วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2550

“ถ้าคุณพลอยยังอยู่ ” : ความยอกย้อนของมโนทัศน์สัมพันธบท



“ถ้าคุณพลอยยังอยู่” เป็นบทละครขนาดสั้นของจักรกฤษณ์ ดวงพัตรา กล่าวถึง ‘คุณพลอย’ หรือ ‘ แม่พลอย’ ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินว่า หากเธอยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งเธอและแม่ช้อยก็คงสมัครเป็นลูกเสือชาวบ้าน และแม้ว่าจะมีอาการหลงลืมเลอะเลือนตามประสาวัยชราไปบ้าง แต่ก็ยังจดจำเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวดังที่เคยปรากฏในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินมาแล้วเป็นอย่างดี



ผู้ประพันธ์บทละครเรื่องนี้มิได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินโดยตรง แต่ได้โครงเรื่องจากข้อเขียนในคอลัมน์อายุมงคล-คุย ของม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุลเรื่อง“ถ้าแม่พลอยยังอยู่” ซึ่งพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2524 เรื่องนี้มีลักษณะเป็นบทล้อ กล่าวคือมุ่งล้อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแม่พลอย ตัวละครเอกในนวนิยายที่มีผู้รู้จักอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็ล้อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งมีชื่อพ้องกับ “คุณเปรม” สามีของแม่พลอยและได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในช่วงเวลาที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยน้ำเสียงที่แฝงอารมณ์ขันไว้อีกด้วย

แม้ว่าบทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” จะดำเนินเรื่องตามบทล้อข้างต้น แต่ในบทละครก็มีข้อความที่โยงกลับไปหานวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินอยู่หลายตอน ซึ่งผู้ประพันธ์ได้เปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่และนำมาจัดวางในบริบทใหม่ ซึ่งหากนำมาพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นความน่า สนใจในฐานะของงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอำนาจของจินตนาการโดยแท้ ดังที่ตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “เนเวอร์แลนด์ แดนรักมหัศจรรย์” (Findind Neverland) กล่าวว่า “ ถ้าเรามีจินตนาการแม้เพียงน้อยนิด เราจะสามารถหันมาแล้วเห็น”[1] และด้วยมุมมองของคนทำละคร ซึ่งเป็นการยืนยันถึงสถานะของผู้ประพันธ์แล้ว ทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า หากนำมโนทัศน์เรื่องสัมพันธบท (intertextuality) ซึ่งเป็นแนวการวิจารณ์หลังศตวรรษที่20 และได้รับความนิยมหลังจากที่ทฤษฎีเรื่อง “มรณกรรมของผู้แต่ง” (“the Death of the Author)ได้รับความนิยมอย่างมากมาศึกษาบทละครเรื่องนี้แล้ว บทบาทในฐานะของผู้ประพันธ์จะยังคงมีความสำคัญหรือไม่ หรือจะมุ่งพิจารณาเฉพาะความหมายในตัวบทและปฏิกิริยาของผู้รับเพียงเท่านั้น


สัมพันธบท (intertextuality) : สถานะของตัวบท

สัมพันธบทเป็นมโนทัศน์ที่นักคิดแนวหลังสมัยใหม่( postmodern) นำมาใช้อธิบายเรื่องตัวบทวรรณกรรม หลังจากที่มีการขานรับทฤษฎีการวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงของโรล็องด์ บาร์ตส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขียนบทความเรื่อง “The Death of the Author” เมื่อค.ศ.1968 บทความนี้จุดประกายความคิดที่ว่านักประพันธ์มิได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอีกต่อไป และตัวบทมิได้เป็นผลผลิตของอัจฉริยภาพของผู้แต่ง แต่เป็นพื้นที่หลากหลายมิติที่เปิดให้ข้อเขียนจากแหล่งต่างๆได้มาปะทะสังสรรค์กัน ทั้งนี้ ไม่มีข้อเขียนใดที่เป็นของแท้ดั้งเดิมแม้สักชิ้นเดียว ตัวบทคือผ้าถักทอด้วยสารพัดข้อความซึ่งมาจากแหล่งข้อมูลวัฒนธรรมอันหลากหลาย [2] คำอธิบายนี้ ทำให้เห็นว่า“ตัวบท” (text) มีความหมายกว้างมาก แต่นพพร ประชากุล[3] ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทในลักษณะของสัมพันธบทไว้อย่างชัดเจนว่า “ตัวบทหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตัวบทอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในยุคสมัยเดียวกันหรือในยุคสมัยก่อนหน้าไม่มากก็น้อย โดยที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงดังกล่าวมีหลักฐานยืนยันได้ในตัวบทชิ้นที่พิจารณาเป็นหลักอยู่”

จากคำอธิบายข้างต้น บทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” จึงเป็นพื้นที่หลากหลายมิติหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตัวบทหลัก หรือตัวบทปลายทางที่ได้นำตัวบทอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งรวมทั้งวาทกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวบทต้นทางมาแปรรูปและกลายกลืนให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของตัวบทหลัก โดยมีตัวบทหลักทำหน้าที่ควบคุมความหมายทั้งหมดไว้ การแปรรูปและกลายกลืนจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้อ่านเห็นร่องรอยของการถักทอ ซึ่งสามารถสืบสาวไปถึงตัวบทต้นทางได้ ตัวบทวรรณกรรมจึงมีความหมายว่าแต่ละตัวบทไม่ได้เป็นอิสระจากกัน แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ซึ่งอาจเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องบางตอนในบทละคร ดังนี้

คุณช้อย : “เรื่องปฏิวัตินี่น่ะอย่าตกใจไปนักเลยแม่พลอย ข่าวเค้าว่า
คุณเปรมแกหนีไปรวมพลที่เมืองโคราช แล้วก็กำลังจะกลับมา
ยึดกรุงเทพฯ ไม่ช้านี้ล่ะ”
คุณพลอย : “ไม่จริง! ไม่จริง! ไม่จริง!… ไม่น่าเลย… คุณเปรม… ฉัน
ไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง ถ้าคุณเปรมยังอยู่ ฉันก็คงจะถามได้
แต่ก็ช่างเถิดไม่เป็นไร …ว่าที่จริงฉันก็เริ่มจะเข้าใจอะไรได้บ้าง
แล้ว… แต่คุณเปรมนะคุณเปรมจะหนีไปหัวเมืองก็ไม่บอกให้
ฉันรู้ก่อน ฉันจะได้อบแพรเพลาะให้เอาไปห่ม...”
คุณช้อย / คุณอั้น : “คนละเปรม”


ตัวบทหลักตอนนี้ ได้นำตัวบทต้นทางจาก 3 แหล่งมาผสานเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือเริ่มจากเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองคือเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลบหนีไปรวมพลที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นได้ยกกองกำลังเข้ามาตรึงในกรุงเทพมหานคร และสามารถยึดอำนาจกลับคืนมาได้ ข้อความต่อมากล่าวว่า “ไม่จริง! ไม่จริง! ไม่จริง!… ไม่น่าเลย… คุณเปรม… ฉันไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง ถ้าคุณเปรมยังอยู่ ฉันก็คงจะถามได้” เป็นข้อความที่อยู่ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินตอนท้ายเรื่อง เมื่อแม่พลอยทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต แม่พลอยก็ไม่อาจยอมรับความจริงได้ในตอนแรก และข้อความสุดท้ายกล่าวถึงความทรงจำของแม่พลอยที่มีต่อคุณเปรมผู้เป็นสามี ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันล้อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ไปพร้อมกันด้วย ข้อความนี้ปรากฏในบทล้อเรื่อง “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” จะเห็นว่าตัวบทหลักคือบทละครเรื่องนี้ทำให้สืบสาวขึ้นไปถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยไปถึงตัวบทต้นทางอย่างมีหลักฐานชัดเจน และนำมาจัดวางในบริบทที่แสดงให้เห็นตัวตนของแม่พลอยในวัยชรา สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายเพื่อล้อแม่พลอยในตัวบทต้นทางได้อย่างลงตัว


“ถ้าแม่พลอยยังอยู่" : บทบาทของผู้รับ

ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ท่านคุ้นเคยกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้เขียนประวัติและผลงานทางวรรณคดีของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพิมพ์ลงใน Encyclopedia of World Literature ไว้ด้วย บทล้อที่แฝงด้วยอารมณ์ขันเรื่อง “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” จึงเป็นเสมือนการสนทนาเพื่อล้อเลียนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและสร้างจินตนาการผสานกับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้นได้อย่างคมคาย ดังที่ขึ้นต้นว่า

“ถ้าแม่พลอยยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้...แกก็เป็น
ลูกเสือชาวบ้าน...นั่นละ...แม่พลอยละ”- - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

วันนั้น ช้อยลงจากรถแท็กซี่แล้วถือไม้เท้ากระย่องกระแย่ง
แต่ยังกระฉับกระเฉงถึงหน้ากระไดเรือน แม่พลอยก็ลงนั่งแล้วถัดขึ้น
กระไดอย่างคล่องแคล่ว
“พลอย” ช้อยเรียกเมื่อมองเห็นพลอยนั่งตะบันน้ำกินอยู่ในห้อง
“เขาปฏิวัติกันอีกแล้วละ รู้ไหม”[4]

ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นบทบาทของผู้รับในลักษณะที่มุ่งล้อตัวบทต้นทาง ซึ่งก็คือถ้อยคำสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อมาก็เชื่อมโยงเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดรัฐประหารขึ้น เพื่อนำไปสู่การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของแม่พลอย แม้ว่าแม่พลอยจะล่วงเข้าสู่วัยชราถึงขั้นตะบันน้ำกินก็ตาม

หากนำความคิดที่ว่าวรรณกรรมเมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ย่อมตกเป็นเอกสิทธิของสาธารณชนที่จะตีความและประเมินค่ามาพิจารณาแล้ว ย่อมจะเห็นถึงบทบาทของผู้รับที่สามารถจะตีความและเข้าถึงตัวบทได้ในลักษณะต่างๆ บทล้อของม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุลทำให้เราเห็นถึงบทบาทของผู้รับที่จินตนาการต่อจากตัวบทต้นทาง และนำมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ได้อย่างคมคายน่าสนใจและชวนให้ขบขันบรรลุตามความมุ่งหมายของการประพันธ์


“ถ้าคุณพลอยยังอยู่” : บทบาทของผู้ประพันธ์

จักรกฤษณ์ ดวงพัตราเคยเขียนบทละครจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินมาก่อนหน้านี้แล้ว คือเมื่อพ.ศ.2537 ซึ่งได้กล่าวถึงแผ่นดินที่ห้าไว้ด้วย ซึ่งเป็นการจินตนาการต่อจากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน แต่ในบทละครเรื่อง “ถ้าคุณพลอยยังอยู่” นี้ ผู้ประพันธ์น่าจะมุ่งสนทนากับบทล้อของม.ร.ว.อายุมงคลมากกว่าตัวบทนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ประเด็นที่สนทนาก็คือการย้ำให้เห็นอำนาจของงานศิลปะว่าอยู่เหนือกาลเวลา ดังที่ Edith Hamilton กล่าวไว้ใน Methology Timeless Tales of Gods and Heroes ว่า “ในที่สุดแล้ว เมื่อใครสักคนหยิบหนังสืออย่างนี้ขึ้นมา เขาก็จะไม่ถามว่าผู้เขียนได้เล่าเรื่องเสียใหม่อย่างสนุกสนานเพียงใด แต่จะถามว่า เขาได้นำผู้อ่านเข้าไปใกล้กับเรื่องดั้งเดิมเพียงไร ”[5] นั่นย่อมหมายถึงว่า ผู้ประพันธ์บทละครเรื่องนี้ นอกจากจะให้ผู้รับพิจารณาตัวบทกลางคือ “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” แล้ว ยังมุ่งให้ผู้รับหวนกลับไปถึงตัวบทต้นทางคือ นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินอีกด้วย จะเห็นว่าผู้ประพันธ์พยายามจะรักษาภาพลักษณ์ของคุณพลอยไม่ต่างกับสตรีที่ได้รับการอบรมมาดีพร้อมให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ดุจเดียวกับในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ดังตอนหนึ่งที่ว่า

คุณพลอย : “แม่ต้องรีบไปลูก แม่เป็นลูกเสือชาวบ้าน บ้านเมืองเป็นจลาจล
อย่างนี้ แม่อยู่เฉยไม่ได้หรอก อั้นช่วยพยุงแม่ไปเร็วๆ เถอะลูก”
คุณอั้น :“คุณแม่ไปช่วยเค้าไม่ได้หรอกครับ แล้ววันนี้เราก็ต้องไปเยี่ยม
พี่อ้นด้วย”
คุณพลอย : “โธ่ อ้น ลูกแม่… เพิ่งจะปฏิวัติกันยังไม่ทันไรเลย โดนจับอีกแล้ว…
คราวนี้โทษคงไม่ถึงประหารชีวิตเหมือนครั้งก่อนใช่มั้ยอั้น”
คุณอั้น :“เปล่าครับ คุณแม่ นั่นมันเรื่องเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่นี่ พ.ศ.๒๕๒๔
แล้วครับ พี่อ้นไม่ได้โดนจับไปขังที่บางเขน เค้าไปนอนที่โรงพยาบาล
รามาฯ ให้หมอแผนกอายุรเวชเขาตรวจโรคชราไงครับ แล้วฟัน
ปลอมนี่น่ะ ก็ของพี่อ้นเค้า ผมหยิบมาวางเตรียมไว้ว่าจะเอา
ไปด้วย เพราะว่าตอนที่พี่อ้นเข้าโรงพยาบาล พี่เค้าหยิบผิดอัน
เอาฟันปลอมของยายประไพใส่ไปน่ะครับ”
คุณพลอย : “อนิจจํ ทุกขํ”

จากบทสนทนานี้ เราจะเห็นภาพผู้หญิงชราคนหนึ่งที่แม้ร่างกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ความทรงจำยังคงแจ่มชัด แม้ว่าเธอจะเอาเรื่องราวในอดีตมาประสมประสานกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเป็นแม่พลอยจากเรื่องสี่แผ่นดิน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “อนิจจํ ทุกขํ” ที่ล้อความเป็นแม่พลอยได้อย่างแนบเนียน คือแสดงถึงความมีใจมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งในเรื่องสี่แผ่นดิน ก็แสดงให้เห็นชัดว่า เมื่อเธอประสบเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต พระพุทธศาสนาได้ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจให้เธอตระหนักในความจริงและยอมรับโดยดุษณีตลอดมา

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ การที่ผู้ประพันธ์เรียกแม่พลอยว่า ‘คุณ’ ทำให้เกิดระยะห่างทั้งด้านฐานะทางสังคมและกาลเวลาที่ผ่านไประหว่างตัวละครกับผู้ประพันธ์ ซึ่งก็เป็นผู้รับในขณะ เดียวกันด้วย นับว่าเป็นกลวิธีหนึ่งของบทละครสมัยใหม่ ที่มีจุดประสงค์จะให้ผู้ชมละครเกิดการฉุกคิดมากกว่าจะมุ่งให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับตัวละคร และเป็นการย้ำเตือนสถานะความเป็นบทละครที่เกิดจากจินตนาการได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะละครที่มีลักษณะล้อเลียนตัวบทต่างๆ ดังในเรื่องนี้ ซึ่งอาจมองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ขันที่พยายามจะจินตนาการถึงหญิงชราวัยกว่าร้อย แต่มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด และมีความพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศชาติบ้านเมืองดุจเดียวกับประชาชนอื่นๆ
อาจจะเห็นว่าบทสนทนาของตัวละครในเรื่องมักจะพูดซ้ำๆ อยู่ไม่กี่ประโยค ซึ่งอาจทำให้เห็นความจงใจที่จะย้ำถึงภาพของตัวละครแต่ละตัวที่ต่างก็ชราภาพไปตามๆ กัน หรืออาจให้เกิดความขบขันจากอากัปกิริยาของตัวละคร เช่นที่ว่า

พลอยวางสากที่กำลังใช้ตะบันน้ำโดยเร็ว รีบคว้าสิ่งที่วางอยู่บนโต๊ะข้างๆ พยายามพันรอบคอ
“ฉันต้องไปทำหน้าที่ลูกเสือชาวบ้านแล้วละช้อย อ้น อั้น ประไพ เขาปฏิวัติ
กันอีกแล้ว ช่วยหามแม่ไปช่วยเขาซิ เอ..นี่แม่กินข้าวแล้วหรือยังนะ”
“นั่นไม่ใช่ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านของคุณแม่นะครับ” ตาอั้นโผล่เข้ามาท้วง
พอดี ”นั่นฟันปลอมของพี่อ้น ใช้พันคอไม่ได้หรอกครับ”

จากบทสนทนานี้ เราจะเห็นภาพหญิงชราคนหนึ่งที่แม้ร่างกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เนื้อแท้แล้ว ยังคงมีใจที่มุ่งมั่นจะช่วยชาติอย่างแท้จริง

สัมพันธบท : ความยอกย้อนของมโนทัศน์

หากพิจารณาที่มาของมโนทัศน์เรื่องสัมพันธบทแล้ว จะพบว่าสืบเนื่องมาจากทฤษฎีการวิจารณ์ของโรล็องด์ บาร์ตส์ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อตัวบทและผู้รับมากกว่าจะยกย่องผู้ประพันธ์ในทำนองเทพปกรณัม และมุ่งเน้นการอ่านละเอียด(closed reading) เพื่อค้นหาความหมายตาม สัญญะที่ปรากฏในตัวบท แต่ในเวลาเดียวกันบาร์ตส์เองก็ชี้ว่าการวิจารณ์ตัวบทนั้นก็ไม่อาจละทิ้งบริบททางสังคมไปได้ ที่สำคัญหากตัวบทนั้นจัดเป็นงานศิลปะ บทบาทของผู้ประพันธ์ย่อมโดดเด่นทั้งในฐานะของผู้รับและผู้สร้าง
หากการวิจารณ์ในศตวรรษใหม่จะปฏิเสธบทบาทของผู้ประพันธ์ และให้ความสำคัญเฉพาะการค้นหาความหมายในตัวบทและปฏิกิริยาของผู้รับเท่านั้นแล้ว คงกล่าวได้ว่าการวิจารณ์นั้นไม่อาจจะสมบูรณ์ไปได้ ถ้าละเลยกระบวนการสร้างสรรค์ตัวบท บทบาทของผู้ประพันธ์ควรจะมีความสำคัญต่อการสร้างผลงานด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากยึดถือการวิจารณ์สมัยใหม่อย่างสุดโต่งภายใต้กรอบความคิดที่ว่าผู้แต่งไม่มีตัวตนแล้ว เราจะประเมินค่างานนั้นได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ คงต้องกลับไปทบทวนถึงการนำมโนทัศน์นี้มาวิจารณ์ผลงานศิลปะอีกครั้งหนึ่งแล้วกระมัง

[1] เมื่อจักรกฤษณ์ ดวงพัตรานำบทละครเรื่องนี้ มาสอนในชั้นเรียนระดับปริญญามหาบัณฑิตที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยกข้อความนี้มาเป็นวิธีวิทยา (methodology)ที่จะเข้าถึงบทละครเรื่องนี้ว่า “...with just a wee bit of imagination, I can ture around right now and see…”
[2] อ้างถึงในชูศักดิ์ ภุทรกุลวณิช.”ชะตากรรมของหนังสือในสหัสวรรษใหม่” อ่านไม่เอาเรื่อง. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คบไฟ,2545.),14.
[3] นพพร ประชากุล “สัมพันธบท” , สารคดี ป.16 ฉ 182 (เมษายน) ,2543 : 175-177.
[4] ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล “ถ้าแม่พลอยยังอยู่” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (10 พฤษภาคม 2524)
[5] ...After all, when one takes up a book like this one does not ask how entertainingly the author has retold the stories, but how close he brought the reader to the original.

บรรณานุกรม

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. สี่แผ่นดิน,พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สยามรัฐ,2531.
จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา. ถ้าคุณพลอยยังอยู่ เอกสารประกอบการสอนรายวิชาวรรณคดีกับศิลปะ
แขนงอื่น คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,2548.
ชูศักดิ์ ภุทรกุลวณิช.”ชะตากรรมของหนังสือในสหัสวรรษใหม่” อ่านไม่เอาเรื่อง.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คบไฟ,2545.
นพพร ประชากุล “สัมพันธบท” , สารคดี ป.16 ฉ 182 (เมษายน) ,2543 : 175-177.
อายุมงคล โสณกุล,ม.ร.ว. ถ้าแม่พลอยยังอยู่” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (10 พฤษภาคม 2524.



-------------------------------------

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หยิบกระดาษขึ้นมาเขียน 1-10 ห้ามแอบดูเฉลยนะ
ห้ามโกงเดขาด!!!!!!!!!!
1.คุณมีผมสีเข็มหรือสีอ่อน
2.ถ้าเกิดมีเดทคุณจะเลือกไป กินข้าว2ต่อ2 หรือไปปาร์ตี้
3.สีโปรดของคุณคือสีอะไรระหว่าง สี ชมพู เหลือง ฟ้าอ่อน หรือสีเขียวนำทะเล
4.กิจกรรมที่คุณโปรกปรานที่สุดระหว่าง โต้คลื่น,เสก็ดหรือ สกี
5.ถ้าจะเลือกท่าเรือระหว่าง เรือรบเก่า อู่แปชิฟิก หรืออูวิคตอเรีย ชีเค็ท คุณจะเลือกอันไหน
6.รัฐที่คุณชอบที่สุดระหว่าง รัฐแคลิเฟร์อเนีย ฟอริดา หรือ โอไฮโอ
7.ฤดูร้อนคุณจะไปทะเลหรือที่เย็นกว่านี้
8.เกิดเดือนอะไร
9.คุณจะนั้งอืดอยู่บ้านหรือไปเที่ยวกับเพื่อน
10.ชื่อคนที่เป็นเพศตรงข้ามกับคุณ
-=====อฐิษาน======-
*เริ่มเลย*
**********
********
*******
******
*****
****
***
**
*
**หยุด**
*คำตอบ*
1.สีเข็ม-เซ็กชี่~สีอ่อน-น่ารัก
2.กินข้าว 2ต่2-โรแมนติก ~ ปาร์ตี้-ขี้เล่น
3.ชมพู-น่ารัก ~ เหลือง-เสียงดัง ~ ฟ้าอ่อน-ใจเย็น ~สีเขียวนำทำเล-แข็งแกร่ง
4.โต้คลื่น-ว่องไวคล่องแคล่ว ~เสก็ด-เด็ดเดี่ยว ~ สกี-กล้าหาญ
5.เรือรบเก่า-น่ากลัว ~ อู่แปชิฟิก-สนุกสนาน ~อูวิคตอเรีย ชีเค็ท-เซ็กชี่
6. แคลิเฟร์อเนีย-คุณชอบอยู่กับคนมากๆ ~ฟลอริดา -ปาร์ตี้ในความร้อน ~โอไฮโอ-เงียบเย็น
7.ทะเล-ผิวสีแทน ชอบพระอาทิตย์ ~ เย็นกว่านี้-ผิวสีขาวและหัวโบราณ
8.มกราคม-โด่งดัง ~กุพาพันธ์-น่ารัก ~มีนายยน-เสียงดัง ~เมษายน -ขี้เล่น ~พฤษพาคม-
ใจเย็นมาก ~มิถุนายน-อาร์มดี ~กรกฏาคม-เรียบง่าย ~สิงหาคม -สนุกสนาน ~กันยายน-
เงียบ ~ตุลาคม-กล้าแสดงออก~ พฤษจิกายน-ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น(ทั้งดีและไม่ดี) ~ธันวาคม-
อบอุ่น
9.อืดอยู่กับบ้าน-น่าเบื่อ ~ ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ-บ้า บอๆ
10. คนนั้นจะตกหลุมรักคุณ!!!!!!!!!!
ถ้าคุณโพสกระทู้นี้ไปเว็บอื่น
0 เวป คำอฐิษานคุณจะไม่เป็นจริง
1-5 เวป คำอฐิฐานคุณจะเป็นจริงใน 6 เดือน
6-10 คำอฐิษานคุณจะเป็นจริงภายใย2อาทิตย์
11ขึ้นไป คำอบฺษานคุณจะเป็นจริงเร็วมากๆๆๆๆๆๆ