วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

คนปลูกต้นไม้ : ความงดงามจากการทำงาน


วันหยุดวันนี้ตั้งใจจะปลูกต้นแก้วแคระที่ซื้อไว้หลายวันแล้ว ที่จริงความสามารถในการปลูกต้นไม้แทบจะไม่มีเลย น้อยต้นที่ปลูกแล้วเจริญงอกงามดี ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยจะรอด อาจเป็นแบบที่โบราณเรียกว่า "มือร้อน" แต่ก็มีใจรักต้นไม้ ชอบให้บ้านที่มีเนื้อที่เพียงหยิบมือมีสีเขียวและชอบชื่นชมเวลาที่ต้นไม้งอกใบใหม่ออกมา ชอบเฝ้ามองการเจริญเติบโตที่เราเป็นผู้ให้ชีวิต แต่เพียงแค่มีใจรักคงไม่พอที่จะทำให้เรามีจุดหมายปลูกต้นไม้อย่างแข็งขัน คงเป็นเพราะเราไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการปลูกและรักต้นไม้สักเท่าไหร่ แต่กลับปล่อยให้ความพอใจชักจูงลากไปในหลายทิศทาง หรือว่าชาตินี้จะไม่มีวันจะเป็นบุฟฟิเยร์....


บุฟฟิเยร์คือตัวละครเอกในนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง คนปลูกต้นไม้ ของฌ็อง ฌิโอโน นักเขียนชาวฝรั่งเศส เขาเขียนนวนิยายกว่า 30 เรื่อง สำหรับเรื่องนี้ เขาสร้างตัวละครคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งที่ชื่อว่าแอลเซอารดฺ บุฟฟิเยร์ เป็นชายที่รักสันโดษ พูดน้อย มีความเชื่อมั่นในตัวเองและมีวินัย ทุกวันเขาปลูกต้นไม้ด้วยการหย่อนเมล็ดโอ๊ค เบิร์ช และบีชลงดินวันละ 100 เมล็ด วันแล้ววันเล่าลงบนพื้นดินสาธารณะที่รกร้างว่างเปล่า เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเติบโตคลุมดินเป็นไม้ใหญ่ เป็นทุ่งหญ้า เป็นทุ่งดอกไม้ให้ความร่มรื่นสวยงาม เมื่อวันเวลาผ่านไปเพียง 8 ปี ชนบทแห่งนี้ก็เติบโตสมบูรณ์ เป็นหมู่บ้านในสวนสวรรค์ ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชายเลี้ยงแกะผู้นี้ ผลงานของเขาเป็นประหนึ่งความงามที่รังสรรค์ขึ้นของพระเจ้าเลยทีเดียว


คนปลูกต้นไม้ ไม่เป็นเพียงนวนิยายเชิงอนุรักษ์นิเวศน์เท่านั้น แต่ยังให้แง่คิดของการทำงานเพื่องาน เป็นการทำความดีเพื่อมวลมนุษย์ โดยไม่มุ่งหวังว่าจะมีใครความดีนี้หรือไม่ เมื่อผลงานประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เมื่อนั้นผลของการทำงานย่อมได้รับคำสรรเสริญ แม้ว่าจะใช้เวลาที่ยาวนานแทบจะทั้งชีวิตของเขาก็ตาม

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ณ กาลเวลา : หนังสือสวยคำงามคมความคิด



เย็นวันหนึ่งเดินเข้าไปที่ศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัย เจอหนังสือเล่มหนึ่งปกสวย เปิดดูเนื้อใน หนังสือของ "อดุล จันทรศักดิ์" ไม่เคยรู้จักกวีคนนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งอ่านไปเจอว่า ก็คือ "อัคนี หฤทัย" ไงล่ะ กวีการเมืองสมัยก่อนที่เขียน "ดอกไม้ไฟ" นั่นเอง เมื่อไล่สายตาไปตามหน้าหนังสือ พบความสวยแบบประณีตบรรจง เปิดดูแล้วเพลิน จนต้องหามุมนั่งลงอ่าน หน้าแล้วหน้าเล่า เพลิดเพลินไปกับบันทึกที่ใครๆ เขียนถึง "พี่งู" แล้ว ก็ให้เกิดความประทับใจ หนังสือเล่มนี้บอกความหมายที่นอกจากตัวตนของกวีแล้ว ยังบอกระยะสัมพันธ์ระหว่างกวีกับเพื่อนๆ กับพี่ๆ กับน้องๆ ที่ต่างเต็มใจมาเขียนบันทึกความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ในวันที่พี่งูเกษียณ อ่านแล้วก็อดที่จะบอกต่อไม่ได้ ลองดูหน้านี้



อดุล จันทรศักดิ์ได้ถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนใจที่มีต่อภัยสงครามได้อย่างชัดเจน จากภาพและถ้อยคำที่ต่างก็สื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง บทกวีล้วนสะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนและการตระหนักถึงชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกใบนี้
สำหรับมุมมองที่กวีมีต่อชีวิตนั้น หากพิจารณาจากบทกวี จะเห็นความลุ่มลึกอย่างยอมรับในสิ่งที่เห็นและเป็นไป ในกวีนิพนธ์หลายบท กวีมักตั้งคำถามกับเรื่องราวที่หลากหลายของคนในสังคม แม้แต่เรื่องที่เป็น"ข่าวคาว" ของดาราคนหนึ่ง ที่สื่อต่างประโคมข่าวประหนึ่งลมพายุพัดเข้ามา แล้วทิ้งร่องรอยกระแสตื่นตระหนกโกหกคำโตไว้ให้แก่สังคมไทย ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามไว้ให้ขบคิดกันต่อในหนังสือเล่มนี้ กวีถามสังคมว่า
เธอมีสิทธิ์เสรีที่จะท้อง
เนื้อตัวเธอ เธอเป็นเจ้าของ หรือมิใช่?
เธออาจพลาดพลั้ง หรือตั้งใจ
เมื่อปล่อยไปตามปรารถนาและอารมณ์
เธอมีเลือดมีเนื้อ รู้ร้อนหนาว
ณ วัยสาวซึ่งโหยหารักมาห่ม
แต่ด้วยการถือสิทธิ์ของสังคม
เสือกไสเธอให้หกล้มและซมซาน
เหมือนเธอไม่มีที่จะยืน
ขมขื่นอยู่กลางกระแสต้าน
เป็นหัวข้อสนทนาอยู่ยาวนาน
เป็นเหยื่อกลางวงวิจารณ์อย่างสะใจ...
ตามไปอ่านต่อแล้วกันนะ รับรองว่าพี่งูจบบทนี้อย่างเฉียบคมเสียจนทำให้เราและอีกหลายๆคนในสังคมนี้ "อึ้ง" ไปกับความจริงแท้อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งยังให้มองมุมใหม่ที่สร้างสรรค์ และนั่นคือสาระของ ณ กาลเวลา ที่คุ้มค่าแก่การอ่านและสะสมสำหรับคนรักหนังสือ

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

แรมเรือน : ความลุ่มลึกที่รอเวลา



รวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ เมื่อได้ยินชื่อพลอยเข้าใจว่าเป็นบทนิราศของคนไกลบ้าน แต่เมื่อได้สัมผัสเนื้อในแล้ว หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลากหลาย ที่นับว่าโดดเด่นกลายเป็นเรื่องความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม มีหลายบทที่กวีชี้ชวนให้หันมองธรรมชาติในหลายแง่หลายมุม

ในบท “โขงขื่น” กัมปนาท แสงทองยกเพลงเก่ามาประกอบ ช่วยยึดโยงความคิดที่ยังไม่ล้าสมัยเกินไปจนทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วยได้ กวีทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนแม่โขง ถ้อยคำในบทนี้ล้วนตัดพ้ออย่างคมคาย ดังว่า “โขงอยากจะทิ้งขื่น ขอขวัญคืนอย่างคนบ้าง ใครช่วยบอกหนทาง จะทิ้งขื่นคืนให้ใคร” ความสะเทือนอารมณ์ที่ได้รับในฐานะของผู้อ่าน ระลึกรู้ได้ทันทีว่า ป่านนี้แม่โขงคงจะขมขื่นเต็มทนแล้ว เพราะใครๆ ก็พากันเอาความขมขื่นไปทับถมให้ ชาวบ้านที่ได้อาศัยแม่น้ำสายนี้คงตระหนักกันดี


กวียังชี้ชวนให้เรามองธรรมชาติในอีกแง่มุมหนึ่ง ในบท “ สารภีสีเพลิง” กวีเล่นกับสัจธรรมที่ว่าสรรพสิ่งในโลกย่อมอาศัยพึ่งพากัน ทุกอย่างมีสูงสุดแล้วก็คืนสู่สามัญ งดงามเพื่อรอวันล่วงหล่นกลายเป็นปุ๋ยบำรุงต้นต่อไป บท “ร้อนใน” ก็เช่นกัน ที่ให้ความหมายสรรพสิ่งสมดุลกันอยู่ในธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเกิดภาวะเหลื่อมล้ำกัน อาการร้อนในก็เกิดขึ้น นับว่ากวีน้อยผู้นี้ได้รับการสั่งสมและสืบทอดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ต่อได้อย่างลึกซึ้ง

ความงดงามของภาพเสื่อมสลายนั้น ได้รับการบันทึกภาพไว้ผ่านอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน สื่อภาษาที่ละเมียดละไม ดังว่า “ฝนปรายเลือกโปรยโรยระริน กันแสงเสียงดิน หญ้ายินยิ่งเศร้ากรำทรวง” หรือภาพของฝนตกหนักจนน้ำนองท่วมบ้าน ในบท “แหนน้อย” กวีมิได้กังวลแต่อย่างใด กลับเห็นความงามของจอกแหน ที่พร้อมจะไหลเลื่อนไปไหนๆ อย่างมีอิสระ ดังที่ว่า “แหนน้อยที่ลอยเล่น ฉันอยากเป็นบ้างได้ไหม ใจน้อยฉันลอยไป กับแหนน้อยที่ลอยลำ” แต่อย่างไรก็ดี ก็อาจจะตีความอีกอย่างว่า กวีเห็นสภาพบ้านที่น้ำเจิ่งนองแล้วก็ถอดใจจนอยากจะหนีไปให้ไกลจากสภาพที่เห็นก็เป็นได้เหมือนกัน

ภาพรวมของ “แรมเรือน” นี้ เป็นความงดงามที่ปรากฏเป็นแห่งๆ อยู่ห่างๆ คงเปรียบกับเพชรที่ยังอัดความร้อนไม่เต็มที่ ความลุ่มลึกทางความคิดจึงยังต้องรอการตกผลึก รอการเจียระไนเหลี่ยมรูปจากช่างผู้มีฝีมือ ถึงครานั้นเพชรเม็ดนี้คงฉายแสงระยิบระยับให้เราชื่นชมในวันเวลาข้างหน้าต่อไป

ลงเรือมาเมื่อวาน : นิราศชีวิตผ่านกระแสธารของกาลเวลา


ลงเรือมาเมื่อวาน ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นกวีนิพนธ์ที่พรรณนาอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจของกวีที่มีต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ในสังคม หลายบทเป็นการตั้งคำถามกับวันคืนที่ผ่านไปในกระแสธารของกาลเวลา เขาได้ชี้ชวนให้ขบคิดถึงความสำคัญของการดำรงอยู่และความเป็นไปของวัฏจักรชีวิต แม้ว่าจะเป็นสัจธรรมที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำเรื่องราวชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นมาตกแต่งเรียงร้อยด้วยถ้อยคำกวี



ศิริวรได้เชิญชวนให้ผู้อ่านรื่นรมย์กับความงดงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะความเหน็บหนาวซึ่งปรากฏในหลายบท [ “...เยียบหนาวขณะแว่วยินอินทนนท์ กระซิบกับกิ่งสน แห่งถนนธงชัย ปลดวางเป้สัมภาระ นิ่งสดับจังหวะ นัยยะลมหายใจ เยือกหนาวในคลื่นเศร้ากระซิบ ลำเลียงยะเยียบเงียบกริบ จากโพ้นเมืองลิบไกล...” ] บางครั้งเขาไม่อาจแยกตัวออกมาแสดงทัศนะต่อชีวิตได้อย่างอิสระ เพราะเมื่อตกอยู่ท่ามกลางความงดงามนั้น เขาก็มักจะกลายกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไปในที่สุด [ “ เกาะแก่งแห่งแสงเงา สลักเทือกเขา เสลาทิวผา หมดจดจรดขอบฟ้า รายระยับสลับซับซ้อน เปลไกวแผ่วลมไกว ติดตามใจไปสัญจร ลัดเลาะและเซาะซอน ผ่านเที่ยงวัน ยิ่งสั่นหนาว!” ]


ในบท เช้าที่แตกต่าง เขาใช้คำซ้ำๆ เพื่อนำเสนอภาพยามเช้าของทุกวัน แต่ต่างสถานการณ์ ต่างอารมณ์ความรู้สึก ดังที่ว่า


เช้าบางเช้า แตกต่างจากบางเช้า
กาแฟใหม่ ถ้วยเก่า เราชงใหม่
ข่าวบางข่าว บางเช้าเศร้าเกินไป
ใจบางใจ บางเช้าเศร้ากว่านั้น

เช้าบางเช้า วุ่นวายกว่าหลายเช้า
ใน-เงียบเหงา นอก- ทั้งมวลกลับป่วนปั่น
ใน- ร้อนรุ่ม นอก- ยะเยียบด้วยเงียบงัน
ใกล้ในคำ อาจสัมพันธ์นั้นห่างไกล

เช้าบางเช้า แดดฉายกว่าหลายเช้า
ตะวันเก่า ฉายช่วงห้วงกาลใหม่
เช้าบางเช้า แดดอ่อนร้อนเกินไป
ใจบางใจบางเช้า หนาวในร้อน

เช้าบางเช้า อ้างว้างกว่าบางเช้า
บางมิตรเก่า เหตุใดไม่เหมือนก่อน
บางความจริง โศกสลดกว่าบทละคร
บางช่วงตอนมายา ยิ่งกว่าจริง!

เช้าบางเช้า แตกต่างจากบางเช้า
ดอกไม้เรา เฉาพรากจากก้านกิ่ง
ดอกไม้ท่าน ผ่านสะพรั่งยังสดพริ้ง
แตกต่างกันอย่างยิ่งในสิ่งเดียว

เช้าบางเช้า โหยหากว่าบางเช้า
โอ้, ลำธาร บ้านเก่า ทิวเขาเขียว
ดวงตาใครในกระจกช่างรกเรี้ยว
ณ ป่าเปลี่ยวแห่งชีวิตค้นปริศน์ใด

เช้าบางเช้า แตกต่างจากบางเช้า
กาแฟใหม่ ถ้วยเก่า เราชงใหม่
เช้าบางเช้า บางหนหวานข้นไป
กลับบางเช้าไม่เข้าใจ ไยขมนัก!



เช้าที่แตกต่าง เป็นบทที่แสดงมุมมองและทัศนะที่เฉียบคมและเชิญชวนให้เราขบคิดถึงความต่างท่ามกลางความเหมือนเดิมของทุกวันได้อย่างน่าสนใจและน่าคิดตาม ทั้งยังให้เสียงที่เกิดจากการเล่นคำซ้ำได้อย่างไพเราะ จะติดอยู่ก็ตรงคำที่ว่า "ค้นปริศน์ใด" ก็น่าจะใส่มาในรูปเต็มของคำ ก็จะเป็นไรไปเล่าถ้าวรรคนี้จะเป็นว่า "ณ ป่าเปลี่ยวแห่งชีวิตค้นปริศนาใด"


มาดูฉันทลักษณ์บ้าง ศิริวรนำเสนออย่างไม่เคร่งครัดแบบกวีรุ่นใหม่ ท่วงทำนองและลีลาเด่นที่การซ้ำคำและย้ำความ บ้างก็ใช้คำคู่ตรงข้ามเพื่อขับเน้นความให้ชัดขึ้น บ้างก็เล่นสลับเสียงหนักเบาคล้ายกลบท กาพย์ กลอน ฉันท์และร้อยแก้วไร้สัมผัสมีลักษณะทั้งสืบทอดและสร้างสรรค์ซึ่งให้จินตภาพที่แปลกต่าง [“เขียวตะไคร่คระครึ้ม เขลอะขรึมคละขาว เกาะด่างกระดานสราญ ณ ราว- ระเบียงเรือน วาดตะวันระยับจะลับจะเลือน ขมุกขมัวสลัวเสมือน ทะมื่นมา”]

แม้เรื่องราวและอารมณ์จะหลากหลาย แต่รวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็ร้อยเรียงให้เห็นอัตลักษณ์ของกวีคนหนึ่งได้โดยง่าย ลงเรือมาเมื่อวาน จึงเป็นนิราศที่กวีประหนึ่งพลัดหลงเข้าไปในห้วงของกาลเวลาอันยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระ ทว่าเขากลับรู้สึกว่ารวดเร็วราวกับเมื่อวานนี้เองที่ได้ลงเรือจากมา

กว่าจะข้ามขุนเขา(ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน) : ความงามที่พร่าเลือน



กวีนิพนธ์ไทยเล่มใหม่ของศิวกานต์ ปทุมสูติ ภายใต้นามปากกา "ธมกร" ดูเหมือนว่าเล่มนี้ศิวกานต์ ปทุมสูติพยายามจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อาจเป็นรูปแบบใหม่หรือเนื้อหาใหม่ กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงมีฉันทลักษณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่กลอนพื้นบ้านไปจนถึงฉันท์ ความงดงามที่ปรากฏเป็นบางบท สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของกวีรุ่นใหญ่ บางบทนำเสนอธรรมชาติในมุมที่งดงามแปลกตา เช่น บทที่ชื่อ เวฬุนารี เป็นบทชมโฉมปล้องไผ่ที่งดงามราวสาวน้อย

เปลื้องผ้าสิสาวน้อย ขณะนี้มิมีใคร

ไยดีฤดีใส บริสุทธิเดียงสา

แม้ธารละหานแห้ง วนะแกร่งเพราะเธอกล้า

อาบแสงอุษาพา รพิกอดตระกองขวัญ

โปรยปลิวละลิ่วลม สิจะห่มพนมวัน

เผยร่างสะอางอัน ยุวรุ่นดรุณศรี

กวีนิพนธ์เล่มนี้ เป็นเหมือนการรวมภาพความงามที่กวีสัมผัส เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เก็บภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพความงามที่บริสุทธิ์ของธรรมชาติ แล้วนำมากลั่นให้เกิดเป็นพุทธิปัญญา โดยส่วนตัวแล้วชอบบทที่ชื่อ รูปรอยที่แตกต่าง กวีขึ้นต้นว่า

แดดเช้าเฉิดฉันตะวันรุ่ง ทาทองท้องทุ่งและทิวไผ่

ภิกษุรูปนั้นเดินผ่านไป เพียงกลดไตรจีวรและบาตรธุดงค์

ท่านหันมายิ้มพมพ์ภาพเช้า ทอดเงาวิมุติวิสุทธิสงฆ์

ดั่งเชิญเดินทางสร้างเส้นตรง สู่องค์ธรรมทิพย์พระนิพพาน

ยกมือขึ้นสาธุโมทนา ภิกษุแห่งมรรคาผู้กล้าหาญ

ท่านมีทางหมายโพธิญาณ ฉันมีทางศานติกมล

ท่านเปลือยเท้าเปล่าก้าวไป ฉันใส่รองเท้าเดินถนน

ท่านออกจากคฤหัสถ์ตัดกังวล ฉันอยู่กับผู้คนระคนรัก

มิหมายรุดขุดรากโดยพรากพ้น แต่หมายยลต้นตอการทอถัก

สัมผัสด้วยรู้สึกไม่ทึกทัก ไม่ปักหลักแต่ปักเสาเหย้าการุณย์

ฉันพบว่าแสงเช้าย่อมผ่านเช้า ไปโดยก้าวแห่งกาลอันอบอุ่น

สายจนบ่ายเย็นย่ำนำสมดุล รอเกื้อหนุนเช้าใหม่หทัยทิวา

สิ้นกัปสิ้นกาลที่ตรงไหน ตราบสิ้นอายุขัยลงเบื้องหน้า

ทางที่เลือกถูกแท้ในศรัทธา ย่อมไม่เสียเวลาก้าวเดิน

แดดเช้าเฉิดฉันตะวันรุ่ง ทาทองท้องทุ่งและเถื่อนเถิน

ภาพภิกษุลับตาพนาเนิน ฉันเพลินกับภาพใหม่สดใสงาม

ความหมายที่ดูเหมือนจะตัดกันระหว่างภิกษุผู้บรรลุ กับฉันที่ยังติดบ่วง กลับพร่าเลือนไปในตอนท้ายบทอย่างน่าเสียดาย หลายๆ บทก็ให้ความหมายที่พร่าเลือนไปอย่างน่าเสียดายเช่นนี้ เมื่อมองหันกลับไปหา กวีนิพนธ์เล่มก่อน "ครอบครัวดวงตะวัน"

สำหรับ "ครอบครัวดวงตะวัน" จะเห็นภาพความงดงามของเด็กและครอบครัวอย่างมีเอกภาพมากกว่าเล่มล่าสุด นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าอาจเป็นเพราะกวีต้องการแหวกจากการนำเสนอความรู้สึกนึกคิดแบบเดิมๆ ไปสู่ความแปลกใหม่หรือเปล่า จึงทำให้เกิดความไม่ค่อยลงตัวระหว่างเนื้อหากับฉันทลักษณ์ ซึ่งถ้านามปากกาของกวีนิพนธ์เล่มนี้จะเป็นธมกร นักอ่านอีกหลายคนคงไม่นึกไปถึงศิวกานต์ ปทุมสูติเป็นแน่