับมาทำใหม่ได้ไหมคะ อาจารย์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์คะ
พอหนูได้อ่านของอาจารย์แล้ว
หนูรู้สึกว่า ที่จริงหนูคิดได้ใกล้เคียงคะ
แต่ไม่คิดว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้ งงไปเหมือนกัน เหมือนว่าเราลืมอะไรไปพอมาอ่านของอาจารย์เลยนึกออกคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตอนอ่านรอบแรกคิดว่าประเด็นมันเยอะไปหมดเลยค่ะ อะไรๆก็สำคัญไปหมด จนเรียบเรียงไม่ถูก...

หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

ลำพังการตายเพียง 5 วัน (จริงๆ แล้ววันหมดลมของทั้งคู่ก็ไม่น่าเกิน 3 วัน เพราะลบวันที่แย่งขนมปังออกไปอีก 2) ก็พอจะเดาได้ว่าตอนสุดท้ายกะลาสีก็ยอมแลกสมบัติคืน เพราะศพคงยังไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะไปมากเท่าไร คนจึงน่าจะเดาจากลักษณะภายนอกของศพประกอบหลักฐานที่ติดตัวได้
สุดท้ายกรรมกรก็ต้องยอมแพ้ให้แก่นายทุน? ที่สุดแล้วคนก็โลภมากจนยอมแลกแม้แต่ชีวิตของตนกับวัตถุที่ตนอยากครอบครองหรือเคยครอบครอง? อาจจะเป็นสารที่ผู้อ่านได้รับจากคุณอาจินต์ แต่ผมคิดว่านักเขียนระดับคุณอาจินต์คงไม่ส่งสารง่ายๆ อะไรแบบนี้ออกมา (หรือผมคิดลึกไปเองคนเดียว)

ก่อนหน้านั้น ผมอยากจะแย้งคำวิจารณ์ของอาจารย์นิดนึงครับ "เพราะเรามักหลงใหลกับสิ่งที่ครอบครองอยู่ หรือเคยครอบครอง จนต้องหาทางไขว่คว้าการครอบครองนั้นให้กลับมาอยู่ในมืออีกครั้งแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยศักดิ์ศรี ศีลธรรมหรือชีวิตก็ตาม นับเป็นความหลงผิดของมนุษย์โดยแท้" ประโยคสุดท้ายนี้อาจารย์หมายถึงพฤติกรรมของเศรษฐีในตอนสุดท้ายหรือเปล่า ? ถ้าไม่ใช่แสดงว่าผมตีความผิด แต่ถ้าใช่ ผมขอแย้งจากตัวบทของเรื่องนี้ครับ
“ท่านเศรษฐีเงียบกริบ ด้วยความครุ่นคิดและตกลงใจ ขณะเดียวกันความหิวก็โอดครวญอยู่ในกระเพาะอย่างรุนแรงขึ้น เขานับธนบัตรที่มีอยู่อย่างเสียดายและลังเล กลับนึกเกลียดเจ้าสมบัติเหล่านี้เสียแล้ว เกลียดเพราะมันเป็นสิ่งที่ประกาศความพ่ายแพ้และเสียเปรียบของเขา”
“ความจริงเขาไม่อยากได้สมบัติกลับคืนมามากไปกว่าต้องการยืนยันชัยชนะซึ่งจะต้องเป็นของนายทุนในบั้นปลาย”
จริงๆ แล้วเศรษฐีอยากจะ “เอาชนะ” มากกว่า “ได้ทรัพย์สินคืน” รึเปล่า? อันนี้เป็นความคิดเห็นของผมที่อยากให้ลองพิจารณาดูครับ

อีกประเด็นหนึ่ง ผมติดใจกับคำสุดท้ายของประโยคเมื่อกี้ ความจริงเขาไม่อยากได้สมบัติกลับคืนมามากไปกว่าต้องการยืนยันชัยชนะซึ่งจะต้องเป็นของนายทุนในบั้นปลาย
หากเป็นการต่อสู้ชิงทรัพย์สินของเศรษฐีคืนมา เขาน่าจะใช้สรรพนามว่า “เขา” แทนคำว่า “นายทุน” ผมคิดว่าการใส่คำๆ นี้เข้ามาน่าจะเป็นความจงใจของคุณอาจินต์เองที่จะสะท้อนภาพของการต่อสู้ของชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ โดยประกอบกับเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์โลกในขณะที่คุณอาจินต์เขียน ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในบทวิจารณ์ที่ส่งให้อาจารย์ไป
หากใครเคยอ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ อาจจะสะดุดกับประโยคนี้ของเศรษฐี คล้ายกับคุณอาจินต์ตั้งใจจะ “ล้อ” ประโยคหนึ่งในแถลงการณ์ฯที่ว่า “ความพินาศของชนชั้นนายทุนและชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

ประเด็นสุดท้ายที่ว่า สุดท้ายแล้วแลกหรือไม่ ผมก็ลองสันนิษฐานไว้ที่ย่อหน้าแรกแล้ว แต่มันก็คงไม่สลักสำคัญอะไรนัก ผมเห็นด้วยกับ Rep. เมื่อกี้นี้ที่ว่า “ผู้แต่งไม่ได้ต้องการให้รู้ว่าสุดท้ายแล้วใครได้สมบัติไปรึเปล่าคะ เพราะว่าถึงใครจะได้ไปก็ตายอยู่ดี คุณอาจินต์น่าจะบอกว่าคนเราตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ^^"” คุณอาจินต์อาจจะอยากให้ทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์กันอยู่ได้ใช้พุทธปรัชญาว่า “ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง” แก้ปัญหากันมากกว่า

อาจจะดูเพ้อๆ แต่ก็อยากให้ลองพิจารณากันดูครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนุ่มอักษรคนนี้ตัวกลมๆ ป้อมๆ รึเปล่าคะ...

ประโยคที่อ้างมา "เพราะเรามักหลงใหลสิ่งที่ครอบครองอยู่..." กล่าวถึง "เรา" ผู้เป็นปุถุชนทั่วไป คือมองสัจธรรมในสังคมมากกว่า ไม่ได้หมายถึงตัวละครตัวใด หากจะเชื่อว่าตอนจบของบทวิจารณ์นี้ กล่าวถึง "สาร"ที่ได้รับจากเรื่องสั้นนี้ ก็อาจจะถูกส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะที่จริงยังมิติของบริบทที่คุณอาจินต์สนทนากับคนในสังคมเวลานั้นอีกมิติหนึ่งด้วย เพียงแต่คิดเองว่าออกจะยากเกินไปสักหน่อยสำหรับ "แบบฝึกการวิจารณ์ในห้องเรียน"

ดีใจนะที่มีคนคิดลึกๆ ออกจะเห็นด้วยเรื่องสาร ที่ผู้เขียนไม่น่าจะส่งตรงทื่อๆ และอาจต้องอิงบริบททางสังคมดังที่คุณมีข้อมูลเรื่อง "ล้อ"ซึ่งก็น่าสนใจมากและคงต้องขยายความอีกยาว

จะเสียอยู่นิดก็แต่ว่าไม่ค่อยยอมขยายในห้องเรียน แต่ก็เอาเถอะ ก้าวแรกที่ผู้เรียนกล้าแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนในบอร์ด ก็นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้สอนในระดับหนึ่งแล้ว(นี่คิดเข้าข้างตัวเองค่ะ)

หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

ถูกต้องนะครับ!
อาจารย์เข้าใจถูกคนแล้วครับ
(จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต้องการปิดบังอะไร เพราะรู้ว่าอาจารย์ก็น่าจะรู้จากสำบัดสำนวน นอกจากนั้นบอกด้วยว่าเคยส่งงานเขียนแบบไหนไป)
จริงๆ แล้วสารที่ได้รับของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปและผมว่าอาจารย์ไม่ได้รับสารเพียงแค่ที่เขียนในบล็อก แต่ถ้าพูดลึกลงไปลูกศิษย์อาจจะงงเพราะมีพื้นความรู้ไม่มากเท่าอาจารย์ ที่ผมแย้งตรงนั้นก็เพียงว่าอยากให้เราเข้าใจตรงกันครับ ไม่อยากให้บางคนอ่านแล้วเข้าใจผิด และยึดติดกับสิ่งที่อาจารย์บอกจนไม่สามารถมองแนวคิดใหม่ๆ ได้
อีกอย่างที่ผมไม่ค่อยขยายประเด็นในห้องเรียน เพราะไม่รู้ว่าจะมีบางคนที่ไม่รู้จักผมดีพอเกิดอาการ "หมั่นไส้" หรือเปล่า? ^_^ เพราะผมชอบเสนออะไรแปลกๆ เอาเท่ไว้ก่อน ซึ่งคงไม่ตรงกับ
วัตถุประสงค์ของวิชานี้เท่าใดนัก (ชอบนอกเรื่องว่างั้น)
เอาเป็นว่าขอเป็นผู้ฟังที่ดีในห้อง แล้ว "ปากดี" ในบอร์ดก็แล้วกันครับ

laughable-loves กล่าวว่า...

แวะผ่านมาครับ บังเอิญเคยอ่านเรื่องนี้ เลยขออนญาตแสดงความเห็น โดยส่วนตัวแล้ว "ไม่ค่อยชอบ" ครับ สาเหตุเพราะเหมือนเรื่องสั้นเพื่อชีวิตหลายเรื่องในยุคนั้น คุณอาจินต์ยึดติดกับโครงสร้างทางชนชั้นมากเกินไป เช่นการให้ตัวละครมาจากสองพื้นฐานซึ่งแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และตอกย้ำประเด็นนี้ตลอดเวลา ทั้งที่สถานการณ์ในเรื่องน่าจะเล่นกับประเด็นทางจิตวิทยามากกว่า สัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ โดยความคิดผม คนที่ติดเรือแบบนี้คงไม่เอากรอบทางสังคมมาใช้กำหนดการกระทำ หรือความคิดของตัวเองดังที่คุณอาจินต์นำเสนอเป็นแน่แท้

ไม่รู้ว่าคุณอาจินต์ได้แรงบันดาลใจมากจากภาพยนตร์ lifeboat ของฮิชคอกซ์หรือเปล่า ซึ่งผมเองก็ยังไม่ได้ดู เลยไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรเหมือนกัน แต่พูดถึงวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการติดเรือ เรื่องโปรดในดวงใจก็คงเป็น life of pi ครับ